ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

 
opanayigo
วันที่  17 ก.ย. 2552
หมายเลข  13595
อ่าน  1,412

ข้อความบางตอนจากการบรรยาย

โดย ท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ซึ่งข้อความที่ วิสาขาอุบาสก กล่าวถาม ธัมมทินนาภิกษุณี ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าเริ่มเป็นลำดับ ตั้งแต่คำว่า “สักกายะ” ซึ่งท่านก็เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ สักกาย-ทิฏฐิ ความเห็นที่ยึดถือในสิ่งที่ประชุมรวมกันว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น วิสาขอุบาสก ครั้นนั่งแล้วได้ถาม ธัมมทินนาภิกษุณี ว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า สักกายะ

ธัมมทินนาภิกษุณี ตอบว่า

ดูกร วิสาขะ ผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ

รูปูปาทานขันธ์ ๑

เวทนูปาทานขันธ์ ๑

สัญญูปาทานขันธ์ ๑

สังขารูปาทานขันธ์ ๑

วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑

อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สักกายะ”

เพราะว่าเกิดร่วมกัน ประชุมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เมื่อธัมมทินนาภิกษุณี ตอบอย่างนี้ วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนาภิกษุณีว่า ถูกละ พระแม่เจ้า ดังนี้แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า “สักกายสมุทัย”

ใหม่อีกหรือเปล่าคะ สำหรับคำ บางท่านก็อาจจะบอกว่าไม่เคยได้ยิน

เคยได้ยินแต่ ทุกขสมุทัย แต่ถ้ากล่าวว่า สักกายสมุทัย ผู้ที่เข้าใจอรรถ ก็ทราบใช่ไหมว่า หมายความถึงอะไร สิ่งที่ประชุมรวมกันเป็น สักกายะ ก็ได้แก่ รูปขันธ์เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสักกายะ อะไรเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอุปาทานขันธ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น ก็จะใช้คำว่า สักกายสมุทัยก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้เพียงศัพท์เดียวว่า ทุกขสมุทัยเพราะเหตุว่า สักกายะ ก็ได้แก่สภาพธรรม

คือ ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นทุกข์นั่นเอง



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 18 ก.ย. 2552

ท่านอาจารย์กล่าวว่า ... การศึกษาพระธรรมนั้นควรศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่จำเพียงชื่อได้เท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจถึงความหมาย อรรถของธรรม ไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไร ก็ยังคงเข้าใจ

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 18 ก.ย. 2552

สาธุ

ผมขอเสนอลิ้งค์ของพระสูตรที่กระทู้นี้อ้างถึง (ชอบมาก)

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 324

๔. จูฬเวทัลลสูตร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.ย. 2552

เรามีแล้วขันธ์ห้า ต้องดูแลรักษาอย่างดี ก็ยังเป็นทุกข์ แล้วยังไปยึดขันธ์ห้า ของคนอื่นอีกก็ยิ่งทุกข์ เช่น นางวิสาขาหลานตายก็โศกเศร้าเสียใจร้องไห้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 21 ก.ย. 2552

คำคม

พยัญชนะตื้น อรรถลึก

(เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่ มศพ.)

ผู้ถาม ... ... เหมือนกับเข้าใจแล้ว แต่เหมือนว่าขันธ์ 5 จริงๆ แล้วมันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น อยากขอความกรุณาพูดถึงเรื่องขันธ์ 5 อีกสักครั้งค่ะ

ท่านตอบ ... ขันธ์ 5 คือ ขณะนี้

ผู้ถาม ... (อึ้ง!!!) ... ขันธ์ 5 คือ ขณะนี้ ... ( ... คิดพิจารณาตาม ... จริงของท่าน ... แต่กลับไม่เคยนึกถึงเลย)

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ