ความจริงแห่งชีวิต [41] จิต เกิดขึ้น รู้แจ้งอารมณ์ ที่ปรากฏ

 
พุทธรักษา
วันที่  2 ก.ค. 2552
หมายเลข  12809
อ่าน  1,044

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด ​หรือต่างกันเป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้น คนมีเท่าไร ​เสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น จิตรู้แจ้งทุกเสียงที่ปรากฏต่างๆ กัน เสียงเยาะเย้ย เสียงประชดถากถางดูหมิ่น เสียงลมพัด เสียงนํ้าตก เสียงสัตว์ร้อง สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่างๆ กัน หรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์ จิตก็รู้แจ้งของลักษณะของเสียงที่ต่างกัน จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง คือได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้นๆ ที่ปรากฏ จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่างๆ ที่ปรากฏกลิ่นสัตว์ทุกชนิด กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด กลิ่นอาหาร กลิ่นแกง กลิ่นขนม ถึงไม่เห็น เพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร

จิตที่รู้แจ้งทางลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรสต่างๆ รสอาหารมีมากมาย รสเนื้อ รสผัก รสผลไม้ รสชา รสกาแฟ รสเกลือ รสนํ้าตาล รสนํ้าส้ม รสมะนาว รสมะขาม ​เป็นรสที่ไม่เหมือนกันเลย แต่จิตที่ลิ้มรสก็รู้แจ้งรสต่างๆ ที่ปรากฏ แม้ว่าจะต่างกันอย่างละเอียดเพียงใด จิตก็สามารถรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันอย่างละเอียดนั้นได้ เช่น ขณะชิมอาหาร จิตที่ลิ้มรสรู้แจ้งในรสนั้นจึงรู้ว่ายังขาดรสอะไร ​จึงต้องปรุงอะไร ใส่อะไร เติมอะไร เป็นต้น

จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ที่กระทบกาย เช่น ลักษณะของเย็นลม เย็นนํ้า หรือเย็นอากาศ รู้ลักษณะของผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ที่กระทบกาย

ท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านกำลังยืนอยู่ที่ถนนก็เกิดระลึกรู้ลักษณะแข็งที่ปรากฏ แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถนน และต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นรองเท้า แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถุงเท้า นี่เป็นความคิดเรื่องลักษณะแข็งที่ปรากฏ จิตที่คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อกระทบแข็งจึงคิดว่าแข็งนี้คืออะไร แข็งนี้ถนน แล้วต่อไปแข็งนี้รองเท้า แล้วต่อไปแข็งนี้ถุงเท้า จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งการคิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ได้ แต่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์แต่ละขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังคิดถึงถนน รองเท้า ถุงเท้า ไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้งลักษณะที่แข็ง

ฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่กำลังรู้เรื่องคิด จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่รู้อารมณ์ทางตา จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจ ตามปกติขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏทางกาย จะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าอยู่ในที่มืด​ บางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากำลังกระทบสัมผัสอะไร ฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกของถุงเท้า รองเท้า หรือถนน ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใดๆ เลย มีแต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แม้สภาพที่รู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นเพียงสภาพที่รู้แข็งเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วจิตที่เกิดภายหลังจึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งและสภาพที่แข็งนั้นดับไปแล้ว และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน

จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็เกิดพร้อมผัสสะนั้น ก็รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์นั้น ฉะนั้น แม้คำ​ว่ารู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็จะต้องเข้าใจว่า “รู้​แจ้ง​อารมณ์” คือ รู้​ลักษณะ​ต่างๆ ของ​อารมณ์​ต่างๆ ที่​ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ฉะนั้น อารมณ์​จึง​เป็น​อา​รัม​มณปัจจัย คือ​เป็น​ปัจจัย​ให้​จิต​เกิด​โดย​เป็น​อารมณ์​ของ​จิต จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

... ขออนุโมทนา ...

ขอขอบพระคุณ ท่าน ผู้เอื้อเฟื้อรูปภาพ ค่ะ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ