โลภมูลจิต 4 ดวง และ มหากุศลจิต 4 ดวง

 
วิริยะ
วันที่  18 พ.ย. 2554
หมายเลข  20048
อ่าน  4,715

เรียนถาม

โลภมูลจิต ๔ ดวง ที่ไม่มีความเห็นผิดร่วมด้วย และมหากุศลจิต ๔ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แตกต่างกันอย่างไร สัมมาทิฏฐิ และปัญญา และอโมหะ มีความหมายเดียวกันหรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับ โลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด มี ๔ ดวง ดังนี้ครับ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๒. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๓. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๔. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

มหากุศล ที่ชื่อว่า มหากุศลจิต เพราะเป็นจิตที่ดีงาม และเป็นไปในอาการมากมาย คือ เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ มหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มี ๔ ดวง ดังนี้ครับ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๓. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๔. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

สำหรับโลภมูลจิต ๔ ดวง ที่ไม่มีความเห็นผิดร่วมด้วย และมหากุศลจิต ๔ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก่อนอื่นขอกล่าวในส่วนที่เหมือนกันก่อนนะครับ ซึ่งส่วนที่เหมือนกัน คือ เวทนา ความรู้สึก คือ เป็นอุเบกขาเวทนาและโสมนัสเวทนา เช่นกัน และที่เหมือนกันคือจิตที่ไม่มีกำลังและจิตที่มีกำลังเช่นกันครับ และมีเจตสิกบางประเภทที่เกิดเหมือนกัน เช่น สัพพจิตสาธารณเจตสิก คือเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทที่มี ๗ ดวง เช่น เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นต้น และไม่มีปัญญาหรืออโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเช่นกัน และไม่มีทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเช่นกัน แต่บางส่วนเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นจิตประเภทเดียวกันครับ
สำหรับส่วนที่แตกต่างกันของโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยและมหากุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือประการที่หนึ่ง เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่เหมือนกันทั้งหมด เพราะโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น โลภเจตสิก โมหเจตสิก ส่วนมหากุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา สติ หิริและไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือไม่มีโลภเจตสิก โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยครับ เพราะเป็นจิตที่ดีงามครับ และโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

สัมมาทิฏฐิ และปัญญา และอโมหะ มีความหมายเดียวกันหรือไม่

แม้พยัญชนะจะต่างกัน แต่ความหมายไม่ต่างกันเลยครับ คือเป็นความเห็นถูก เห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ ปัญญา คือความเห็นถูกตามความเป็นจริงและอโมหเจตสิก คือ ความไม่หลง รู้ตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่ง สัมมาทิฏฐิ ทัสสนะ ปัญญาที่เป็นชื่อของปัญญา โดยองค์ธรรม คืออโมหเจตสิกนั่นเอง ครับ
การเข้าใจพระธรรมที่เกิดจากการศึกษาพระธรรม ขณะที่เข้าใจเป็นปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิและมีอโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ขอให้เริ่มจากความเข้าใจในอรรถ ความหมายในเรื่องของสภาพธรรม เมื่อเจอชื่ออะไรก็สามารถเข้าใจได้ถูกขึ้นว่าไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร ก็แสดงถึงความเห็นถูกตามความเป็นจริงครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 18 พ.ย. 2554

โลภมูลจิตเป็นอกุศลจิต ส่วนมหากุศล แม้จะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นกุศล แตกต่างจากอกุศลอย่างสิ้นเชิง ส่วนสัมมาทิฏฐิก็ดี ปัญญาก็ดี อโมหะก็ดี เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน คือปัญญาเจตสิก ที่จะต้องเกิดกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้เลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 18 พ.ย. 2554

เรียนถาม

ในชีวิตประจำวัน บางโอกาส ถ้าจิตเป็น โลภมูลจิต ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด อาจมีการชักจูง หรือไม่มีการชักจูง เวทนาอาจเป็นได้ทั้ง โสมนัสเวทนาหรืออุเบกขา แต่อาจเข้าใจว่าเป็นกุศลจิต ก็เป็นไปได้ใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ถูกต้องครับ เพราะโลภมูลจิตและมหากุศลจิต มีเวทนาความรู้สึกที่เหมือนกัน คือ โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา อย่างเช่น บางคนไปนั่งสมาธิ เกิดความรู้สึกโสมนัสเพราะนั่ง อันเป็นความติดข้องที่เกิดกับความรู้สึกโสมนัส ก็สำคัญว่า ความติดข้องที่เป็นโลภะนั้น เป็นกุศล เพราะสำคัญว่าเป็นปิติได้ครับ เพราะปิติและโสมนัสเวทนาเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้นั่นเองครับดังนั้น เพราะสำคัญความรู้สึก มีความสุขโสมนัส จึงสำคัญ โลภะ ว่าเป็น กุศลจิตได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 18 พ.ย. 2554

เรียนถาม

ถ้าหมายถึงจิตที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน เช่นการให้ทาน ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นโลภมูลจิต แต่เห็นได้ยาก ใช่หรือไม่ แล้วจะทำเช่นไรจึงจะแยกแยะได้ถูกต้อง และถ้าโลภมูลจิตเกิดขึ้นไม่มีความเห็นผิดร่วมด้วย แล้วระลึกได้ อย่างนี้เรียกว่าอย่างไรในทางธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

การจะรู้จิตตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ต้องเป็นปัญญาระดับสูง ที่ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นการคิดพิจารณา แต่ต้องเป็นสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษระของสภาพธรรมในขณะนั้น คือ ในขณะที่จิตเกิดขึ้น จึงจะรู้ว่า จิตในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไร อย่างไร ตามความเป็นจริงครับ แม้ขณะที่ให้ทาน ให้เพราะแลกเปลี่ยน ที่เป็นโลภะ ไม่ใช่กุศล แต่ให้เพราะกุศล ก็มี แต่จะแยกแยะได้ก็ด้วยสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ซึ่งต้องเป็นปัญญาระดับสูงครับ แม้การรู้ว่าเป็นโลภะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

การรู้ก็มีหลายระดับ รู้เพียงขั้นคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว การรู้อย่างนั้น อาจจะรู้ผิด คือไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งการจะรู้ตรงความเป็นจริง คือสติปัฏฐานเกิดระลึกตัวธรรมในขณะนั้น ซึ่งการแยกแยะได้ ต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่เรียกว่า สติปัฏฐานแคล่วคล่องแล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมและอาจารย์วรรณี และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมและอาจารย์วรรณี และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อว่าโดยสภาพลักษณะของจิตแล้ว มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ จิตมีความหลากหลาย เป็นชาติต่างๆ คือ เป็นกุศลชาติบ้าง เป็นอกุศลชาติบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ต่างกันโดยอารมณ์บ้าง ต่างกันโดยสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ้าง แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตประจำวัน มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง และเป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นจริงของจิตประเภทนั้นๆ ขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลจิตเฉพาะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเท่านั้น แม้ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็เป็นอกุศลจิตได้ เช่น ขณะที่เกิดความติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่ได้มีความเห็นว่าเที่ยงว่ายั่งยืน หรือเป็นตัวตน ก็เป็นอกุศลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะที่เกิดความโกรธขุ่นเคืองใจ ก็เป็นอกุศลจิต ประเภทที่มีโทสะเป็นมูล ถึงแม้จะไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ก็เป็นอกุศลจิต หรือแม้แต่ไม่เป็นโลภมูลจิต ไม่เป็นโทสมูลจิตก็เป็นโมหมูลจิต ยากที่จะพ้นไปได้จริงๆ แสดงให้เห็นเลยว่า อกุศลจิตมีมาก เกิดมากในชีวิตประจำวัน ไม่เป็นอย่างใดก็เป็นอย่างหนึ่ง นานๆ จึงจะมีกุศลจิตเกิดแทรกคั่น กุศลจิตเกิดน้อยมาก และกุศลจิตที่เกิดนั้นก็เป็นกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือขณะที่ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ประเสริฐกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างเทียบกันไม่ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Thanapolb
วันที่ 18 พ.ย. 2554

อนุโมทนากับทุกท่านครับ อกุศลแอบแทรกมากับจิตที่อยากทำบุญ อยากทำดี แยกยากมากเลยครับ บางทีก็สลับกันทั้งมีจิตใฝ่ที่จะทำดี จิตอยากได้วิบากที่ดี อยากได้ผลที่ดีก็มี ดูยากกว่าจิตที่เป็นอิจฉา โทสะ ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ หรือแม้ฟังแล้วยังไม่แจ่มแจ้ง ก็ย่อมคิดว่าขณะที่อยากทำดี อยากทำบุญและขณะที่ทำดี และทำบุญ ก็ไม่รู้ว่าอาจมีอกุศลแทรกสลับไปด้วย กว่าเจะเห็นโทษของอกุศลที่ละเอียดนั้น ปัญญาระดับการฟัง ระดับการพิจารณาตามหรือการตรึก จะเห็นได้ละเอียดขั้นไหนครับ แล้วถ้าจะต้องถึงปัญญาระดับภาวนา ต้องเป็นโสดาบันบุคคลขึ้นไปเท่านั้นไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

เป็นธรรมดาครับ ที่อกุศลเกิดสลับกับกุศล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลมากกว่า กุศลจิต ซึ่งแม้ขณะที่ทำกุศล ก็มีอกุศลเกิดแทรกได้ตลอดเวลา ซึ่งการจะรู้ในขณะนั้นว่ามีอกุศลเกิดขึ้น ก็ต้องมีสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้น ย่อมจะทราบตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศลหรือกุศลครับ ซึ่งต้องเป็นปัญญาระดับสูงครับ ถึงจะรู้ว่ามีอกุศลเกิดขึ้นเข้าแทรก ซึ่งการที่สติปัฏฐานเกิดระลึกว่าเป็นอกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่แค่ปัญญาขั้นการฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นพิจารณา แต่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นสติปัฏฐานระดับสูงครับ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงปัญญาระดับพระโสดาบันก็ได้ครับ เพียงแต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ จนชำนาญ จึงสามารถรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศลครับ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนาแล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Jesse
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
วิริยะ
วันที่ 21 พ.ย. 2554

เรียนถาม

เรียนถามอาจารย์ผเดิม ความเห็นที่ 8 เพิ่มเติม เมื่อเข้ามาอ่านซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การรู้ที่มีหลายระดับ ที่ยังไม่ใช่สติปัฏฐานนั้น อาทิ รู้โลภะที่ดับไปแล้ว อาจจะรู้ช้าไปบ้าง หรือเร็วขึ้นมาบ้าง ตัวอย่าง เช่น เดินดูสินค้าตามห้าง แล้วเกิดความต้องการจะซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น เกิดความติดข้องอยากได้ไว้เป็นเจ้าของ แต่จิตก็เกิดดับสลับกันไประหว่างความต้องการและการหักห้ามใจที่จะไม่ซื้อ บางครั้ง สามารถหักห้ามใจไม่ซื้อได้สำเร็จ บางครั้ง โลภะก็มีกำลังเหนือกว่า ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเช่นนี้อยู่เนืองๆ ดิฉันเข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นอกุศลจิต การหักห้ามใจให้ไม่ซื้อ ก็ใช่ว่าจิตใจจะเบาสบาย ความอยากได้ก็ยังมีอยู่ สภาพเช่นนี้ จะช่วยให้ละคลายกิเลสได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 16 ครับ

ใช่ครับ ยังไม่ใช่ปัญญาที่เป็นการจริญสติปัฏฐาน เพราะสติปัฏฐาน ต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมี่กำลังปราฏในขณะนี้และรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่ขณะที่หักห้ามใจ แต่เป็นขณะที่เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรม ไม่ใชเ่รา ครับ หนทางการคลายกิเลส คือเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะขณะที่พยามหักห้ามใจ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเราที่จะหักห้าม ก็ไม่ไใช่หนทางละกิเลส คลายกิเลส ที่จะคลายกิเลส คือ ความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเลยครับ ซึ่งก็ต้องค่อยๆ กลับมาสู่การฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมใหม่โดยเริ่มจากควาเมห็นถูกขั้นการฟัง ว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลที่เกิดขึ้น ไม่มีใครบังคับได้ ไม่มีใครหักห้ามได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจขั้นการฟังว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราก่อนครับ นี่คือหนทางที่ถูกและค่อยๆ ละ ขัดเกลากิเลสจริงๆ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
nong
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
peem
วันที่ 6 ต.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ