ทุกข์จริงๆในสังสารวัฏ

 
kanchana.c
วันที่  8 ก.ค. 2552
หมายเลข  12851
อ่าน  1,585

จากการบรรยายแนวทางวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๔๙๔ ตอนหนึ่ง มีว่า

"เรื่องของทุกข์จริงๆ ประการเดียวในวันหนึ่งๆ ซึ่งไม่มีใครหนีพ้นเลย ไม่ว่าคนที่ยังมีกิเลสอยู่ หรือว่าคนที่ดับกิเลสหมดแล้ว ทุกข์จริงๆ ในสังสารวัฏ ได้แก่ ทุกขเวทนาเจตสิก ที่เกิดกับกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาดูว่า วันหนึ่งๆ ไม่ใช่ทุกข์จริงทางกาย ที่จะเจ็บปวดทรมาน แต่ว่าเป็นทุกข์อื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งไม่น่าที่จะเกิด และน่าที่จะบรรเทา แก้ไขได้ ตราบใดที่กายยังไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เห็นได้ทีเดียวว่า ถ้าวันนี้ใครเกิดเป็นทุกข์ ให้พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นทุกขเวทนากายวิญญาณหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ก็หมายความว่าในขณะนั้นเป็นทุกข์ใจ เป็นทุกข์เพราะความกังวล ความเป็นห่วงในเรื่องของลาภ ของยศ ในเรื่องของสรรเสริญ ในเรื่องของนินทา ของสุข ของทุกข์ ในเรื่องกิเลสต่างๆ เพราะเหตุว่าทางที่ได้รับผลของกรรม มี ๕ ทาง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ที่เป็นวิบากจิต ที่รับผลของกรรม โดยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าทางตา จะเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แล้วไม่หวั่นไหว ช่วยทุกข์ทางใจได้ประการหนึ่งแล้ว คือ ไม่จำเป็นจะต้องมีทุกข์นั้นเกิดเลย ทางหูก็เช่นเดียวกัน เวลาได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ถ้าใจไม่หวั่นไหว แล้วก็รู้ว่าสภาพได้ยินก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏ แล้วการยินนั้นก็จะไม่กลับมาอีกเลยก็ผ่านไปหมดแล้ว ก็จะไม่ยึดถือ หรือมีความสำคัญ มีความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา เพราะฉะนั้น ทุกข์จริงๆ ที่ทุกคนไม่พ้นเลยก็คือ ทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณอกุศลวิบาก แล้วลองพิจารณาดูว่า วันนี้ ทุกขเวทนาอกุศลวิบากที่เกิดกับกายวิญญาณมีหรือเปล่า หรือว่ามีมากไหม หรือว่าเต็มไปด้วยทุกข์อื่นทั้งหมด ซึ่งทุกข์อื่นทั้งหมดแก้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผลของกรรม แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะทำให้ทุกข์นั้นๆ เบาบางลงไป แต่สำหรับผู้ที่รับผลของกรรมทางกาย ไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น"


Tag  ทุกข์  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ตอนนี้อากาศร้อนมาก ... กำลังรับทุกข์ทางกายอยู่ค่ะ แต่ในนรก ... คงร้อนกว่านี้เยอะเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
panasda
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ขอขอบคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ความเข้าใจ ยังไม่พอ....ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 9 ก.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
choonj
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ในนรก.....ร้อนกว่าเยอะเลย หมายความว่าร้อนนี้ยังพอทนได้ ไหนๆ ก็ไม่พ้นนรกแน่ แล้วในนรกมีทุกข์ที่เป็นอุเบกขาไหมเอ่ย........

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 9 ก.ค. 2552

อืม..นั่นสิค่ะ แล้วในนรกมีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึกมั้ยเอ่ย? รึว่ามีแต่ กายวิญญาณจิต เกิดดับเพียงอย่างเดียว

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ทุกข์จริงๆ ในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ การเกิดแล้วดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ยากมากที่จะรู้เพราะต้องเป็นปัญญาที่อบรมดีแล้ว เป็นวิปัสสนาญาณ ส่วนใหญ่ทุกข์ที่เราพอจะรู้บ้าง (แต่ยังไม่ได้รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน) ก็คือทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจครับ เพราะมีแน่นอนในภพภูมินี้ ใครก็ตามที่มีกาย และมีกิเลส ก็จะไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งสองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2552

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 9 ทุกข์จริงๆ ในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ การเกิดแล้วดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ยากมากที่จะรู้เพราะต้องเป็นปัญญาที่อบรมดีแล้ว เป็นวิปัสสนาญาณ ส่วนใหญ่ทุกข์ที่เราพอจะรู้บ้าง (แต่ยังไม่ได้รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน) ก็คือทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจครับ เพราะมีแน่นอนในภพภูมินี้ ใครก็ตามที่มีกาย และมีกิเลส ก็จะไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งสองครับ

สืบเนื่องจาก ความเข้าใจสภาพธรรม ๐๑ - โลกธรรม ๘ ประการ เราสามารถหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้ไหม บางขณะ ชีวิตของเรา ก็มีความสุข แต่ไม่ยั่งยืน ความสุขสบายที่เราได้รับก็เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายๆ ไม่ยืนนานเราไม่รู้ถึงความไม่เที่ยงของตัวเราและสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เรามักจะติดข้อง กับสิ่งที่แท้จริงแล้วไม่เที่ยง เหตุการณ์สุขและทุกข์ในชีวิต เป็นเหตุสำคัญต่อความรู้สึกต่างๆ ของเราเราเป็นทาสของการเปลี่ยนแปลงของชีวิต วันหนึ่งเราได้รับคำสรรเสริญแล้วเราก็ยินดีพอใจ วันต่อมาเราได้รับความอยุติธรรม เราก็รู้ว่าตัวเองต่ำต้อยและก็เศร้าโศกมีลาภ และเสื่อมลาภ มียศและเสื่อมยศ มีสรรเสริญและนินทา มีสุขและมีทุกข์ นี่คือ "โลกธรรม ๘" ของชีวิตเรา

ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เมตตาวรรคที่ ๑ โลกวิวัตติสูตร

ข้อ ๙๖ พระพุทธองค์ ได้ตรัสกับพระภิกษุ เกี่ยวกับโลกธรรม ๘ ซึ่งครอบงำโลกไว้

พระองค์ตรัสกับบุคคล ผู้ซึ่งยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ... ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับเขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ... ยศ ... ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ ... ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ ... แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทาย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าไม่พ้นไปจากทุกข์"

ขออนุญาตเรียนถามว่าบุคคล ที่จะไม่ถูก โลกธรรม ครอบงำไว้ได้เลย มีไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ลืมพระอรหันต์ไปแล้วหรือค่ะ?

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ไม่ลืมค่ะ...ก็พระอรหันต์ ท่านยังทุกข์กายอยู่นี่คะ...!

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 9 ก.ค. 2552

เอ.....ผู้ที่หมดกิเลสแล้วเนี่ย.........ยังถูก "โลกธรรม ๘ ครอบงำ" ได้ด้วยรึค่ะ

โปรดอธิบายค่ะ

ป.ล. ๑ ทุกข์กายท่านมีจริง แต่ไม่ได้ครอบงำจิตใจของท่านนี่ค่ะ

ป.ล. ๒ ดิฉันเข้าใจว่า "ทุกข์" ในโลกธรรม ๘ หมายถึง "กิเลสทุกข์" ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ทศพล.com
วันที่ 9 ก.ค. 2552

ทุกข์ๆ ทุกอย่าง ขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2552

โปรดพิจารณาข้อความจากกระทู้

เพราะฉะนั้น ทุกข์จริงๆ ที่ทุกคนไม่พ้นเลย

ก็คือ ทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณอกุศลวิบาก แล้วลองพิจารณาดูว่าวันนี้ ทุกขเวทนาอกุศลวิบากที่เกิดกับกายวิญญาณมีหรือเปล่า หรือว่ามีมากไหม หรือว่าเต็มไปด้วยทุกข์อื่นทั้งหมด ซึ่ง ทุกข์อื่นทั้งหมดแก้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผลของกรรม แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต

ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะทำให้ทุกข์นั้นๆ เบาบางลงไป แต่สำหรับผู้ที่รับผลของกรรมทางกาย

ไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น"

ทุกข์จริงๆ ที่ทุกคนไม่พ้นเลยคุณไตรฯ เข้าใจว่า รวมพระอรหันต์ด้วยรึเปล่าคะ.?

ปล. บางทีข้าพเจ้าอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ได้นะคะ...ซึ่งต้องขออภัยจึงได้ตั้งคำถามข้างต้น...เพื่อความมั่นใจ. ไม่กล้าคิดเอง เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะคิดผิด เพราะพระธรรมละเอียดเหลือเกิน ยังมีเรื่องไกลตัวอีก เช่น ขณะที่ บุคคล มีนิพพานเป็นอารมณ์คุณไตรฯ เข้าใจว่า...ขณะนั้น บุคคลนั้น ถูกโลกธรรมครอบงำหรือเปล่า

โดยส่วนตัว เข้าใจว่า...ตราบใดที่ยังมีจิต (เจตสิก) หรือ แม้แต่ รูป (ในรูปภพ) เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์......ขึ้นชื่อว่า จิต เจตสิก รูป...ต้องเป็นทุกข์เพราะ "ทุกข์" คือ สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เกิด-ดับ จึงเป็นทุกข์.?

เพราะแม้แต่ "โลกุตตรจิต" (ยังเป็นจิต) ก็ยังเกิด-ดับ...เป็นทุกข์หรือเปล่า.?

แต่ที่มั่นใจที่สุด คือ การดับขันธปรินิพพาน นั่นแหละคือ พ้นจาก "โลกธรรม ๘" (อธิบายได้เท่าที่เข้าใจบ้าง...หากคลาดเคลื่อน กรุณาแนะนำด้วยนะคะ) ประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน คือ ทุกข์จริงๆ ในสังสารวัฏ

ท่านหมายรวม "โลกธรรม ๘" ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมี "ขันธ์ ๕"...ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน หรือ พระอรหันต์ หรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 ก.ค. 2552

ความคิดเห็นที่ 10

ขออนุญาตเรียนถามว่าบุคคล ที่จะไม่ถูก โลกธรรม ครอบงำไว้ได้เลย มีไหมคะ.?

ที่ถามมาอย่างนี้ใช่มั้ยค่ะ?

โปรดพิจารณาข้อความจากพระสูตรนะคะ.....ว่าใครถูกครอบงำ....ใครไม่ถูกครอบงำ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 310

๖. โลกวิปัตติสูตร

[๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล

ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑

ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑

นินทา ๑ สรรเสริญ ๑

สุข ๑ ทุกข์ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึงอาศัย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด

ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักทรงจำไว้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ... ยศ... ความเสื่อมยศ... นินทา... สรรเสริญ...สุข... ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ... แม้ยศ... แม้ความเสื่อมยศ... แม้นินทา... แม้สรรเสริญ... แม้สุข... แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้น ย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ... ยศ... ความเสื่อมยศ...นินทา... สรรเสริญ...สุข... ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ

อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ... แม้ยศ... แม้ความเสื่อมยศ... แม้นินทา... แม้สรรเสริญ... แม้สุข... แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกันระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ. ธรรมในหมู่เหล่านี้ คือ

ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑

ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑

นินทา ๑ สรรเสริญ ๑

สุข ๑ ทุกข์ ๑

เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมย์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่

อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง.

จบ โลกวิปัตติสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.ค. 2552

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 16 และ 10

ขออนุญาตเรียนถามว่าบุคคล ที่จะไม่ถูก โลกธรรม ครอบงำไว้ได้เลย มีไหมคะ.?

ที่ถามมาอย่างนี้ใช่มั้ยค่ะ?

โปรดพิจารณาข้อความจากพระสูตรนะคะ.....ว่าใครถูกครอบงำ....ใครไม่ถูกครอบงำ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
suwit02
วันที่ 10 ก.ค. 2552

สาธุ

คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่า เป็นพาลหรือบัณฑิต ส่วนคนที่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่า เป็นผู้แสดงอมตบท บุคคลพึงยังธรรมให้สว่างแจ่มแจ้ง พึงยกย่องธงของฤาษีทั้งหลาย ฤาษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง เพราะว่าธรรมเป็นธงของพวกฤาษี

ที่นี่น่ารื่นรมย์

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
วันใหม่
วันที่ 10 ก.ค. 2552

ทุกข์มีจริง รู้ความจริงที่มีในขณะนี้ นี่แหละรู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป กำลังถูกทุกข์ครอบงำ โดยไม่รู้ตัว

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 ก.ค. 2552

ต้องรู้ก่อนมั้ยค่ะว่า.....ทุกข์คืออะไร?

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
choonj
วันที่ 11 ก.ค. 2552

แหม่?? คุณไตรปรกติมาเย็บๆ แล้วก็ไป กระทู้นี้เอาพระสูตรมาลงเสียยาวเลยนะ ขอพากลับไปนรกอีกที่ยังไม่จบ ผมว่านรกมีเห็น ได้ยิน คิดนึกนะ ไม่งั้นจะรับกรรมอย่างไร

เช่นในพระสูตรตอนหนึ่ง เห็นไฟสามด้านจึงต้องวิ่งไปด้านที่สี่ที่ไม่มีไฟ แต่พอจวนจะพ้นด้านนี้ก็ถูกไฟไหม้อีก ไม่ทราบว่าเคยได้ยินมั้ย กายวิญญานต้องมีแน่ ไม่งั้นตกนรกไปก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเพราะไม่รู้สึก ทุกข์ที่เป็นอุเบกขาคงไม่มีเพราะเป็นสถานที่ต้องรับทุกข์ อบายที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็มีเห็นได้ยิน ครบ ผมพอที่จะรู้ว่า (-_-" คือคนยิ้มแล้วตะเบ๊ แล้วยังงี้ ^^ ยังงี้ ^^ คืออะไร ทุกข์คืออะไร หมายความว่า ต้องรู้ทุกข์ก่อน ถึงจะรู้ว่า ที่ว่ารู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปนั้นนะยากขนาดไหน ใช่มั้ย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
ดำรงค์
วันที่ 11 ก.ค. 2552
ยึดติด มันจึงทุกข์ ถ้าละวางเสียได้ ก็ไม่ทุกข์
 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 11 ก.ค. 2552

ความคิดเห็นที่ 22

ถือว่าสนทนากันนะคะ ... คุณชุณ

สัตว์นรกมีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่นมั้ยค่ะ ถ้ามี ... เวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส ... เป็นอุเบกขาเวทนาค่ะ ยกเว้นกายวิญญาณเท่านั้นค่ะที่ เวทนาเป็นสุขหรือทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น นรกเป็นที่ที่สัตว์เสวยผลของอกุศลกรรมหนัก แต่ไม่ใช่ว่าทุกๆ ขณะจิตจะเป็นทุกขเวทนาค่ะ เพราะว่ายังมีวิถีจิตอื่นๆ เกิดดับสลับสืบต่อกันไป ... ไม่ใช่มีแต่กายทวารวิถีอย่างเดียวค่ะ

น่าจะจบเรื่องนรกซะทีนะคะ ... อย่าอยู่นานเลยค่ะ ... มันร้อน!

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
วันใหม่
วันที่ 11 ก.ค. 2552

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 181

อุเบกขาอันเป็นอกุศลวิบาก ๖ อย่างที่เหลือ ย่อมเป็นอัพโภหาริก (ไม่ควรกล่าวเพราะมีเหมือนไม่มี) เพราะความที่ทุกข์ในมหานรกนั้นมีกำลัง เผาอยู่เนืองๆ เปรียบ เหมือนหยาดแห่งน้ำผึ้ง ๖ หยาดในปลายลิ้น ย่อมเป็นอัพโภหาริก (ไม่ควรกล่าวเพราะมีเหมือนไม่มี) เพราะ ความที่หยาดของทองแดงอันเป็นส่วนที่ ๗ เป็นของมีกำลังเผาอยู่เนืองๆ ฉะนั้น. ทุกข์เท่านั้น ย่อมปรากฏ คือ ย่อมปรากฏหาระหว่างมิได้. ขึ้นชื่อว่าระหว่างแห่งความทุกข์ในมหานรกนี้ ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ก.ค. 2552

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 25

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 181

อุเบกขาอันเป็นอกุศลวิบาก ๖ อย่างที่เหลือ ย่อมเป็นอัพโภหาริก (ไม่ควรกล่าวเพราะมีเหมือนไม่มี) เพราะความที่ทุกข์ในมหานรกนั้นมีกำลัง เผาอยู่เนืองๆ เปรียบ เหมือนหยาดแห่งน้ำผึ้ง ๖ หยาดในปลายลิ้น ย่อมเป็นอัพโภหาริก (ไม่ควรกล่าวเพราะมีเหมือนไม่มี) เพราะ ความที่หยาดของทองแดงอันเป็นส่วนที่ ๗ เป็นของมีกำลังเผาอยู่เนืองๆ ฉะนั้น. ทุกข์เท่านั้น ย่อมปรากฏ คือ ย่อมปรากฏหาระหว่างมิได้. ขึ้นชื่อว่าระหว่างแห่งความทุกข์ในมหานรกนี้ ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้.

อ่านพระสูตรแล้วก็ควรเทียบเคียงกับพระอภิธรรมด้วยนะคะ.....จะได้เข้าใจถูกต้องขึ้น สัตว์นรกมีวิถีจิตทางกายทวารอย่างเดียวหรือค่ะ ไม่มีภวังคจิตเลยหรอ? (ซึ่งปกติจะต้องเกิดคั่นระหว่างวิถีจิต) สำหรับกายทวารวิถี.....นอกจากกายวิญญาณอกุศลวิบากแล้ว จิตดวงอื่นๆ ในวิถีเดียวกันมีเวทนาอะไรค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
ใจรวยริน
วันที่ 13 ก.ค. 2552

ออกทะเลกันไปไกล ...

กลับมาพิจารณาข้อความที่มีประโยชน์ที่ท่านผู้เขียนหัวข้อนำมามอบให้ ทุกข์ที่ประสบอยู่จริงๆ คือทุกข์ทางกาย หรือกายวิญญาณอกุศลวิบาก ซึ่งไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีความทุกข์มากๆ ทุกวันนี้ มักเป็นทุกข์ทางใจ เพราะป็นห่วงในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ ถ้าไม่หวั่นไหวและเข้าใจว่าผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนมากไม่ใช่ทุกข์ เกิดแล้วก็ดับไป ที่ทุกข์มากนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะ ไม่ได้ดังใจ

ถ้าพิจารณาตรงนี้ให้แยบคาย ทุกข์เหล่านั้นก็เบาบางลงไป ส่วนที่ออกทะเลไปกล่าวถึงสังขารทุกข์ ที่บอกว่ารู้บ้างแต่ไม่ได้รู้จริง ข้ามขั้นตอนไปไกลแล้ว และยิ่งมากล่าวว่า ... นี่แหละรู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป ... ก็ยิ่งออกไปกันใหญ่เพราะพูดเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ที่จะบอกว่า ... นี่แหละรู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป ... ต้องเป็นผู้ที่อบรมจนถึงขั้นวิปัสสนาญาณ อาจกล่าวได้แต่เพียงว่า ตามตำราว่าไว้ ไม่ใช่จะมาแนะนำให้เห็นกันง่ายๆ อย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าไปยกเอาข้อความตามตำรามา มาลงไว้ให้เกิดความงุนงงมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งออกทะเลไปใหญ่ ไปๆ มาๆ ก็ลืมไปว่า หัวข้อนี้ได้ให้ความเข้าใจเรื่องอะไร รู้แต่ชื่อเยอะแยะไปหมด กลับมาเข้าฝั่งกันบ้างก็ได้ จะได้ไม่เหนื่อยมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
พุทธรักษา
วันที่ 14 ก.ค. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 12851 ความคิดเห็นที่ 27 โดย ใจรวยริน

ออกทะเลกันไปไกล ...

กลับมาพิจารณาข้อความที่มีประโยชน์ที่ท่านผู้เขียนหัวข้อนำมามอบให้ ทุกข์ที่ประสบอยู่จริงๆ คือทุกข์ทางกาย หรือกายวิญญาณอกุศลวิบาก ซึ่งไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีความทุกข์มากๆ ทุกวันนี้ มักเป็นทุกข์ทางใจ เพราะป็นห่วงในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ ถ้าไม่หวั่นไหวและเข้าใจว่าผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนมากไม่ใช่ทุกข์ เกิดแล้วก็ดับไป ที่ทุกข์มากนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะ ไม่ได้ดังใจ

ถ้าพิจารณาตรงนี้ให้แยบคาย ทุกข์เหล่านั้นก็เบาบางลงไป ส่วนที่ออกทะเลไปกล่าวถึงสังขารทุกข์ ที่บอกว่ารู้บ้างแต่ไม่ได้รู้จริง ข้ามขั้นตอนไปไกลแล้ว และยิ่งมากล่าวว่า ... นี่แหละรู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป ... ก็ยิ่งออกไปกันใหญ่เพราะพูดเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ที่จะบอกว่า ... นี่แหละรู้ตัวทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป ... ต้องเป็นผู้ที่อบรมจนถึงขั้นวิปัสสนาญาณ อาจกล่าวได้แต่เพียงว่า ตามตำราว่าไว้ ไม่ใช่จะมาแนะนำให้เห็นกันง่ายๆ อย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าไปยกเอาข้อความตามตำรามา มาลงไว้ให้เกิดความงุนงงมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งออกทะเลไปใหญ่ ไปๆ มาๆ ก็ลืมไปว่า หัวข้อนี้ได้ให้ความเข้าใจเรื่องอะไร รู้แต่ชื่อเยอะแยะไปหมด กลับมาเข้าฝั่งกันบ้างก็ได้ จะได้ไม่เหนื่อยมาก


ผู้รู้จริง คือ ใครคะ.? ใช้คำว่า "เข้าใจ" ไม่ได้ใช้คำว่า "รู้" ... สองคำนี้ต่างกันนะคะ.

คนที่ไม่สงสัยสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย คือ ใครคะ.?

ถ้าจะถามผู้ที่ "เข้าใจมากกว่า" ... ..มีประโยชน์ไหมคะ.?และถ้าท่านที่ตอบ ... ท่านมีหลักฐานอ้างอิงจากพระไตรปิฎกอธิบายเหตุ-ผล ชัดเจน อ่านแล้วไม่งง ... แต่ เข้าใจมากขึ้น ... มีประโยชน์ไหมคะ.?งง หรือ ไม่งง ... ใครรู้.?และหากท่านใดงง ... ก็ควรถามเพื่อความเข้าใจ.?ถ้าไม่เข้าใจ ... แล้วไม่ถาม เพื่อ "ความเข้าใจ"ในสิ่งที่เข้าใจได้.!

จะมีกระดานสนทนาไว้ทำไมละคะ.? ความสงสัยใด ควรตอบ หรือไม่ควรตอบก็แล้วแต่ ... ท่าน ผู้ตอบ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
ใจรวยริน
วันที่ 14 ก.ค. 2552

ผู้ศึกษาธรรมจะมีจุดอ่อนก็ตรงนี้แหละ

ตรงที่ศึกษาเพื่อจะได้มากๆ รู้คำเยอะๆ ออกทะเลก็ไม่รู้ว่าออกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ยังไปวนเวียนกับคำเล็กๆ น้อยๆ โดยละเลยเนื้อแท้อรรถของข้อความจริงๆ การอ้างอิงหลักฐานจากพระไตรปิฎก ควรอ่านให้เข้าใจเสียก่อน แล้วนำเอาความเข้าใจนั้น มาอธิบายเพื่อให้หัวข้อสนทนานั้นกระจ่างแจ้ง ซึ่งควรจะเป็นข้อความที่กระชับและสร้างความเข้าใจได้โดยง่าย การคัดลอกข้อความมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนแบบยกมาทั้งหมด ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาตู้พระไตรปิฎกไปวางไว้ตามวัดต่างๆ

ซึ่งไม่ได้ทำให้มีความเข้าใจขึ้น ไม่น่าสนใจ และทำให้เกิดความงุนงงมากขึ้นไปอีก เพราะการอ่านข้อความตามพระไตรปิฎกให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เข้าใจผิดได้ง่าย เราต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าการคัดลอกพระไตรปิฎกมาแปะไว้ในกระดาน ผู้คัดลอกเข้าใจจริงๆ ทั้งหมดหรือยัง ว่าจะมีประโยชน์สร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น ได้ตรวจดูจริงๆ หรือเปล่าว่าข้อความเหล่านั้น มีนัยเดียวกับหัวข้อสนทนา และผู้อ่านโดยทั่วไปจะเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

เราไม่ควรทำเพียงคัดลอกข้อความมาเพื่อทำให้ความคิดเห็นของตนน่าเชื่อถือเท่านั้น หรือแค่แสดงว่าผู้คัดลอกข้อความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสืบค้นพระไตรปิฎก และยิ่งมีการเอาข้อความมาปรับแต่งตัดต่อเสียใหม่โดยไม่ระวัง ก็จะเพิ่มความเข้าใจผิด กระดานสนทนาก็จะเกลื่อนกลาดไปด้วยการนำเอาข้อความมาลงไว้มากมาย โดยไม่รู้ว่า ข้อความใดเป็นของเดิม ข้อความใดเป็นที่เขียนขึ้นใหม่

จึงไม่น่าจะถามว่า ... จะมีกระดานไว้ทำอะไร แต่ควรถามว่ากำลังทำอะไรบนกระดาน

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
suwit02
วันที่ 14 ก.ค. 2552

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๓๙

๘. วาจาสูตร

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน.

กบเกิดในสระใต้ บัวบาน ฤาห่อนรู้รสมาลย์ หนึ่งน้อย ภุมราอยู่ไกลสถาน นับโยชน์ ก็ดี บินโบกมาค่อยค้อย เกลือกเคล้าเสาวคนธ์

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 ก.ค. 2552

วาจาสุภาษิต

บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก ที่ชนทั้งหลายชื่นชมแล้ว ไม่ถือเอาคำที่ชั่วช้าทั้งหลาย กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักแก่ชนเหล่าอื่น

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 317

อย่าได้กล่าวคำหยาบ

" เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ชนเหล่าอื่นถูกเธอว่าแล้ว จะพึงตอบเธอ เพราะการกล่าวแข่งขันกันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ ผิเธออาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ดังกังสดาลที่ถูกกำจัดแล้วไซร้ เธอนั่นย่อมบรรลุพระนิพพาน การกล่าวแข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ."

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 83

ความโกรธ ย่อมย่ำยีคนลามก

ขอความโกรธจงอยู่ในอำนาจของท่านทั้งหลาย ขอความเสื่อมคลายในมิตรธรรม อย่าได้เกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ติเตียนผู้ที่ไม่ควรติเตียน และอย่าได้พูดคำส่อเสียดเลย ก็ความโกรธเปรียบปานดังภูเขา ย่อมย่ำยีคนลามก. ข้อความบางตอนจาก ... อัจจยสูตร

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 524

ถูกมานะหลอกลวงแล้ว

ได้ยินว่า พระเสตุจฉเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ชนทั้งหลายถูกมานะหลอกลวงแล้ว เศร้าหมองอยู่ในสังขารทั้งหลาย ถูกความมีลาภ และความเสื่อมลาภ ย่ำยีแล้ว ย่อมไม่ได้บรรลุสมาธิเลย

ผู้ไม่สำรวมย่อมทิ่มแทงชนเหล่าอื่นด้วยวาจา

"ชนทั้งหลาย ผู้ไม่สำรวมแล้ว ย่อมทิ่มแทงชนเหล่าอื่นด้วยวาจา เหมือนเหล่าทหารที่เป็นข้าศึก ทิ่มแทงกุญชรตัวเข้าสงครามด้วยลูกศร ฉะนั้น ภิกษุผู้มีจิตไม่ประทุษร้าย ฟังคำอันหยาบคายที่ชนทั้งหลาย เปล่งขึ้นแล้ว พึงอดกลั้น"

ข้อความตอนหนึ่งจาก ... สุนทรีสูตร

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 453

เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน

เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน ดังช้างอดทนลูกศร ซึ่งตกไปจากแล่งในสงคราม, เพราะคนเป็นอันมาก เป็นผู้ทุศีล, ในหมู่มนุษย์ผู้ใดอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้, ผู้นั้นชื่อว่าฝึก (ตน) แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด. ม้าอัสดรที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐ, พระยาช้างชาติกุญชรที่ฝึกแล้ว ก็เป็นสัตว์ประเสริฐ, (แต่) ผู้ฝึกตนเองได้แล้ว ประเสริฐ

ควรดูตัวเองไม่ใช่คนอื่น

บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่น ไว้ในใจ, ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำ ของคนเหล่าอื่น,พึงพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของตนเท่านั้น."

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 63

สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล

สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ.

เทวทหวรรคที่ ๑ จูฬปุณณมสูตรที่ ๑๐

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 189

ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา

พึงเป็นผู้มีสติ ชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารีย์ทั้งหลาย พึงกล่าววาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมะคือการว่ากล่าวซึ่งชน

ขุททกนิกาย มหานิเทศ สารีปุตตสุตตนิเทศที่ ๑๖ ข้อ ๙๗๔

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
choonj
วันที่ 15 ก.ค. 2552

ขอเสนอความเห็นส่วนตัวในสถานะที่มีส่วนชวนออกทะเล จริงๆ แล้วพวกเราก็ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน และทุกคนตามพืนฐานจิตแล้วก็เป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น ที่มาฟังธรรม มีความหวังดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็ยังต้องอยู่ในสังคม และก็ต้องมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นธรรมดา มีความเห็นเหมื่อนกันไมได้แน่นอน เราไม่ควรตกหลุม ด้วยแค่ความเห็นต่างกันแล้วแตกความสามัคคี ทำให้ไม่มองหน้ากัน ไม่แลกความเห็นกันอีกซึ่งก็จะเป็นที่น่าเสียดาย เพราะวันหนึ่งคนที่เรารู้จักอาจเป็นกัลยาณมิตรของเราในอนาคตก็ได้ เพราะมีธาตุเดียวกัน และทุกคนก็เป็นคนเก็งต่อการให้อภัยอยู่แล้ว จึงไม่ควรหลงให้อกุศลพาไปอีก มันพาเราไปบ่อยๆ เลย มันก็แค่เป็นธรรม แต่จะใช้นี่เป็นบทเรียน มันก็แค่เป็นธรรมเกิดแล้วก็ดับ หาสาระไม่ได้ ครับ no hard feeling

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
พุทธรักษา
วันที่ 15 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนา"กุศลจิต"ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ค. 2552

ทุกคนเกิดมาหนีไม่พ้นเรื่องความทุกข์ หิวก็ทุกข์ พลัดพรากจากของรักก็ทุกข์ การเกิด ในอบายภูมิยิ่งทุกข์ใหญ๋ ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากความไม่ประมาทคืออบรมปัญญา เจริญกุศลบ่อยๆ เนื่องๆ รักษาศีลเป็นปกติประจำ ที่สำคัญอบรมเจริญสติปัฏฐานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
วันใหม่
วันที่ 15 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
noynoi
วันที่ 18 ก.ค. 2552

อ่านแล้วได้ความรู้ความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งเรื่องทุกข์ต่างๆ และเรื่องวาจา และส่วนตัวที่เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงขอน้อมรับไว้ คือ คำเตือน ที่สรุปเอาเองว่า ที่ควรดูแลและระวังที่สุด คือ กุศลและอกุศลของตนเอง (ทั้งทางกาย วาจา ใจ) การให้อภัยกันและกัน

ผู้ศึกษาน้อย ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 39  
 
คุณ
วันที่ 19 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ ทุกอย่างเป็นธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 40  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 19 ก.ค. 2552

" ... ซึ่งทุกข์อื่นทั้งหมดแก้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผลของกรรม แต่เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะทำให้ทุกข์นั้นๆ เบาบางลงไป แต่สำหรับผู้ที่รับผลของกรรมทางกาย ไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ... "

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ