ก่อนจะเข้าใจคำว่า...กรรม

 
พุทธรักษา
วันที่  5 ก.พ. 2553
หมายเลข  15383
อ่าน  1,346

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ (ถอดเทปบันทึกเสียง โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล)

ถาม เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ว่า เมื่อ "ธรรมะ" คือ จิต เจตสิก และรูปและ "ทุกอย่างเป็นธรรมะ" ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย.ดังนั้น เมื่อเรากระทำ-อกุศล-กรรม จะกล่าวได้หรือไม่ ว่า "ไม่ใช่เรา เป็นผู้กระทำ" แต่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งเป็น "ธรรมะ" ที่บังคับบัญชาไม่ได้

ท่านอาจารย์ แต่ละคำ มีความหมายที่ลึกซึ้ง เช่น คำว่า "กรรม" เกิดมาก็ได้ยินคำนี้ ในภาษาไทยนั้น เราเข้าใจคำว่า กรรม คือ การกระทำแต่ถ้าเป็น "สภาพธรรม" ที่มีจริง ก็ควรเข้าใจให้ถึง "ตัวธรรมะ" ด้วยถ้าไม่มี "ธรรมะ" ใดๆ เลย ที่เกิดขึ้น ก็จะไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ทั้งสิ้น "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริงๆ "ทุกอย่างเป็นธรรมะ" หมายความว่า สภาพธรรมสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละอย่างๆ เช่น การเห็น มีจริง การได้ยิน มีจริง "การกระทำ" มีจริง แต่ สิ่งที่กล่าวว่ามีจริงๆ แต่ละอย่างๆ นั้น "เป็นเรา" หรือ "เป็นธรรมะ" ถ้าเป็นผู้ที่ "ตรงต่อสภาพธรรม" จริงๆ คือ ตรงต่อธรรมะ จริงๆ ย่อมค่อยๆ เข้าใจได้จริงๆ ว่า สิ่งที่มีจริง นั้น เป็นเรา หรือ เป็นธรรมะ เช่น เสียง มีจริงไหม ถ้าเสียงมีจริง แล้วเสียงนั้น "เป็นเรา" หรือ "เป็นธรรมะ"ในเมื่อเสียงเกิดแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้ เสียงอยู่ที่ไหน เสียงที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้วนั้น จะ"เป็นเรา" ได้ไหม

ก่อนฟังพระธรรม เคยเข้าใจว่าเป็นเสียงของบุคคลนั้น บุคคลนี้ที่กำลังพูดอย่างนั้น พูดอย่างนี้ พูดเป็นภาษาต่างๆ แต่ ไม่ได้มีแต่เฉพาะเสียง เท่านั้นนะคะยังมี "จิต" ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเสียง ในขณะที่กำลังพูดขณะนั้น ด้วยฉะนั้น เสียง ต้องเป็น "ธรรมะ" แน่นอน ด้วยเหตุนี้ แทบจะกล่าวได้เลย ว่า ยากที่จะเข้าใจในสิ่งที่อยากจะเข้าใจ โดย ไม่มี "พื้นฐานความรู้ขั้นเริ่มต้นที่มั่นคง" ซึ่งหมายถึง ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมมีทั้งหมด ๔ ประเภทคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน.สภาพธรรม หรือ ธรรมะที่มีจริง ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ประเภทนี้

ถ้าใช้คำว่า "จิต" ต้องเป็นความเข้าใจที่ลึกลงไปอีก ว่า ถ้า จิต มีจริง แล้ว จิต อยู่ที่ไหน ถ้าตอบไม่ได้ ก็หมายความว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "จิต"

"จิต" หมายถึง ธาตุชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า "ธาตุ" หรือ "ธรรมะ" ก็ได้มีความหมายเหมือนกัน คือ สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น เสียง ก็เป็น "ธรรมะ" เพราะ เสียง มีลักษณะเฉพาะ แม้เสียง มีหลากหลาย แต่เสียงปรากฏเมื่อได้ยิน เท่านั้นเสียงมีลักษณะดัง ต่างกับลักษณะของกลิ่น หรือ แข็งซึ่ง มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม

สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวันเป็น "ธรรมะ" ทั้งหมด และ "ธรรมะ" ที่ปรากฏ ประมวลเป็น ธรรมะประเภทที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยซึ่งภาบาลี ใช้คำว่า "รูปธรรม" หมายถึง "ธรรมะที่เป็นรูป-ไม่ใช่สภาพรู้"และ "นาม" หมายถึง "ธรรมะที่เป็นสภาพรู้" คือ "นามธรรม" แต่ถ้ามีแต่ "รูปธรรม" โดยไม่มีสภาพธรรมที่รู้ คือ "นามธรรม"ก็จะไม่มีการเห็น การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสและ การคิดนึกทางใจ


Tag  กรรม  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ก.พ. 2553

เมื่อกล่าวถึง "การกระทำ"

ถ้าไม่มี "จิต" หรือ สภาพรู้ สามารถที่จะกระทำอะไรได้ไหม เช่น ขณะนี้ ที่ทุกคนสามารถเดิน หรือเคลื่อนไหวได้ เพราะว่ามี "จิต" และ จิต ต้องมีที่เกิด คือ เกิดที่รูปใด รูปหนึ่ง และรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งถ้าจิตดับไปเลย ไม่เกิดตรงที่รูปนั้นอีก รูปนั้น ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตเช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้และ ไม่สามารถ "กระทำการใดๆ " ได้เลย

เพราะฉะนั้น จึงควรทราบตามความเป็นจริง ว่า "ธรรมะ" มี ๒ ประเภทหลักๆ คือ ธรรมะ ที่ไม่สามารถรู้อะไรได้ทั้งสิ้น และ ธรรมะ ที่มีลักษณะ รู้ หรือ ธาตุรู้ "ธาตุรู้" คือ จิต และ เจตสิก เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วแต่ ว่าจะมีอารมณ์เป็น รูปธรรมหรือ นามธรรม ขณะที่กำลังเห็นนี้ "จิตเห็น"เกิดที่ตา เห็นที่ตา และดับที่ตา เป็นต้นถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก่อน จะเข้าใจ ความหมายของ "กรรม" ได้ไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ก.พ. 2553

"กรรม" คือ สภาพธรรมที่เจตนา จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำกิจหนึ่งกิจใดให้สำเร็จ

"กรรม" ไม่ใช่ "จิต" แต่ เกิด-ดับ พร้อมกับจิต เช่น ขณะที่กำลังเห็นหมายความว่า "จิตเห็น" เป็นสภาพธรรมที่ กำลังเห็น ทำกิจเห็นเท่านั้น "จิตเห็น" ไม่ใช่ สภาพธรรมที่มีลักษณะเจตนา จงใจ ตั้งใจในการกระทำ ฉะนั้น "จิตเห็น" จึงไม่ใช่ "กรรม"

แต่ ตามความเป็นจริง ขณะหนึ่งขณะใด ที่มีเฉพาะสภาพธรรม-ที่เป็น"นามธรรม" เกิดขึ้นขณะนั้น ก็ต้องมี "นามธรรมประเภทอื่น" เกิด-ดับพร้อมกันซึ่ง พระผู้มีพระภาคฯ ทรงบัญญัติเรียก สภาพธรรมดังกล่าว ว่า "เจตสิก"

"เจตสิก" คือ สภาพนามธรรม หรือ ธาตุรู้ที่เกิดดับพร้อมกับจิตและ "กรรม" คือ "เจตนาเจตสิก" เมื่อไม่เคยฟังพระธรรม ย่อมไม่ทราบตามความเป็นจริงว่า ขณะที่มีเจตนา จงใจ ตั้งใจ แล้วเข้าใจว่า "เป็นเรา" ที่มีเจตนา ตั้งใจจงใจ กระทำกิจหนึ่งกิจใด นั้นความจริงแล้ว เป็น "ลักษณะของของนามธรรม" ชนิดหนึ่ง คือ "เจตสิก" ซึ่ง ไม่ใช่ จิต และ ไม่ใช่ รูป เพราะฉะนั้น"กรรม" คือ สภาพธรรมที่มีจริง และ มีลักษณะเจตนา ตั้งใจ จงใจกระตุ้นเตือน-สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันคือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดกับจิตขณะนั้นๆ ในการกระทำกิจใดกิจหนึ่ง ให้สำเร็จเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วดับไป ทันที

"กรรม" หรือ "เจตนาเจตสิก" นั้น มีทั้งเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต ซึ่งเมื่อกระทำกิจสำเร็จ ก็เป็นกุศลกรรมทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจและต้องเป็นคนละขณะกับ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ซึ่งเมื่อกระทำกิจสำเร็จ ก็เป็นอกุศลกรรมทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ ฉะนั้น จึง "ไม่มีเรา" ที่กระทำกรรมแต่มีสภาพธรรมที่เป็น "กรรม" คือ "เจตนาเจตสิก" ซึ่ง หมายถึง "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริงเกิดขึ้น และดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย
.
ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 7 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 7 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นาตรัตน์
วันที่ 7 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งมาก ยากที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
amara
วันที่ 8 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sam
วันที่ 8 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kulayapa
วันที่ 9 ก.พ. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Supakij.k
วันที่ 11 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kulayapa
วันที่ 19 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
aiatien
วันที่ 22 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
saifon.p
วันที่ 27 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ