ข้อความเตือนสติเรื่องสีลวเถรคาถา

 
wittawat
วันที่  27 ก.พ. 2554
หมายเลข  17956
อ่าน  5,316

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

สีลวเถรคาถา .. คาถาของพระสีลวเถระ

ข้อความเตือนสติจาก

ชั่วโมงสนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน

สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

1. อรรถของศีล [1]

สีลน แปลได้หลายอรรถ

ที่ว่า สีลน เพราะเป็นมูลราก คือ เป็นเบื้องต้นของกุศล

ที่ว่า สีลน เพราะรวบรวมคือไม่กระจัดกระจาย หมายเอากรรมในทวาร มีกายกรรม เป็นต้น ไม่กระจัดกระจาย โดยความมีระเบียบอันดี

ที่ว่า สีลน เพราะความเป็นที่รองรับ คือรองรับกุศลเบื้องสูง

ที่ว่า สีลน เพราะเป็นที่ตั้งมั่นด้วยดี เป็นที่ตั้งมั่นของกุศลที่เป็นเบื้องสูง

2. อานิสงส์ของศีล [2]

๑) เป็นผู้ไม่เสื่อมจากโภคะ

๒) เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศขจรขจายไปไกลด้วยอำนาจของคุณความดี

๓) เป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อเข้าสู่บริษัท

๔) เป็นผู้ที่ไม่หลงกระทำกาลกิริยา

๕) เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ผู้มีศีลย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

3. นัยของศีลโดยนัยของกุศลศีล และ อกุศลศีล

ศีลที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค วิสุทธิมรรค บุญญกริยาวัตถุ ๑๐ บารมี ๑๐ อนุปุพพิกถา เป็นต้น เป็นกุศลศีล คือ ธรรมฝ่ายดีที่เป็นเจตนาหรือเจตสิก อกุศลศีล หมายถึง ธรรมฝ่ายไม่ดี คือเป็นผู้ทุศีลหรือว่ามีศีลวิบัติ แต่ศีลส่วนใหญ่มุ่งหมายถึงธรรม ที่เป็นฝ่ายกุศล

4. โลกุตตรศีล

นัยของศีลในพระคาถา

พระสีลวเถระ ได้กล่าวโดยยกศีลเป็นประธานตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งสูงสุด คือ โลกุตตรศีล คือ มรรคจิตเกิดขึ้นขณะนั้นก็มีศีล คือ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมีองค์ของศีล คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็วิรัติงดเว้นประหาร ทำลายทุจริต ไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสมุจเฉท (ตัด หรือถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย)

5. โลกียศีล และ โลกุตตรศีล

ศีลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งโลกิยศีล และโลกุตตรศีล ศีลเป็นที่ตั้งของสิ่งที่ดีงาม จนกระทั่งถึงความดับกิเลส เพราะเป็นที่ตั้งของสัมมาทิฏฐิ

6. จาริตศีลและวาริตศีล

ศีลโดยนัยของจาริตศีลและวาริตศีล

จาริตศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม การแสดงความนอบน้อมแก่คนที่ควรนอบน้อมการ บูชาพระรัตนตรัยก็เป็นการกระทำและความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม ถ้ามีมานะ กริยาที่ดีงามและความนอบน้อมเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปัญญามีความเข้าใจธรรมมากขึ้น ความอ่อนน้อมจะเพิ่มขึ้น ตามกำลังของปัญญา ส่วนวาริตศีลคือ ขณะที่วิรัติทุจริต เช่น ศีล ๕ เป็นต้น

7. แก่นพรหมจรรย์

ศีลโดยนัยของแก่นพรหมจรรย์

คนที่ไม่ฆ่าสัตว์ แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมแล้ว จะถึงพรหมจรรย์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นแต่เพียงศีลซึ่งอาจสะสมมา ที่จะไม่ฆ่าโดยอัธยาศัย แต่คนที่มีปัญญาขณะที่เว้น วิรัติมีความเข้าใจด้วยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม เป็นการเบียดเบียนเป็นการประทุษร้าย จิตขณะที่สามารถทำร้าย ทำลายใครขณะนั้นได้เป็น อกุศลขนาดไหน ทุกชีวิตไม่มีใครต้องการให้เสียไปทำลายไป รักชีวิตด้วยกันทุกคนเพราะฉะนั้นศีลก็ยิ่งมีมากขึ้น และบริสุทธิ์ขึ้นตามกำลังของปัญญา

8. ความหมายของ “การสมาทานศีล และ การที่ศีลไม่กำเริบย่อมมีด้วยกำลังแห่งญาณ”

สมาทานศีล คือ กุศลศีล เป็นขณะที่ถือศีลเป็นข้อปฏิบัติ โดยไม่ละเมิดในศีลแต่ละข้อ ซึ่ง ไม่ใช่การบอกแล้วท่องตาม

กำเริบ คือ ความขาด ด่าง พร้อยของศีล

ศีลไม่กำเริบ คือ ศีลที่ถึงความมั่นคง ไม่เสีย ไม่หวั่นไหวไปในทางที่เป็นอกุศล

ศีลไม่กำเริบย่อมมีด้วยกำลังแห่ง ญาณ คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ศีลจะค่อยๆ บริสุทธิ์ขึ้น ไม่ล่วงละเมิด จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วก็ไม่ล่วงศีลอีกเลย เมื่อเป็นพระโสดาบัน (ความบริบูรณ์ของศีล ๕)

การสมาทานศีล และ การที่ศีลไม่กำเริบย่อมมีด้วยกำลังแห่งญาณ คือ การถือศีล เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเฉพาะตน เช่น ความคิดความตั้งใจที่จะไม่ฆ่า เพราะการเห็นโทษของการประทุษร้ายกันน่า รังเกียจ ซึ่งทำให้มีการเสียชีวิตไป แต่บางกาลอาจจะฆ่าในเวลาที่มีโจรภัย กุศล เจตนาที่คิดไว้ตั้งใจไว้ที่จะเว้นทุจริตแต่เมื่อ อกุศลศีลกำเริบก็เป็นเหตุทำให้ล่วงทุจริตได้ จนกว่าจะถึงความ มั่นคงของปัญญา

9. ศีล และ อุตตริมนุสสธรรม

กุศลศีลหรือกุศลจิตทุกประเภทเป็นที่ตั้งของอุตตริมนุสสธรรมทั้งหมด ซึ่งหมายถึงฌาน มรรค ผล นิพพาน

10. ปาริสุทธิศีล และ ศีลวิสุทธิ

ความหมายของปาริสุทธิศีล ๔

คือ ความบริสุทธิ์ของศีล ซึ่งต้องเป็นไปด้วยสติ เพราะถ้าไม่มีสติ ศีลจะถึงความบริสุทธิ์ไม่ได้ ได้แก่

ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ สิกขาบทข้อต่างๆ

อินทรียสังวรศีล เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อาชีวปาริสุทธิศีล การเลี้ยงชีพในทางที่ถูกที่ควร

ปัจจยสันนิสสิตศีล เป็นความบริสุทธิ์จากการที่พิจารณาก่อนใช้สอยปัจจัย

ความหมายของศีลวิสุทธิ ในวิสุทธิ ๗

ศีลวิสุทธิ มาจาก ปาริสุทธิศีล ๔ คือประมวลไว้ ซึ่งความเป็นไปและความเป็นอยู่ สำหรับเพศที่บริสุทธิ์ แต่จะวิสุทธิ ก็ต่อเมื่อมีปัญญารู้ตามความเป็นจริง เพราะจะนำไปสู่ ทิฎฐิวิสุทธิ คือ มีความเห็นถูกต้องว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งหมายถึง นามรูปปริจเฉทญาณ

ศีลในศาสนา จะถึงวิสุทธิศีลได้ คือ ต้องเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ถึง เพราะได้อย่างมากก็เป็นเพียงศีลที่บริสุทธิ์ เป็นเพียงปาริสุทธิศีล แต่ไม่ใช่วิสุทธิศีล เพราะยังมีความเป็นเราที่รักษาอยู่

ทางบริสุทธิ์ขึ้นของปาฏิโมกขสังวรศีล

เมื่อกุศลเกิดเป็นไปในปาฏิโมกขสังวรศีล ไม่ล่วงละเมิด สำรวมทางตา หู จมูกลิ้น กาย ไม่ประพฤติในทางที่ไม่สมควร รักษาพระปาฏิโมกข์เพราะสติเกิดขึ้นเห็นประโยชน์ ขณะนั้นศีลเป็นปาริสุทธิ แม้สามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้ทั้งหมด แต่ปราศจาก ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ ขณะนั้นก็ไม่ใช่วิสุทธิ เพราะถ้าเป็น วิสุทธิต้องนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ทางบริสุทธิ์ขึ้นของอินทรียสังวรศีล

อินทรียสังวรศีล หรือการ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีการสำรวมหลายอย่าง เช่น ไม่ไปสู่สถานที่ไม่ควรไป การเดินบิณฑบาตของพระภิกษุ ที่ไม่ติดข้องเหลียวซ้าย แลขวา แต่เมื่อได้ฟังธรรม เข้าใจตามความจริงว่า ขณะเห็นคือมีสิ่งที่ปรากฏให้ เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ควรติดข้องหรือยินดีเพราะสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ปรากฏเพียงชั่วคราว อินทรียสังวรศีลจะบริสุทธิ์ขึ้น ละเอียดด้วยความเห็นถูกต้องว่าเป็นธรรม

ทางบริสุทธิ์ขึ้นของปัจจยสันนิสสิตศีล

ปัจจยสันนิสสิตศีล ไม่ใช่เพียงท่องหรือเพียงว่าจะบริโภคเพื่ออยู่ หรือเพื่อศึกษาธรรม หรือเพื่อปฏิบัติธรรม นั้นเป็นแต่เพียงความคิด แต่ขณะที่ ปฏิปตฺติ คือ สามารถที่จะถึงลักษณะที่เป็นธรรมที่ศึกษาได้ ไม่ว่าในขณะไหน แม้ในขณะที่ได้ใช้สอยบริขารต่างๆ เช่น ขณะใช้สอยบาตร ปัญญารู้ธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็งตามความเป็นจริง ขณะนั้นศีลจะบริสุทธิ์ได้ยิ่งขึ้น จนถึงวิสุทธิได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ความเข้าใจ

11. ศีลที่หยั่งลงท่ามหาสมุทรคือพระนิพพาน

ผู้รักษาศีลโดยไม่มีปัญญา แม้จะสมาทานศีล ๕ แต่ถ้าไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยึดติดว่าเป็นเรา เพราะความเห็นผิดยังไม่ดับ จึงสามารถไปเกิดในอบายภูมิได้ สำคัญที่จะต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะหยั่งลงสู่ท่ามหาสมุทร คือ พระนิพพานได้

12. ความหมายของจิตตวิสุทธิ ใน วิสุทธิ๗ [3]

จิต ในที่นี้หมายถึง สมาธิ ตามนัยของ ศีล สมาธิ ปัญญา

สมาธิ ในที่นี้ หมายถึง ตั้งแต่ตทังคสมาธิ อุปจารสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ

ขณะใดที่มีความเห็นที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม ขณะนั้นเป็นจิตตวิสุทธิ คนที่เจริญฌานแต่ ไม่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่จิตตวิสุทธิ เพราะไม่สามารถนำไปสู่ความเป็น ทิฎฐิวิสุทธิ ความเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล หรือนามรูปปริจเฉทญาณได้

13. การอนุเคราะห์บุคคลอื่นเพื่อความเข้าใจศีล

จะช่วยเขาหรือช่วยเรา ปัญญาของใครก็ช่วยคนนั้น ถ้าเรามีความเห็นถูก ก็สามารถช่วยให้คนอื่นเข้าใจถูกได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นตัวเองต้องเห็นถูกก่อน

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

14. รู้อกุศลจิตของคนอื่นโดยความเป็นเรา

เวลาที่อกุศลจิตเกิด นอกจากจะไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่อกุศลนั้นก็ยังเพิ่มโดยการที่ไปเห็นอกุศลของคนอื่น แต่เมื่อฟังธรรม ก็เป็นปัจจัยให้แต่ละคนได้รู้ความจริงว่าอกุศลทั้งหมดเป็นธรรมที่ สะสมมา มีปัจจัยเกิดถึงเป็นอย่างนั้น

15. จุดประสงค์ของการฟัง

การฟังธรรมทุกครั้ง เพื่อละความหวัง ละความต้องการ ละการยึดถือธรรมในขณะนี้ว่าเป็นเราเป็นเขา หรือว่าเป็นใคร คือฟังธรรมให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมนี่คือจุดประสงค์ของการฟัง

16. โคจร

ความหมายของโคจร

โค คือ อินทรีย์ หมายถึง มนินทรีย์

จร คือ การไป หรือ การท่องเที่ยวไป

โคจร หมายถึง อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต (จิต เป็นมนินทรีย์)

ความหมายของอุปนิสสย โดยนัยของอนันตรูปนิสสย

อุป คือ กำลัง

นิสฺสย คือ ที่อาศัย

อนนฺตร คือ ไม่มีระหว่างคั่น

จิตเป็นธาตุที่สามารถที่จะสะสมกุศลและอกุศลทุกอย่าง สืบต่อมาจากจิตขณะก่อนทันทีที่จิตดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น

อุปนิสสยโคจร โดยนัยที่มี พระธรรมเป็นอารมณ์

อุปนิสสยโคจร อารมณ์ของจิตธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ให้จิตรู้ อารมณ์นั้นคือพระธรรมที่ทรงแสดงซึ่งมีคุณค่าประมาณไม่ได้เลย เพราะทำให้สามารถละอกุศลซึ่งสะสมมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีทางใดเลยที่อกุศลจะหมดสิ้นไปได้ ถ้าไม่ใช่ด้วยปัญญา

อารักขโคจรที่เกิดเพราะอาศัยอุปนิสสยโคจรเป็นปัจจัย

กุศลจิตที่เกิดขึ้น เป็นผลจากอุปนิสสยโคจรที่ได้ฟังธรรม เป็นขั้น อารักขโคจร คือ แทนที่จะเป็นอกุศล ขณะนั้นธรรมที่ฟังแล้วก็เป็นปัจจัยให้อารักขาจิตไม่ให้เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็เป็นอกุศลไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จาก อุปนิสสยโคจร ก็เป็นอนัตตา ถึงอารักขโคจรก็เป็นอนัตตา ใครฟังธรรมแล้วจะเกิดกุศลขณะไหนก็มาจากการฟังเข้าใจ

ปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะเฉพาะ

เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยมีกำลัง ก็จะทำให้สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะเฉพาะของสิ่งหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งธรรมดาและปรกติด้วย เพราะเหตุว่าการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเนียนมาก ยากที่จะรู้จิต ๑ ขณะ แต่เพราะปัญญาก็เนียนอย่างนั้น จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

17. กุศลที่มีผลว่างเปล่า

กุศลขั้นทานบ้าง ศีลบ้างไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาสามารถทำให้เกิดเป็นมนุษย์ได้มีรูป ร่างสวยงามมีทรัพย์สมบัติ แล้วก็มีบริวาร มีทุกสิ่งทุกอย่าง มียศ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ แต่ไม่มีปัญญา ก็เหมือน สิ่งที่ว่างเปล่า กล่าวคือ มีมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่เหลือ

18.แนวทางในการศึกษาพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม)

เช่น พูดถึงเห็นเป็นนามธรรม ความจริงแต่ละคำลึกซึ้ง แต่ผ่านไปสนใจเรื่องอื่น คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงยังไม่เข้าใจ ฟังแค่ไหน เข้าใจเรื่องที่กำลังฟัง ฟังเรื่องวิถีจิตไม่ใช่จำชื่อ วิถีจิต แต่เข้าใจความเป็นไป ของธรรม ซึ่งเป็นอย่างนี้โดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เพื่อที่จะได้ มั่นคงในความเป็นอนัตตา

[1] ประมวลไว้โดยละเอียดในวิสุทธิมรรคเล่ม ๑ (อรรถ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน อานิสงส์)

[2] แสดงไว้ในปัญจกนิบาต สีลสูตร

[3] แสดงวิสุทธิ ๗ ไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
daimond
วันที่ 1 มี.ค. 2554

อนุโมทนา ที่ทำให้แจ้งมากยิ่งขึ้นในเรื่องของการรักษาศีลและอานิสงส์ของศิล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prakaimuk.k
วันที่ 12 มี.ค. 2554

อ่านได้ประโยชน์มาก

ขออนุโมทนาในวิริยะของท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 10 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของท่านครับ

อ่านแล้วได้ประโยชน์ ละเอียดดีมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 12 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 12 พ.ค. 2554

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พรรณี
วันที่ 16 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

แม้แต่กุศลที่มีผลว่างเปล่า ก็ยังมี ถ้าไม่มีปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
opanayigo
วันที่ 16 พ.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์ให้พิจารณาบ่อยๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พรรณี
วันที่ 25 พ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สมศรี
วันที่ 26 พ.ค. 2554
ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
อภิรมย์
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
natre
วันที่ 9 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนา จากที่ไม่รู้ก็รู้ จากที่พอรู้บ้างก๊รู้แน่น จากที่รู้อยู่ (ที่ท่านอาจารย์ฯมักกล่าวเสมอว่า "มีปัญญาเป็นของตนเอง") ก็มั่นใจคลายสงสัย ยอมรับว่าอ่านแล้วได้ประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 9 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pirmsombat
วันที่ 25 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
papon
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ