นิเทศอุปาทาน [บาลีข้อ ๒๖๔]

 
small
วันที่  26 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12768
อ่าน  1,526
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 539

ว่าด้วยนิเทศอุปาทาน (บาลีข้อ ๒๖๔) พึงทราบวินิจฉัยนิเทศอุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัยต่อไป. บัณฑิตพึงชี้แจงอุปาทาน ๔ เหล่านั้น โดยการจำแนกโดยอรรถ โดยย่อและพิสดาร แห่งธรรม และโดยลำดับ. จริงอยู่ ในพระบาลี ทรงยกอุปาทาน ๔ เหล่านั้นขึ้น ด้วยพระดำรัสที่ตรัสว่า คำว่า อุปาทาน ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทานอัตตวาทุปาทาน. ว่าด้วยการจำแนกโดยอรรถ การจำแนกโดยอรรถแห่งอุปาทาน ๔ เหล่านั้น ดังนี้ ธรรมที่ชื่อว่า กามุปทาน เพราะอรรถว่า ยึดมั่นกามกล่าวคือวัตถุกาม. อนึ่ง กามนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากามุปาทาน. คำว่า อุปาทาน ได้แก่การยึดมั่น เพราะอุปศัพท์ในคำว่า อุปาทานนี้ มีอรรถว่ามั่น เหมือนในศัพท์มีคำว่า อุปายาส (ความดับแค้นใจ) อุปกัฏฐะ (เวลาใกล้เข้ามาแล้ว) เป็นต้น. อนึ่ง ทิฏฐินั้น ด้วยเป็นอุปาทานด้วย จึงชื่อว่า ทิฏฐุปาทาน อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า ทิฏฐุปาทาน เพราะอรรถว่า ยึดมั่นทิฏฐิ เพราะทิฏฐิหลังย่อมยึดมั่นทิฏฐิแรก เหมือนในประโยคมีอาทิว่า "อัตตาและโลกเที่ยง" เป็นต้น. อนึ่ง ที่ชื่อว่า สีลัพพตุปาทานเพราะอรรถว่า ยึดมั่นศีลและพรต. ศีลและพรตนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วยดังนี้ก็ชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน เพราะโคศีล (ปรกติของโค) โควัตร (การปฏิบัติของโค) เป็นต้น เป็นตัวอุปาทานเองทีเดียว เพราะยึดมั่นว่า "ความบริสุทธิ์มีด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้. อนึ่ง ที่ชื่อว่า วาทะ เพราะเป็นเหตุกล่าวของคนทั้งหลาย ที่ชื่อว่า อุปาทาน เพราะเหตุยืดมั่นของคนทั้งหลายถามว่า ย่อมกล่าวอะไร หรือยึดมั่นอะไร ? ตอบว่า กล่าวอัตตา ยึดมั่นอัตตาคือ การยึดมั่นวาทะของตน ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน. อีกอย่างหนึ่ง อัตตาก็เป็นเพียงกล่าวถึงคนเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน เพราะอรรถว่า เป็นเหตุยึดมั่นของคนทั้งหลาย นี้เป็นการจำแนกโดยอรรถแห่งอุปา-ทาน ๔ เหล่านั้น ก่อน.

ว่าด้วยความย่อและพิสดารแห่งธรรม ก็พึงทราบวินิจฉัยในความย่อและพิสดารแห่งธรรม ต่อไป กามุปาทานก่อน ว่าโดยย่อ ตรัสว่า ความยึดมั่นด้วยตัณหา เพราะบาลีมาแล้วว่า บรรดาอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทานเป็นไฉน ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย อันใด นี้เรียกว่า กามุปาทาน * ดังนี้ ตัณหาหลังเกิดขึ้นมั่นคงด้วยอุปนิสสยปัจจัย เพราะตัณหาแรกนั่นเอง ชื่อว่า ความยึดมั่นด้วยตัณหา. มิติของอาจารย์บางพวก แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึงชื่อว่า ตัณหา เหมือนโจรเหยียดมือไปเพื่อขโมยของในที่มืด การรับอารมณ์ที่มาถึงแล้ว ชื่อว่า อุปาทาน เหมือนโจรนั้นแหละจับภัณฑะไว้ ก็ธรรม (คือตัณหาอุปาทาน) เหล่านั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อความมักน้อยและความสันโดษ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ ยังเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์เพราะต้องแสวงหา และรักษา" ดังนี้ ก็อุปา-ทาน ๓ ที่เหลือโดยย่อก็เป็นเพียงทิฏฐิเท่านั้น. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร ความยืดมั่นด้วยตัณหาทั้ง ๑๐๘ ประเภทตามที่กล่าวไว้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ในก่อน ชื่อว่า กามุปาทาน. มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ชื่อว่า ทิฏฐฺปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่าบรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านี้ ทิฏฐุปาทานเป็นไฉน ? ความเห็นว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ที่ทำให้แจ้ง ซึ่งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้คนอื่นรู้ได้ ไม่มีในโลก ดังนี้ ทิฏฐิ ฯลฯ การถือโดยวิปลาส เห็นปานนี้อันใด นี้เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน * ดังนี้. อนึ่ง การยึดมั่นว่าความบริสุทธิ์มีด้วยศีลและพร ชื่อว่า สีลัพพตุ-ปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านั้น สีลัพพตุ-ปาทาน เป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ การถือโดยวิปลาส โดยลักษณะนี้ว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลและด้วยพรตเห็นปานนี้ อันใด นี้เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน ดังนี้. สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสว่า บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านั้น อัตตวาทุปาทาน เป็นไฉน ?ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไร้การศึกษา ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็น รูปโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ การถือโดยวิปลาส นี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ดังนี้. นี้เป็นความย่อและความพิสดารแห่งธรรมในอธิการนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 29 มิ.ย. 2552

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ