ไม่ใช่ให้ทิ้งบัญญัติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ต.ค. 2551
หมายเลข  10060
อ่าน  1,163

ก. ถ้าอย่างนั้นจะให้เอาคำว่า "บัญญัติ" ไปทิ้งไว้ที่ไหน

สุ. ไม่ใช่ให้ทิ้ง แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตกำลังรู้บัญญัติ

ก. เป็นสภาพนึกคิดคำ

สุ. ขณะที่ไม่ได้คิดคำแต่รู้รูปสัณฐาน หรือรู้ความหมาย อาการปรากฏ ก็เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ จะต้องรู้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของ ปรมัตถธรรมได้ ท่านที่บอกว่าไม่เห็นเก้าอี้ดับเลย เมื่อยังไม่ได้แยกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างที่รวมกันออกก็เห็นเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ แล้วจะดับได้อย่างไร

ตัวอย่างที่ว่า ภาพเขียนองุ่นกับผลองุ่นนั้น เมื่อกระทบสัมผัสทางกายทวารต่างกันไหม แข็งไม่เหมือนกันหรือ ธาตุแข็งเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ กัน ทำให้แข็งมาก แข็งน้อย อ่อนมาก อ่อนน้อยก็จริง แต่แข็งก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายทั้งภาพองุ่นและผลองุ่น แต่องุ่นที่เป็นภาพเขียนไม่มีรสของผลองุ่น รูปที่เกิดรวมกันทำให้รู้ว่าเป็นผลองุ่นนั้น ความจริงแล้ว...รสก็เป็นรูป ๑ กลิ่นก็เป็นรูป ๑ เย็นหรือร้อนก็เป็นรูป ๑ อ่อนหรือแข็งก็เป็นรูป ๑ ตึงหรือไหวก็เป็นรูป ๑ เมื่อรวมกันและเกิดดับอย่างรวดเร็วก็ทำให้บัญญัติรู้โดยอาการนั้นๆ ว่า นี่คือสิ่งนี้ที่ดูเสมือนไม่ดับ แต่ตามความเป็นจริงนั้น

ปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว รูปที่ผลองุ่น ไม่ว่าจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ดับ รสก็ดับ สภาวรูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสีสัณวัณณะอย่างไร เสียง กลิ่น รสอะไรก็ตาม

ปัญญาต้องพิจารณาแยกย่อยฆนสัญญาออกจนรู้ความจริงว่าที่บัญญัติเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับรวมกัน เมื่อรวมกันเป็นอาการสัณฐานแล้วมโนทวารวิถีจิตจึงหมายรู้โดยประการนั้นๆ ขณะใด ขณะนั้นก็มีบัญญัติ คืออาการสัณฐานนั้นๆ เป็นอารมณ์

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 6 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ