ความจริงแห่งชีวิต [010] รูปที่มีใจครอง และ วิการรูป ๓

 
พุทธรักษา
วันที่  9 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12615
อ่าน  1,642

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทุกๆ กลาป จะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลาป ชีวิตินทริยรูปรักษารูปที่เกิดร่วมกันในกลาปหนึ่งๆ ให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิต ฉะนั้น รูปของสัตว์บุคคลที่ดำรงชีวิตจึงต่างกับรูปทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑ เป็น ๒๐ รูป

การที่สัตว์บุคคลทั้งหลายโดยทั่วไปต่างกันเป็นหญิงและชายนั้นเพราะภาวรูป ๒ คือ

อิตถีภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศหญิง

ปุริสภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทำ ให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศชาย

ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปหนึ่งภาวรูปใด คือ อิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูปเพียงรูปเดียวเท่านั้น และบางบุคคลก็ไม่มีภาวรูปเลย เช่นพรหมบุคคลในพรหมโลก และผู้ที่เป็นกะเทย

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ เป็น ๒๒ รูป

การที่รูปของสัตว์บุคคลทั้งหลายเคลื่อนไหวไปได้เพราะมีจิตนั้น ก็จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานด้วย เพราะถ้ามีเพียงรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น จะเคลื่อนไหวไปมาทำ​กิจธุระใดๆ ไม่ได้เลย การที่รูปร่างกายจะเคลื่อนไหวทำ​กิจการงานต่างๆ ได้นั้น จะต้องมีวิการรูป ๓ รูป คือ

ลหุตารูป เป็นภาวะที่เบา ไม่หนักของรูป อุปมาเหมือนอาการของคนไม่มีโรค

มุทุตารูป เป็นภาวะที่อ่อน ไม่กระด้างของรูป อุปมาเหมือนหนังที่ขยำ​ไว้ดีแล้ว

กัมมัญญตารูป เป็นภาวะที่ควรแก่การงานของรูป อุปมาเหมือนทองคำ​ที่หลอมไว้ดีแล้ว

วิการรูป ๓ รูปนี้เป็นอสภาวรูป เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน เป็นอาการวิการของมหาภูตรูป คือ เบา อ่อน และควรแก่การงาน

วิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น รูปที่ไม่มีใจครองไม่มีวิการรูป ๓ เลย และวิการรูป ๓ นี้ไม่แยกกันเลย ในกลาปใดมีลหุตารูป กลาปนั้นก็มีมุทุตารูป และกัมมัญญตารูปด้วย นอกจากนั้นเมื่อจิตต้องการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ร่างกายส่วนนั้นจะต้องมีวิการรูปที่เกิดจากอุตุ (ความสมํ่าเสมอของธาตุเย็นร้อน) เป็นสมุฏฐาน และมีวิการรูปที่เกิดจากอาหาร (โอชารูป) เป็นสมุฏฐานด้วย มิฉะนั้นแล้ว แม้จิตต้องการจะเคลื่อนไหว รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือเคล็ดขัดยอก กระปลกกระเปลี้ย เป็นต้น

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ เป็น ๒๕ รูป


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sam
วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 10 มิ.ย. 2552

ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมและรูปธรรม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งมาก แม้จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ส่วนรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้

แต่ธรรมทั้งสองก็เป็นปัจจัยแก่กันละกันโดยละเอียด ตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย นี่คือความจริงของชีวิต สำหรับผู้ที่เกิดมาแล้ว มีครบทั้ง ๕ ขันธ์ ด้วยความไม่รู้

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 8 เม.ย. 2567

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ