พระเดินคุยโทรศัพท์ ยืนสูบบุหรี่ ต้องอาบัติในข้อเสขิยวัตรไหมครับ

 
ทรง
วันที่  27 ก.ค. 2554
หมายเลข  18816
อ่าน  3,329

ในปัจจุบันนี้เห็นพระภิกษุสามเณรเดินคุยโทรศัพท์ ยืนสูบบุหรี่หรือบ้างทีก็เดินสูบตามทางเดินบ้าง ผมดูแล้วไม่อยากจะกราบไหว้เลย พระจำพวกนี้สงสัยไม่มีการอบรมมาแน่ๆ ผมอยากทราบว่า ต้องอาบัติอะไร สิกขาบทไหน และจะต้องแก้ไขพระประเภทนี้อย่างไรบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับผู้ที่มุ่งบรรพชา บวชแล้ว ซึ่งคำว่า บรรพชา หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วในอะไร คือ เว้นทั่วในสภาพธรรมที่เป็นอกุศลทั้งปวง ดังนั้น เมื่อบรรพชา บวชเป็นเพศบรรพชิตแล้ว ก็ควรขัดเกลากิเลสทุกๆ ทางอันเป็นไปเพื่อเว้นทั่วในกิเลสประการต่างๆ นั่นคือการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสและการเว้นทั่วก็ด้วย การอบรมศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล ที่มี 227 ข้อ รวมทั้ง เสขิยวัตร คือวัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษาธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ เป็นพุทธบัญญัติที่ได้เตือนสติให้ภิกษุสงฆ์พึงสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อเข้าไป อยู่ในที่ชุมชนหรือในละแวกบ้านของผู้อื่น เพื่อยังให้เกิดความเลื่อมใสของบุคคลในชุมชนนั้นๆ จะได้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาครับ
ดังนั้นเพศพระภิกษุ จึงต้องเป็นผู้ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งทั้งทางกาย วาจาและใจเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์คือการรักษาพระศาสนาครับ แม้การเที่ยวไปในละแวกบ้าน ตามที่ชุมชน ผู้ที่บวชแล้วเป็นเพศสมณะ ควรเป็นผู้ขัดเกลาทั้งทางกายและวาจา อันเกิดจากจิตทีเป็นกุศล ด้วยการสำรวม ระวัง ประพฤติตามข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า เช่น ไม่พูดหัวเราะ เสียงดังกันในละแวกบ้าน การนุ่งห่มเรียบร้อยในละแวกบ้าน ไม่ควรนุ่งห่มไม่เรียบร้อยครับ ควรประพฤติไม่แกว่งแขนและขา ควรประพฤติเรียบร้อยทางกายด้วย นี่คือข้อปฏิบัติที่งามและสมควรในการเข้าไปในละแวกบ้านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ดังนั้นการคุยโทรศัพท์ในละแวกบ้านของเพศพระภิกษุไม่สมควรครับ ซึ่งควรหาที่ที่เหมาะสม หากคุยเสียงดังก็ต้องอาบัติทุกกฎ หากคะนองมือ คะนองเท้า ไม่สำรวม กายก็ต้องอาบัติทุกกฎอีกเช่นกัน การสูบบุหรี่ก็ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต ทั้งสามเณรและพระภิกษุครับ ไม่ต้องกล่าวถึงในละแวกบ้าน แม้ในวัด ในกุฏิก็ไม่สมควรแล้วครับ เป็นการเสพสิ่งที่ไม่สมควร ซึ่งไม่เหมาะสมกับเพศสมณะเป็นอย่างยิ่งครับ
ส่วนการจะแก้ไข พระเหล่านี้ คงไม่ใช่ฐานะครับ เพราะเป็นธรรมดาที่ยุคเสื่อมไป และต่างก็มีพระที่ปฏิบัติดีและไมดี่ด้วยกันทั้งนั้น สำคัญคือเข้าใจความจริง อบรมเจริญปัญญาของตน เมื่อเข้าใจความจริงก็รักษาใจในขณะที่เห็น ได้ยินในขณะที่มีผู้อื่นกระทำไม่สมควรนั่นเองครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ค. 2554

[เล่มที่ 10] พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 160

คำถามและคำตอบในเสขิยกัณฑ์

[๓๙๑] ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ คะนองมือ หรือเท้าไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ.

[๓๙๗] ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินหัวเราะไปในละแวกบ้านต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ.

[๓๙๙] ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินพูดเสียงดังลั่นไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ.

[๔๐๑] ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินโคลงกายไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ.

[๔๐๓] ภิกษุอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เดินไกวแขนไปในละแวกบ้านต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยแต่ละข้อๆ ถ้าได้ศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว จะเห็นความจริง (สัจจะ) ที่เป็นสัจจธรรมทั้งเรื่องของกุศลและอกุศล เพราะเหตุว่า ในเรื่องของกุศลจะเป็นเรื่องของความละอาย ความเกรงกลัวต่อสภาพธรรมที่เป็นอกุศลประการต่างๆ แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นอกุศล ก็จะเป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัย (ให้พระภิกษุสำรวมระวัง เพื่อไม่ให้ประพฤติผิด) ทำให้ได้เห็นความจริงของอกุศล ซึ่งต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม สำหรับเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเป็นบรรพชิต ไม่ได้เป็นที่เครื่องนุ่งหุ่ม หรือ เพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์ แต่อยู่ที่มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ [ไม่ใช่ว่าบวชเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังทำอะไรเหมือนอย่างคฤหัสถ์อยู่ อย่างนี้ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต เพราะเพศบรรพชิต เป็นเพศที่เว้นจากอกุศลธรรมจริงๆ ] ซึ่งจะต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วย เพราะถ้าไม่มีการศึกษาแล้ว ก็จะมีการกระทำที่ผิด ไม่ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ประการที่สำคัญ สิกขาบทแต่ละข้อๆ ที่เป็นพระวินัยบัญญัตินั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก
ทั้งหมดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งบัญญัติด้วยพระองค์เองประโยชน์อยู่ที่การศึกษาแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต และละเว้น
ในสิ่งที่พระองค์ทรงห้า แต่ถ้าละเลย ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ มีการละเมิด ก็จะเป็นอาบัติมีโทษอยู่เหนือตน เป็นอันตรายแก่ผู้ล่วงละเมิดถ้าไม่กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ก็จะเป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผล นิพพาน และถ้ามรณภาพลง (ตาย) ในขณะที่ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตที่ยังไม่ได้ปลงอาบัติ ก็เป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาไม่ดี ก็จะมีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิอย่างเดียว ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละท่าน
สำหรับคฤหัสถ์ควรอย่างยิ่งที่จะกระทำกิจที่ควรทำ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ