แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172


ถ. ผมได้เคยเรียนถามอาจารย์ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ท่านแยกออกเป็นบรรพต่างๆ มีถึง ๑๔ บรรพนั้นเพื่อประโยชน์อะไร อาจารย์ก็ได้ชี้แจงว่า เพื่อประโยชน์มิให้หลงลืมสติ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่อีกประการหนึ่ง คือ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดนั้นก็รู้เพียงสภาพธรรมที่เย็น ที่ร้อน ที่อ่อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหวเท่านั้นเอง ซึ่งในธาตุมนสิการที่เป็นบรรพหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีสภาพธรรมอย่างนี้ปรากฏ ทำไมจะต้องไปรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ที่ปรากฏอยู่ในบรรพอื่นๆ อีก

สุ. ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นมี ๑๔ บรรพ บรรพแรก คือ อานาปานบรรพ บรรพที่ ๒ คือ อิริยาบถบรรพ บรรพที่ ๓ คือ สัมปชัญญบรรพ บรรพที่ ๔ คือ ปฏิกูลมนสิการบรรพ บรรพที่ ๕ คือ ธาตุมนสิการบรรพ บรรพที่เหลือนั้น คือ นวสีวถิกาบรรพ

ซึ่งในการที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น ก็จะต้องรู้ปรมัตถธรรม

คำว่า ”ปรมัตถธรรม” หมายความถึงธรรมที่มีจริง ลักษณะสภาพของธรรมที่เป็นปรมัตถ์นั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีสภาพ มีสภาวะลักษณะเฉพาะของตนๆ

ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ ที่เรากล่าวกันว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน

จิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

รูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

นิพพาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ได้รู้สภาวะลักษณะของธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มีความเข้าใจผิด ยึดถือสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ ใน มหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงมีบรรพเพื่อให้พิจารณาสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนแต่ละบรรพไป อย่างเช่น ถ้าไม่เจริญสติ ลมหายใจที่ปรากฏกระทบเป็นส่วนของกายก็เป็นเรา มีเรา มีตัวตน และลมหายใจนั้นก็เป็นส่วนของเราด้วย ฉะนั้น เพื่อที่จะละคลายการยึดถือลมหายใจที่ปรากฏ จึงให้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา สภาวะลักษณะของลมหายใจนั้น ร้อน หรือเย็น เบา หรือไหว หรือตึง ปรากฏแล้วก็หมดไป

ท่านผู้ฟังเคยได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ บางท่านสงสัยว่า ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น โยนิโสมนสิการ หมายความว่าอย่างไร

สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค มีข้อความเรื่อง โยนิโสมนสิการ ว่า

ข้อว่า ทำไว้ในใจโดยอุบายแยบคาย คือ มนสิการด้วยสามารถว่า เป็นอนิจจัง เป็นต้น โดยอุบาย ปถ โดยคลอง การณโต โดยการณ์

เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการนี้ จะเรียกว่า อุปายมนสิการ ปถมนสิการ ก็ได้ คือ ได้แก่การรำพึงทางจิต หรือได้แก่ สมันนาหาร ซึ่งแปลว่า นำมาพร้อม นำมาทั้งหมด มาพิจารณาตามสัจจานุโลมว่า อนิจฺเจ อนิจฺจํ อสุเภ อสุภํ ทุกฺเข ทุกฺขํ อนตฺตนิ อนตฺตา

อนิจฺเจ อนิจฺจํ ก็เห็นสภาพธรรมที่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงทั้งหลาย ว่าสภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง

อสุเภ อสุภํ พิจารณาเห็นสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่งาม ว่าไม่งาม

ทุกฺเข ทุกฺขํ พิจารณาเห็นสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์

อนตฺตนิ อนตฺตา พิจารณาเห็นสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา ว่าเป็นอนัตตา

นี่เป็นโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยคลองธรรมนั้นๆ คือ พิจารณาสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่เที่ยง รู้ว่าไม่เที่ยง สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงนั้นไม่งาม สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงนั้นไม่ใช่ตัวตน ถ้าลมหายใจกระทบปรากฏ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ที่จะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ต้องพร้อมสติที่ระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าสภาวะลักษณะของลมหายใจที่ปรากฏในขณะนั้นจะเป็นลักษณะเย็น หรือร้อน หรือเบา หรือตึง หรือไหว

ถ้าไม่มีสภาวะลักษณะ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย เพราะเคยยึดถือลมหายใจว่า เป็นลมหายใจของเรา ด้วยเหตุนี้เมื่อลมหายใจมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ สติก็ควรระลึกรู้ เพื่อละความไม่รู้ ละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ

นี่เป็นบรรพแรกในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

บรรพต่อไป คือ อิริยาบถบรรพ

รู้ไหมว่าที่นั่งนั้น ใครนั่ง ก็เรานั่ง

ขณะที่กำลังนั่งและจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ต้องมีสภาวะลักษณะที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเราปรากฏให้รู้ว่า ลักษณะนั้นเกิดปรากฏแล้วหมดไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องมีปรมัตถธรรม มีสภาวะลักษณะที่สติกำลังระลึก และก็รู้ในลักษณะที่ปรากฏแล้วไม่เที่ยง

นี่เป็นเหตุที่มีอิริยาบถบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สิ่งใดก็ตามที่เคยหลงผิด เข้าใจผิด ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเราแล้ว สติจะต้องระลึกรู้ในสภาวะลักษณะสภาพปรมัตถธรรมนั้นๆ เพื่อจะได้เห็นตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน

อีกประการหนึ่ง ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะมีนั่ง มีนอน มียืน มีเดินได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เพราะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นปรมัตถธรรม เป็นรูป เป็นสภาพที่มีจริง เมื่อมาประชุมรวมกันก็ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ซึ่งถือว่าเป็นเราที่นั่ง เป็นเราที่นอน เป็นเราที่ยืน เป็นเราที่เดิน จึงต้องมีสติระลึกรู้ปรมัตถธรรมซึ่งมีสภาวะลักษณะที่ปรากฏให้รู้ชัดว่า ลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งตรงกับอานาปานบรรพ และบรรพอื่นๆ ด้วยว่า เพราะเคยยึดถือ สติจึงจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

บรรพต่อไป สัมปชัญญบรรพ

มีนั่ง มีนอน มียืน มีเดิน แต่ไม่ใช่อิริยาบถนาน เป็นอิริยาบถชั่วครั้งชั่วคราว เดินไปหน่อยหนึ่ง นั่งนิดหนึ่ง ยืนหน่อยหนึ่ง นอนหน่อยหนึ่ง ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ในสัมปชัญญบรรพ ไม่ใช่อิริยาบถนาน จึงมีทั้งคู้ มีทั้งเหยียด มีทั้งเหลียว มีทั้งพูด มีทั้งนิ่ง หมายความว่า ตลอดเวลาที่มีสภาพธรรมเกิดปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ควรหลงลืมสติ เพราะถ้าหลงลืมสติจะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนของเราต่อไปอีก

ด้วยเหตุนี้จึงมีสัมปชัญญบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้สติระลึกรู้ปรมัตถธรรมที่มีสภาวะลักษณะที่ปรากฏที่กาย ถ้าระลึกที่กายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กำลังเหลียว กำลังแล กำลังคู้ กำลังเหยียด กำลังพูด ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เหลียวได้ไหม คู้เข้าได้ไหม เหยียดออกได้ไหม พูดได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่สติระลึกรู้ที่กาย แต่ไม่มีลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมปรากฏให้รู้ได้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้ชัด เพราะเหตุว่าไม่ได้มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ปัญญาได้รู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่เพราะสภาพธรรมนั้นเป็นของจริง จิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เจตสิกไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รูปทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มี สติระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ถ้าระลึกที่กายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สำหรับบรรพต่อไป ปฏิกูลมนสิการบรรพ

คือ การที่สติระลึกเป็นไปในส่วนต่างๆ ของกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ถ้าสติระลึกที่ผม ที่ขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง ปัญญารู้ชัด ก็จะต้องรู้สภาวะลักษณะที่เคยยึดถือว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เพราะก่อนที่จะประจักษ์ในปรมัตถธรรม ในสภาวะลักษณะ มีความเห็นว่าส่วนนั้นเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง แต่เวลาที่สติระลึกแล้วรู้ในสภาพปรมัตถธรรม ก็จะต้องรู้ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเคยยึดถือส่วนต่างๆ ของกาย คือ เคยยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา เมื่อเคยเข้าใจผิดอย่างนั้น ในขณะที่สติระลึกลักษณะของส่วนที่เคยยึดถือนั้น ปัญญาก็พิจารณารู้ชัดในสภาวะลักษณะของสิ่งนั้น จึงจะประจักษ์ว่าไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ทุกบรรพของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะระลึกที่ส่วนใด ปัญญาก็จะต้องรู้สภาวะลักษณะของปรมัตถธรรมนั่นเอง

ปัญหาที่ว่า ธาตุมนสิการบรรพ ซึ่งเป็นบรรพหนึ่งในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ระลึกรู้ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่กาย ทำไมจึงไม่มีธาตุมนสิการบรรพเพียงบรรพเดียว ทำไมจึงต้องมีอานาปานบรรพ มีอิริยาบถบรรพ มีสัมปชัญญบรรพ มีปฏิกูลมนสิการบรรพด้วย

เพราะเหตุว่า ขณะนี้มีท่านผู้ใดบ้างที่ไม่รู้ลักษณะที่เย็น ไม่รู้ลักษณะที่ร้อน ไม่รู้ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหว ก็ไม่มี แต่แม้กระนั้นก็ยังคงเป็นตัวท่านอยู่นั่นเอง ถ้าสติไม่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งชิน รู้ชัดในความเกิดขึ้น ในความดับไปของสภาพธรรมซึ่งอ่อน ซึ่งแข็ง ซึ่งเย็น ซึ่งร้อน ซึ่งตึง ซึ่งไหว นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะของธาตุที่ทุกท่านระลึกรู้ได้ แต่ทั้งๆ ที่รู้ เพราะเคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนมาเนิ่นนาน จึงต้องพิจารณาเพื่อจะได้รู้ชัดว่า สภาวะลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ท่านผู้ฟังจะตรวจสอบข้อความนี้ได้ใน มูลปริยายสูตร ซึ่งปุถุชนก็รู้ในสภาพที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว แต่มีความยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดว่าสภาพนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ใน อุทเทสวารกถา มีว่า

หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

เป็นการพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ที่กายจะมีลักษณะอะไรปรากฏก็ตาม ถ้าไม่เพียรพิจารณาสภาพที่เป็นกายนั้นเนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่สามารถประจักษ์ว่า เป็นแต่เพียงสภาวะลักษณะที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป

และข้อความนี้สอดคล้องกับสติปัฏฐานอื่นที่ว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

เวทนา คือ ความรู้สึก ทุกท่านระลึกรู้ความรู้สึกของท่านได้ เฉยๆ หรือบางครั้งบางขณะดีใจ บางครั้งบางขณะเสียใจ สภาพความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราได้ ก็เพราะเหตุว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

สำหรับในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่

จิตไม่ใช่รูป เป็นสภาพรู้ทางตา ทางหู ขณะใดที่กำลังได้กลิ่น เป็นลักษณะของนามธรรมที่รู้ เป็นลักษณะของจิต แต่ก็ยังคงเป็นเราอยู่ ถ้าไม่มีความเพียรที่จะพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือจิตได้

สำหรับธรรมทั้งหลาย ก็โดยนัยเดียวกัน

นี่เป็นข้อความใน อุทเทสวารกถา ของ มหาสติปัฏฐานสูตร

สำหรับใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทุกบรรพ ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาบรรพใด เวทนานุปัสสนาบรรพใด จิตตานุปัสสนาบรรพใด ธัมมานุปัสสนาบรรพใด จะมีข้อความว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ก็มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

อิริยาบถบรรพ ก็มีข้อความเช่นเดียวกันว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

ธรรมในขณะที่พิจารณาลมหายใจ กับธรรมในขณะที่พิจารณาอิริยาบถบรรพ ต้องมีสภาวะลักษณะที่เหมือนกัน ถ้าเป็นกาย

สำหรับปฏิกูลมนสิการบรรพ มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

ไม่มีพยัญชนะที่บอกว่า พิจารณาเห็นผมเกิดขึ้น แต่มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

สำหรับอิริยาบถบรรพ ก็ไม่มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นรูปนั่งเกิดขึ้น หรือรูปนอนเกิดขึ้น รูปเดินเกิดขึ้น พิจารณาเห็นรูปนั่งดับไป พิจารณาเห็นรูปนอนดับไป พิจารณาเห็นรูปเดินดับไป ไม่มีข้อความนี้เลย

แต่มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

ธรรมทั้งนั้น ไม่มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังติดอยู่ ไม่มีลมหายใจติดอยู่ ไม่มีอิริยาบถติดอยู่ แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปรมัตถธรรม มีสภาวะลักษณะปรากฏ


หมายเลข  5847
ปรับปรุง  1 ก.พ. 2566