อริยสัจสี่

 
ละอองน้ำ
วันที่  9 ส.ค. 2554
หมายเลข  18896
อ่าน  3,052

อริยสัจสี่ มีความหมายอย่างไร มีรายละเอียดอะไรบ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความหมายของอริยสัจจะ

1. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

2. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า
อริยสัจจะ

3. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ


4. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง
5.ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง
จากที่ถามว่า ธรรมทั้งปวง ย่อมประชุมลงในอริยสัจ 4 ธรรมในที่นี้หมายถึงอะไร

ธรรมทั้งปวงในที่นี้ ก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด คือ ธรรมที่เ่ป็นปรมัตถธรรม 4 คือ จิต เจตสิก รูปและพระนิพพาน ครับ เพราะเป็นสัจจะ-ความจริงทั้งหมดครับ ในเมื่อสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริง เป็นสัจจะ จึงไม่พ้นจากอริยสัจ 4 ซึ่งจะขอแบ่่งอริยสัจ แต่ละ

อริยสัจ ว่ามีสภาพธรรมที่มีจริงอะไรบ้างครับ

๑. ทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ คือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ เพราะผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือทุกขธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงความประเสริฐ คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า

๒.สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก เป็นความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกียธรรม๓.นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพาน เป็นโลกุตตรธรรม๔. มัคคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น


อีกนัยหนึ่ง ก็แสดงว่ากุศลธรรมทั้งปวง ย่อมประชุมลงในอริยสัจจะครับ ดังพระสูตร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2554

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 516

๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

พระสารีบุตรได้กล่าวว่าดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่ง สัตว์ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมประชุมลงในรอย เท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะ รอยเท้าช้างเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใด เหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมสงเคราะห์เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเหมือน กันแล. อริยสัจสี่เหล่าไหน. คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสตามลำดับขั้น ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค, ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด, สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ ทุกข์และสมุทัย เป็นโลกิยธรรม เป็นไปในฝ่ายเกิด, นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส, มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์, นิโรธ และ มรรค ทั้งแปดองค์เกิดพร้อมกับมรรคจิต เป็นโลกุตตรธรรม อริยสัจจ์ ทั้ง ๔ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด และจากข้อความพระสูตรที่ว่า กุศลธรรมทั้งปวง ย่อมประชุมลงในอริยสัจจ์ ถ้าเข้าใจถึงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ในอริยสัจจ์ ทั้ง ๔ แล้ว ก็จะเข้าใจข้อความดังกล่าวนี้ได้ เพราะทุกข์สัจจ์ ที่เป็นกุศล ก็มี ที่เป็น อกุศลก็มี ที่เป็นอัพยากตธรรม ก็มี สมุทัยสัจจ์ เป็นอกุศลเท่านั้น นิโรธสัจจ์ เป็นอัพยากตธรรม มรรคทั้งแปดองค์ในขณะที่เกิดร่วมกับมรรคจิต ก็เป็นกุศลธรรม เพราะฉะนั้นกุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง นั้น จึงไม่พ้นไปจากอริยสัจจ์ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หลานตาจอน
วันที่ 9 ส.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 9 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
teep704
วันที่ 6 ก.พ. 2564

กราบขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sea
วันที่ 8 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ