ศึกษาธรรมะอย่างไรจึงกลายเป็นจับงูข้างหาง

 
JANYAPINPARD
วันที่  13 ม.ค. 2552
หมายเลข  10897
อ่าน  1,851

ผู้ศึกษาธรรมะมักจะเข้าใจว่าการศึกษาพระธรรมมีประโยชน์อย่างเดียวไม่มีโทษเลยแต่ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการศึกษาพระธรรมที่ผิด (ผิดวัตถุประสงค์หรือผิดวิธี) จะกลายเป็นโทษเหมือนจับงูข้างหาง ศึกษาธรรมะอย่างไรจึงกลายเป็นจับงูข้างหาง หากศึกษาธรรมะแล้วนิสัยไม่ดีขึ้นถือว่าจับงูข้างหางหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 13 ม.ค. 2552

ขอเชิญคลิกอ่านที่...

ปริยัติ

หากศึกษาธรรมะแล้วนิสัยยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แต่วัตถุประสงค์ของการศึกษาตรง ไม่เป็นการศึกษาแบบจับงูพิษที่หางครับ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ดับอนุสัยทั้งหมด ก็ชื่อว่ายังเป็นคนดียังไม่สมบูรณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตาม-ความเป็นจริง แต่ในการศึกษาธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ และเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันด้วยถ้าหากตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษาธรรม คือ ศึกษาเพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มมานะ (ความสำคัญตน) ศึกษาเพื่อเก่ง เพื่อรู้มากๆ แล้วนำไปข่มบุคคลอื่น การศึกษาธรรมแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่จะทำให้เกิดโทษ และบุคคลผู้ศึกษาธรรมแบบนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า เป็นโมฆบุรุษ คือ บุรุษผู้ว่างเปล่า เป็นบุคคลผู้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาพระธรรมเลย ซึ่งเปรียบเหมือนกับการจับงูพิษข้างหาง ซึ่งเป็นการจับที่ไม่ดี มีแต่จะแว้งกัดตนเอง ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานหรืออาจถึงกับสิ้นชีวิตได้ ในความเป็นจริงสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น กิเลสย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ และเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล แต่การที่กิเลสจะค่อยๆ เบาบางลงจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับได้เด็ดขาดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด ฟังธรรม ศึกษาธรรมวันนี้แล้วจะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปเลยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตามลำดับขั้น ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา กิเลส เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา กิเลสที่มีมาก ถ้าหากว่าไม่ได้อาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะดับได้ เมื่อยังละไม่ได้

สำหรับผู้ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ย่อมรู้ถึงความเป็นอกุศลธรรม ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลธรรมว่าให้ผลเป็นทุกข์ และที่สำคัญ กิเลสอกุศลจะค่อยๆ เบาบางลง และกุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ดังนั้น จึงต้องฟัง ต้องศึกษาพระธรรมต่อไป ด้วยความอดทน ไม่ท้อถอย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 13 ม.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sam
วันที่ 13 ม.ค. 2552

ศึกษาธรรมะอย่างไรจึงกลายเป็นจับงูข้างหาง

การศึกษาธรรมะที่ถูกต้องเป็นการศึกษาเพื่อออกจากกิเลส เพื่อการละ ดังนั้น การศึกษาที่เป็นเสมือนการจับงูข้างหาง คือ การศึกษาพระธรรมเพื่อติด เพื่อหวัง หรืออยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะเมื่อตั้งใจไว้ผิดเช่นนี้ แม้จะรู้เรื่องราวของธรรมะมากสักเพียงใด แต่ความคิด ความเชื่อ หรือความเข้าใจก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อละกิเลสเลย มีแต่จะทำให้ติดข้อง เกิดความสำคัญตนว่าเป็นผู้รู้ กลายเป็นผู้ว่ายาก และเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลอันมีโทษมากหากศึกษาธรรมะแล้วนิสัยไม่ดีขึ้นถือว่าจับงูข้างหางหรือไม่

การศึกษาธรรมะ (ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง) ทำให้ดำเนินชีวิตได้ดีขึ้นเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น

ความเข้าใจในความแตกต่างกันของกุศล และอกุศล เป็นความเข้าใจขั้นต้นของการศึกษาธรรมะ และทำให้เราเริ่มเห็นอกุศลของตนมากขึ้น ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนศึกษาไม่เคยรู้เลยว่าเป็นอกุศล จึงทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นการเริ่มรู้ในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยรู้และยังไม่รู้ด้วยว่าตัวเองยังไม่รู้ (ปุถุชนทุกคนเป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลส มีอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิตเป็นปกติ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ว่าเป็นเช่นนั้น)

เมื่อเห็นอกุศลในตนแล้วยึดถือด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็น (นิสัย) ของเรา ทำให้เป็นทุกข์ และเดือดร้อนใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่ศีกษาจนมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า อกุศลเป็นธรรมะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร จะทำให้คลายความห่วงกังวลนี้ได้ครับ

ส่วนอุปนิสัยที่ไม่ดีในปัจจุบันนั้น ก็เป็นการสะท้อนถึงการสั่งสมนิสัยเช่นนี้มามากจากในอดีต ซึ่งควรมีการพิจารณาก่อนทำสิ่งต่างๆ ทางกาย วาจา ใจ และไม่ควรหลงลืมสติซึ่งทำให้นิสัยที่ไม่ดีเกิดขึ้นทำกิจ และสะสมเพิ่มกำลังต่อไปในอนาคต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 ม.ค. 2552

ข้าพเจ้าเองก็ยังมีนิสัยที่ไม่ดีอยู่เป็นอันมากแต่ก็พยายามระลึกถึงข้อธรรมอันนี้ เพื่อเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป

สัมมัปปธาน ๔

จตฺตาโร (สี่) + สมฺมา (ชอบ ถูก) + ปธาน (ความเพียร) ความเพียรชอบ ๔ ประการ หมายถึง สภาพธรรม คือ วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศล จิตที่เป็นไปในวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการวิริยเจตสิก ที่เป็นสัมมัปปธาน มีอาการ ๔ อย่าง คือ

๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น

๒. ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

๓. ภาวนาปธาน เพียรอบรมเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดมีขึ้น

๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั่งมั่นเจริญงอกงามไพบูลย์ต่อไป

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมัปปธานอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดร่วมด้วยเพราะวิริยเจตสิกนั้น เป็นได้ทั้งสัมมัปปธาน อิทธิบาท พละ อินทรีย์ โพชฌงค์ และมรรคมีองค์ ๘ แต่ระดับหรือกำลังของสภาพธรรมนั้นๆ ขึ้นอยู่กับการสะสมอบรม และต้องคล้อยตามปัญญา คือ เมื่อปัญญารู้ชัดสภาพธรรมมากขึ้นสภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นสัมปยุตตธรรมก็มีกำลังมากขึ้น และจะมีกำลังสมบูรณ์คือ โพธิปักขิยธรรมพร้อมทั้ง ๓๗ ประการ เมื่อโลกุตตรจิตเกิดขึ้น

ข้าพเจ้ามักจะเตือนตนเองเสมอว่านิสัยเปลี่ยนยากมากก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้เริ่มจากรู้จักตัวเองก่อนว่านิสัยไม่ดีมากแค่ไหน อกุศลเกิดง่าย ละยากยอมรับความจริง แล้วค่อยๆ แก้ไขไป ด้วยความเพียรชอบเท่าที่สติจะไม่หลงลืม เมื่อสติยังแทบไม่เกิดเลยก็ต้องเจริญเหตุให้มั่นคงในคำสอนของพระพุทธเจ้าสังสารวัฏฏ์ยังอีกไกล เมื่อเลือกเดินในหนทางนี้ ก็เดินกันต่อไปไม่ท้อ ไม่หวัง แต่ไม่ควรถอยหลัง ค่ะ

ขอความมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ผู้เจริญกุศลทุกท่านนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 13 ม.ค. 2552

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ภายใน เห็นโทษของความไม่รู้ เห็นโทษของกิเลสต่างๆ เป็นผู้ศึกษาพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกิเลสอย่างซึ่งเปรียบเหมือนกับการจับงูพิษข้างหาง เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ หรือเพื่ออวดอ้างว่าตนเองเก่งกว่า

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 14 ม.ค. 2552

ก่อนศึกษาธรรมะนิสัยไม่ดีแต่ไม่รู้..คิดว่านิสัยไม่ดีเป็นดีทั้งๆ ที่ปริมาณนิสัยไม่ดี อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ผู้ศึกษาธรรมะมักคาดหวังว่านิสัยจะดีขึ้นเพราะยังไม่ประจักษ์ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ

ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ถ้าพิจารณาเผินๆ จะคิดว่า การศึกษาที่กลายเป็น อลคัททู (จับงูพิษข้างหาง) เป็นไปได้โดยยากแต่ เมื่อพิจารณาแล้ว ตราบใดที่ไม่มีสติและไม่รู้ด้วยปัญญา ยังยึดติด มัวเมา ใน ลาภ สักการะ สรรเสริญ และยังเป็นเรา ก็ยังมีโอกาสที่จะศึกษาธรรมะแบบ อลคัททู อกุศลประมาทไม่ได้จริงๆ และเห็นคุณของปัญญาว่าสำคัญแค่ไหน

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Noparat
วันที่ 15 ม.ค. 2552

อันตรายและน่ากลัวที่สุด คือ ความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบ และไม่ประมาท จึงต้องตั้งใจศึกษาพระธรรมต่อไป ด้วยความอดทน ไม่ท้อถอย ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 15 ม.ค. 2552

คนที่ศึกษาธรรมะแล้วอวดเก่ง ข่มคนอื่น ศึกษาแล้วไม่ประพฤติตามคำสอน เรียกว่าจับ งูพิษข้างหาง มีโทษมาก ส่วนคนที่ศึกษาธรรมะแต่ยังเป็นคนไม่ดีแต่มีปัญญาดีกว่าคน ที่ไม่ศึกษาธรรมะแต่เป็นคนดีแต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าไม่ได้ฟังธรรมะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 16 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
narong.p
วันที่ 17 ม.ค. 2552

หากศึกษาธรรมะแล้วนิสัยไม่ดีขึ้นถือว่าจับงูข้างหางหรือไม่

คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจเอาเอง คิดแบบเทียบบัญญัติไตรยางค์ตรงๆ ว่า ผู้ที่ศึกษาธรรม แล้วนิสัยต้องดีขึ้น ธรรมะเป็นเรื่องละเอียด และความเข้าใจมีหลายระดับ ปุถุชนยังมีกิเลสอยู่ครบ อาจเบาบางเพียงกิเลสหยาบ ปานกลาง แต่ประมาทไม่ได้เพราะอนุสัยกิเลสที่มีอยู่ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นปรากฏได้ การขัดเกลาต้องค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังของปัญญา จึงไม่ใช่ความหมายของการจับงูที่หาง สำหรับผู้ศึกษาที่นิสัยยังไม่ดีขึ้นครับ ส่วนมากก็ศึกษาเพื่อให้โกรธน้อยลง? จึงควรเข้าใจวัตถุประสงค์ในการศึกษาธรรม ให้ถูกต้องด้วย

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ