สังสารวัฏฏ์ และ นายช่างผู้สร้างเรือน

 
พุทธรักษา
วันที่  1 ก.ค. 2553
หมายเลข  16630
อ่าน  3,121

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากการสนทนาธรรม
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ "วันวิสาขบูชา"
ณ อาคารมูลนิธิ โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คณะวิทยากร ถอดเทป โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ท่านอาจารย์ แม้แต่คำพูดที่ดูธรรมดา​ "เรือน" กับ "นายช่างเรือน" ก็ยังต้องเข้าใจ ว่า พระผู้มีพระภาคฯ ทรงหมายถึงอะไรเพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ปรากฏในขณะนี้ก็จะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เช่น "กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา" ต้องหมายความว่า การเห็นขณะนั้น​ ต้องมี "ปัจจัย" หมายถึง "ปัจจัย" ที่เป็น "ผู้สร้างที่ทำให้เกิดการเห็น"

เพราะฉะนั้น​ ก่อนอื่น ควรเข้าใจว่าแม้แต่คำว่า​ "สังสารวัฏฏ์ คือ ทุกๆ ขณะจิต" หมายความว่า ขณะที่​ "ธาตุรู้" ซึ่งเป็นนามธรรม เกิดขึ้นขณะใดขณะนั้น ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้และขณะนั้น ก็เป็น​ "สังสารวัฏฏ์" สังสารวัฏฏ์ เกิดขึ้น แล้วต้องดับไป แล้วก็เกิดอีกตามเหตุตามปัจจัย พระธรรม ซึ่งละเอียด ลึกซึ้ง​ ต้องฟังด้วยดีและต้องเข้าใจ ว่า ที่กล่าวถึงทั้งหมด​ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของ​ "พระไตรปิฎก" ก็คือ "สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้" เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหา "ธรรมะ" ที่ไหนเลย เพราะว่า ขณะนี้ทั้งหมด คือ "ธรรมะ" "เรือน" ก็เป็น "ธรรมะ" "นายช่างเรือน" ก็เป็น "ธรรมะ" แต่ ต้องเป็น "ปัญญา" เท่านั้นที่สามารถรู้จัก "นายช่าง-ผู้สร้าง-เรือน" ได้ แม้แต่ขณะนี้​ มี​ "เรือนที่สร้างแล้ว" ก็ยังไม่รู้ หมายความว่า "กำลังเห็นขณะนี้" สร้างแล้วใช่ไหม "การเห็น" จึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าไม่มี "ผู้สร้าง" ซึ่งก็คือ "สิ่งที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการเห็น" การเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น โดยมาก เมื่อได้ผ่านข้อความในพระไตรปิฎกเรามักจะคิดถึง "เรื่องราว" เช่น คิดถึงนายช่าง คิดถึงเรือน แต่ความจริงนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อให้ "รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้" ตามปกติ ตามความเป็นจริงคือ รู้ว่า เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้นขณะนี้ ทุกคนมี "เรือน" คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็เพราะว่ามี "ผู้สร้าง-ในแต่ละขณะจิต" ต้องมี "ผู้สร้าง" ด้วยใช่ไหมคะ รู้จัก "นายช่างผู้สร้างเรือน" หรือยัง "สังสารวัฏฏ์" คือ ทุกๆ ขณะที่จิต ซึ่งเกิด-ดับ-สืบต่อ-ไม่ขาดสาย​ หยุดยั้งไม่ได้เพราะ "เหตุ" คือมี "ปัจจัย" ที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เกิด-ดับ-สืบต่อ ไม่ขาดสายตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์ จนกระทั้งถึงขณะนี้ก็ยังมี "ปัจจัย" ที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เกิด-ดับ-สืบต่อ ไม่ขาดสาย ความลึกซึ้ง ... ก็คือว่า ในขณะนี้​ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ละอย่างและ การฟังพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกอย่าง​ โดยละเอียดคือ เข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทุกอย่าง ไม่เว้นเลยนั้น เป็น "ธรรมะ"

"ธรรมะ" ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เคย "ยึดถือ" ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ สิ่งใดๆ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
orawan.c
วันที่ 2 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 ก.ค. 2553

จะกล่าวได้หรือไม่ครับว่า

นายช่างผู้สร้างเรือน คือ เหตุกเจตสิกทั้ง ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 2 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 2 ก.ค. 2553

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 3

จะกล่าวได้หรือไม่ครับว่า นายช่างผู้สร้างเรือน คือ เหตุกเจตสิกทั้ง ๖

เรียน คุณจักกฤษณ์ ลองพิจารณาจากกระทู้เหล่านี้ค่ะ

กุศลจิตของพระอนาคามีบุคคลเป็นกิเลสวัฏฏ์หรือไม่

กิเลสวัฏฏ์ - กัมมวัฏฏ์ - วิปากวัฏฏ์

กิเลสวัฏฏ์

เป็นคำถามที่ดีค่ะ ... ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 3 ก.ค. 2553

นายช่างผู้สร้างเรือนคือ ตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ เกิดในสวรรค์ ในอบายภูมิ เมื่อมีตัณหาก็หาทางอบรมปัญญา เพื่อจะละกิเลส หรือมีตัณหา ก็ทำอกุศลกรรรม ฆ่าสัตว์ ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 3 ก.ค. 2553

สภาพที่ไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่เมื่อไม่รู้แล้ว ไม่ใช่ไม่รู้แล้วจบ แต่ความไม่รู้ยังเป็นปัจจัยให้มีความติดข้อง คือ ตัณหา เมื่อติดข้อง ก็เป็นปัจจัยให้ถึงความขวนขวายกระทำกรรมต่างๆ ที่จะให้เรือนคือสังสารวัฏฏ์เป็นไปได้เรื่อยๆ ที่ยังเกิดในภพภูมิต่างๆ ไม่พ้นจากการเกิด ก็เพราะมีตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน สร้างอยู่ตลอด สร้างเงียบๆ สร้างในความมืด มีโมหะเป็นหลังคาเรือน คอยปกปิดไม่ให้รู้ความจริง และไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 6 ก.ค. 2553

เรียน คุณพุทธรักษา ความเห็นที่ 5

ผมได้อ่านกระทู้ที่ท่านกรุณานำมาลงไว้ ประกอบกับความเห็นของ อ.วรรณี และ ajarnkru สรุปได้ว่า

อวิชชา คือ โมหเจตสิก และตัณหา คือ โลภเจตสิก เป็นวัฏฏมูล คือ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนไปในภพต่างๆ ไม่มีที่สุด ดังนั้น เจตสิกที่เหลือ คือ โทสเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก จึงมิใช่ต้นเหตุหลัก จะถูกต้องหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
choonj
วันที่ 6 ก.ค. 2553

เหตุทั้งหก ท่านเปรียบเหมือนรากแก้ว เมื่อยังมีอยู่ก็จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต ก็คือเรือน นายช่างก็เป็นธรรม เรือนก็เป็นธรรม นายช่างคือ เหตุและปัจจัย เรือนคือ ปัจจยุบัน เป็นธรรมเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉนั้น การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คิดนึก คือ นายช่างกำลังสร้างเรือน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราได้พบนายช่าง ท่านไม่สามารถสร้างเรือนได้อีกแล้ว ก็คือกิริยาจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ก.ค. 2553

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 8

เรียน คุณพุทธรักษา ความเห็นที 5

ผมได้อ่านกระทู้ที่ท่านกรุณานำมาลงไว้ ประกอบกับความเห็นของ อ.วรรณี และ ajarnkru สรุปได้ว่า อวิชชา คือ โมหเจตสิก และตัณหา คือโลภเจตสิก เป็นวัฏฏมูล คือ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนไปในภพต่างๆ ไม่มีที่สุด ดังนั้น เจตสิกที่เหลือ คือ โทสเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก จึงมิใช่ต้นเหตุหลัก จะถูกต้องหรือไม่ครับ

เรียน คุณจักรกฤษณ์

ก่อนอื่น คงต้องเรียนให้ทราบว่าข้าพเจ้าเพิ่งเริ่มศึกษา จึงยังไม่มีความรู้มากพอที่จะแสดงธรรม หรือ ตอบคำถามในส่วนที่เป็นความละเอียดเพราะเท่าที่ศึกษาจากการบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ก็เพิ่งทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงนั้นละเอียดมากและ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ อาจจะกล่าวธรรมะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนอกจากไม่เข้าใจเอง ไม่สามารถช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจหรือทำให้เข้าใจผิดแล้ว ยังเป็นการกล่าวตู่พระธรรมอีกด้วย เพราะเหตุนี้ ท่านอาจารย์มักจะเตือนอยู่เสมอว่า การศึกษาพระธรรมนั้น ต้องศึกษาอย่างละเอียด ไม่ควรคิดเอาเอง และไม่ควรคิดว่าเข้าใจแล้ว ควรฟังและพิจารณาตามสอบทานกับพระไตรปิฎก และ ควรมีการสนทนากันในหมู่สหายธรรมเสมอๆ และ เมื่อมีคำถามจากสหายธรรมก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้กลับไปค้นคว้าและเป็นการทบทวนความรู้ไปด้วยซึ่งก็ขออนุโมทนาในคำถามที่ดีที่ได้สอบถามมาดังนั้น เมื่อไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรตอบ แต่คิดว่าพอจะค้นคว้าและนำเสนอได้เพื่อให้ท่านศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตัวเองและอาจจะนำไปสอบถามวิทยากรในโอกาสต่อไป.จากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบข้อความจากกระทู้นี้ ซึ่งคิดว่า น่าพิจารณา

เพราะมีอวิชชาตัณหาจึงมี [เทศนาสูตร]

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 2

ข้อความบางตอนจาก เทศนาสูตร

ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส และ อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

จากข้อความที่เป็นสีแดงนั้น...ทำให้ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าเจตสิกที่เหลือ คือ โทสเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และ อโมหเจตสิก (จากคำถามของคุณจักรกฤษณ์) จะไม่ใช่ "ต้นเหตุหลัก" ด้วย เพราะข้อความจาก "เทศนาสูตร" ใช้คำว่า "สังขาร" ซึ่ง สังขารธรรม คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด-ดับ ไม่เว้นอะไรเลย... ยกเว้นนิพพาน ขอเรียนถาม ท่านวิทยากรและสหายธรรมท่านอื่นด้วยนะคะ

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาล่วงหน้าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ajarnkruo
วันที่ 7 ก.ค. 2553
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนา ajarnkruo

เมื่อได้กลับไปอ่านทบทวนแล้ว อวิชชาและตัณหา คือ ต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์สังสารวัฏฏ์ คือการเวียนว่ายตายเกิด...ซึ่งก็คือ ขณะนี้ ขณะที่สภาพธรรมต่างๆ กำลังเกิด-ดับ-สืบต่อ-ไม่ขาดสาย...แต่ไม่รู้

คุณจักรกฤษณ์เข้าใจถูกแล้วค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 11 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 30 เม.ย. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ