ลักษณะของกิเลสที่จำแนกเป็น ๓ ขั้น

 
พุทธรักษา
วันที่  29 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14924
อ่าน  3,784

ค้นคว้าจาก "ธัมมนิสเทส" ดังนี้....

อนุสัยกิเลส

อนุ (น้อย ภาพหลัง ตาม) + สย (นอน) + กิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) เครื่องเศร้าหมองที่นอนตาม หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยกุศลขั้นปัญญาเท่านั้น (วิปัสสนาภาวนา)

วีติกมกิเลส และ ปริยุฏฐานกิเลส เกิดขึ้นปรากฏได้ เพราะมีอนุสัยกิเลสเมื่อโลกุตรมรรคประหารอนุสัยกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลำดับแล้ว กิเลสขั้นหยาบและกิเลสขั้นกลางจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเลย


ขอความกรุณาอธิบายดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ.

๑. ปกติแล้ว อนุสัยกิเลส ไม่สามารถปรากฏให้รู้ได้ แต่ที่รู้ว่ามีอนุสัยกิเลส เพราะมีกิเลสขั้นกลางปรากฏทางใจ และกิเลสขั้นหยาบปรากฏทงกาย วาจา ถูกต้องไหมคะ

๒. กิเลสขั้นกลางคือกิเลสที่เกิดทางใจ แต่ไม่ได้ล่วงออกมาทางกายและทางวาจา ฉะนั้น กิเลสขั้นกลางควรจะหมายรวมถึง กิเลสที่เกิดทางมโนทวาร คือ มโนกรรม ด้วย ถูกต้องไหมคะ

๓. กรุณายกตัวอย่าง กิเลสอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) ที่เกิดในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจาก มโนกรรม

๔. ปริยุฏฐานกิเลส (กิเลสขั้นกลาง) จากที่ได้อ่านมาจาก "ธัมมนิทเทส" นั้น กล่าวว่า ปริยุฏฐานกิเลส สามารถละได้ด้วย สมาธิ (สมถภาวนา) แต่เข้าใจว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ วิปัสสนาภาวนา ก็สามารถละกิเลิสขั้นนี้ได้ด้วย ถูกต้องไหมคะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 30 ธ.ค. 2552

๑. ถูกครับ แต่ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาหลายแห่ง แสดงว่าปรากฏให้รู้ได้ แต่ผู้ศึกษาต้องเข้าใจครับ

๒. ๓. กิเลสขั้นกลางคือ อกุศลจิต หรือนิวรณ์ เกิดขึ้นทั้งหกทวารครับ๔.ส่วนใหญ่ท่านหมายถึงนิวรณ์ที่ข่มได้ด้วย ฌานขั้นต่างๆ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดละกิเลสได้ชั่วขณะ แต่ไม่สามารถข่มนิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นได้ ส่วนผู้ที่เจริญสมถภาวนาจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ สามารถข่มนิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นได้เป็นระยะเวลานาน เป็นวัน หรือหลายๆ วัน หรือเป็นเดือนได้...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hadezz
วันที่ 30 ธ.ค. 2552

พึงเริ่มเรียนรู้และเข้าใจบ้างว่ากิเลสขั้นไหน จากการสะสมของกิเลสจากเล็กๆ จนเพิ่มขึ้นทุกขณะแม้ว่าตัวเราเองก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากิเลสได้เพิ่มมากโดยไม่รู้ตัวเลย พอได้ฟังได้คิดและพยายามเข้าใจเพิ่มมากขึ้นถึงได้รู้ว่าอุปนิสัยกิเลสเป็นอย่างนี้เอง

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ธ.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

1. ถ้าไม่มีเชื้อโรค อาการของโรคก็ไม่ปรากฏให้รู้ ก็เพราะอาการของโรคปรากฏเพราะฉะนั้นจึงแสดงว่ามีเชื้อโรคอันทำให้เกิดอาการของโรคแสดงออกมา ในทำนองเดียวกับเรื่องของกิเลสที่เป็นอนุสัยที่เป็นเหมือนเชื้อโรคและกิเลสอย่างกลาง รวมทั้งกิเลสหยาบที่เปรียบเหมือนอาการของโรคที่แสดงออกมาทางใจและกาย วาจาครับ

2. กิเลสขั้นกลางเกิดทางใจ ซึ่งเป็นมโนกรรมก็ได้แต่จะครบกรรมบถหรือไม่นั้นก็แล้วแต่กรณีของอกุศลนั้นครับ

3. ขณะที่เกิดความขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้สดงออกมาทางกาย วาจาก็ขื่อว่าเป็นกิเลสอย่างกลางคือปริยุฏฐานกิเลส

4. กุศลทุกระดับก็สงบจากนิวรณ์ แม้ขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นก็ไม่มีนิวรณ์หรือกิเลสขั้นกลางเกิดขึ้นแต่เพียงชั่วขณะที่ให้ หรือขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะเดียวแล้วก็ดับไปส่วนสมถภาวนาละด้วยการข่มกิเลสไว้ไม่ให้เกิดเป็นเวลานานๆ แต่ก็ยังไม่ใช่หนทางในการละอนุสัยกิเลส

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 31 ธ.ค. 2552

2. กิเลสขั้นกลางเกิดทางใจ ซึ่งเป็นมโนกรรมก็ได้แต่จะครบกรรมบถหรือไม่นั้นก็แล้วแต่กรณีของอกุศลนั้นครับ กรุณาขยายความ หรือยกตัวอย่างข้อความที่ขีดเส้นใต้ด้วยค่ะ.

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 31 ธ.ค. 2552

เรียน ความเห็นที่ 4

มโนกรรมที่ไม่ครบองค์ ก็เช่น ยินดีพอใจในของๆ ผู้อื่นแต่ไม่ได้มีความต้องการที่จะได้มาหรืออยากได้มาเป็นของตนเองด้วยวิธีทุจริตเพียงแต่ยินดีพอใจในสิ่งนั้นเท่านั้นไม่ได้มีกำลังแต่ก็เป็นอกุศลจิตที่เป็นมโนกรรมได้ซึ่งไม่ครบกรรมบถ แต่ถ้าเป็นมโนกรรมที่ครบองค์กรรมบถ ก็เช่น มีความต้องการอยากได้ของผู้อื่นที่มีกำลังมากด้วย วิธีทุจริต ที่เป็นอภิชฌาและมีการทำทุจริตด้วยการลักด้วยอำนาจ อกุศลที่มีกำลังนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 31 ธ.ค. 2552

ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อความแน่ใจค่ะ

นาย ก. คิดอยากวัตถุ ที่บุคคลอื่นหวงแหน เช่น สุนัขตัวหนึ่ง และ นาย ก. คิดที่จะขโมย หรือ คิดอยากให้บุคคลนั้นตาย เพื่อจะได้ครอบครองสุนัขนั้น.. คิด แต่ ไม่ได้ทำ นาย ข. คิดอยากได้ แต่ไม่ได้คิดถึงขนาดให้เจ้าของสุนัขตายไป หรือ ไม่ได้คิดที่จะขโมย นาย ก. (ขณะที่คิดเช่นนั้น) ได้ "ล่วงอกุศลกรรมบถทางมโนทวาร" แล้ว และ สามารถเป็นปัจจัยนำเกิดในอบายภูมิ ได้ ถ้าระลึกถึง "ความคิดที่ไม่ดี" นั้น (หรือจะเรียกว่าคิดทุจริต) ในขณะใกล้ตาย. นาย ข. (ขณะที่คิดเช่นนั้น) ไม่ได้ล่วงอกุศลกรรมบถทางมโนทวาร แต่เป็นการสะสมอกุศล (สมโลภะ) ที่ไม่มีกำลังมากพอที่จะนำเกิดในอบาย จึงไม่เป็น "อกุศลกรรมบถ" เคยได้ยินผู้ใหญ่สอนว่า "แค่คิด ก็ผิดแล้ว" แต่เมื่อได้อ่านเรื่อง อกุศลกรรมบถทางมโนทวาร คำว่า "ผิด" ในที่นี้มีความละเอียดต่างกัน ตรงที่ ประกอบด้วย "ความคิดในทางทุจริต" ด้วย

ไม่ทราบว่า เข้าอย่างนี้ถูก-ผิด หรือไม่อย่างไร กรุณาอธิบายด้วยค่ะ.

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 31 ธ.ค. 2552

คำว่าผิดหรือบาปจึงมีหลายระดับตามระดับของกำลังกิเลส ตั้งแต่ระดับที่เป็นเพียง อกุศลจิตที่สะสมเป็นอุปนิสัยและจนถึงระดับล่วงอกุศลกรรมบถเมื่อกิเลสมีกำลังและ ล่วงทุจริตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Sea
วันที่ 7 มี.ค. 2565

ความคิดที่เกิดขึ้นมานั้น มีเหตุให้คิดเช่นนั้นจึงคิดเช่นนั้น ปัญญารู้ว่าไม่ดี และเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ... แต่ถ้าคิดถึงขั้นวางแผนขโมย หรือขั้นฆ่าคนได้ ปัญญาขั้นที่คิดว่าไม่ใช่เราไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะอกุศลเช่นนี้บดบังปัญญา ... เข้าใจถูกไหมคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ