แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173


ถ. จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม พระผู้มีพระภาคท่านเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งหมด การที่ท่านบัญญัติสภาวะไว้ในบรรพต่างๆ ก็เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน หรือกำลังเจริญสติปัฏฐานได้มีโอกาสเลือกว่า เจริญอย่างไหนจึงจะสะดวก เจริญอย่างไหนจึงจะไม่สะดวก สำหรับอัธยาศัยของสัตว์แต่ละท่าน

สุ. จากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลด้วยอวิชชา หรือด้วยปัญญา เพราะไม่รู้โน่นไม่รู้นี่ หรือเพราะรู้ทั่ว จึงได้ละการยึดถือนามและรูปว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ขณะที่กำลังเลือก เป็นสติหรือเปล่า เป็นสัมมาสติ หรือไม่ใช่สัมมาสติ ในขณะที่คิด จงใจจะรู้เฉพาะรูปนั้น ที่นั่น ในลักษณะนั้น ไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปอื่นๆ เป็นตัวตนที่กั้นไว้หรือเปล่า เป็นการเจริญสติ เป็นการเจริญปัญญา หรือเป็นการบังคับสติ กั้นปัญญาไม่ให้รู้อย่างอื่น ไม่ให้รู้ทั่ว

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ในพระไตรปิฎกจะไม่มีพยัญชนะสักแห่งหนึ่งหรือที่ทรงแสดงว่า ผู้นั้นมีจริตอัธยาศัยอย่างนั้นก็เจริญสติปัฏฐานนั้น บางท่านอาจจะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางท่านอาจจะเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้พระผู้มีพระภาคเองในพระไตรปิฎกก็มีข้อความว่า ทรงเจริญอานาปานสติเป็นอันมาก แต่ท่านจะต้องเข้าใจพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกให้สอดคล้องกันด้วย เพราะเหตุว่าแม้ในพระไตรปิฎกจะมีพยัญชนะที่ว่าท่านผู้นั้นเจริญอานาปานสติก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่รู้ลักษณะของนามและรูปชัดตามความเป็นจริงทั้ง ๖ ทาง แล้วไปเลือกเจริญอานาปานสติเท่านั้น

ก่อนที่จะรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลนั้น จะต้องมีความรู้ทั่วในโลกทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในนาม ในรูปที่เกิดกับท่านเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงก่อน เมื่อรู้ทั่วแล้ว มีปัญญาที่สมบูรณ์เพิ่มขึ้น มากขึ้นแล้ว สติจะน้อมไประลึกรู้ลักษณะของนามใด รูปใด นั่นเป็นสติของแต่ละบุคคล แต่ไม่ใช่หมายความว่า ก่อนที่จะรู้ชัด รู้ทั่ว ในนาม ในรูป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะมีตัวตนที่คอยไปบังคับสติ คอยกั้นสติ คอยให้รู้เฉพาะรูปนั้นหรือนามนี้เท่านั้น นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา

ถ้าเป็นการเจริญปัญญา ต้องละความสงสัย ละวิจิกิจฉา ละความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และปัญญาก็สมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับขั้น

เมื่อปัญญารู้ทั่ว รู้ชัด มีความสมบูรณ์ขึ้นแล้ว สติจะระลึกรู้ลักษณะของรูปใดนามใด ก็ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีอวิชชา ไม่มีความไม่รู้ ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงในลักษณะของนามและรูป แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อท่านยังไม่ได้เจริญสติ ยังไม่ได้เจริญปัญญาเลย ท่านก็ไปเลือก ไปกั้นเอาไว้ที่จะไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของรูปและนามนั้นๆ การเจริญปัญญานั้นต้องรู้ทั่วจริงๆ จึงจะละได้

. การเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ เกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม ตำราก็ได้อธิบายไว้โดยละเอียด แต่ก่อนที่เราจะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมได้ทั้ง ๔ ประการนี้ ผมไปติดข้องเรื่องการกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ขอคำอธิบายด้วย

สุ. ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เพราะเหตุว่าขณะใดที่สติเกิดขึ้น ขณะนั้นกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ลักษณะของสัมมาสติ คือ สภาพที่ระลึกได้ แต่ว่าระลึกที่ลักษณะของรูป หรือนามทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู ทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายก็ได้ ในขณะที่ระลึก ขณะนั้นไม่มีอภิชฌา ไม่มีโทมนัสแล้ว

ถ้ายังมีอภิชฌาอยู่ ยังมีโทมนัสอยู่ ยังเป็นอกุศลจิตอยู่ สติซึ่งเป็นโสภณเจตสิกก็เกิดไม่ได้ จิตก็ยังคงเป็นอกุศลไปเรื่อยๆ เป็นกระแสของอกุศลที่ไหลไปเรื่อยๆ แต่สติเกิดกับกุศลจิต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะใด ในขณะนั้น ละอภิชฌาและโทมนัส

. คำว่า อภิชฌาและโทมนัส ความหมายกว้างขวางประการใด

สุ. อภิชฌา คือ ความยินดี เพ่งเล็ง จดจ้อง ต้องการ

โทมนัส ไม่ยินดีในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้ากำลังต้องการที่จะดูนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด ไม่รู้ตัวใช่ไหม นั่นคือลักษณะของอภิชฌา เป็นความต้องการ เป็นตัวตน ไม่ใช่สัมมาสติที่ระลึกได้ที่ลักษณะของนามหรือรูปในขณะนั้น แต่ถ้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นามและรูปที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้มีโทมนัส ก็ไม่พอใจที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วปรากฏในขณะนี้

นี่คือ อภิชฌาและโทมนัส เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยความเป็นตัวตน ขณะใดที่มีความเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเป็นอภิชฌา ขณะใดที่โทมนัสขัดเคืองเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเป็นโทมนัส

แต่อภิชฌาและโทมนัสก็ละเอียดขึ้น อย่างเวลาที่ท่านต้องการจะดูนามดูรูป เป็นอภิชฌาโทมนัส เพราะว่ามีความต้องการแฝงอยู่ในการที่จะดูนามดูรูป โดยที่ท่านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นความต้องการ ทำไมสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ ถ้าขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนั้นไม่มีอภิชฌาที่จะไปต้องการรู้นามอื่น ไม่มีโทมนัส ที่ไม่ต้องการจะรู้นามและรูปที่กำลังปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่า จะไปทำวิปัสสนา

ขอกล่าวถึงเรื่องทาน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อิสสัตถสูตร ข้อ ๔๑๕ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

ดูกร มหาบพิตร ทานพึงให้ในที่ไหน นั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง

ดูกร มหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแล มีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่

ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ชัปปสูตร มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่มีข้อความอธิบายพระพุทธดำรัสที่ว่า

ทานที่ให้แล้วในผู้มีศีลนั้น คือ ผู้ที่ละองค์ ๕ ได้แล้ว และประกอบด้วยองค์ ๕

สำหรับที่ละองค์ ๕ นั้น คือ ละกามฉันทะ ละพยาปาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ซึ่งได้แก่ นิวรณธรรม นั่นเอง มีกามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และวิจิกิจฉานิวรณ์

ผู้ที่จะละนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ละด้วยการเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าการเจริญสมถภาวนาเป็นการระงับไว้เพียงชั่วคราว แต่ผู้ที่จะดับนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้หมดสิ้น ผู้นั้นต้องเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีกามฉันทะ ไม่มีพยาปาท ไม่มีถีนมิทธะ ไม่มีอุทธัจจกุกกุจจะ และไม่มีวิจิกิจฉาด้วย

ผู้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ

พระอรหันต์นั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑

ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑

ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑

ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑

ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ๑

ข้อความมีว่า

ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ อันกล่าวมาแล้วนั้น มีผลมาก

ซึ่งทำให้ท่านผู้ฟังใคร่ที่จะทราบว่า ผู้ใดเป็นพระอรหันต์ เพื่อว่าทานของท่านนั้นจะได้เป็นทานที่มีผลมาก แต่อย่าลืมว่า ธรรมต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ถ้าจิตใจของท่านมีความปรารถนาหวังในผลมากเกิดขึ้น มีความผูกพันในผลมากที่จะเกิดขึ้น ในขณะนั้นจิตก็ไม่บริสุทธิ์

ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทานสูตร คงจะจำได้ว่า อุบาสกชาวเมืองจัมปาได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในวันอุโบสถเพื่อฟังธรรม และท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลถามถึงเรื่องการให้ทานที่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และทานที่มีผลมากและมีอานิสงส์มาก

ถึงจะให้ทานมากสักเท่าไร แต่ถ้าผลมากนั้นเพียงการเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ แล้วก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ทานนั้นมีผลมากจริง แต่ว่าไม่มีอานิสงส์มาก

ส่วนทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น ต้องเป็นทานที่ผู้ให้ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ซึ่งการที่จะไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติแม้ในขณะที่ให้ทาน

ข้อสังเกตในสูตรนี้ คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับอุบาสกชาวเมือง จัมปา ซึ่งการเป็นอุบาสกสามารถที่จะเจริญธรรม ปฏิบัติธรรม บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ ผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นจึงจะไม่ครองเรือน ละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต ซึ่งถ้าไม่ผูกพันในผลของทาน ก็มีการให้โดยทั่วถึง ไม่ใช่คอยรอจะให้แต่เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น และก็ไม่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกด้วยที่จะเว้นการให้แก่บุคคลอื่นแล้วให้แต่เฉพาะพระอรหันต์ มีแต่ให้เจริญกุศลทุกประการ

ส่วนการที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น มีหนทางที่จะทราบได้ไหม

ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชฏิลสูตร ที่ ๑ เป็นสูตรที่ยาว แต่จะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้เทียบเคียงธรรมกับความเข้าใจของท่านไม่ให้คลาดเคลื่อน เพราะโดยมากท่านผู้ฟังตื่นเต้นในบุคคล ถ้าผู้ใดอยู่ในป่า ท่านก็เข้าใจว่า ท่านผู้นั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านเห็นผู้ใดแสดงธรรมแล้วซาบซึ้ง โดยที่ท่านยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ ท่านก็ตื่นเต้นว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์

เคยมีท่านผู้ฟังที่เล่าให้ฟังว่า เวลาที่ไปฟังธรรมจะมีผู้ที่ไปด้วยถามว่า มีความเห็นอย่างไรในท่านผู้บรรยายธรรมท่านนั้น ท่านบรรลุคุณธรรมขั้นไหนแล้ว คือ คอยแต่จะวัด คอยแต่จะเปรียบ คอยที่จะแสวงหาพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง โดยลืมเทียบเคียงเหตุผลของธรรมวินัย เพียงแต่เป็นผู้ที่อาจจะอยู่ป่าเท่านั้น ท่านก็เข้าใจเอาเองว่า ท่านผู้นั้นอาจจะเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว แต่ข้อความในชฏิลสูตรจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเทียบเคียงธรรมวินัยด้วย

ข้อความใน ชฏิลสูตร ที่ ๑ มีว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของ วิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงพักผ่อนแล้วประทับนั่งที่ภายนอกซุ้มประตู ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่างๆ เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ทันใดนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกระทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจรดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้ง ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล

ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นเดินผ่านไปได้ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์ หรือท่านผู้บรรลุพระอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุณจันทน์อันมาแต่แคว้นกาสี ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตตมรรค

ใครเป็นพระอรหันต์ รู้ยากหรือง่าย ถ้าเป็นพระภิกษุผู้ทรงพระวินัยครบถ้วนแล้ว จะไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้รู้ได้ว่า พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะเสมอเหมือนกันหมด โดยความเป็นเพศบรรพชิตผู้ทรงพระวินัย

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

ดูกร มหาบพิตร ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน ก็ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

ศีลนั้นเป็นข้อต้น แล้วแต่ท่านผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รักษาศีลขั้นใด และผิดศีลขั้นใดบ้าง ต้องอาศัยกาลเวลานาน และเป็นผู้ที่สนใจจึงจะรู้ ผู้มีปัญญารู้ว่า อย่างใดเป็นศีล อย่างใดทุศีล ก็จะทราบได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีศีล หรือเป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่ว่าเห็นครู่เดียวก็จะรู้ว่า ผู้นั้นมีศีล หรือว่าไม่มีศีล

สำหรับความสะอาดก็ละเอียดขึ้น เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่จะรู้กันได้ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อย แต่จะพึงรู้ได้ด้วยกาลนานว่า ผู้ใดมีกายสะอาด มีวาจาสะอาด บางทีก็ไม่ใช่การผิดศีล แต่เป็นความสะอาดทางวาจา ความสะอาดของการกระทำทางกายที่จะไม่เบียดเบียน และไม่เป็นโทษกับบุคคลอื่น แต่ทั้งหมดนี้จะละคลายให้หมดไปได้ก็ด้วยการเจริญสติ

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร มหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้


หมายเลข  5848
ปรับปรุง  3 ก.พ. 2566