วรรคที่ ๒.. มิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ

 
pirmsombat
วันที่  23 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20216
อ่าน  5,055

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 182

วรรคที่ ๒

ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ

[๑๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งกลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง.

[๑๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับสัมมา ทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ กุศล ธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง.

[๑๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.

[๑๘๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.

[๑๘๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นหรือมิจฉาทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนกับการทำในใจโดยแยบคายนี้เลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคาย มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และ มิจฉาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น.

[๑๘๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือสัมมาทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนการทำในใจโดยแยบคายนี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น.

[๑๘๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

[๑๘๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

[๑๘๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตาม ทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทาน ให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไป เพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเลวทราม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเลว ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเลวทราม ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๑๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายกายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไป เพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเจริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื่น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชพันธุ์ดี ฉันใด

กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเจริญ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบวรรคที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและผลตามความเป็นจริง ทรงแสดงเหตุให้กุศลเจริญและ กุศลเสื่อมไป ทรงแสดงเหตุให้อกุศลเจริญ และ อกุศลเสื่อมไป

ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ความเห็นผิด คือ การเห็นคลาดเคลื่อนจาก ความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ เช่น ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อว่าบุญมี บาปมี ไม่เชื่อว่า มีเหตุ ก็ต้องมีผล หรือเข้าใจผิดว่าตายแล้วก็ไม่เกิดอีก หรือ เข้าใจผิด คิดว่า ตายแล้วก็ต้องเกิดอยู่ร่ำไป และแม้ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่อบรมปัญญา ก็เป็นความ เห็นผิด ดังนั้น เมื่อมีความเห็นผิด กาย วาจาและใจก็น้อมไปในความเห็นผิด ก็เป็นเหตุ ให้อกุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วเจริญขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มี ความเห็นผิดว่าตายแล้วไม่เกิดอีก ดับสูญเลย การกระทำทางกาย วาจา ของบุคลนั้น ก็ย่อมน้อมไปที่จะทำบาป อกุศล เพราะคิดว่าตายไปก็จบ ไม่ต้องรับผลของกรรม ก็ ทำบาปมากขึ้น เพราะความเห็นผิดนั้น

ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ จึงทำให้อกุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ อกุศลที่เกิด ขึ้นแล้ว เจริญขึ้นครับ และ แม้ความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนในข้อปฏฺบัติ เช่น ปฏิบัติ จะต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม เมื่อเข้าใจผิด ก็มีการปฏิบัติ ทางกาย และก็แนะนำสิ่งที่ผิด ด้วยวาจา ก็ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เพราะประพฤติปฏิบัติในข้อปฎิบัติที่ผิด และเมื่อกรรม คือ ความเห็นผิดให้ผล ก็ย่อมเข้าถึง ทุคติ มี นรก เป็นต้นครับ

โดยนัยตรงกันข้าม สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ย่อมเป็นธรรมที่มีอุปการะ ต่อกุศล ธรรมประการต่างๆ เพราะมีความเห็นถูก การกระทำทางกาย วาจาและใจก็ถูกต้องตาม ไปด้วย และก็มีการประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ตามปัญญาที่เจริญขึ้น อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ ไม่เกิดขึ้น อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น กุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็ เจริญขึ้น เพราะมีความเห็นถูกเป็นปัจจัยครับ และเมื่อกรรมคือความเห็นถูกให้ผลก็ย่อม เข้าถึงสุคติ มี สวรรค์ เป็นต้น ครับ

ซึ่งความเห็นถูกจะเจริญได้ ก็ด้วยการอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ ก็จะค่อยๆ ละความเห็นผิดและมีความเห็นถูกเจริญขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

จากพระสูตรนี้แสดงให้เห็นอันตรายของทิฏฐิจริงๆ นะครับ

หากเป็นความเห็นผิดเสียแล้ว จะสมาทานทางกาย วาจา ใจ มีความตั้งใจ มีความ ปรารถนา หรือประพฤติปฏิบัติอย่างไร ย่อมได้ผลที่ไม่ดีและเป็นทุกข์ เท่านั้น ซึ่งท่าน ก็เปรียบเทียบไว้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนนะครับ เสมือน เมล็ดสะเดา บวบขม น้ำเต้า ขม จะปลูกด้วยดินดี น้ำดีเพียงใด ผลที่ได้ก็ออกมาก็ด้วยความขม เท่านั้น ทีเดียว ผมจึงเข้าใจได้มากขึ้นทีเดียวว่า หากไม่เริ่มจากความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเสีย ก่อนด้วยการศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมมีความเสี่ยงที่จะมี ความเห็นผิดได้เสมอ ซึ่งหากไปประพฤติปฏิบัติสิ่งใดๆ จากความเห็นผิดนี้แล้ว ย่อม จะมีแต่ความทุกข์ตามมาอย่างแท้แน่นอนทีเดียว

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็น เป็นธรรมที่มีจริง ถ้าเห็นถูกเข้าใจถูก เป็นปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ เป็น เหตุให้กุศลธรรมทั้งหลาย เจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อกุศลธรรมทั้งหลาย มีแต่จะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นสืบ เนื่องมาจากความเห็นผิด นั้น ดังนั้น เรื่องของความเห็น จึงมี ๒ ประเภทดังที่กล่าวมา

ถ้ามีความเห็นถูก กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูกด้วย ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ สุคติ คือมนุษย์ภูมิและสวรรค์และสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับ ขั้น ด้วย แต่ถ้ามีความเห็นผิด กาย วาจา และ ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด ผลที่ จะเกิดขึ้น คือ เป็นเหตุให้เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันเป็นผลที่เผ็ดร้อน ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เป็นอย่างยิ่ง การที่จะค่อยๆ เพิ่มพูนความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ขัดเกลาละคลายความเห็นผิด ความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยการศึกษา การฟังพระธรรมที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงแสดง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระ ธรรม ครับ

... ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pirmsombat
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ คุณคำปั่น คุณผู้ร่วมเดินทางและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 24 ธ.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สมศรี
วันที่ 24 ธ.ค. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ