แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30


สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุต ปทุมปุบผสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาฉัน ลงสู่สระโบกขรณีแล้วสูดดมดอกปทุม คือ ดมดอกบัว ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่นฯ ความละเอียดของกิเลสที่จะต้องขัดเกลา เพียงแค่ดมดอกบัวที่เกิดในสระโบกขรณีเท่านั้น แต่เมื่อเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส คือ โลภะ เทวดาซึ่งมีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์ ก็ได้กล่าวคาถาเพื่อให้ภิกษุนั้นระลึกได้ โดยกล่าวว่า ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเทวดาจึงมากล่าวหาว่าท่านเป็นผู้ขโมย ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้ทำอะไร ท่านไม่ได้เอาอะไรไปด้วย พระภิกษุก็กล่าวตอบว่า เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่นด้วยเหตุดังฤๅ ส่วนบุคคลที่ขุดเง่าบัว หักดอกบัวบุณฑริกเป็นผู้มีการงานอันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียกเขาว่าเป็นขโมยฯ

พวกชาวบ้านที่ไปขุดเง่าบัวหรือหักดอกบัว ทำไมเทวดาไม่เรียกบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นขโมย แต่ท่านเพียงแต่ดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ ทำไมจึงกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น เทวดาก็กล่าวตอบว่า บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสเกินเหตุ เราไม่พูดถึงคนนั้น แต่เราควรจะกล่าวกะท่าน บาปประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลส ดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหาไตรสิกขาอันสะอาดเป็นนิจ ประดุจเท่าก้อนเมฆในนภากาศฯ คือ ความห่างไกลกันของเพศบรรพชิตกับฆราวาส เมื่อท่านเป็นผู้ที่แสวงหาไตรสิกขา โทษเพียงเล็กน้อยของท่านนั้น ก็ปรากฏดังว่าเนิน หรือว่าเท่ากับก้อนเมฆในอากาศทีเดียว พระภิกษุก็กล่าวตอบเทวดาว่า ดูก่อนเทวดา ท่านรู้จักเราแน่ละ และท่านเอ็นดูเรา ดูก่อนเทวดา ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีกในกาลนั้นเถิดฯ

สติเกิดขึ้นหรือยังในตอนนี้ ระลึกได้หรือยังว่า ผู้ที่กล่าวคาถาเช่นนั้น เป็นผู้ที่หวังดี เป็นบัณฑิต หรือว่าเป็นคนพาลที่เป็นศัตรู ถ้ามีสติระลึกได้ ก็รู้ได้ทีเดียวว่า ผู้ที่กล่าวเช่นนั้น เป็นผู้ที่เอ็นดูท่าน เพราะฉะนั้น สติของท่านก็เกิดต่อ โดยการกล่าวว่า ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีกในกาลนั้นเถิด หมายความว่า ถ้าท่านได้กระทำเช่นนี้อีกเมื่อไร ก็ขอให้เทวดานั้นกล่าวคาถาที่เป็นข้อเตือนใจท่านเช่นนี้อีก นี่เป็นเรื่องของสติ ซึ่งไม่เพียงแต่ระลึกได้ว่า สิ่งนั้นไม่ควร แต่ยังมีสติใคร่ที่จะขอให้ผู้อื่นได้กล่าวคาถาเตือนท่านเช่นนั้นอีก แต่เทวดาจะกล่าวว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าบางครั้งการที่จะเอ็นดู อนุเคราะห์ผู้อื่นนั้น ก็อาจจะต้องใช้คำพูดซึ่งฟังดูเหมือนรุนแรงสักหน่อยว่า ท่านมีเจตนาดีและรู้ว่าทำเช่นนั้นจะเป็นการอนุเคราะห์อุปการะให้ผู้นั้นมีความสลดมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าว คำใดที่เป็นคำจริง อาจจะไม่น่าฟัง แต่ว่าประกอบด้วยประโยชน์ คำนั้นแม้ว่าจะเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ แม้พระผู้มีพระภาคก็ตรัสคำนั้น เทวดาก็กล่าวตอบภิกษุนั้นว่า เราไม่ได้อาศัยท่านเป็นอยู่เลย และเราไม่ได้มีความเจริญ เพราะท่าน ดูก่อนภิกษุ ท่านพึงไปสุคติได้ด้วยกรรมที่ท่านพึงรู้ฯ ความหมายว่า ใครก็อาศัยใครไม่ได้ทั้งนั้น ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลของกรรมดีนั้น ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดานั้นให้สลด ถึงซึ่งความสังเวชแล้วแลฯ ผู้ที่มีสติ สติย่อมอุปการะทำให้ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำ ภาษิตสั้นๆ ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด

สำหรับในวันนี้ มีอะไรสงสัยบ้างไหมคะ ถ้าไม่มี ขอต่อไปถึงเรื่องของปลิโพธ ซึ่งคำว่า ปลิโพธ เป็นความห่วงใย เป็นความกังวล ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ย่อมมีความกังวล ย่อมมีความห่วงใย เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่าเรื่องของปลิโพธ มีกล่าวไว้โดยละเอียดใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส วิสุทธิมรรค มี ๓ ภาค คือ ศีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส ศีลนิทเทส ก็เป็นเรื่องของศีล รวบรวมไว้ทุกประการ สมาธินิทเทส ก็เป็นเรื่องของการทำจิตให้สงบ จนกระทั่งถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ส่วนเรื่องปัญญานิทเทส ก็เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงสำหรับเรื่องปลิโพธมีในสมาธินิทเทส แต่ว่าก่อนอื่นขอให้ท่านเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า คำว่า ปลิโพธ นั้นเป็นความกังวล ไม่ใช่มีเฉพาะกับคฤหัสถ์ บรรพชิตก็มี ใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีความกังวล ย่อมมีความห่วงใยอยู่ ความห่วงใยก็เป็นลักษณะของกิเลส ลักษณะของโลภะ เมื่อยังมีโลภะอยู่ ความห่วงใยก็ต้องมี และปลิโพธนั้นจะมีละเอียดมากมายสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็ย่อมพิสูจน์ธรรมในชีวิตประจำวันได้ แต่ที่กล่าวไว้ใน วิสุทธิมรรค ในเรื่องของสมาธินิทเทส ก็ได้แสดงปลิโพธไว้ ๑๐ ประการ ก็คือ

  • ๑. อาวาสปลิโพธ
  • ๒. กุลปลิโพธ
  • ๓. ลาภปลิโพธ
  • ๔. คณปลิโพธ
  • ๕. กัมมปลิโพธ
  • ๖. อัทธานปลิโพธ
  • ๗. ญาติปลิโพธ
  • ๘. อาพาธปลิโพธ
  • ๙. คันถปลิโพธ
  • ๑๐. อิทธิปลิโพธ

เฉพาะประการที่ ๑๐ คือ อิทธิปลิโพธเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาได้ ส่วนปลิโพธ ๑ ถึง ๙ นั้น เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญความสงบ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย ขอกล่าวถึงปลิโพธประการใหญ่ๆ ๑๐ ประการนี้

ประการที่ ๑ อาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในเรื่องที่อยู่ ฆราวาสมีหรือไม่มีคะ? มี ภิกษุมีหรือไม่มีคะ? มีเหมือนกัน มีทั้งฆราวาส มีทั้งภิกษุ แล้วจะเห็นได้ว่า ปลิโพธประการใหญ่ๆ ๑๐ ประการนี้ แสดงไว้โดยนัยที่เป็นปลิโพธของภิกษุ ฆราวาสก็มีมาก แต่ว่าลักษณะอาจจะต่างกัน

ประการที่ ๒ กุลปลิโพธ สำหรับพระภิกษุก็หมายความถึง ความกังวล ความห่วงใยในตระกูลอุปัฏฐาก ละอาคารบ้านเรือนแล้วก็ยังมี เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจว่า ท่านมีปลิโพธ จึงเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูกเลย เพราะเป็นเพียงเครื่องกั้นในการเจริญความสงบหรือสมาธิเท่านั้น

ประการที่ ๓ ลาภปลิโพธ ได้แก่ ความห่วงใย ความกังวลในเรื่องของลาภ ถ้าสำหรับฝ่ายพระภิกษุ ก็ในเรื่องของพวกปัจจัยที่ได้รับ และก็มีความกังวลในการรับและในการอนุโมทนา เป็นต้น

ประการที่ ๔ คณปลิโพธ คือ ความเป็นห่วง ความกังวลหมู่คณะ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระภิกษุก็มีกิจ คือ การอบรมภิกษุ หรือผู้ที่เป็นสัทธิวิหาริก อันนั้นก็เป็นกิจกังวลที่จะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา

ประการที่ ๕ กัมมปลิโพธ ความกังวลในเรื่องการงาน สำหรับพระภิกษุ ไม่มีการงานอื่น แต่ก็ยังคงมีการงานในเพศของบรรพชิต คือ ในเรื่องของการก่อสร้าง เป็นต้น ท่านก็มีความกังวล มีความห่วงใยว่า สิ่งที่ทำนั้นเสร็จแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่ได้ทำ หรือว่าเสร็จแล้วดีหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องความกังวลซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา

ประการที่ ๖ อัทธานปลิโพธ ความห่วงหรือความกังวลในเรื่องเดินทางไกล นี่ก็เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา

ประการที่ ๗ ญาติปลิโพธ มีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของญาติ บิดามารดา พี่น้องชายหญิง เป็นต้น สำหรับพระภิกษุนั้น ท่านก็มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งท่านก็มีความห่วงกังวล เพราะเหตุว่าท่านเหล่านั้นอาจจะป่วยไข้

ประการที่ ๘ อาพาธปลิโพธ คือ ความไม่สบาย ความมีโรคต่างๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญความสงบ สมาธิ ให้ถึงขั้นอัปปนา แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เวลาที่ไม่สบายก็มีความกังวล ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เล็กๆ น้อยๆ ความกังวลก็น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง ก็อาจทำให้มีความกังวลมาก แต่ความกังวลนั้นก็เป็นนามธรรม ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน แต่ขัดขวางการเจริญสมาธิ

ประการที่ ๙ คันถปลิโพธ ความห่วงความกังวลในเรื่องการศึกษา การท่องจำ ซึ่งข้อนี้ก็เป็นเป็นเครื่องขัดขวางสมถภาวนา แต่ว่าไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย

ประการที่ ๑๐ อิทธิปลิโพธ ความห่วงความกังวลในการเจริญฤทธิ์

ประการที่ ๑๐ นี้ เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาได้ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ เพราะเหตุว่าในขณะที่ผู้หนึ่งผู้ใดกำลังมีความฝักใฝ่ต้องการที่จะเจริญฤทธิ์ต่างๆ เจริญอิทธิฤทธิ์ต้องอาศัยความสงบอย่างมาก ไม่ใช่เพียงประเดี๋ยวเดียว ต้องอาศัยการฝึกหัด ต้องอาศัยความชำนาญมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีการใฝ่ใจที่จะเจริญฤทธิ์ ในขณะนั้นย่อมไม่มีสติที่จะระลึกลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าความต้องการ ความปรารถนาปิดบัง ไม่ทำให้สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความต้องการฤทธิ์ มีความใฝ่ใจ ความกังวลในเรื่องการเจริญฤทธิ์ ก็เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ อันนี้ก็คงจะไม่มีความสงสัยเรื่องปลิโพธ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องความกังวลธรรมดาๆ ที่ทุกคนมี

ถาม ...

สุ. ดิฉันเรียนให้ทราบแล้วว่า ปลิโพธใหญ่ๆ ๑๐ ประการนั้น ๙ ประการต้น เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมถภาวนา ไม่ให้จิตถึงขั้นอัปปนา ประการที่ ๑๐ ประการเดียว ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาได้ แต่ว่าไม่ขัดขวางการเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าประการที่ ๑ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม มีใครบ้างที่ไม่กังวลเรื่องที่อยู่ บางคนก็กังวลมาก บางคนก็กังวลน้อย จะอยู่ที่ไหน จะนอนที่ไหน ก็ไม่ค่อยจะลำบาก แต่ว่าบางคนนั้นมีความห่วงความกังวลในเรื่องที่อยู่ทีเดียว ตัวอย่างที่แสดงไว้ใน วิสุทธิมรรค ในเรื่องอาวาสปลิโพธ ความกังวลในเรื่องที่อยู่ กล่าวไว้ว่า อาวาสปลิโพธนั้นไม่เป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุทั่วไปทุกรูป บางรูปก็กังวล บางรูปก็ไม่กังวล แล้วท่านก็ยกเรื่องกุลบุตร ๒ นาย ออกจากอนุราธบุรี ไปบวชในวิหารถูปาราม รูปหนึ่งทำมาติกาทั้ง ๒ คือหัวข้อธรรมและวินัยให้คล่องแคล่ว มีพรรษาครบ ๕ ปาวารณาแล้วก็ไปสู่ปาจีนขัณฑราชี แล้วอยู่ในวิหารนั้นเป็นพระเถระ ระหว่างพรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๕ นั้น ก็เป็นพระนวกะ ระหว่างพรรษาที่ ๕ ถึงพรรษาที่ ๑๐ ก็เป็นมัชฌิมะ ตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป ก็เป็นพระเถระ

เพราะฉะนั้น ท่านก็อยู่ที่ปาจีนขัณฑราชีจนกระทั่งท่านเป็นพระเถระ แล้วก็คิดว่า ที่นั่นสมควรเป็นที่หลีกเร้น เมื่อท่านเห็นว่า ปาจีนขัณฑราชีเป็นที่ห่างไกล เป็นที่สงบ เป็นที่ควรหลีกเร้น ท่านก็คิดถึงสหายของท่านที่บวชพร้อมกัน ท่านก็ออกจากวิหารเดินทางไปสู่ถูปาราม พระภิกษุเถระซึ่งเป็นสหายของท่าน เมื่อเห็นท่านก็ลุกขึ้นรับบาตรจีวร และก็ทำวัตร คือ การต้อนรับ พระภิกษุผู้อาคันตุกะก็เข้าไปสู่ที่พัก คือ เข้าไปสู่เสนาสนะ แล้วก็คิดว่า บัดนี้สหายของเราจะส่งเนยใส หรือน้ำดื่มแก่เรา เพราะท่านอยู่ในเมืองนี้นาน แต่ว่าทั้งคืนนั้น ท่านก็ไม่ได้อะไร นี่เป็นความกังวลหรือเปล่า พระภิกษุรูปนี้ท่านไปจากถูปาราม ไปสู่ปาจีนขันธราคี ซึ่งเป็นที่สงบ ซึ่งท่านคิดว่า สมควรเป็นที่หลีกเร้น แต่ว่าทันทีที่ท่านมาที่ถูปารามเข้าไปสู่เสนาสนะ ท่านก็คิดว่า สหายของท่านจะส่งเนยใส จะส่งเครื่องดื่มมาให้ เพราะเหตุว่าท่านอยู่เมืองนี้นาน ท่านก็กังวลกับเรื่องเนยใสกับเครื่องดื่ม และตลอดทั้งคืนนั้นก็ไม่ได้อะไร ตอนเช้าท่านก็คิดว่า เพื่อนของท่านคงจะส่งข้าว ยาคู และของเคี้ยวซึ่งอุปัฏฐากส่งมาถวาย กังวลอีกหรือเปล่าคะนี่ ไม่หมด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม อย่าคิดว่า ปลิโพธมีแต่ที่บ้านของท่านเท่านั้น เครื่องกังวล ความกังวล เป็นกิเลส อยู่ที่จิต ตัวท่านอยู่ที่ไหนก็ตาม ความกังวลไม่หมด เมื่อความกังวลไม่หมด ย่อมจะปรากฏในลักษณะอารมณ์ต่างๆ กัน ไม่ใช่หลีกเร้นไป แล้วจะหมดความกังวลได้

พอถึงตอนเช้าท่านก็คิดกังวลอีกว่า เพื่อนของท่านคงจะส่งข้าว ยาคู และของเคี้ยวซึ่งอุปัฏฐากส่งมาถวาย แต่ท่านก็ไม่เห็นอะไรเลย ไม่ได้รับอะไรเลย เพื่อนของท่านก็ไม่ได้ส่งอะไรมาให้เลย ท่านก็คิดว่า ชาวบ้านคงไม่ส่งของมาถวาย แต่คงจะถวายเมื่อไปบิณฑบาต ท่านก็ไปบิณฑบาตกับสหายของท่านแต่เช้าตรู่ ท่านเที่ยวไปตลอดถนน ก็ได้ข้าวยาคูประมาณถ้วยหนึ่งหรือกระบวยหนึ่ง แล้วท่านก็กลับไปที่โรงฉัน แล้วก็นั่งดื่มในโรงฉัน และท่านซึ่งเป็นพระอาคันตุกะก็คิดต่อไป กังวลต่อไปว่า ชาวบ้านคงไม่ถวายข้าวยาคูเป็นนิตย์แน่ๆ แต่พอถึงเวลาภัตร เขาคงจะถวายภัตรอันประณีต แต่ครั้นถึงเวลาอาหาร ท่านก็ฉันแต่เฉพาะอาหารที่ได้แต่เวลาบิณฑบาต ความหวัง ความกังวล มีต่อไปเรื่อยๆ จากตอนกลางคืนถึงตอนเช้า และก็จะต่อไปถึงเวลาภัตตาหาร แต่พอถึงเวลาภัตตาหารแล้ว ไม่ได้อะไร ไม่มีชาวบ้านนำภัตตาหารที่ประณีตมาถวาย ท่านก็ได้ฉันเฉพาะข้าวยาคูที่ท่านได้จากการบิณฑบาต

ท่านพระอาคันตุกะก็ถามสหายของท่านว่า ท่านดำรงชีพอย่างนี้ตลอดมาหรือ ซึ่งสหายของท่านก็รับว่า ท่านดำรงชีพมาอย่างนี้ พระอาคันตุกะก็ชวนท่านไปอยู่ที่ปาจีนขันธราคี เพราะเหตุว่าที่นั่นสะดวกดี เมื่อพระเถระท่านได้ฟังพระอาคันตุกะซึ่งเป็นสหายกล่าวดังนั้น ท่านก็ออกจากเมืองโดยประตูด้านทักษิณ คือ ไปทางประตูทิศใต้ เดินไปตามถนนบ้านช่างหม้อ ซึ่งเป็นทางไปสู่ปาจีนขันธราคี พระอาคันตุกะก็แปลกใจมากที่พระเถระเดินไปทางนั้น ก็ถามท่านว่า “ท่านขอรับ ทำไมท่านถึงไปทางนี้” พระเถระก็กล่าวตอบว่า ก็ท่านมิได้กล่าวว่า จะไปสู่ปาจีนขันธราคีหรือ พระอาคันตุกะก็กล่าวว่า “ท่านไม่ได้มีอดิเรกบริขารอะไรๆ บ้างหรือ ในฐานะที่ท่านอยู่ที่นั่นนานถึงเพียงนั้น” ท่านพระเถระก็กล่าวตอบว่า “อาวุโส เตียงตั่งเป็นของสงฆ์ ซึ่งก็ได้เก็บเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร” พระอาคันตุกะก็กล่าวว่า “ท่านขอรับ ไม้เท้าและทะนานน้ำมัน ถุงรองเท้าของผมอยู่ที่ถูปารามนั่น” พระเถระก็กล่าวว่า “อาวุโส ท่านอยู่วันเดียวเท่านั้น วางของมีประมาณเท่านี้ไว้หรือ” ซึ่งพระอาคันตุกะก็รับว่า ท่านเป็นพระอาคันตุกะมาจากที่ไกล ซึ่งเป็นที่หลีกเร้น แต่ว่าความกังวลของท่านมากมาย เพราะเหตุว่าเพียงวันเดียว ท่านก็มีของๆ ท่าน ที่ท่านเป็นห่วงที่ท่านวางไว้ แต่ว่าพระเถระซึ่งอยู่ที่พระวิหารถูปารามนั้น เมื่อได้ฟังสหายของท่านกล่าวชวนไปปาจีนขันธราคี ท่านก็ตรงไปได้เลย ไม่มีความกังวล ไม่มีความห่วงใยใดๆ ทั้งสิ้น

พระอาคันตุกะมีจิตเลื่อมใสไหว้พระเถระแล้วพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สำหรับพระเถระเช่นนั้น ณ ที่ทุกสถานย่อมเป็นเช่นอรัญญวาส พระวิหารถูปารามเป็นที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ฟังธรรม เป็นที่สบายในโลหปราสาท เป็นที่ได้เห็นมหาเจดีย์ เป็นที่ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระเถระทั้งหลาย เช่นในครั้งพุทธกาล ณ สถานที่เช่นนี้เป็นที่อันท่านควรอยู่


หมายเลข  5406
ปรับปรุง  10 มิ.ย. 2565