โวฏฐัพพนะจิตเป็นกิริยาจิต แต่ทำไมมีผลต่อชวนจิต

 
Thanapolb
วันที่  17 พ.ย. 2554
หมายเลข  20044
อ่าน  3,256

ทราบว่าโวฏฐัพพนะจิตเป็นกิริยาจิต และเข้าใจว่ากิริยาจิต เป็นชาติหนึ่งของจิตใน ๔ ชาติ กิริยาจิตไม่ทำให้เกิดวิบากจิต เช่นเดียวกับวิบากจิต มีแต่กุศลและอกุศลจิตเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดวิบากต่อไป แต่ทำไมจึงกล่าวว่าโวฏฐัพพนะจิต หรือจิตที่ทำกิจตัดสินอารมณ์ว่าจะทำให้ชวนจิตที่เกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศลได้

และขอถามต่อ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การที่จิตทำกิจโวฏฐัพพนะตัดสินอารมณ์ว่าชวนะจะเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น บุคคลที่ฟังธรรมะแล้วเข้าใจธรรมะมากขึ้น โวฏฐัพพนะจิต จะตัดสินอารมณ์ให้ชวนะเกิดไปในทางกุศล มากกว่าบุคคลไม่ฟังธรรมะไหมครับ

(คำถามไม่ได้หมายถึงมีตัวตนจะไปกำหนดให้เกิดนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน ทั้งหมดนั้นเป็นการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระองค์ทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า จิต เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่เรา ซึ่งขณะนี้ไม่เคยปราศจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสือต่อกันอย่างไม่ขาดสาย และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็จะไม่มีจิต เกิดอีก และไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง

จากประเด็นคำถาม ในเรื่องของโวฏฐัพพนจิตนั้น ขอแสดงความคิดเห็นโดยรวมดังนี้ ควรที่ได้เข้าใจว่า โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นกิริยาจิต ซึ่งจิตที่กระทำโวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารนี้ คือ มโนทวาราวัชชนจิต (โวฏฐัพพนจิต เรียกตามกิจของจิต) ซึ่งจะต้องเกิดก่อนที่ชวนจิตทางปัญจทวารจะเกิดเสมอ เมื่อแปลโดยศัพท์แล้ว คือ ตัดสินอารมณ์ เมื่อว่าโดยอรรถแล้ว ก็เป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนจิต เกิดสืบต่อ นั่นเอง ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้ นี้เป็นความแน่นอนของจิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาในการกำหนดตัดสินได้ตามใจชอบ แล้วแต่การสะสมในอดีตของแต่ละบุคคลว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ตามการสะสมจริงๆ และถ้าเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ไม่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น เมื่อโวฏฐัพพนจิตของพระอรหันต์ดับไปแล้ว ชวนจิตของท่านก็เป็นมหากิริยา ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แม้จะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่สภาพจิตต่างกันก็ได้ ตามการสะสมจริงๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ได้ ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ประเด็นที่ถามต่อไปว่า "บุคคลที่ฟังธรรมะแล้วเข้าใจธรรมะมากขึ้น โวฏฐัพพนะจิต จะตัดสินอารมณ์ให้ชวนะเกิดไปในทางกุศล มากกว่าบุคคลไม่ฟังธรรมะไหม" ก็จะต้องกลับไปพิจารณาตามที่ได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วข้างต้นว่า เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าฟังพระธรรมแล้ว เข้าใจมากขึ้นแล้ว จะมีแต่กุศลจิตเกิดตลอดเวลา อกุศลจิตไม่เกิดเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ [แม้แต่ผู้ไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกุศลจิต ก็มีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต] เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้ดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น อกุศลจิตก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใ่ช่เรา และสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจธรรมมากขึ้น สภาพธรรมที่ดีงามทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ตามระดับขั้นของความเข้าใจ ซึ่งก็เป็นธรรมอีก ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวตนที่บังคับบัญชาให้สภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งค่อยๆ เจริญขึ้นคล้อยตามความเข้าใจพระธรรมนั่นเอง เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตที่เกิดก่อนชวนจิตทางปัญจทวาร เป็นจิตที่กระทำทางให้จิตขณะต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศล (หรือมหากิริยา) ซึ่งจิตขณะต่อไปที่จะเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตนั้น จะเป็นกุศลจิต อกุศลจิตหรือมหากิริยาจิต ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

โวฏฐัพพนกิจ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 18 พ.ย. 2554

โวฏฐัพพนจิต เป็นกิริยาจิต ที่กระทำทาง ให้ขณะต่อไปเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่น เคยให้ทาน รักษาศีลหรือฟังธรรม ก็เป็นเหตุปัจจัยให้กุศลอย่างนั้นเกิดขึ้นอีก ตรงกันข้าม ถ้าเคยพูดเท็จ พูดส่อเสียดทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอกุศลประเภทนั้นอีกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและอาจารย์วรรณีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Thanapolb
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณอ.คำปั่น และผู้ร่วมสนทนา และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ