ความจริงแห่งชีวิต [97] เรื่องของ ผล ซึ่งจะต้องเกิดจาก เหตุ

 
พุทธรักษา
วันที่  18 ส.ค. 2552
หมายเลข  13257
อ่าน  845

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉะนั้น เรื่องของผลซึ่งจะต้องเกิดจากเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดพร้อมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องของอนัตตา​ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นตัวตนที่คิดเอา​เองว่า​จะบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ตามความต้องการ จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ แม้ขณะที่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะให้ผล ก็ต้องประกอบด้วยคติสมบัติหรือคติวิบัติ อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ

การเข้าใจเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องกิเลส เรื่องกรรม เรื่องวิบาก ย่อมเป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏฏ์น้อยลง นอกจากนั้น จะต้องเข้าใจวิถีจิตว่า​ในขณะที่เห็นวา​ระหนึ่งๆ นั้น วิบากจิต เช่น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นก็ดี สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณก็ดี สันตีรณจิตซึ่งพิจารณา​อารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตก็ดี วิบากจิตทั้งหมดไม่สามารถจะกระทำกรรมใดๆ ได้เลย ขณะที่ทำกุศลกรรมประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นกุศลชวนวิถีจิต ขณะที่ได้ยินเสียงที่น่า​พอใจ โสตวิญญาณก็เพียงเกิดขึ้นได้ยินแล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็รับเสียงนั้นต่อ แล้วสันตีรณจิตก็พิจารณา​เสียงนั้น วิบากจิตกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรมอะไรๆ ไม่ได้เลย

ขณะที่กลิ่นที่ดีกระทบจมูก ฆานวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น สัมปฏิจฉันนจิตรับรู้กลิ่นนั้น สันตีรณจิตพิจารณา​กลิ่นนั้น แต่ทำกรรมใดๆ ไม่ได้ ทำให้รูปเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้เลย

ขณะที่กำลังพูด เดิน ยกมือ เคลื่อนไหวทำกิจการงานใดๆ นั้น ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ แต่เป็นชวนวิถีซึ่งเป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหวไปด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ฉะนั้น จิตที่กระทำกรรมใดๆ จึงไม่ใช่วิบากจิต ขณะที่บริโภคอาหาร จิตที่เห็นเป็นวิบากจิต จิตที่พอใจในอาหารที่เห็นเป็นโลภมูลจิต จิตที่ไม่พอใจในอาหารที่เห็นเป็นโทสมูลจิต จิตที่ลิ้มรสเปรี้ยวหรือหวานเป็นวิบากจิต จิตที่ทำให้รูปเคลื่อนไหวไปตักอาหารหรือเคี้ยวกลืนด้วยความพอใจนั้นเป็นโลภมูลจิต สติสามารถจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของจิตแต่ละประเภทได้ตามความเป็นจริง ฉะนั้น จึงไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริงจึงจะละโลภะได้ ตั้งแต่เกิดมา​ก็มีปัจจัยทำให้โลภะเกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน ขณะที่ประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ในวันหนึ่งๆ นั้น โลภะเกิดมากทีเดียว แต่​กุศล​จิต​ก็​มี​ปัจจัย​ที่​จะ​เกิด​ได้เมื่อ​เห็น​ประโยชน์​ของ​กุศล​จิต ขณะที่รับประทานอาหาร เมื่อโลภชวนวิถีเกิดแล้วดับไป ชวนวิถีวาระหลังจากนั้นเป็นกุศล โดยระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในอาหารขณะนั้นก็ได้ หรือสติอาจจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือรสเปรี้ยว หวาน เค็มที่ปรากฏก็ได้

การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้รู้สภาพของจิตได้ แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทำใดๆ ทางกาย ทางวาจา​เลย เช่น สติสามารถระลึกรู้ว่า​จิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เป็นต้น


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 20 ส.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ