คำว่า จริต ๖ เกี่ยวกับการละกิเลสอย่างไร

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  8 ส.ค. 2554
หมายเลข  18893
อ่าน  4,147

กราบเรียนถามอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง

มีน้องคนนึ่ง บอกว่า อาจารย์ของเค้าแนะให้ว่า ต้องรู้ด้วยว่า "จริต" เราเป็นอย่างไร ถ้ารู้แล้ว ก็จะได้เจริญภาวนาได้ดี ตรงตามจริต (ความเห็นผม : เราต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และไม่ใช่ให้เราไปทำอะไร แล้วผมก็ว่าจริตที่นี้ คือ ให้เราเห็นว่าเราสะสม สันดาน (คำกลางๆ ) แต่ผมหมายถึง สะสมสิ่งที่ไม่ดีอะไรมา เราก็วิรัสสิ่งที่ไม่ดีนั้น และ เพียรระวัง (ด้วยการสร้างเหตุคือฟังพระธรรมให้เข้าใจ)

ถ้าเรารู้จริต ๖ ตามที่ระบุไว้ จะมีประโยชน์อะไร ในการละกิเลส ได้ครับ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จริต หมายถึง ความประพฤติเป็นไป อันเกิดขึ้นจากการสะสมมาในอดีต ที่เกิดกุศลหรืออกุศล สะสมเป็นอุปนิสัยของบุคลนั้น ให้มีจริตต่างๆ กัน

จริต แบ่งได้หลายนัย เพราะว่าสัตว์โลกมีการสะสมอุปนิสัย อันเกิดจากกุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้นมามากมายครับ บางครั้งก็โดยนัย จริต 6 จริต 3 จริต 2 เป็นต้น อย่างกรณีนี้ สัตว์โลกแบ่งเป็นจริต 6 ประการคือ จริต มีทั้งหมด 6 อย่าง คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต และ พุทธิจริต ถามว่าใครรู้จริตของตนได้ หรือว่า สัตว์โลกก็สะสมอุปนิสัยจริตต่างๆ มาทั้งนั้น จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง และใครรู้ได้ว่าเราจริตอะไรครับ

การที่เราจะรู้ว่าเรามีจริตอะไร ไม่ได้รู้ด้วยการคิดนึกเท่านั้น เพราะเป็นความละเอียดของจิต ที่สะสมในอดีตชาตินับไม่ถ้วนมากมาย ซึ่งการจะมีจริตอะไรนั้น ก็เกิดจากกรรมที่นำเกิดว่า กรรมที่นำเกิดนั้น ประกอบด้วย โลภะอ่อนหรือกล้า โทสะอ่อนหรือกล้า โมหะอ่อนหรือกล้า เช่น ถ้ากรรมที่ทำนำเกิดนั้น เป็นกรรมที่ทำด้วยโลภะมีกำลังกล้า โทสะมีกำลังกล้า โมหะมีกำลังกล้า ก็ทำให้เป็นคน มีราคะจริต โทสะจริตและโมหะจริตด้วย ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำด้วย ดังนั้น เราไม่สามารถรู้จริตของเราได้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของปัญญา และไม่ใช่เพียงสังเกตเพียงอาการเท่านั้น ผู้ที่จะรู้จริต ก็ต้องมีปัญญาครับ แต่ก็พอสังเกตได้ แต่ไม่ทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ส่วนการอบรมเจริญวิปัสสนา อันเป็นหนทางดับกิเลส พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสัตว์โลกมี 2 จริต คือ ตัณหาจริตและทิฏฐิจริต ตัณหาจริต ก็คือมีราคะกล้า หรือมีราคะ (โลภะ) อ่อน อีกประเภท คือ มีทิฏฐิกล้า คือ มีความเห็นผิดมาก กับ มีทิฏฐิอ่อน หรือ มีความเห็นผิดน้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สัตว์โลกสะสมอกุศลมามากมาย โดยไม่สามารถเดาได้เลยว่าจริตอะไร ทั้งราคะ โลภะ ความเห็นผิดเมื่อเป็นเพียงการคิดนึกเดาในจริตของตน แม้จะเดาผิดหรือถูกอย่างไร หากไม่เข้าใจหนทางในการดับกิเลส คือการเจริญสติปัฏฐาน เพียงแต่ไปหาอารมณ์ ไปพยายามรู้จริตของตน และก็จะได้เลือกหมวดธรรมที่เหมาะกับตน แต่ลืมความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจและสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้เลยครับ

ดังนั้น ประโยชน์สำคัญที่สุด คือไม่ใช่มุ่งไปหาว่าเราจริตอะไร แต่อบรมปัญญาเพื่อเข้าใจหนทางที่ถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้น สติและปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็ย่อมเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เหมาะสมกับจริตของเราเองอยู่แล้วครับ

ตรงนี้สำคัญมาก เพราะสติและปัญญาจะทำหน้าที่เอง รู้ตรงในหมวดธรรมที่เหมาะสมกับจริตของตน แม้เราจะไม่รู้เลยว่าเราจริตอะไร แต่ปัญญาและสติที่เกิดขึ้นที่เป็นสติปัฏฐานก็เกิด ระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา อันเหมาะสมกับจริตครับ เพราะถ้าไม่เหมาะสมกับจริตจริงๆ แล้ว ปัญญาก็จะไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

สำคัญที่สุด คือ ไม่ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ว่า แล้วแต่สติและปัญญาจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด หากมีเรา มีตัวตน มีความต้องการที่จะรู้ จะเลือกให้เหมาะกับจริต ตามความคิดเราเอง ก็ไม่ใช่หนทางการเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่สติ แต่เป็นโลภะที่เลือกด้วยความเป็นเรา และลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมครับ

ดังนั้นสบายๆ ด้วยความเข้าใจ คือ ฟังพระธรรมต่อไปในเรื่องสภาพธรรม ธรรมคือสติและปัญญา จะทำหน้าที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ตามหมวดธรรมที่เหมาะกับจริตเอง

แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเราจริตอะไรก็ตามครับ ประโยชน์จริงๆ จึงไม่ใช่ไปรู้จริตตนเองแต่อบรมปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส นี่คือประโยชน์จริงๆ ครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปตามการสะสม เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็ยังมีอยู่ครบ ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้ ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ความเห็นผิด เป็นต้น พร้อมที่จะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ กุศลจิต เกิดน้อยมาก แต่..ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สะสมอกุศลมามากเพียงใด มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ก็ตาม ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม เข้าใจความจริง (ซึ่งต้องสะสมเหตุที่ดีมาแล้วในอดีต) มีศรัทธา มีความอดทน ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง พระธรรมก็ย่อมจะเกื้อกูลแก่บุคคลเหล่านี้ได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะละกิเลสที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ได้ โดยต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขณะนี้ เพราะเหตุว่า สิ่งที่ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ คือ ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ เมื่อไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นเหตุให้ธรรมฝ่ายดี คือ สติและปัญญา พร้อมทั้งโสภณธรรมประการอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นทำกิจของตนในขณะนั้น คือ ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นไปตามที่ได้ศึกษาทุกประการ สิ่งสำคัญ คือ เริ่มต้นด้วยความเข้าใจจริงๆ เพราะธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง นั้น เป็นไปเพื่อละความเห็นผิด ละความไม่รู้ ละความสงสัย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ พิจารณาไตร่ตรอง เมื่อปัญญาเจริญขึ้น จะพ้นจากความเห็นผิด ความไม่รู้ ความสงสัย รวมถึงกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 9 ส.ค. 2554

กราบอนุโมทนา กับความเมตตา, วิริยะ, กรุณา +จิตที่เป็นโสภณธรรม ของอาจารย์ทั้งสอง อย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 9 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
หลานตาจอน
วันที่ 9 ส.ค. 2554
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 17 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ