มัจฉริยสัญโญชน์ เป็นไฉน

 
Khaeota
วันที่  17 พ.ย. 2552
หมายเลข  14290
อ่าน  2,614

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 428
[๗๒๘] มัจฉริยสัญโญชน์ เป็นไฉน ความตระหนี่ ๕ คือ ตระหนี่อาวาส ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม การตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความตระหนี่ความหวงแหน ความเหนียวแน่น ความไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เผื่อแผ่ แห่งจิตมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า มัจฉริยสัญโญชน์.

ว่าด้วยมัจฉริยนิทเทส
พึงทราบวินิจฉัยมัจฉริยนิทเทส ต่อไป เพื่อทรงแสดงมัจฉริยะ (ความตระหนี่) โดยวัตถุ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปญฺจ มจฺฉริยานิ อาวาสมจฺฉริยํ (ความตระหนี่ ๕ คือตระหนี่อาวาส) ดังนี้.ในมัจฉริยะเหล่านั้น ความตระหนี่ในอาวาส ชื่อว่า อาวาสมจฺฉริยํ. แม้บทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. อารามทั้งสิ้นก็ดี บริเวณอารามก็ดี ห้องน้อยก็ดี ที่พักในเวลาราตรีเป็นต้นก็ดี ชื่อว่า อาวาส. พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสนั้นย่อมอยู่สบาย ย่อมได้ปัจจัยทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งผู้ตระหนี่ย่อมไม่ปรารถนาให้ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร ผู้มีศีลเป็นที่รักมาในที่อยู่นั้น แม้มาแล้วก็คิดว่าภิกษุนี้จงไปโดยเร็วเถิด นี้เชื่อว่า อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่อาวาส) แต่ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาการอยู่ในที่นั้นของพวกผู้ก่อการทะเลาะเป็นต้น ไม่ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๑) .

บทว่า กุลํ (ตระกูล) ได้แก่ ตระกูลอุปัฏฐากบ้าง ตระกูลญาติบ้าง เมื่อภิกษุไม่ปรารถนาให้ภิกษุอื่นเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ย่อมเป็นกุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) แต่ภิกษุไม่ปรารถนาให้บุคคลลามกเข้าไปในตระกูลนั้น ไม่ชื่อว่ามัจฉริยะ เพราะคนผู้ลามกนั้นย่อมปฏิบัติ เพื่อทำลายความเลื่อมใสของตระกูลเหล่านั้น แต่ภิกษุผู้สามารถรักษาความเลื่อมใสไว้ได้ ไม่ปรารถนาให้ภิกษุนั้นเข้าไปในตระกูลนั้น จึงชื่อว่า มัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๒) .

บทว่า ลาโภ (ลาภ) ได้แก่ การได้ปัจจัย ๔ เมื่อภิกษุผู้มีศีลรูปอื่นได้อยู่ซึ่งปัจจัย ๔ นั้นนั่นแหละ ภิกษุผู้ตระหนี่คิดอยู่ว่า ขอจงอย่าได้ ดังนี้ ย่อมเป็น ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) แต่ภิกษุใดยังศรัทธาไทย (ของที่ถวายด้วยศรัทธา) ให้ตกไปก็ดี ย่อมทำปัจจัยที่ได้มาให้เสียหายด้วยสามารถแห่งการไม่บริโภคหรือบริโภคไม่ดีเป็นต้นก็ดี ไม่ให้วัตถุแม้จะถึงความบูดเน่าแก่ภิกษุอื่นก็ดี ภิกษุผู้ตระหนี่เห็นภิกษุนั้นแล้ว คิดอยู่ว่า ถ้าภิกษุรูปนี้ไม่ได้ปัจจัยนี้ ภิกษุอื่นผู้มีศีลพึงได้ พึงบริโภค ดังนี้ ไม่ชื่อว่า มัจฉริยะ (นี้เป็นความตระหนี่ข้อที่ ๓) . สรีวรรณะ (ผิวพรรณแห่งสรีระ) ก็ดี คุณวรรณะ (การสรรเสริญคุณความดี) ก็ดี ชื่อว่า วรรณะ ในวรรณะทั้ง ๒ นั้น บุคคลผู้ตระหนี่ ในวรรณะทั้ง ๒ นั้น บุคคลผู้ตระหนี่ สรีรวรรณะ เมื่อมีคนพูดว่า บุคคลอื่นน่าเลื่อมใส มีรูปงาม ดังนี้ ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงบุคคลนั้น. บุคคลผู้ตระหนี่คุณวรรณะ (คือการสรรเสริญคุณความดี) ย่อมไม่ปรารถนาจะกล่าวชมคุณความดีของผู้อื่นด้วยศีล ด้วยธุดงค์ ด้วยปฏิปทา ด้วยอาจาระ (นี้เป็นวรรณมัจฉริยะข้อที่ ๔) .

บทว่า ธมฺโม (ธรรม) ได้แก่ ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม.ในธรรมทั้ง ๒ นั้น พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมไม่ตระหนี่ปฏิเวธธรรม ย่อมปรารถนาการแทงตลอดแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลกในธรรมอันตนแทงตลอดแล้วคือย่อมปรารถนาว่าขอสัตว์เหล่าอื่นจงรู้การแทงตลอดธรรมนั้นก็ขึ้นชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม) ย่อมมีในตันติธรรม * (ธรรมที่เป็นคัมภีร์) เท่านั้น บุคคลผู้ประกอบตันติธรรมนั้น ย่อมรู้คัมภีร์อันลี้ลับ หรือกถามรรคอันใด ไม่ประสงค์จะให้คนอื่นรู้คัมภีร์ หรือกถามรรคนั้น แต่ว่าบุคคลใดใคร่ครวญถึงบุคคล หรือใคร่ครวญธรรมด้วยการประคองธรรม ไม่ให้ด้วยการประคองบุคคล ภิกษุนี้ไม่ชื่อว่า ธรรมมัจฉริยะ. ในข้อนี้ บุคคลบางคนเป็นคนเหลาะแหละ (โลโล) บางคราวเป็นสมณะบางคราวเป็นพราหมณ์ บางคราวเป็นคฤหัสถ์ ก็ภิกษุใดไม่ให้ด้วยคิดว่า บุคคลนี้จักทำลายตันติธรรมอันละเอียด สุข เป็นธรรมอันยิ่ง เป็นประเพณีสืบต่อกันมาให้สับสน ภิกษุนี้ใคร่ครวญถึงบุคคลแล้ว ชื่อว่า ย่อมไม่ให้เพราะประคองธรรมไว้ ส่วนภิกษุใด ย่อมไม่ให้ด้วยคิดว่า ธรรมนี้ละเอียดสุขุม ถ้าบุคคลนี้จักเรียนเอา จักพยากรณ์อรหัตผล จักแสดงตนให้ถึงความพินาศ ภิกษุนี้ใคร่ครวญธรรมแล้ว ชื่อว่า ย่อมไม่ให้ด้วยการประคองบุคคล แต่บุคคลใดย่อมไม่ให้ด้วยคิดว่า ถ้าบุคคลนี้ เรียนธรรมนี้ จักสามารถทำลายลัทธิ (สมยํ) ของพวกเรา ดังนี้ บุคคลนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ตระหนี่ธรรม (นี้เป็นธรรมมัจฉริยข้อที่ ๕) .


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 ธ.ค. 2557

สาธุ อนุโมทนา และ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ