พิจารณาสังขาร

 
manila
วันที่  6 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20109
อ่าน  19,851

พิจารณาสังขาร คือ อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า สังขารให้ถูกต้อง เพื่อความเข้าใจถูกครับ

สังขาร โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า สังขาร คือ ร่างกายของเรา เช่น มีสังขารที่แก่ชรา ซึ่งก็เป็นเพียงการเข้าใจคร่าวๆ ที่ยังไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเข้าใจเพียงว่าสังขาร คือ รูปร่างกายเท่านั้น แต่ความจริง คำว่า สังขารหรือสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น ดังนั้น สังขารหรือสังขารธรรม จึงมีความหมายกว้าง คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต (ใจ) เจตสิกและรูป ไม่ได้หมายเฉพาะร่างกายที่เป็นเพียงรูปเท่านั้นครับ

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 448

บทว่า เตน วิจินิ สงฺขาเร ได้แก่ พิจารณาสังขารทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ด้วยวิปัสสนาญาณนั้น.


เมื่อเราเข้าใจ คำว่า สังขาร หรือ สังขารธรรมในสัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่หมายถึง จิต เจตสิกและรูปแล้ว จึงกลับมาที่ประเด็นที่ถามว่า การพิจารณาสังขารนั้น คืออย่างไร

การพิจารณาสังขาร ก็แบ่งประเด็นได้หลายประเด็นดังนี้ครับ

๑. อะไรพิจารณา

๒. พิจารณาอะไร

๓. พิจารณาอย่างไร

๔. จะทำพิจารณาได้ไหม

๕. จุดประสงค์ของการพิจารณาสังขาร คือ อะไร

จะเห็นนะครับว่า ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้เพียงคำที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ที่มักพูดกัน แต่ก็ลึกซึ้ง ก็ต้องเริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจก่อนก็จะไม่เข้าใจผิดพลาดครับ

อะไรพิจารณา สัจจะคือ ไม่มีเรา มีแต่ธรรม และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนั้นการ พิจารณาสังขาร คือ อะไรพิจารณา ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา ปัญญาเกิด รู้ความจริงของ สังขาร (จิต เจตสิกและรูป) ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ปัญญานั้นเองที่ทำหน้าที่พิจารณา ไม่ใช่เรา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

พิจารณาอะไร พิจารณาสังขาร การพิจารณาสังขาร ด้วยปัญญา จึงไม่ใช่การคิดนึก ตรึกว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยงแล้วก็แก่ จะเป็นการพิจารณาสังขารด้วยปัญญาในพระพุทธศาสนาครับ แต่ความละเอียดลึกซึ้งมีมากกว่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาด้วยปัญญา ในสังขาร สังขารตามที่กล่าวแล้วไม่ได้หมายถึงร่างกายเท่านั้น แต่เป็น จิต เจตสิกและรูป ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าจิต ไม่ได้มีอย่างเดียวที่เป็นใจ แต่จิตมีหลายประเภท ถ้าได้ศึกษาก็จะเข้าใจว่า จิตมีหลายประเภท เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตที่ชอบ ไม่ชอบ เป็นต้น ซึ่งมีจิตเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว การพิจารณาสังขารก็คือการพิจารณาสภาพธรรมคือ จิต เจตสิกและรูปที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ ด้วยปัญญาที่เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่การคิดนึกนะครับ แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชื่อว่าพิจารณาสังขารครับ และการพิจารณาสังขาร ก็มีหลายระดับ ตามระดับของปัญญาที่เห็นสังขารหรือสภาพธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาครับ จะเห็นนะครับว่ายาก เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งสามารถจะค่อยๆ เข้าใจได้ ด้วยการศึกษาพระธรรมครับ

พิจารณาอย่างไร ปัญญาทำหน้าที่เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรม ทั้งที่เป็นจิต เจตสิกและรูปที่กำลังเกิด ขณะนั้นชื่อว่ากำลังพิจารณาสังขารครับ

จะทำพิจารณาได้ไหม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น พิจารณา คือ ปัญญา ปัญญาก็เป็นธรรม บังคับให้เกิดไม่ได้ เมื่อมีปัญญาน้อย สะสมอวิชชาความไม่รู้มามาก จะทำพิจารณาก็ทำไม่ได้ครับ แต่ค่อยๆ อบรมได้จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม

จุดประสงค์ของการพิจารณาสังขารคืออะไร

พิจารณา คือ ปัญญา สังขาร คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิต เจตสิกและรูป ปกติของ ปุถุชนย่อมสำคัญผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล มีคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมีแต่จิต เจตสิกและรูป ดังนั้น ปุถุชนจึงมีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล การพิจาณาสังขาร คือ ปัญญาที่เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกและรูป เพื่อเข้าใจว่าขณะนั้นเป็น ธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล จุดประสงค์ก็เพื่อไถ่ถอน ละกิเลส ความเห็นผิดว่าเป็น สัตว์ บุคคล และละกิเลสประการต่างๆ ถึงการดับกิเลสไม่เกิดอีกเลย นี่คือจุดประสงค์ตามที่กล่าวมาครับ ซึ่งกว่าจะถึงการพิจารณาสังขารจริงๆ ที่ไม่ใช่การคิดนึก แต่ต้องเป็นปัญญาระดับสูง ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อนครับ เริ่มจากเบื้องต้นเป็นสำคัญ แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร ค่อยๆ ศึกษาไปก็จะถึงความเข้าใจถูกมากขึ้นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสังขารธรรม (ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป) ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ถ้าหากว่าไม่มีการฟัง ไม่มีการศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ มีแต่จะสะสมความไม่รู้ต่อไป ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ถ้าหากเริ่มจากการฟังด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ปัญญาเจริญขึ้น สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ได้ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นว่า ขณะนี้เป็นธรรม และธรรมที่มีจริงในขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ได้เลย ปัญญาเท่านั้นที่จะทำกิจนี้ คือ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่เริ่มสะสมตั้งแต่ในขณะนี้จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเลย มีให้ศึกษาอยู่ขณะจริงๆ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พิจารณาสังขารหมายความว่าอย่างไร

ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natre
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณและขออนุโทนาอ.ผเดิม, อ.คำปั่น ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

พิจารณาสังขารหมายถึงพิจารณาสังขารธรรม. ธรรมที่มีอยู่จริงเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่จิต เจตสิก รูปหรือปรมัตธรรม๓ได้แก่การเจริญปัญญาโดยพิจารณาลักษณะ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ... ดังนั้น พิจารณาสังขารหมายถึงวิปัสสนาออย่างเดียวหรือหมายถึงสมถภาวนาด้วย


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 592

กรรมฐานนั้นนั่นเอง มีพุทธาธิบายนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรูปนี้ผู้ปรารภวิปัสสนาใคร่ครวญ คือ พิจารณาสังขารทั้งหลาย ได้แก่ ถือเอานิมิต ในสมถะ ด้วยอำนาจแห่งการกำหนดอาการที่จิตตั้งมั่นมาก่อนแล้วให้สัมมสนญาณเป็นไปตลอดเวลาไม่มีระหว่างขั้นโดยเคารพวิปัสสนาจิตของตนจะไม่พึงเกิดขึ้น ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

การพิจารณาสังขาร มุ่งหมายถึง การพิจารณาสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยอำนาจความไม่ เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา อันมุ่งหมายถึงการเจริญวิปัสสนาเท่านั้นครับ

ซึ่ง สมถภาวนา จะไม่ได้พิจารณาสังขารหรือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็น อนัตตา เพียงแต่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ทำให้สงบจากกิเลสเท่านั้น แต่ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงด้วยอำนาจไตรลักษณ์ครับ

ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎก ได้แสดงการพิจารณาสังขาร โดยการเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา และยังมีข้อความที่แสดงว่า การพิจารณาสังขารทั้งหลาย แม้ขณะที่เจริญสมถภาวนา จิตที่เจริญสมถภาวนา มีจริง ที่เป็นมหัคตจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ก็สามารถพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นจิตในขณะนั้นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ดังที่เรามักได้ยินคำนี้บ่อยๆ คือ พิจารณาองค์ฌานเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนา คือ เจตสิกหรือจิตที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นอารมณ์ของกาเรจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารทั้งหลายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นั่นคือ ขณะที่พิจารณาสังขารทั้งหลาย เป็นการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น จนถึงการดับกิเลสครับ

ซึ่งจากพระสูตรที่ผู้ถามยกมานั้น ก็แสดงว่า ถือเอานิมิตของสมถะ คือถือเอา (เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนา) ตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ของฌานที่เกิดขึ้นพิจารณาสังขารทั้งหลาย คือ จิต เจตสิกทั้งหลายของสมถภาวนาที่เป็นฌาน ด้วยอำนาจสัมมสนญาณ คือการเห็นการเกิดขึ้นและดับไปนั่นเองครับ ซึ่งการพิจารณาสังขารทั้งหลาย จึงเป็นการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น ส่วนสมถภาวนา ขณะที่เจริญ มีจิต เจตสิก เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั่นเองครับ แต่ตัวสมถภาวนา เป็นสภาพธรรมที่เพ่งอารมณ์ (อารัมมณูปนิชฌาน) แต่ไม่ได้เพ่งลักษณะที่เป็นวิปัสสนา (ลักขณูปนิชาน) ครับ

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 64

พระโยคีบุคคลนั้นเห็นว่า สพฺเพ สงฺขารา สุญฺา แปลว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่าง ดังนี้แล้วจึงยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ จึงละความกลัวและความยินดีเสียได้ก็ย่อมวางเฉย


[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 293

แต่พระโยคาวจรกำหนดกัมมัฏฐานนี้แล้ว ให้จตุตถฌาน มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นทำฌานนั้นนั่นแล ให้เป็นบาท (อารมณ์) พิจารณาสังขารทั้งหลาย แล้วบรรลุพระอรหัต

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
manila
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนานะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
intira2501
วันที่ 10 ธ.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Sea
วันที่ 11 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ