สติ มีมาก่อนยุคพุทธกาลหรือเปล่าครับ

 
insight
วันที่  14 ก.ย. 2554
หมายเลข  19725
อ่าน  1,535

สติ มีมาก่อนยุคพุทธกาลหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สติ มีมาก่อนยุคพุทธกาลหรือเปล่าครับ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

และพระนิพพาน จิต เจตสิก รูปและพระนิพพาน เป็นสิ่งที่มีจริง พระพุทธเจ้าทรง

ตรัสรู้ความจริงที่เป็นอริยสัจจะ ที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพานว่า

มีจริงและเป็นธรรมไม่ใช่เรา พระพุทธเจ้าไมได้ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม และ

พระองค์ไม่ได้ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ตรัสรู้ความจริงที่มี

อยู่แล้ว เป็นปกติในขณะนี้ ที่เป็น จิต เจตสิกและรูปครับ และเมื่อพระองค์รู้ความจริง

พระองค์ก็ทรง แสดง เปิดเผย แก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอัธยาศัย สะสมปัญญามาที่จะรู้ความจริง

ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและพระนิพพาน ตามที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยการแสดงธรรม เมื่อผู้นั้น

ได้ฟังก็สามารถรู้ตามพระองค์และตรัสรู้สัจจะที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันได้ครับ นี่เราพูดถึง

ความจริงที่เป็น ปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปว่ามีอยู่ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือ

ไม่อุบัติ มีมาก่อนพุทธกาล และปัจจุบันและอนาคตด้วย สำหรับความจริงที่เป็น จิต

เจตสิก รูปครับ

ส่วนจากคำถามที่ว่า สติมีมาก่อนยุคพุทธกาลหรือเปล่า สติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่เป็นเจตสิก จึงเป็นปรมัตถธรรมด้วย สติ

เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เกิดกับจิตฝ่ายดีทุกดวง สติทำหน้าที่ระลึก สติเกิดกับกุศลจิต

ทุกประเภท ทุกระดับ สติมีหลายระดับครับ ทั้งสติที่เป็นไปในทาน สติเป็นไปในศีล สติ

ที่เป็นในการเจริญสมถภาวนา และสติทีเป็นไปในการเจริญวิปัสสนา ดังนั้น ก่อนสมัย

พุทธกาล มีการเจริญกุศลประการต่างๆ เช่น มีการให้ทาน มีการรักษาศีล และมีการ

เจริญสมถภาวนา แต่ไม่มีการเจริญวิปัสสนา ที่แสดงโดยพระพุทธเจ้าครับ ดังนั้น กุศล

ขั้นทาน มี ก็มีสติขั้นทานครับ ในสมัยก่อนพุทธกาล สติขั้นศีลมี และกุศลสมถภาวนาก็มี

ที่ฤาษีดาบสเจริญจนได้ฌาน ดังนั้นสมัยก่อนพุทธกาล มีสติครับ แต่มีสติระดับ ทาน

ศีล สมถภาวนาเท่านั้น แต่ไม่มีสาวกที่เจริญสติขั้น วิปัสสนา ทีเป็นสติปัฏฐานที่แสดง

เปิดเผยโดยพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีการอุบัติของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ

สรุป คือ สมัยก่อนพุทธกาล มีสติครับ เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นสภาพธรรม

ฝ่ายดี คือ มีสติขั้นทาน ศีล สมถภาวนา แต่ไม่มีสติที่เกิดขึ้นที่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่

แสดงโดยพระพุทธเจ้าครับ แต่เมื่อกล่าวโดยละเอียด ในสมัยก่อนพุทธกาล ช่วงที่ว่าง

จากพระศาสนามีสติที่เป็นการเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการบรรลุธรรมด้วยพระองค์เอง คือ

การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติที่เป็นระดับวิปัสสนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าครับ แต่

ไม่มีการเจริญสติ ที่เป็นระดับวิปัสสนาของคนทั่วไปในสมัยนั้นเพราะไม่มีการแสดงธรรม

ของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าไม่อุบัติ) จึงไม่มีใครที่สามารถเกิดสติ ระดับวิปัสสนา

สามารถบรรลุธรรมเป็นสาวกของคนทั่วไปได้ เพียงแต่มีการเจริญสติระดับวิปัสสนาเกิด

ขึ้นกับเฉพาะบุคคลทีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ในช่วงว่างศาสนาหรือก่อนพุทธกาลครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงคำ ๒ คำนี้ก่อนว่า หมายถึง อะไร คือ คำว่า สติ กับ คำว่าพุทธกาล เป็นการเริ่มศึกษาธรรมทีละคำ เมื่อเข้าใจไปทีละคำๆ มากขึ้นๆ ความเข้าใจก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง -สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกฝ่ายดีที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท โดยกว้างๆ แล้ว เกิดร่วมกับจิตได้ ๓ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติวิบาก และ ชาติกิริยา ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ สำหรับประเด็นที่ควรจะได้พิจารณา คือ ในขณะที่ กุศลจิต เกิดขึ้น นั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต ขั้นใด ทั้งที่เป็นไปในทาน ในศีล การในอบรมเจริญความสงบของจิต (สมถภาวนา) และ การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) จะมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ -พุทธกาล หมายถึง กาลสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เสด็จอุบัติขึ้นในโลกเพื่อทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกให้ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ให้ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูก จากที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ มีความรู้ที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับ การอบรมเจริญปัญญา มีเฉพาะในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของพุทธกาล เพราะยังเป็นกาลสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังดำรงอยู่ อันสืบเนื่องมาจากการทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมของพระองค์ เมื่อเข้าใจแล้วว่า สติ คือ อะไร พุทธกาล คือ อะไร ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น กุศลขั้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นของการอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ ก็มีได้ แต่ยังไม่การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติ ก็เกิดร่วมกับกุศลจิตเหล่านั้น แต่ยังไม่มีสติที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนา) แต่เมื่อมีการเสด็จอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรม สาวกได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีการอบรมเจริญปัญญา เจริญสติปัฏฐาน สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา จึงเกิดขึ้นเป็นไปได้ กล่าวได้ว่า สติที่เป็นไปในทาน ในศีล ในการอบรมเจริญความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา มีพร้อมสมบูรณ์ในกาลสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกประการหนึ่ง ถ้าเป็นช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ว่างจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นยุคที่พระปัจเจกพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นในโลกได้ และสามารถเกิดพร้อมๆ หลายพระองค์ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น อบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) จนกระทั่งได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ตรัสรู้สภาพธรรมด้วยตนเองกล่าวได้ว่า สติ ที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญปัญญา ก็มีได้ในกาลสมัยที่ว่างจากพระพุทธศาสนา อันเป็นช่วงเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้า เกิดขึ้น [เฉพาะพระปัจเจก-พุทธเจ้าเท่านั้น] ดังนั้น จึงพอที่จะสรุปได้ว่า สติ มีมาก่อนยุคพุทธกาล ตามที่ได้แสดงความคิดเห็นมาในข้างต้น ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
insight
วันที่ 14 ก.ย. 2554

ขอบคุณกัลยาณธรรมทุกท่านที่ตอบครับ

อธิบายได้ลึกซึ้ง ละเอียดมากครับ

สาธุๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nu007
วันที่ 14 ก.ย. 2554

กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านพระธรรมครับกระผมขอขอบพระคุณและอนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ย. 2554
สติมีก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ สติที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถภาวนา สมัยนั้น เจริญสมถภาวนา ก็ยังไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ ยังเป็นกุศลที่วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ จนกว่า พระพุทธเจ้าจะอุบัติแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก ผู้ที่สะสมบุญบารมีมา ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จึงจะสามารถพ้นทุกข์ค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ