ทำไมต้อง ๓ ครั้ง

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  12 ม.ค. 2555
หมายเลข  20348
อ่าน  5,049

เกิดข้อสงสัยในวงสนทนาธรรมว่า ในการกล่าว นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ทำไมจึงต้องกล่าว ๓ ครั้ง

แม้ในการกล่าวไตรสรณคมน์ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เป็นต้น ก็ต้องกล่าวถึง ๓ รอบ คือไปจบที่ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ทำไมจึงต้องกล่าว ๓ รอบ สมาชิกแสดงความเห็นกันแล้ว แต่ยังไม่พอใจคำตอบของกันและกัน กระผมจึงเสนอว่า จะขอนำปัญหานี้ไปถามท่านผู้รู้ทางกระดานสนทนาของบ้านธัมมะ ทุกคนก็เห็นชอบด้วย

จึงขอเรียนถามตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ได้คำตอบประการใด กระผมจะได้นำไปแจ้งให้สมาชิกวงสนทนาธรรมของกระผมทราบต่อไป

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยทั่วไปแล้ว หากได้อ่านข้อความในพระไตรปิฎก ก็จะเห็น จำนวน ข้อความที่กล่าว ถึง ๓ ครั้งบ่อยๆ ไม่ใช่เพียงการกล่าวสรรเสริญบูชาพระพุทธํเจ้าเท่านั้นครับ ซึ่งเราสามารถพิจารณาได้ครับว่า ทำไมถึงต้องกล่าวถึง ๓ ครั้ง สำหรับบางพระสูตร เมื่อมีผู้คน มาถามพระพุทธองค์ พระองค์ก็จะตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว คือ เมื่อเขาทูลถามพระองค์ แม้ถึง ๓ ครั้ง พระองค์ก็ตรัสห้าม และไม่ตอบทั้ง ๓ ครั้ง แสดงถึงความหนักแน่น แม้ของผู้ถามเอง ที่มีกำลัง ที่จะต้องการถาม ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว และพระพุทธองค์ ก็ทรงปฏิเสธ ๓ ครั้ง ก็ทรงแสดงถึงความหนักแน่นและมีกำลัง ที่จะไม่ตรัสตอบ และห้ามการถามนั้นครับ และบางตัวอย่าง เช่น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทูลขอบรรพชา เป็นพระภิกษุณี ก็ทูลขอทั้ง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามทั้ง ๓ ครั้ง นั่นแสดงถึง กำลัง ความหนักแน่นของ พระมหาปชาบดีโคตมี ที่มีศรัทธาอย่างมีกำลัง จนกล่าวขอบรรพชา ทั้ง ๓ ครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวเลย และพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า การบรรพชา เป็นสิ่งที่ยาก และพระนางมหาปชาบดีโคตมี จะได้เห็นคุณค่า และประพฤติตามครุธรรม จึงตรัสห้าม ๓ ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียว แสดงถึงความมีกำลัง หนักแน่นของเรื่องนั้นนั่นเอง

ดังนั้น แม้การกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า นโม ตัสสะ ๓ ครั้ง หรือ ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ๓ ครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ก็แสดงให้เห็นถึงกำลัง ความหนักแน่นของผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งหากเราๆ ได้อ่านพระธรรมในพระไตรปิฎก ผู้ที่กล่าวถึง ๓ ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า จนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว เกิดปัญญาอย่างแท้จริง ผู้นั้น ก็จะกล่าวว่า พระองค์แสดงธรรมดีแล้ว เปรียบเหมือนคนที่หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ... และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือ กล่าว สรรเสริญพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง ก็แสดงให้เห็นว่า เกิดปัญญา ความเข้าใจและศรัทธาที่มี กำลัง จึงกระทำถึง ๓ ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียวครับ

เวลาเราจะทำอะไร บ่อยๆ ย้ำๆ ก็แสดงถึง ความมีกำลัง ของสิ่งนั้นทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลครับ ดังนั้น ๓ ครั้ง แสดงถึงความหนักแน่น มีกำลัง มีศรัทธาในพระรัตนตรัย และไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป จึง ๓ ครั้งครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขออนุญาตสนทนาในประเด็นนี้กับอาจารย์ผเดิมสักนิดนะครับ

เนื่องจากผมเคยรับฟังจากท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวไว้ว่า

"ท่านผู้รู้ย่อมพูดซ้ำ ด้วยเหตุของอำนาจความเลื่อมใสหรือสรรเสริญ"

ซึ่งการพูดซ้ำ อาจมีเหตุจาก ความกลัว ความโกรธ ความรีบด่วน ความตื่นตระหนก ความร่าเริง ความโศก ความเลื่อมใส และความสรรเสริญ

ในเนื้อหานี้ท่านอาจารย์เน้นถึงสภาวะของจิตแต่ละขณะ แต่ละขณะ ท่านอาจารย์ผเดิม กรุณาอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างยิ่งขึ้นด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ได้นำคำตอบไปแจ้งให้สมาชิกวงสนทนาธรรมทราบแล้ว

สมาชิกขอให้นำคำขอบคุณมาเรียนให้ท่านผู้ตอบทราบด้วยครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 14 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

การพูดซ้ำ ในเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง อาจเกิดได้ด้วยอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ครับ เช่น พูดซ้ำหลายๆ ครั้ง ด้วยความไม่รู้ เช่น ผู้ที่สติไม่ดี มีความเป็นบ้า เป็นต้น ย่อมพูด คำเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะ โมหะ ความไม่รู้ที่เกิดขึ้น อันเกิดพร้อมกับความฟุ้งซ่าน หรือ เกิด เพราะความตกใจ ที่จิตที่เป็นโทสะ ก็พูดซ้ำๆ ในคำนั้นได้บ่อยๆ ซึ่งขณะจิตนั้นเป็นโทสมูลจิต ความดีใจมากๆ มีกำลังด้วยโลภะ ก็ทำให้พูดคำใด คำหนึ่งซ้ำๆ ได้บ่อยๆ เช่นกัน

จากที่กล่าวมาก็แสดงถึงความหนักแน่น มีกำลังของอกุศลที่เกิดบ่อยๆ ในประเภทนั้น ทำให้พูดคำนั้นซ้ำๆ ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นความดีใจมาก ทำให้พูดคำนั้นบ่อยๆ ซ้ำๆ ในขณะนั้น เกิดความตกใจมากๆ มีกำลัง ทำให้พูดคำนั้น ซ้ำๆ บ่อยๆ และโดยนัยตรงกันข้าม การพูดคำซ้ำๆ ด้วยความเลื่อมใสที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่มีกำลัง อันเกิดจาก ความเห็นถูก จึงกล่าวคำนั้นซ้ำ หลายๆ ครั้ง ที่กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า เป็นต้น เพราะเกิดปัญญาที่เข้าใจพระธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ปัญญาที่เกิด พร้อมกับ ความปิติ ปราโมทย์ในขณะนั้น จึงกล่าวคำสรรเสริญพระพุทะเจ้า ซ้ำ ๓ ครั้ง ไม่ใช่เพียง ครั้งเดีว เพราะแสดงถึงความมั่นคง เช่น ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ๓ ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียว แสดงถึงความเลื่อมใสที่มีกำลังที่เกิดจากปัญญา จึงกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ ๓ ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียวครับ เพราะฉะนั้น การกล่าวคำใดคำหนึ่งซ้ำๆ ด้วยอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ และเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ครับ อันแสดงถึงความมีกำลังในความเลื่อมใสนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ