สัปปุริสสูตร - ธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ - ๑๐ ม.ค. ๒๕๕๒

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ม.ค. 2552
หมายเลข  10849
อ่าน  3,321

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๐ ม.ค. ๒๕๕๒

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

๓. สัปปุริสสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๒๘


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๒๘

๓. สัปปุริสสูตร ว่าด้วยธรรม ๔ ประการของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

[๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของผู้อื่น แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงถูกถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่องอันเป็นข้อเสียหายของผู้อื่นเสียอย่างพิสดารเต็มที่ ไม่ให้บกพร่อง ไม่หน่วงเหนี่ยวทีเดียว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของผู้อื่นแม้ถูกถาม ก็ไม่เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเข้า (ไม่มีทางหลีก) ก็เล่าเกียรติคุณของผู้อื่นอย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มปาก อ้อมค้อมหน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของตนแม้ถูกถามก็ไม่เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเข้า ก็เล่าข้อเสียหายของตน อย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มปาก อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของตนแม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้นขึ้นเอง จะกล่าวอะไรถึงมีคนถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่องที่เป็นเกียรติคุณของตนอย่างพิสดารเต็มที่ ไม่ให้บกพร่อง ไม่หน่วงเหนี่ยวทีเดียว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการพึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการ คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของผู้อื่น แม้ถูกถามก็ไม่เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกซักถามจังหน้าเข้าก็เล่าเรื่องอันเป็นข้อเสียหายของผู้อื่นอย่างลัดไม่เต็มที่ นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของผู้อื่น แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงมีใครถาม มีใครซักถามเข้าก็เล่าเรื่องเกียรติคุณของผู้อื่นอย่างถี่ถ้วนเต็มที่ ไม่มีหน่วงเหนี่ยวนี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นข้อเสียหายของตน แม้ไม่มีใครถามก็เผยเรื่องนั้น จะกล่าวอะไรถึงมีใครถาม มีใครซักถามเข้าย่อมเล่าเรื่องเสียหายของตนอย่างถี่ถ้วนเต็มที่ไม่มีหน่วงเหนี่ยว นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
อีกประการหนึ่ง. สัตบุรุษ เรื่องใดเป็นเกียรติคุณของตน แม้มีใครถามก็ไม่เผยเรื่องนั้น แต่เมื่อถูกซักถามจังหน้าเข้า ก็เล่าเรื่องเกียรติคุณของตนอย่างลัดไม่เต็มปาก นี่พึงทราบเถิดว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย หญิงสาว ในคืนหรือวันที่เขารับตัวมาอยู่. (เป็นสะใภ้) ย่อมมีความละอายกลัวเกรงมาก ทั้งในแม่ผัว ทั้งในพ่อผัว ทั้งในผัว โดยที่สุดในบ่าวและคนงานคนอาศัย ต่อมาพอคุ้นกันเข้า หญิงนั้นตะเพิดเอาแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง ผัวบ้างก็ได้ว่า ไป รู้จักอะไร ดังนี้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ในคืนหรือวันที่ออกจากเรือนมาบวช ย่อมมีหิริโอตตัปปะมากในภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุณีทั้งหลายในอุบาสกทั้งหลาย ในอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในอารามิกะและสมณุทเทส ต่อมาพอคุ้นกันเข้า ภิกษุนั้นตะเพิดเอา อาจารย์บ้างอุปัชฌาย์บ้างก็ได้ว่า ไป รู้จักอะไร ดังนี้ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกว่า เราทั้งหลายจักมีใจเสมอด้วยสะใภ้ใหม่ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบสัปปุริสสูตรที่ ๓

อรรถกถาสัปปุริสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัปปุริสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อวณฺโณ ได้แก่ มิใช่คุณ. บทว่า ปาตุกโรติ ได้แก่บอกทำให้ปรากฏ. บทว่า ปญฺหาภินีโต ได้แก่ ถูกนำมาซักถาม. บทว่า อหาเปตฺวา อลมฺเพตฺวา ได้แก่ ทำไม่ให้ลด ไม่ให้หย่อนทีเดียว.อนึ่งในข้อนี้ อสัตบุรุษ ย่อมปกปิดความเสียหายของตน เพราะเป็นผู้ปรารถนาลามก สัตบุรุษ ย่อมปกปิดเกียรติคุณของตน เพราะเป็นผู้ละอาย. เพราะเหตุที่อสัตบุรุษขาดหิริโอตัปปะ อยู่ร่วมกันก็ดูหมิ่น ส่วนสัตบุรุษประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ อยู่ร่วมกันก็ไม่ดูหมิ่น ฉะนั้น บัดนี้เพื่อทรงแสดงสาธกความเป็นสัตบุรุษ เปรียบด้วยสะใภ้ใหม่ จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเววธุกา เป็นต้น . ในบทเหล่านั้น บทว่า วธุกาได้แก่ สะใภ้. บทว่า ติพฺพํ คือมาก. บทที่เหลือในสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสัปปุริสสูตรที่ ๓



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 5 ม.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 6 ม.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 6 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nongdum
วันที่ 8 ม.ค. 2552

น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับ ปิยวาจา ครับ

หรือ เรื่อง วาจาสุจริต - วาจาทุจริต

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

เว้นจากการพูดเท็จเว้นจากการพูดส่อเสียดเว้นจากการพูดคำหยาบเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jirat wen
วันที่ 27 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ