ปกิณณกธรรม ตอนที่ 79


ตอนที่ ๗๙

สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


ท่านอาจารย์ ใช่ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นยังไงๆ ก็เป็นอัตตสัญญา เพราะมีเหตุปัจจัย เพราะว่ามั่นคงมาก

ผู้ฟัง ที่อาจารย์ว่า “จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ” คือค่อยๆ รู้ขึ้น

ท่านอาจารย์ เป็นความมั่นคงของความเข้าใจซึ่งรู้ว่าเป็นความมั่นคง สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมอีกแล้ว จะให้เป็นอย่างนั้น จะให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว มั่นคงเรื่องอนัตตาหรือเปล่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่เป็นใคร ถ้าเมื่อไหร่จะทำคือไม่ใช่เข้าใจ เมื่อนั้นคือไม่มั่นคง

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มั่นคง หมายความว่า ไม่ว่าจะมีการหลงลืมสติ แต่เมื่อได้พิจารณาต่อไปสัญญาที่มีความมั่นคงก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

ท่านอาจารย์ มั่นคงคือไม่ผิดทาง ถ้ารู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คุณซีจะมีความเชื่ออื่นไหม

ผู้ฟัง ก็มีบ้าง เพราะตอนนี้ยังไม่มีความมั่นคง

ท่านอาจารย์ จะมั่นคงจริงๆ ต่อเมื่อเป็นโลกุตตระ อธิคม ถึงพระรัตนตรัยที่เป็นโลกุตตรสรณคม ไม่ใช่โลกียสรณคม แค่นี้ ก็มั่นคงแค่นี้ไปก่อน เดี๋ยวจากโลกนี้ไป ก็ไปเสริมสร้างความมั่นคงขึ้นอีก หรือว่าอาจจะไขว้เขวไปถึงไหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่ามีความมั่นคงหนักแน่นในเหตุผลในสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราว ค่อยๆ เสริมสร้างสะสมความเข้าใจถูกความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมมากยิ่งขึ้น

ผู้ฟัง ขออนุญาตถามเรื่อง สัมมัปปทาน ที่บอกว่า สัมมัปปทานเกิดตอนที่มีสัมมาสติ หมายความว่าต้องเป็นตอนที่เป็นสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณเท่านั้น ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ กิจทั้ง ๔ แล้วก็ค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น

ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นไปในทานหรือศีล นี่ไม่เรียกว่าสัมมัปปทาน

ท่านอาจารย์ เป็นอย่างๆ ไม่เป็นสัมมัปปทาน

ผู้ฟัง จะเป็นสัมมัปปทานก็ต่อเมื่อเกิดพร้อมกันทั้ง ๔

ท่านอาจารย์ ทำกิจ ๔ อย่าง

ผู้ฟัง อย่างเราเป็นปุถุชน จิตของเราก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่พอเรามีสติแล้วก็นึกได้ว่าเมื่อกี้นี้เรามี โลภะ โทสะ มานะ หรืออิสสา พอมีสตินึกได้ ก็จะตรึกไปในสภาพธรรมในขณะนั้นอย่างเช่น แข็ง ร้อน ตึง ไหว หรืออะไรที่ปรากฏ ตอนนั้นก็รู้ว่ารู้ด้วยกายวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือจักขุวิญญาณ คือรู้ว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการที่ตรึกไปแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เนินช้าหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ขณะใดที่จะสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ผ่านไป ไม่เช่นนั้นก็เป็นตัวเรา นั่งคิดโน่น คิดนี่ต่อไปอีกใช่ไหม แต่ถ้ามีเหตุพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดได้ ข้อสำคัญที่สุดคือให้ทราบว่าเรื่องที่เราเข้าใจธรรมจากการศึกษา ไม่พอที่จะละความเห็นผิด ในเมื่อสภาพธรรมมีจริงๆ แล้วเรายังไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม จะชื่อว่าเรารู้จักธรรมไม่ได้ เราเพียงแต่รู้จักเรื่องราว เพื่อที่จะให้เป็นปัจจัย ให้เราสามารถค่อยๆ ที่จะมีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องธรรมเลย สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

ผู้ฟัง แต่ว่าวันๆ จิตเราก็มักจะตกไปในอกุศล ถ้าเราจะพิจารณาเพื่อให้เป็นเครื่องอยู่ไม่ให้อกุศลเกิดมากเกินไป อย่างนี้ถูกต้องไหม

ท่านอาจารย์ เรื่องเรา จะทำให้คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ ลึกลงไปก็คือ “เพื่อเรา” แต่ไม่ใช่ “เพื่อรู้ ว่าไม่ใช่เรา” ถ้าเราสบายๆ เราจะไปทำอะไรกับกิเลส ใครจะไปฆ่ากิเลส ใครจะไปตีกิเลส ได้ไหม เข้าใจได้ หนทางเดียวก็คือเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม คือเราจะต้องกลับไปหาข้อความตอนแรกที่เราเข้าใจให้มั่นคงขึ้น คือ “เป็นธรรม ไม่ใช่เรา” ก็จะค่อยๆ เบาสบาย การศึกษาธรรมจริงๆ เป็นความรู้สึกที่อาจหาญ ร่าเริง พร้อมที่จะสละความเป็นเราหรือยัง ที่เราอยากให้มีสติมากๆ อยากให้สภาพธรรมปรากฏ อยากให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม พร้อมที่จะไม่มีเราหรือยัง ไม่มีเลยสักอย่าง

ผู้ฟัง พอเรามีสติรู้ตัวว่า จิตเราเป็นอกุศลแล้ว เราก็อาจจะตรึกไปในหัวข้อธรรมพิจารณาหัวข้อธรรมเพื่อต้องการให้กุศลจิตเกิด มันเหมือนจะเป็นกุศลแต่จริงๆ มันก็หลอกลวง ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้น คุณกานตาไม่ทราบว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คุณกานตา ก็ยังคงเป็นตัวเราพยายามเพื่อตัวเรา หนทางในอริยสัจจ์ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ ไม่มีใครบอกว่า มรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐานนี้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องละเอียดรอบคอบ เป็นเรื่องจริงที่จะต้องเข้าใจตรงว่า ขณะนั้นมีอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า ตราบใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน จะให้โลภะจางไปไม่ได้เลย

ผู้ฟัง ขอความกรุณา ช่วยอธิบายการพิจารณาสภาพของรูปธรรม นามธรรม

ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจก่อน แล้วก็มั่นคงต่อการที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือนามธรรมเป็นสภาพรู้ คือคิด จำ สุข ทุกข์ พวกนี้ แต่รูปไม่สามารถจะรู้สึก ไม่สามารถจะเห็น ไม่สามารถจะจำ ไม่สามารถจะหิว หรืออะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น บางคนก็จะถามตัวเขาเองว่าหิวนี้เป็นรูปหรือนาม ทั้งๆ ที่ลักษณะของนามก็คือสภาพรู้ หรือรู้สึก ส่วนรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอย่างนี้ ก็ยังสงสัยว่า หิวเป็นนามหรือรูป ถ้าเข้าใจถูกก็ตอบได้ รูปไม่หิวเลย รูปไม่มีทางจะหิวได้ รูปไม่สามารถที่จะรู้สึกอะไรได้ ค่อยๆ พิจารณาธรรมคือสิ่งที่กำลังมี แล้วเกิดระลึกพิจารณา ใครก็ห้ามไม่ได้ที่จะให้คิดอย่างนี้ เพราะไม่มีปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่ความเข้าใจธรรม การตรึกถึงธรรม การฟังธรรม การสนทนาธรรม จะทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อมีสัญญาความจำที่มั่นคง คือความเข้าใจ สัญญาที่นี่คือต้องเกิดร่วมกับปัญญา ความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมั่นคงขึ้น สติปัฏฐานก็ระลึก ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ลำบากยากเลย มีแข็งปรากฏ ไม่เคยรู้ตรงแข็งก็รู้ตรงแข็ง ซึ่งความจริงแข็งตรงนั้นรู้แล้ว เพราะว่ากายวิญญาณรู้ แต่ไม่ใช่สติที่ระลึกที่จะศึกษาที่จะรู้ ที่จะค่อยๆ เข้าใจตรงนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่แข็ง อย่างที่ทุกคนกำลังแข็งเดี๋ยวนี้ ผู้ที่ฟังแล้วมีปัจจัยพอก็รู้ตรงแข็ง ทั้งๆ ที่แข็งมีปรากฏ ต้องมีกายวิญญาณแล้ว ไม่ต้องมานั่งเทียบเคียงว่าต้องมีกายวิญญาณก่อน แล้วสติก็ระลึกตรงแข็ง เพราะว่าแข็งเขามีเป็นปกติทุกคนก็รู้แข็ง แต่ขณะที่กำลังใส่ใจ สนใจค่อยๆ เข้าใจค่อยๆ รู้ขึ้นว่า แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นมีรู้แข็งไหม เพราะฉะนั้นลักษณะรู้ก็คือเพียงขณะที่กำลังรู้ นี้คือนามธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

ผู้ฟัง รู้แข็ง เป็นจิต

ท่านอาจารย์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

ผู้ฟัง มีทั้ง ๒ อย่าง

ท่านอาจารย์ กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ จากคร่าวๆ ก็เป็นความละเอียดขึ้นๆ แต่ก็เป็นชีวิตธรรมดาตามปกติ อย่างที่คุณกุลถามเรื่องทุกอิริยาบถ เดี๋ยวนี้เอง เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จะมีใครรู้ล่วงหน้าว่าสติปัฏฐานจะเกิด ไม่มีทาง มีใครรู้ไหมว่าจะได้ยินเสียง มีใครรู้ไหมว่าจะคิดอะไร เพราะฉะนั้น แม้แต่คิดของแต่ละคน ก็ตามการสะสม มีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น

ผู้ฟัง แข็งมีโดยสภาพที่เป็นธรรมของเขาอยู่แล้ว ถ้าในขณะที่ยังไม่มีผัสสะ เราก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ อยู่แล้ว คืออยู่เมื่อไหร่

ผู้ฟัง สมมติว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เขาก็มีของเขาอยู่แล้ว

ท่านอาจารย์ ไม่เกิดหรือ

ผู้ฟัง คือถ้าเราไม่มีจักขุปสาท ก็ไม่มีผัสสะ

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย ใครจะเห็นหรือไม่เห็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ว่ามีเมื่อเรารู้ มีเหตุปัจจัยก็เกิด แต่จะปรากฏกับจิตเมื่อเป็นอารมณ์ของจิต

ผู้ฟัง สภาพธรรม มีอยู่โดยธรรมชาติ

ท่านอาจารย์ มีอยู่ หรือว่าเกิดดับ

ผู้ฟัง เกิดดับ และดำรงอยู่

ท่านอาจารย์ รูปสักรูปหนึ่งก็ไม่เที่ยง อย่าคิดว่าเที่ยงเลย เรามานั่งอยู่ที่นี่ตั้งนาน รูปเกิดดับ นับไม่ถ้วน ไม่ใช่ว่ามีอยู่แล้ว แล้วผัสสะไปกระทบ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้มีอยู่แล้ว รูปเกิดแล้วดับ ถ้าเรียนวิถีจิตก็จะรู้ รูปเกิดเมื่อไร กระทบกับปสาทเมื่อไร จิตอะไรเกิดขึ้นตามลำดับ รูปเกิดดับ ก็ไม่ยอมที่จะเห็นจริง เหมือนกับรูปมีอยู่แล้ว แล้วผัสสะเจตสิตไปกระทบแล้วจึงปรากฎ

ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับตามธรรมชาติอยู่แล้วใช่ไหม

ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่รูปเก่า

ผู้ฟัง ไม่ใช่รูปเก่า แต่เป็นแค่ความเข้าใจ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้

ท่านอาจารย์ แล้วใครสอนเรา

ผู้ฟัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ประจักษ์ จะสอนได้ไหม

ผู้ฟัง ไม่ได้

ท่านอาจารย์ เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ ประจักษ์อย่างนี้ จึงทรงแสดงอย่างนี้ ให้ผู้ที่รู้ตามรู้ตามอย่างนี้ได้

ผู้ฟัง แต่ยากที่จะเห็นการเกิดดับ

ท่านอาจารย์ ถ้าง่าย ก็ไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดว่ายากเมื่อไหร่คือสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อนั้น

ผู้ฟัง พิจารณา ที่ไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน พิจารณาธรรมในชีวิตประจำวันว่า ที่เรียนมาแล้ว ธรรมตรงนี้หมายความว่าอย่างไร เป็นอย่างไรตามความเป็นจริง

ท่านอาจารย์ พระธรรมมีไว้สำหรับศึกษา ทั้งพระไตรปิฏก และอรรถกถา อ่านตรงไหนพยายามที่จะพิจารณาให้เข้าใจตรงนั้น เป็นความรู้ของเราเอง มีตัวเองเป็นพึ่ง เป็นเกราะ เป็นปัญญาของเรา

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น แทนที่จะถามอาจารย์ว่าธรรมตรงนี้อย่างไร ก็ควรจะเจริญปัญญาของตนเอง

ท่านอาจารย์ ที่จริง ที่เรากำลังฟัง ก็เพื่อเข้าใจขึ้น อาศัยกัน และกัน คนนั้นมีความเข้าใจอย่างนี้ คนนี้มีความเข้าใจนั้นก็แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกัน และกัน คนอื่นอาจจะไปอ่านตรงนั้น คนนั้นอาจจะไปอ่านตรงนี้ พอพบข้อความต่างๆ ก็มาร่วมกันที่จะพิจารณาข้อความนั้นๆ ให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าคนเดียวก็คงไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ทั่ว แต่ถ้าเอาไปประกอบกันก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น หรือความเห็นของตัวเองคนเดียวอาจจะผิดหรือคลาดเคลื่อนไป แต่ความเห็นของคนอื่นถูกต้องก็ควรที่ต้องรับฟัง แล้วพิจารณาเพื่อความชัดเจน เพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น ให้ทราบว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องละเอียดที่แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนว่า สามารถจะเข้าใจความละเอียดได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่นี่ก็คงจะต่างกัน คือคนหนึ่งฟังมากคนหนึ่งฟังน้อย คนหนึ่งฟังน้อยแต่เข้าใจมาก หรือว่าคนหนึ่งฟังมากแต่เข้าใจน้อย หรือนั่งฟังมากเข้าใจมากก็ได้ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวๆ แต่ธรรมก็เป็นธรรมที่พร้อมที่จะให้พิจารณา และเข้าใจว่า ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง ไม่ว่าในระดับไหน ไม่ว่าในระดับคิด ไม่ว่าในระดับที่สติปัฏฐานเกิด หรือไม่ว่าในระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องตรงตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นนอกจากจะพิจารณาด้วยตนเองแล้ว ก็ควรที่จะมีการแลกเปลี่ยนมีการสอบถามเพื่อให้รู้ว่าที่พิจารณานั้นเป็นความจริงหรือไม่ แล้วก็เพื่อให้รู้ให้ละเอียดขึ้นด้วย

ท่านอาจารย์ เป็นพระอรหันต์แล้วท่านสนทนาธรรมกันไหม

ผู้ฟัง ท่านสนธนาธรรมกัน คิดว่าเพื่อเกื้อกูลคนรุ่นหลัง หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตร ท่านจะรู้มากกว่าพระอรหันต์รูปอื่น หรือเปล่า

ผู้ฟัง นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครมีปัญญาเท่ากับท่านพระสารีบุตร

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ควรที่พระอรหันต์รูปอื่นๆ จะไปสนทนาธรรมกับท่านพระสารีบุตรหรือเปล่า

ผู้ฟัง ควรเพื่อที่จะสามารถเข้าใจ หรือว่าสามารถที่จะอธิบายทรงจำธรรมตามความเป็นจริงได้เพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง พระอรหัสต์ท่านมีปัญญาเท่ากันหรือไม่ เช่น รู้ถึงที่สุดของธรรม

ท่านอาจารย์ ดับกิเลสหมดทุกรูป แต่ทำไมถึงเป็นทางเอตทัคคะบ้าง ไม่เป็นเอตทัคคะบ้าง และเป็นเอตทัคคะในทางที่ต่างกันด้วย

ผู้ฟัง โดยสรุปแล้วก็คือ พระอรหันต์แต่ละองค์นั้นต่างกัน

ท่านอาจารย์ ต้องต่างกันแน่นอนตามการสะสม แต่ดับกิเลสหมดไม่มีเหลือเลย

ผู้ฟัง เหมือนการสอบได้ แต่ได้คะแนนไม่เท่ากัน

ท่านอาจารย์ ต่างกันอยู่แล้ว ทุกขณะ ทุกคน จะเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระโสดาบัน ก็ต่างกันตามการสะสม ทีละเล็กทีละน้อย ทีละขณะจิตไป

ผู้ฟัง คือท่านต้องรู้ทั่วถึงธรรมทุกอย่าง

ท่านอาจารย์ การดับกิเลสต้องเท่ากัน แต่เรื่องอื่นจะเท่ากันหรือไม่ เพราะสะสมมาต่างกัน

ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพคิด สภาพที่คิดมีจริง แต่เรื่องราวที่คิดไม่มี รบกวนขยายความว่า สภาพที่คิดที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร

ท่านอาจารย์ ตอนนี้ ทุกคนคิด ไม่ใช่ไม่มีคิด คิดเป็นนามธรรม เกิดคิดแล้วก็ดับ ขณะไหนเป็นเรา ก็เป็นธรรมทั้งหมด นี่คือจรดกระดูก แต่ต้องเข้าใจจริงๆ คิดเป็นนามธรรมแน่นอน รูปธรรมคิดไม่ได้ แล้วความคิดก็เกิด เมื่อจิตเกิด จิตก็คิด แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องอะไร

ผู้ฟัง คำว่า สั่งสมสันดาน คำว่า สันดาน หมายความว่าอย่างไร

ท่านอาจารย์ รบกวนคุณสุธีช่วยอธิบายความว่าสันดาน

สุธี สันดาน คือ การสืบต่อ มาจากคำว่า สัน-ตา-นะ สันตาน แปลว่า การสืบต่อ

ผู้ฟัง คำว่าสันตาน ต้องเป็นเรื่องของจิตอย่างเดียวหรือเปล่า จะเป็นรูปได้หรือเปล่า เพราะว่าการสืบต่อก็มีรูปด้วย

สุธี ก็มีทั้งนาม และรูป ถ้าเป็นขันธสันตาน คือการสืบต่อของขันธ์ ถ้าเป็นจิตตสันตาน เป็นการสืบต่อของจิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ของขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่าสันตาน ถ้าเป็นในอำนาจของชวนวิถีก็เป็นของจิต

ผู้ฟัง สรุปคือ จิตมีการเกิดดับสืบต่อ สั่งสมสันดานสืบต่อ แล้วเกี่ยวกับเรื่องของกุศลอกุศลยังไง

ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับไหม

ผู้ฟัง ดับ

ท่านอาจารย์ แล้วไม่มีจิตอื่นเกิดต่อเลยหรือ หรือว่าทันทีจิตขณะแรกดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

ผู้ฟัง เป็น

ท่านอาจารย์ เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยหมายความถึง ทันทีที่นามธรรมคือจิต และเจตสิกดับ ถ้าไม่มีปัจจัยในจิตขณะก่อน จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย แต่เพราะจิตที่ดับไปในขณะก่อน เป็นอนันตรปัจจัยให้กับจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจยุปบัน เกิดสืบต่อเป็นผล ก็จะเข้าใจได้ว่า นี้เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่สำหรับสมนันตรปัจจัยนี้มีกำกับไว้เลยว่า เมื่อเป็นปฏิสนธิจิต สภาพของปฏิสนธิจิต นอกจากเป็นอนันตรปัจจัยแล้วก็เป็นสมนันตรปัจจัย หมายความว่าตัวของเขาเองจะต้องให้จิตที่เกิดต่อเป็นจิตประเภทไหน ด้วยดี หมายความว่าจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ หรือว่าเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือว่ามโนทวาราวัชชนจิตดับไป ตัวอาวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยว่า หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับต้องเป็นวิญญาณจิต ๑ ใน ๑๐ ดวง ในทวิปัญจวิญญาณ ดวงหนึ่งดวงใด เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อของจิต ก็เป็นไปตามปัจจัยที่ว่า ไม่ใช่ว่าจิตขณะ ๑ เกิดแล้วดับสูญหายไปเลย แต่ว่าจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ตัวจิตเก่าดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย หมดเลย หลังภังคขณะก็คือไม่มีอีก แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการสะสมสืบต่อของจิตต้องมี จากขณะแรกที่เกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้ขณะต่อมาสืบต่อทุกอย่างจากจิตขณะแรกที่ดับไป และถ้าศึกษาต่อไปก็จะมี โดยอนันตรูปนิสสยปัจจัย หมายความว่าการสืบต่อที่สะสมมา มีกำลังที่จะทำให้จิตประเภทใดเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจว่า การสะสมสันดาน หรือสันตาน ก็คือเมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีสิ่งที่สะสมมาจากชวนวิถีต่างกัน บางคนเป็นอกุศลมาก ก็จะมีปัจจัยให้เขาเป็นคนที่มีอกุศลประเภทนั้นๆ ถ้าเป็นคนที่มีโลภะมาก ก็แสดงว่าโลภมูลจิตของเขาเกิดตรงชวนะบ่อยๆ โลภมูลจิตจะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากทำกิจชวนะ หลังจากที่โวฎฐัพพนะดับไปแล้วก็จะเป็นโลภมูลจิต บางคนก็ขี้หงุดหงิดทุกอย่างก็ดีหมดแต่เขาก็โกรธ นั่นก็หมายความว่าเขาสะสมโทสะมาก

ผู้ฟัง จากการที่ผมศึกษา ผมก็มักจะบอกตัวเองว่า หิวเป็นนามธรรม ก็จะระลึกว่าหิวเป็นอย่างไร แข็งเป็นอย่างไร คือจะตัดชื่อของการท่องให้น้อยลงไป

ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องคิดเรื่อง จะตัดชื่อ หรือไม่ตัดชื่อ จะท่องหรือจะไม่ท่อง จะนึกถึงหรือไม่นึกถึง ให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วแต่สภาพใดจะเกิด ก็ทำให้ไม่มีตัวเราไปจัดการ คือไม่เป็นผู้ที่คาดหวังอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นอนัตตา และเป็นธรรม ถึงจะจรดกระดูกได้

ผู้ฟัง ขณะที่เดินทางมา บางทีก็เห็นสัตว์นอนตายกลางถนน


หมายเลข  6342
ปรับปรุง  25 พ.ย. 2566


วีดีโอแนะนำ