นามรูปปริจเฉทญาณ

 
พุทธรักษา
วันที่  20 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10720
อ่าน  2,299

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร พ.ศ. ๒๕๔๔

ท่านผู้ฟัง เมื่อมีการนั่งเกิดขึ้น แล้วเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวเราที่นั่ง แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะเมื่อ มีจิตคิดจะนั่ง จิตตชวาโยธาตุ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน และเมื่อมีโครงกระดูก เป็นผู้นั่ง แล้วการนั่ง เป็นเหตุให้มีการกระทบกัน ของธาตุดินกับธาตุดิน คือ ส่วนของร่างกายด้านล่าง กระทบกับธาตุดิน คือเก้าอี้เพราะรู้ว่า แข็งเป็นกาย และวิญญาณเป็นผู้รู้ ไม่ใช่เราเป็นผู้รู้ ทีนี้ ควรจะจบแค่นี้ไหม และถ้าจะมีการต่อ ก็จะเป็นการระลึกหาธรรมะ ที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไรต่อไป ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ครับผม

ท่านอาจารย์ ทั้งหมด เป็นเรื่องคิดหรือเปล่า

ท่านผู้ฟัง ไม่ใช่คิด เกิดจาก กายวิญญัติ และจิตตั้งใจว่าอยากจะนั่งนี้ ถือว่าเป็นการคิดหรือ

ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่ใช่การรู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางปัญจทวารและทางมโนทวารรู้อารมณ์ทางปัญจทวารต่อวาระหลังนี้ คือ การคิด เราสามารถแยกออกได้ ว่า ที่คิดว่านั่ง เป็นรูปที่เกิดจากจิตตชวาโยธาตุนี้ เป็นเรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่การรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเช่น ลักษณะของธรรมะที่ปรากฏทางตานี้ รู้ไหม ระลึกลักษณะ หรือเปล่า ถ้าไม่ระลึก ขณะนั้น ก็คือ "การคิดเรื่องราว" ของสภาพธรรม

ถ้าระลึก จิตและสติ ที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ เวลาที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมเป็นการ "ถึงเฉพาะ" การถึงเฉพาะ คือ ปฏิปัตติ สติ ระลึกถึงเฉพาะ ลักษณะของสภาพธรรม ทีละอย่างๆ และต้องมีลักษณะปรากฏจึงจะสามารถรู้ได้ เข้าใจได้ว่าขณะนั้น เป็นลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏให้รู้ได้ ทางไหน ขณะคิดเรื่องราวของ จิตตชวาโยธาตุ ขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างๆ ทีละลักษณะๆ

ท่านผู้ฟัง เคยพูดว่า ถ้าจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แล้วต้องมีสติกำกับ เป็นผู้ระลึกรู้ด้วย

ท่านอาวจารย์ เวลาที่ใช้คำว่า มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ขณะนั้น ไม่ใช่เรา ใช่ไหม ขณะนั้น ประกอบด้วยโสภณเจตสิกขณะที่เป็นสติปัฏฐาน หรือว่า เป็นสมถภาวนา ต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต เท่านั้น คือ ต้องประกอบด้วย "สติสัมปชัญญะ" ที่สามารถรู้ "ลักษณะ" ไม่ใช่รู้เรื่อง การรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ไม่ต้องไปสร้างขึ้นมา หรือว่า ไปนึกถึง

แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเมื่อปรากฏ ให้รู้ได้ทางทวารไหน ก็รู้ทางทวารนั้น เพราะว่าสติ สามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ได้ทุกทวาร แต่ต้องมี "ลักษณะที่ปรากฏ" ให้ระลึกได้ ซึ่ง มีลักษณะต่างกัน ตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าระลึกทางกาย ไม่ใช่คิด

แต่ว่า ขณะนั้น ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า มีรูปที่ปรากฏได้ทางกาย เกิดเป็นปกติทั้งวัน คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แต่เมื่อปรากฏแล้ว (คิดว่า) เป็นสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็แล้วแต่

แทนที่จะเป็นวาระ ของบัญญัติต่างๆ ซึ่ง หลังจากที่ "รู้แข็ง" ทางกายแล้วก็สามารถที่จะมี "ขณะ" ที่สติเกิดระลึก "ลักษณะที่แข็ง หรือ อ่อน" ขณะที่กำลังระลึก "ลักษณะที่แข็งหรืออ่อน" ขณะนั้นมี "เสียง" ปรากฏด้วยหรือเปล่า

ท่านผู้ฟัง ไม่ปรากฏ ครับผม

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น นี้คือ การเพิกอิริยาบถ เพราะว่า ทุกขลักษณะ อนิจจลักษณะ อนัตตลักษณะ เหล่านี้ทั้งหมด จะปรากฏได้ เมื่อ เพิกอิริยาบถ ถ้ายังมีทั้งตัว ที่นั่งอยู่นี้ ลองคิดดูซิคะว่า เป็นไปได้ไหม ที่สติจะระลึก เฉพาะสิ่งที่ปรากฏที่กาย ขณะนี้ ทุกคน มีสภาพธรรมที่ปรากฏ เฉพาะตรงที่ระลึก สติระลึก ที่ตรงที่ไหน อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว ก็ต้องปรากฏ ตรงที่ สติระลึก เมื่อเป็น "ธาตุ" (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) ก็ไม่มีตัวตนเลย

ขณะนั้น จะมีตัว มีท่าทาง มีอิริยาบถไม่ได้เลย เพราะขณะนั้น มี "แข็ง" ปรากฏแล้ว "รู้ลักษณะแข็ง" นั้นว่า เป็น "ธรรมะชนิดหนึ่ง" รู้แข็ง ที่ปรากฏขณะนั้น ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี้คือประโยชน์ของการรู้สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม เพื่อเข้าถึงความประจักษ์แจ้ง ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตัวทั้งตัว ที่ใหญ่มากนี้ เหลือเพียงนิดเดียว ที่ปรากฏ ตรงที่สติระลึก เป็นความจริงหรือเปล่า ขณะนี้ค่ะ ธรรมะพิสูจน์ได้ ไม่ว่าจะลืมตา หรือหลับตา

ขณะนี้ ลองระลึกที่ตรงแข็ง ตรงหนึ่งตรงใด (ลักษณะแข็ง) ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ปรากฏด้วยหรือเปล่า หรือว่า เฉพาะ "แข็งตรงใดตรงหนึ่งเท่านั้น" ที่ปรากฏ นี้คือความจริง ความจริง ที่รู้ได้จาก "ขณะนี้" ว่า เป็นอย่างไรนั้น เมื่อเวลาที่ ปัญญาสมบูรณ์ ถึงระดับที่ประจักษ์แจ้ง ปัญญาขณะนั้น ก็ต้องตรงกับ ความเป็นจริงที่รู้ได้ขณะนี้ อย่างนี้ เพียงแต่ ปัญญา ต้องเพิ่มขึ้น ขณะนี้ แม้ฟังว่าไม่มีตัว มีแต่รูป ที่เป็นกลาป ที่ละเอียดมากเกิดจากแต่ละสมุฏฐาน บางกลาป เกิดเพราะกรรม บางกลาป เกิดเพราะอุตุ บางกลาป เกิดเพราะอาหาร บางกลาป เกิดเพราะจิต และ (แต่ละกลาป) มีอากาศธาตุแทรกคั่น อย่างละเอียดยิบ และทยอยกันเกิดดับ

ที่เราพูดอย่างนี้ แต่ ไม่ได้ประจักษ์อย่างนี้ เพราะไม่ใช่ "วิปัสสนาญาณ" แต่เวลาที่เป็น วิปัสสนาญาณ สิ่งต่างๆ เหมือนกันอย่างนี้แหละ แต่ "ปัญญา" สามารถแทงตลอด ถึงอรรถที่กล่าว เพราะว่า ขณะใด ที่รูปตรงกาย ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ถ้าปัญญาสมบูรณ์ ถึงขั้นประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ก็สามารถประจักษ์การเกิดดับ ของรูปหลายๆ กลาป ในขณะนั้น เพราะว่า แต่ละกลาป ก็ทยอยกันเกิดดับ

อย่างนี้ คือ การที่เราไม่ต้องไปนึกว่าเป็น จิตตชวาโยธาตุ เพราะว่า จริงๆ แล้ว ใครจะรู้ จิตตชวาโยธาตุได้ เพราะแม้แต่กลาป รูปแต่ละกลาป เล็กละเอียด และเกิดสลับพร้อมกันหมดเลย คือที่ใด มีรูปกลาปที่เกิดจากจิต ที่นั้น จะมีรูปกลาปที่เกิดจากกรรม อุตุ อาหาร ที่เล็ก ละเอียด เหมือนทรายหลายสี ที่ระคนกัน แล้วเราสามารถที่จะไปแยกได้ไหม เพียงแต่กระทบนิดเดียว แล้วรู้ว่า นี้เป็น จิตตชวาโยธาตุ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม หรือ เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ อาหาร ฯลฯ เราสามารถที่จะไปแยกได้ไหม เพราะฉะนั้น ปัญญาระดับแรก นี้ ไม่ใช่ไปคิด ตามข้อความที่อ่าน หรือ ฟัง แต่จะต้องมี "ลักษณะ" ปรากฏให้รู้ ให้เริ่มเข้าใจ "ลักษณะ" ที่กำลังปรากฏของสภาพธรรมนั้นๆ ได้จริงๆ เสียก่อน

"ลักษณะ" ของสภาพธรรม ไม่มีใครสร้าง ลักษณะแข็ง ไม่มีใครสร้าง สภาพธรรม ที่รู้แข็ง คือ สภาพรู้ (จิตและเจตสิก) ก็ไม่มีใครสร้าง มีสภาพธรรมที่รู้แข็ง จนกว่าจะประจักษ์ ว่า "ไม่ใช่เรา" ที่รู้ตรงแข็ง แต่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ (จิต เจตสิก) ที่รู้ "ลักษณะ" แข็ง จึงเป็นการเพิกอิริยาบถ คือ ไม่ต้องไปคิดถึง "จิตตชวาโยธาตุ"

ท่านมผู้ฟัง หมายความว่า ตอนแรกให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏก่อน แล้วค่อยสาวขึ้นไปถึงรายละเอียด

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ให้ค่อยๆ เข้าใจ ในความต่างของนามธรรมและรูปธรรม ที่ปรากฏก่อน ถ้ายังปะปนกัน ระหว่าง นามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้น ก็ยังมีเรา ยังเป็นเรา และถ้าเพียงเป็นความเข้าใจโดยชื่อ หรือโดยเรื่องราว ก็ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะที่แยกขาดจากกันจริงๆ ระหว่าง นามธรรมและรูปธรรม

จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น คือ เข้าใจ "ลักษณะ" ที่เป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้และเข้าใจ "ลักษณะ" ที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมนินทรีย์ในขณะที่รูปใด รูปหนึ่ง กำลังปรากฏ ค่อยๆ อบรมไป จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญาระดับ "นามรูปปริจเฉทญาณ" ขณะนั้น หมายถึง ขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นธาตุ ที่ไม่ใช่เรา


... ขออนุโมทนา ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 20 ธ.ค. 2551

กายวิญญัติ

กาย (กาย) + วิญญัติ (แสดงให้รู้ ประกาศให้รู้) แสดงให้รู้ด้วยกาย ประกาศให้รู้ด้วยกาย หมายถึง อาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ได้ด้วยกาย

กายวิญญัติ เป็นอสภาวรูป คือ ไม่มีภาวลักษณะของตน แต่เป็นวิการหรืออาการของสภาวรูปที่เกิดจากจิด ซึ่งต้องการให้เกิดความหมายต่างๆ โดยแสดงออกมาทางกาย ในขณะที่จิตเกิดคิดขึ้นว่า "เราจักกวักมือ จักพยักหน้า จักยักคิ้ว จักหลิ่วตา "ย่อมยังจิตตชรูปให้ตั้งขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของจิต วาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานในภายในแห่งรูปกลาปซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ย่อมค้ำจุน ทรงไว้ ยังรูปกายที่เกิดพร้อมกับตนนั้นให้เคลื่อนไหว ให้เป็นไปต่างๆ ความวิการแห่งอาการที่สามารถ เพื่อเป็นปัจจัยให้ค้ำจุนให้เคลื่อนไหว ให้ทรงไว้ ซึ่งรูปกลาปที่เกิดพร้อมกับวาโยธาตุ ที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั่นแหละชื่อว่า กายวิญญัติรูป

การยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำอากัปกิริยาใดๆ ตามปกติ โดยที่ไม่มีความตั้งใจทำให้เกิดความหมาย ไม่มีกายวิญญัติ แต่มีวิการรูป และ จิตตชวาโยธาตุ หมายถึง ธาตุลม ที่เกิดจากจิต ที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ข้อมูลจาก ธัมมนิสเทสโดย บ้านธัมมะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
choonj
วันที่ 23 ธ.ค. 2551

เหมือนเมล็ดทรายหลายสีที่ระคนกัน มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดถี่ยิบและทยอยกันเกิดดับ ไพเราะอย่างยิ่ง ครับ

เมื่อผมอ่านคำถามของผู้ฟัง มีความรู้สึกว่าถามได้ดี แต่ทำไมกลายเป็นความคิดทั้งหมด แสดงว่าธรรมไม่ใช่คิดเอง และต้องระวังว่า นี่เป็นความคิดหรือเปล่า ที่ถูกคือ เมื่อปรากฏก็ศึกษา เป็นการเพิกอิริยาบถ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 23 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
m.179
วันที่ 8 ม.ค. 2552

ได้รู้เพิ่มขึ้นอีก เหมือนได้จิ๊กซอว์มาต่อเพิ่มอีก ๑ ตัว

ขอขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 8 ม.ค. 2552

การได้มีโอกาสฟังพระธรรมบรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านผู้ซึ่งมีความเข้าใจอรรถของพระธรรมอย่างลึกซึ้ง จึงเป็นเหตุให้ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็ยังต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ อบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไปค่ะ

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 10 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 20 เม.ย. 2552

"ขณะที่ไม่ใช่การรู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร รู้อารมณ์ทางปัญจทวารต่อ วาระหลังนี้ คือ การคิดค่ะ"

ผมคิดว่าข้อความข้างบนเป็นหลักใหญ่ ที่อาจารย์สอน คือ การรู้สภาพธรรมตามจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ