พระภิกษุยืนบิณฑบาตที่ตลาดสด

 
pornyoopa
วันที่  4 ต.ค. 2554
หมายเลข  19847
อ่าน  2,668

อยากสอบถามท่านผู้รู้ว่า การที่พระภิกษุยืนถือบาตรอยู่ที่ตลาดสด ถือว่าเป็นการบิณฑบาตที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะตลาดสดเป็นสถานที่มีคนพลุกพล่านมาก ทำไมพระภิกษุมายืนเบียดคน อย่างนั้น แล้วไม่ใช่ยืนรูปเดียว ยืนอยู่หลายรูปมาก โดยเฉพาะที่ตลาดบางจากที่ดิฉันอยู่ไม่น่าดูเลย ทำไมพระไม่เดินบิณฑบาตไปตามบ้านเหมือนต่างจังหวัด หรือสมัยก่อน ท่านผู้รู้ช่วยตอบให้หายข้องใจด้วยนะคะ จะขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ผู้ข้องใจคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

หากคฤหัสถ์นิมนต์เพื่อรับภิกษา แม้ในตลาดควรอยู่ครับ เพราะไม่ได้ทำกิจอื่นคือไปเที่ยวไปเดินตลาดอย่างนั้น แต่เพราะเขานิมนต์การไปรับภิกษาไม่อาบัติอะไร ทำได้ครับ แต่ถ้าไม่ได้นิมนต์ พระภิกษุ ต้องเดินเที่ยวบิณฑบาต ไม่ใช่ยืนรออยู่ที่หนึ่งที่ใดประจำที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดหรือที่อื่นๆ ครับ ต้องเป็นผู้เที่ยวไปด้วยปลีแข้ง ไม่ใช่ยืนรออยู่ที่ตลาด อย่างนั้นไม่ควรครับ และที่สำคัญ การออกรับบิณฑบาตของพระภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้หลายข้อ เพือให้พระภิกษุได้สำรวมตาม แม้ในกรณีที่ถูกนิมนต์ให้ไปรับอาหารบิณฑบาตในตลาด ก็จะต้องพิจารณาสิกขาบทอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น รับอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ แลดูแต่ในบาตรในขณะรับอาหารบิณฑบาต ไม่มองดูหน้าของผู้ถวาย ไม่รับอาหารเกินขอบบาตร เป็นต้น พระภิกษุที่ท่านรักษาพระวินัยจริงๆ ท่านจะไม่รับอาหารเกินขอบบาตร เพราะถ้ารับอาหารเกินขอบบาตร เป็นอาบัติและ แสดงถึงความเป็นผู้มักมาก ไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เพราะเพศของบรรพชิต จะต้องเป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ซึ่งจะต้องขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นอย่างยิ่งซึ่งถ้าได้ศึกษาพระธรรมวินัยและมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงใจ ย่อมจะเกิดผลดีต่อตัวท่านเองที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการได้ถือเพศเป็นบรรชิต และยังเป็นเหตุให้คฤหัสถ์ผู้พบเห็นในกิริยาอาการ ความประพฤติต่างๆ อันสมควรแก่ความเป็นบรรพชิต เกิดกุศลจิตอนุโมทนา หรือ เกิดความเลื่อมใส ได้ด้วย แม้แต่ในเรื่องของการบิณฑบาต ซึ่งตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุจะต้องเดินไปตามลำดับตรอก (ตามลำดับบ้าน) นอกจากนั้น ก็จะต้องรับอาหารบิณฑบาตแต่พอประมาณ คือ รับพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้วันหนึ่งคืนหนึ่ง เท่านั้น ไม่ควรรับเกินขอบบาตร เพราะถ้ารับเกินขอบบาตร นอกจากสะสมความเป็นผู้มักมากด้วยแล้ว ยังเป็นอาบัติมีโทษทางพระวินัย ด้วย ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว พระวินัยบัญญัติทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ ล้วนเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
vinmool
วันที่ 4 ต.ค. 2554

4 ต.ค. 54

เป็นชาวพุทธต้องหมั่นทำใจให้มั่นคงครับ พระในบ้านเรามี 2 ประเภทครับ

1. บวชเข้ามาเพราะความเลื่อมใสและศึกษาในพระธรรมจนสามารถสั่งสอนพวกเราได้ครับ

2. บวชเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะมีรายได้ดีในการยืนรับบาตรอยู่กับที่ (ประเภทนี้ผมอยากเรียกว่านักบวชครับ) แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีอยู่นะครับ

ปัจจุบันนี้มีพระประเภท 2 นี้มากกว่าประเภท 1 หลายสิบเท่าเลยครับ หวังว่าความเห็นของผมคงช่วยให้สบายใจขึ้นบ้างนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 6 ต.ค. 2554

"เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์

ซึ่งจะต้องขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นอย่างยิ่ง

...ย่อมจะเกิดผลดีต่อตัวท่านเอง..

และยังเป็นเหตุให้คฤหัสถ์ผู้พบเห็น

ในกิริยาอาการ ความประพฤติต่างๆ อันสมควรแก่ความเป็นบรรพชิต

เกิดกุศลจิตอนุโมทนา"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
worrasak
วันที่ 6 ต.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ