พระอรหันต์ยังเข้าใจผิดได้ ใช่หรือไม่

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  8 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20119
อ่าน  2,738

พระอรหันต์อาจเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ใช่หรือไม่ ความเข้าใจผิดนั้นจะเรียกว่าโมหะได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่โมหะ จะเรียกว่าอะไร

ขอขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำ ว่า โมหะ และ อวิชชา และ พระอรหันต์ ให้เข้าใจถูกต้อง ก็เข้าใจประเด็นนี้ได้ครับ

โมหะ หรือ อวิชชา ความไม่รู้ ความหลง ไม่รู้ หลงในอะไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าอวิชชา หรือ โมหะ คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ใน อริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้ในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือ ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่สำคัญผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล เพราะไม่รู้ความจริง ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมทีเกิดขึ้นและดับไป ไม่รู้ ใน สมุทัยสัจจะ คือ ไม่รู้ว่า โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงและเป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ว่า โลภะเป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ใน นิโรธสัจจะ คือ ไม่รู้ในความเป็นพระนิพพาน คือ ไม่ได้ประจักษ์พระนิพพานนั่นเอง และไม่รู้ใน มรรคสัจจะ คือ ไม่รู้ในหนทางดับกิเลสว่า หนทางดับกิเลสเป็นอย่างไร นี่คือ อรรถ ของ ความไม่รู้ ความหลง ที่เป็นโมหะ อวิชชา ความรู้ในอริยสัจจะ 4 นั่นเองครับ

ส่วนพระอรหันต์ คือ ผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่เหลืออีกเลย ซึ่งพระอรหันต์ผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ก็มีหลายระดับ ตามกำลังของปัญญา ซึ่ง พระอรหันต์ ก็มีตั้งแต่ระดับสาวกผู้ตรัสรู้ตาม มหาสาวก ผู้ที่พร้อมด้วยคุณวิเศษ อัครสาวก ผู้เป็นเลิศของสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ไม่สามารถสอนและรู้ความจริงอย่างอื่นได้ครับ และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและยังให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย และมีพระปัญญา พระญาณ ประการอื่นๆ ที่รู้สรรพสิ่งทั้งหมด ทั้งปรมัตและสมมติของโลกครับ

จากที่กล่าวมาในเรื่อง โมหะ หรือ อวิชชา พระอรหันต์ที่เป็นระดับสาวก ไม่ได้มีปัญญาที่รู้สรรพสิ่งทั้งหมด ท่านดับโมหะ คือ อวิชชา คือ ดับความไม่รู้ ไม่รู้ในอะไร ไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยเข้าใจถูกว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นั่นคือ ท่านละความไม่รู้ในอริยสัจจะ ๔ แต่ท่านไม่มีปัญญาที่รู้สรรพสิ่งทั้งหมด ที่เป็นสัพพัญญุตญาณที่เป็นปัญญาที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านจึงไม่ได้รู้เรื่องราวทางโลกที่สมมติกันขึ้น มีวิชาการต่างๆ และความจริงที่โลกสมมติกันขึ้น ดังเช่น พระพุทธเจ้าครับ แต่การไม่รู้เรื่องราวทางโลกที่สมมติกัน ไมได้หมายความว่า เมื่อไม่รู้ จะเป็นอกุศล จะเป็นอวิชชา ที่เป็นโมหะครับเพราะตามที่กล่าวแล้ว อวิชชา หรือ โมหะ คือ การไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ หรือ ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ครับ

ขณะที่ใครมาถาม ท่านตอบว่าไม่รู้ แต่จิตขณะนั้น ก็เป็นกิริยาจิต ไม่เป็นกุศล อกุศลเลยครับ พระอรหันต์ท่านจะมีจิต เพียงสองชาติ คือ วิบากและกิริยาจิตครับ การไม่รู้ในเรื่องราวของท่าน จึงเป็นการตรึกนึกคิด ที่มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่เป็นเพียงกิริยาจิตในขณะนั้นเท่านั้นครับ เมื่อมีใครถาม ท่านก็บอกไม่รู้ แต่ไม่ใช่เมื่อท่านไม่รู้ในเรื่องราวสมมติ แล้วมีคนถาม ท่านจะตอบเป็นอย่างอื่นว่าท่านรู้ว่าอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ท่านไม่รู้ครับ เพราะท่านเป็นผู้ตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นท่านไม่เข้าใจผิด แต่ท่านไม่รู้ในเรื่องราวนั้น ท่านก็บอกว่าไม่รู้ครับ ดังนั้น ปัญญา ญาณของพระอรหันต์ก็มีหลายระดับ ผู้ที่จะรู้ ทุกสิ่งทั้งหมด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ ดังนั้นพระอรหันต์ที่เป็นพระสาวก ไม่เข้าใจผิด ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ แต่ ท่านไม่รู้ในเรื่องราวสมมติทางโลกได้ แต่ไม่เป็นอกุศล ไม่ใช่โมหะ แต่เป็นกิริยาจิตครับ

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 386

โมหะ เป็นไฉน?

ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ความไม่รู้ ความไม่เห็นความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลาความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะ คือ อวิชชา โยคะ คือ อวิชชา อนุสัย คือ อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่ม คือ อวิชชา อกุศลมูล คือ โมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่าโมหะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ปุถุชนมีจิต ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ส่วนพระอรหันต์ท่านดับกิเลสหมดแล้ว มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือชาติกิริยา และชาติวิบาก พระอรหันต์ท่านมีความสงบแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ท่านศึกษาเพื่ออนุเคาระห์คนอื่นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ทำลายข้าศึกคือกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดเหลืออยู่เลย ตามความเป็นจริงแล้ว การดับกิเลส ดับเป็นขั้นๆ ตามลำดับมรรค กิเลสใดๆ ก็ตามที่มรรคเบื้องต่ำ ๓ คือ โสตาปัตติมรรค ถึง อนาคามิมรรค ยังดับไม่ได้ ก็จะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น ด้วยอรหัตตมรรค ดังนั้น กิเลสทั้งหมด คือ โลภะ โมหะ และกิเลสอื่นๆ เช่น อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ เป็นต้น ถูกดับได้อย่างหมดสิ้น

เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ หลังจากที่ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีทั้งอกุศลจิต และไม่มีทั้งกุศลจิต จิตของท่านมีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ ชาติวิบาก (ขณะที่ได้รับผลของกรรม) และชาติกิริยา (เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างหน้า) กล่าวคือ การกระทำและคำพูดในชีวิตประจำวันของท่านก็เป็นเพียงกิริยาจิต ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล จนกว่าจะดับขันธปรินิพพาน และหลังจากที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุญาตนำข้อความในหนังสือ มิลินทปัญหา ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๔๖ ปัญญานิรุชฌนปัญหา ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสน ในเรื่องที่อธิบายความตามคำถามในกระทู้นี้ ความว่า

พระเจ้ามิลินท์ (ร.) พระผู้เป็นเจ้า ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นหรือ

พระนาคเสน (ถ.) ขอถวายพระพร ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น

ร. ญาณอันใด ปัญญาก็อันนั้นนั่นเองหรือ?

ถ. ขอถวายพระพร ญาณอันใด ปัญญาก็อันนัั้นนั่นแหละ

ร. ก็ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ผู้นั้นจะหลงหรือไม่หลง?

ถ. หลงในที่บางแห่ง ไม่หลงในที่บางแห่ง

ร. หลงในที่ไหน, ไม่หลงในที่ไหน?

ถ. หลงในสิปปะที่ตนยังไม่ได้เคยเรียน ในทิศที่ตนยังไม่เคยไป และในการตั้งชื่อ (คือภาษา) ที่ตนยังไม่ได้เคยฟัง

ร. ขาไม่หลงในที่ไหนเล่า

ถ. ก็สิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้ เขาไม่หลงในสิ่งนั้น

ร. ก็โมหะของผู้นั้นไปในที่ไหนเล่า

ถ. เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้ว โมหะก็ดับไปในที่นั้นเอง

ร. ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง

ถ. เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งส่องแสงไปเข้าไปในเรือนที่มืด แต่นั้นมืดก็หายไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้น เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้ว โมหะ ก็ดับไปในที่นั่น ฉะนั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม อ.คำปั่น อ.วรรณี และทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
miran
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

ขอแทรกอีกคนนะครับ พอดีผมเคยอ่านเจอนะครับ คิดว่าคงมีประโยขน์ในเรื่องนี้บ้าง

โมหมูลจิต

โมหมูลจิต เป็นจิตที่มีความไม่รู้ ความหลงเป็นมูลเหตุ หรือเป็นจิตที่มีโมหะเป็นตัวนำ จิตนี้เรียกว่า "โมมูหจิต" คือจิตที่ประกอบด้วยความหลง โมหะหรืออวิชชา มีความหมายอย่างเดียวกัน โมหะนี้เป็นรากเง้าแห่ง บาปอกุสลทั้งหมด เหตุให้เกิดโมหะ ได้แก่ "อโยนิโสมนสิการ" คือ การพิจารณาไม่แยบคาย พิจารณาไม่ละเอียดลึกซึ้งให้ถึงสภาพแห่งอารมณ์นั้นๆ

โมหมูลจิต หรือโมมูหจิต มี ๒ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง จิตหลงเกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยความสงสัย

๒. อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง จิตหลงเกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

อุเปกขาสหคตัง ในโมหมูลจิตนี้ หมายถึง เฉยเพราะไม่รู้

วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง แปลว่า ประกอบด้วยความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ ตัดสินลงไปไม่ได้ หมายถึงเฉพาะสงสัยในธรรม ๘ ประการเท่านั้น

อุทธัจจสัมปยุตตัง แปลว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน มีความหมายว่า จิตคิดฟุ้งซ่านไป เลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่สงบหรือไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว คิดไปเรื่อยๆ ไม่มุ่งมั่นอย่างจริงจังในสิ่งที่คิดเท่าใดนัก

ความสงสัยในธรรม ๘ ประการ

๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า (ว่าพระพุทธเจ้ามีตัวตนจริงหรือ พระพุทธเจ้ามีพระพุทธคุณจริงหรือ)

๒. สงสัยในพระธรรม (ว่ามัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มีจริงหรือ พระธรรมนี้จะนำให้ออกจากทุกข์ได้จริงหรือ)

๓. สงสัยในพระอริยะสงฆ์ (ว่ามีจริงหรือ ผลแห่งทานที่ถวายแก่สงฆ์มีจริงหรือ)

๔. สงสัยในสิกขาบท คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ว่ามีจริงหรือ ผลานิสงส์แห่งการศึกษาปฏิบัติในสิกขา ๓ มีจริงหรือ

๕. สงสัยชาติที่แล้วมีจริงหรือ

๖. สงสัยว่าชาติหน้ามีจริงหรือ

๗. สงสัยว่าชาติที่แล้วและชาติหน้ามีจริงหรือ

๘. สงสัยในปฏิจจสมุปปาทธรรม คือธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสายเลยนั้นมีจริงหรือ

ส่วนความสงสัยอื่น ที่ไม่ใช่ธรรม ๘ ประการดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่กิเลส ไม่จัดเป็นวิจิกิจฉา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
miran
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

โมหเจตสิก ๑. โมหเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เป็นความหลง ความไม่รู้จริงตามสภาวของอารมณ์ มีความหลงเข้าใจไม่ตรงกับสภาวธรรม อารมณ์ที่ดีงามกลับเห็นเป็นไม่ดีไม่งาม อารมณ์ที่ไม่ดีไม่งาม เป็นอกุสลกลับเห็นว่าดีแล้วกระทำลงไปเพราะความมืดมนธ์ไม่มีปัญญาจึงทำผิด ควรแก้ด้วยการศึกษา และให้แสงสว่างทางปัญญาเพื่อมิให้หลงทำในสิ่งที่ผิดๆ โมหเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ อญาณลกฺขโน มีการไม่รู้ เป็นลักษณะ อารมฺมณสภาวจฺฉาทนรโส มีการปกปิดไว้ซึ่งสภาวแห่งอารมณ์ เป็นกิจ อนฺธการปจฺจุปฏฺฐาโน มีความมืดมนธ์ เป็นผลอโยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้น เป็นเหตุใกล้ที่ว่าไม่รู้นั้น หมายความว่า ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ แต่ไปรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ความไม่รู้ในที่นี้ หมายเฉพาะไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ

๑) ไม่รู้ในทุกข์ ว่าทุกข์คืออะไร อะไรเป็นตัวทุกข์ และไม่รู้ว่า ตัวทุกข์นั้นมีอยู่เท่าไร อะไรบ้าง

๒) ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คือไม่รู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด นั้นเกิดมาจากเหตุอะไรอะไรเป็นเหตุให้เกิด

๓) ไม่รู้ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ คือ นิพพาน

๔) ไม่รู้ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

๕) ไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะฯ ที่เป็นอดีต (อเหตุกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุ)

๖) ไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะฯ ที่เป็นอนาคต (อุทเฉททิฏฐิ เห็น ว่าสูญ และนัตถิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผล)

๗) ไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะฯ ที่เป็นทั้งอดีต และอนาคต (อกิริยทิฏฐิ ไม่เชื่อทั้งเหตุและผล)

๘) ไม่รู้ธรรมที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย ตามนัยปฏิจจสมุปบาท (อัตตทิฏฐิ เชื่อว่าเป็นตัวเป็นตน)

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณท่านผู้รู้ทุกท่านครับ

ที่ตั้งกระทู้นี้ก็เพราะได้อ่านเรื่องพระมหากัสสปะ

1. ท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้วตั้งใจจะไปโปรดคนจน (ถวายทานแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ มีอานิสงส์ทันตาเห็น) พระอินทร์แปลงเพศเป็นคนจนมาหลอกให้ท่านโปรด

2. หญิงคนหนึ่งใส่บาตรท่านด้วยข้าวตอก แล้วตายไปเกิดเป็นเทพธิดาในดาวดิงส์
เทพธิดาต้องการจะทำบุญของตนให้เพิ่มมากขึ้นจึงมาปัดกวาดที่พักของท่าน พร้อมทั้งตักน้ำ ใช้น้ำฉันตั้งไว้พร้อมในขณะที่ท่านออกไปบิณฑบาต พระมหากัสสปะเข้าใจไปว่ากิจเหล่านั้น ภิกษุหรือสามเณรที่เป็นศิษย์ของท่านมาทำให้
พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ที่ได้อภิญญาสมาบัติมีคุณวิเศษครบถ้วน (ไม่ใช่ประเภทสุกขวิปัสสก)

1. ทำไมท่านจึงไม่รู้ว่า คนจนคนนั้นคือพระอินทร์แปลงมา

2. ทำไมท่านจึงไม่รู้ว่า กิจเหล่านั้นนางเทพธิดามาทำ มิใช่ภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์มาทำให้

บางทีท่านผู้รู้อาจจะอยากอธิบายเพิ่มเติมบ้างก็ได้นะครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 9 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

สำหรับ พระอรหันต์ผู้ที่ได้ฤทธิ์ แต่ไม่ไ่ด้หมายความว่า ฤทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลามี จักขุทิพย์ การรู้จิตของผู้อื่น เป็นต้นครับ แม้พระมหากัสสปะ ท่านก็ไม่ไ่ด้เกิดฤทธิ์ตลอดเวลา ซึ่ง ศัทพ์ธรรมได้อธิบายไว้ครับว่า ต้องอาวัชชนะ ตรึกนึกด้วยการเข้าฌานนั้น จึงจะรู้ แต่ท่านไม่ได้อาวัชชนะ เข้าฌานตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ในเรื่องของ ท้าวสักกะปลอมมา ที่ท่านไม่รู้ เพราะท่านไม่ได้อาวัชชนะ เข้าฌานในขณะนั้นครับ ท่านจึงสำคัญสิ่งที่เห็นว่า เป็นคนจนจริงๆ แต่เมื่อท่านพระมหากัสสปะ เห็นอาหารที่ท้าวสักกะถวาย ว่าเป็นอาหารที่ประณีตมากๆ จึงแปลกใจ ท่านจึงอาวัชชนะ ใส่ใจ และเข้าฌานพิจารณา จึงทราบว่าเป็นท้าวสักกะ ปลอมมานั่นเองครับ

ส่วนคำถามที่ว่า 2. ทำไมท่านจึงไม่รู้ว่า กิจเหล่านั้นนางเทพธิดามาทำ มิใช่ภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์มาทำให้ เช่นเดียวกันครับ พระอรหันต์ไม่ไ่ด้มีฤทธิ์รู้ตลอดเวลา แม้พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน ต้องอาวัชชนะ ใส่ใจ ด้วยฤทธิ์ ดังนั้น ท่านพระมหากัสสปะ เมื่อมีผู้อื่นมาตั้งน้ำฉันให้ในตอนแรก ก็ไม่ได้ใส่ใจด้วยฤทธิ์ จึงสำคัญว่า เป็นสามเณร แต่ในวันอื่น เห็นแสงลอดออกมาจึงได้รู้ เมื่อท่านอาวัชชนะ ใส่ใจ จึงสำคัญรู้ว่าเป็นเทพธิดา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nong
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ