แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15


สุ. คือ เวลาที่กำลังพิจารณานามและรูปชนิดหนึ่งชนิดใดนาน รู้ว่าเป็นการจดจ้อง ที่ถูกแล้ว ในขณะที่กำลังพิจารณานามและรูปในขณะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาถึงลักษณะของนามและรูป เพราะว่าขณะนั้นปัญญาจะเพิ่มความรู้ลักษณะของนามและรูปขึ้นว่ารู้นามนั้นชัดเจน หมายความว่าไม่สงสัย ไม่เห็นผิดหรือยัง รู้รูปนั้นถูกต้องในขณะที่กำลังปรากฏนั้นแล้วหรือยัง เท่านั้นเอง ยังไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะนานมากจะนานน้อย แต่หมายความว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อปัญญา เพื่อความรู้ เพราะว่าบางคนแทนที่จะเจริญสติ ก็ไปเสียดายว่าวันนี้สติไม่เกิด หรือว่าไม่ได้เจริญสติ การคิดอย่างนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่ง ความรู้สึกเสียดายก็เป็นนามอีกชนิดหนึ่ง แต่ว่ายังไม่ได้พิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ โดยการรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่กำลังเสียดาย กำลังเสียดายนั้น ต้องเป็นตัวตนแน่ เพราะอะไร? เพราะไม่รู้ลักษณะของนามหรือรูป ที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดในขณะนั้น ฉะนั้น ถ้ากำลังมีสติคือการรู้สึกตัว รู้ที่ลักษณะของนามหรือรูปชนิดหนึ่งชนิดใด ปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปนั้น หมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูปนั้นหรือยัง เพราะว่า ความจริงนามนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความต้องการ รูปนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความต้องการ แต่ทั้งนามและรูปนั้นเกิด ขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ใดไม่รู้ ผู้นั้นก็คิดว่ามีตัวตนที่ทำให้นามและรูปนั้นเกิดขึ้นทุกๆ ขณะที่กำลังได้ยิน ใส่ใจว่าสภาพนั้นเป็นสภาพรู้ และการได้ยินจะเกิดบ่อยจะเกิดติดต่อกันนานๆ มากสักเท่าไร ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชา แม้สติที่ใส่ใจในสภาพที่ได้ยิน ก็มีปัจจัยให้สติใส่ใจในสภาพที่ได้ยิน เพราะว่าการได้ยินมีตั้งหลายครั้ง แต่บางครั้งสติไม่ได้รู้ที่ลักษณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ในขณะใด ที่สติรู้ที่ลักษณะที่ได้ยิน ปัญญาก็พิจารณารู้ว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้ เนืองๆ บ่อยๆ จะมากจะน้อยนั้นก็เรื่องของสติ

ถ. ... .

ส. ดิฉันไม่อยากจะใช้คำว่า ดู เพราะรู้สึกว่าจะทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ที่กำลัง ดู หมายความว่าสติจะเกิดขึ้นแล้วแต่ว่าลักษณะของนามใดรูปใดจะปรากฏ แล้วสติรู้ที่ลักษณะของนามรูป ไม่มีการเจาะจง ไม่มีการเตรียม ไม่มีการตั้งใจจงใจว่าจะดูนั่นดูนี่ ถ้าสติไม่เกิด ไม่พิจารณาสภาพนั้น ปัญญาไม่เกิด จะถึงความสมบรูณ์ของปัญญาเป็นขั้นๆ ได้อย่างไร แต่ว่าถ้าผู้ใดเจริญสติ ผู้นั้นไม่มีความหวั่นไหวเลย ไม่ผิดปกติ ไม่ต้องจำกัดสถานที่ด้วย ถ้ายังจำกัดสถานที่ หมายความว่า ยังรู้ไม่ทั่ว เพราะเหตุว่าเป็นสังขารธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนกันหมด ถ้ายังมีความคิดความเข้าใจว่าต้องอยู่ในที่จำกัด ยังรู้ไม่ทั่วเลย เพราะถ้าทั่วแล้ว ตลอดชีวิตเป็นสังขารธรรม ที่เกิดดับทั้งนั้น และการละคลายก็จะต้องละคลายด้วยความรู้ เพราะถ้าไม่รู้แล้วละไม่ได้เลย ในสัพพสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสิ่งทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นสิ่งทั้งปวง จักษุกับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพารมณ์ ใจกับธรรมารมณ์ อันนี้ เรากล่าวว่า สิ่งทั้งปวง ก็คงจะไม่มีข้อสงสัยเลย ว่าจะต้องรู้อะไร จะต้องพิจารณาอะไร เพราะว่าการคิดนึก ก็เป็นสภาพของนาม ของจริงชนิดหนึ่ง ที่ผู้เจริญสติจะต้องรู้ สภาพที่คิดนั้นก็เป็นสภาพที่รู้ รู้เรื่องที่คิดนั้นแล้วก็ดับไป แล้วก็คิดเรื่องอื่นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ใดๆ ก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งนั้น

ถ. ... ..

สุ. การที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยงของเสียง ไม่ใช่ให้คิดว่าเสียงไม่เที่ยง ด้วยเหตุนี้ ความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณจึงเป็นขั้นๆ ขั้นที่ ๑ ไม่ใช่ อุทยัพพยญาณ ไม่ใช่การรู้การเกิดดับ นั่นเป็นมหาวิปัสสนา หมายความว่าผู้นั้น จะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามรูป หลังจากการที่ได้เจริญสติพิจารณาสภาพที่ต่างกันของนามรูปแล้ว รู้ปัจจัยรู้การเกิดดับที่สืบต่อกัน แล้วก็พิจารณานามรูปทั้งปวงโดยที่ไม่มีความเห็นผิด โดยที่ไม่มีความสงสัยว่าจะต้องเฉพาะสถานที่นั้น นามนั้นรูปนั้นจึงจะเป็นมหาวิปัสสนา

เมื่อละคลายมากขึ้นแล้ว สภาพการเกิดดับของนามรูปจึงปรากฏ ใครรู้ไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่ใช่อัตตา เป็นปัญญาที่เจริญขึ้นเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นนั้นเมื่อปัญญาเจริญขึ้น อยู่ที่ไหนก็จะต้องรู้ ฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติปัฏฐานปัญญาขั้นไหนจะสมบูรณ์ ก็อยู่ที่เหตุ ไม่ใช่อยู่ที่ความปรารถนา ไม่ใช่อยู่ที่ความต้องการ ไม่ใช่อยู่ที่กาลเวลาว่าเจริญสติปัฏฐานมา ๗ วันแล้ว ๗ เดือนแล้ว หรือว่า ๗ ปีแล้ว ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล เจริญ ๒๕ ปี ๕๕ ปี ความสมบูรณ์ ของปัญญาสักขั้นหนึ่งก็เกิดไม่ได้ แล้วถ้าความสมบรูณ์ของปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ แล้ว จะสมบูรณ์เมื่อไร ที่ไหน ก็ไม่มีใครจะเป็นอัตตาบังคับได้ ว่าจะต้องสมบรูณ์ในป่า หรือว่าสมบูรณ์ในบ้าน สมบูรณ์ในขณะกล่าวธรรมเทศนา ก็ไม่มีใครกำหนดได้เลย สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย การบรรลุธรรมก็ต้องแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยด้วย

ใน ขุททกนิกาย เถระคาถา จตุนิบาต นาคสมาลเถรคาถา มีข้อความที่ท่านพระนาคสมาระเถระ ท่านได้กล่าวถึงการบรรลุธรรมของท่าน ว่าท่านบรรลุธรรมในขณะไหน ท่านกล่าวว่าท่านเดินเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร เห็นหญิงฟ้อนรำคนหนึ่ง ตบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ นุ่งห่มผ้าสวย ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจัณฑ์ ฟ้อนรำอยู่ในวงดนตรี ที่ถนนหลวงท่ามกลางพระนคร ไม่ใช่ว่าท่านเห็นแล้วท่านไม่รู้อะไรเลย ท่านเห็นว่าเป็นหญิงฟ้อนรำ ท่านเห็นว่าตบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ นุ่งห่มผ้าสวยงาม ท่านเห็นทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจัณฑ์ เห็นฟ้อนรำอยู่ในวงดนตรี ที่ถนนหลวงท่าม กลางพระนครด้วย ไม่ใช่เห็นแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่รู้อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่า ท่าน พิจารณานามและรูปทุกประเภท สังขารธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นการรู้เรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเห็น การรู้ความหมาย ก็เป็นนามแต่ละชนิดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เวลาที่ท่านเห็นหญิงฟ้อนรำคนนั้น เป็นดุจบ่วงแห่งมัจจุราช อันธรรมชาติมาดักไว้ แทนที่ท่านจะมีความพอใจหรือมีความยินดี สติปัฏฐานที่ได้เจริญการที่ท่านพิจารณานามและรูปเนืองๆ บ่อยๆ ในขณะนั้นแทนที่จะมีความยินดีพอใจ ปัญญาเห็นเป็นดุจบ่วงแห่งมัจจุราชอันธรรมชาติมาดักไว้ ท่านเกิดมนสิการ คือการพิจารณาด้วยความแยบคาย อาทีนวโทษปรากฏ ความเบื่อหน่ายตั้งลงมั่น ลำดับนั้น จิตก็หลุดพ้นจากสรรพกิเลส ขอท่านจงดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ

คือการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้เจริญแล้วก็เป็นธรรมอันดีเลิศ ไม่ว่าจะประสบ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ธรรมที่ได้เจริญแล้วนั้น ก็ย่อมจะทำให้มนสิการโดยความแยบคาย และเมื่อมนสิการโดยแยบคายแล้ว ขอให้ดูพยัญชนะที่ว่า อาทีนวโทษปรากฏ เห็นโทษของสังขาร อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาญาณขั้น ๑ ไม่ใช่ว่าท่านนาคสมาระไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย แล้ววิปัสสนาญาณก็เกิดสมบูรณ์ขึ้นมาในขณะนั้น แต่พระภิกษุทั้งหลายท่านเจริญสติปัฏฐาน เป็นการศึกษาของท่าน ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา รวมอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าอินทรีย์จะสมบรูณ์เมื่อไร ใครบอกได้ ท่านกำลังไปบิณฑบาตที่ถนนหลวงท่าม กลางพระนครด้วย และสิ่งที่เห็นก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าสติปัฏฐานที่ได้เจริญมาก็มี อาทีนวโทษปรากฏ อาทีวนโทษเห็นโทษ เห็นความเกิดขึ้นและดับไป ใครบังคับได้บ้างว่าสติปัฏฐานที่เจริญมาเนืองๆ บ่อยๆ จะสมบูรณ์เป็นนามรูปปริจเฉทญาณเมื่อไร ปัจจยปริคหญาณเมื่อไร สมสนญาณเมื่อไร อุทยัพพยญาณเมื่อไร หรือว่าจะเห็นโทษภัยของสังขารที่เกิดดับนั้นเมื่อไร

เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นอาทีนวโทษปรากฏ ท่านที่เคยสงสัยว่า ท่านเจริญสติปัฏฐานกันอย่างไร หรือว่าท่านสะสมอบรมบารมีมาในอดีตอย่างไร ฟังธรรมเทศนาแล้วก็บรรลุบ้าง หรือกำลังทำกิจอย่างโน้นอย่างนี้ก็บรรลุบ้าง เพียงฟังพระคาถาบาทเดียวบทเดียวก็บรรลุบ้าง นี่คะ คือความสมบูรณ์ของผลที่มีเหตุ คือการเจริญอินทรีย์ของท่านมาในอดีต แม้ในขณะที่ท่านเห็นหญิงฟ้อนรำ การเกิดดับก็ปรากฏ อาทีนวโทษปรากฏ ความเบื่อหน่ายตั้งลงมั่น ความเบื่อหน่ายนี้ก็เป็นวิปัสสนาญาณขั้นหนึ่ง นิพพิทาญาณหลังจากที่เห็นการเกิดดับ เห็นความเป็นโทษเป็นภัยของการเกิดดับแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่าย คือการคลายความติดที่ยินดียึดถือสังขารนั้นว่าเป็นตัวตนนั่นเอง

ฉะนั้น ความเบื่อหน่ายในที่นี้ ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายของคนธรรมดาที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็มาพิจารณาว่าเกิดมาลำบากนัก ก็ถูกไม่ผิดถ้าพิจารณาอย่างนั้นก็จริง เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของการเกิด นี่ก็ดี แต่ไม่ตั้งมั่น เพราะลักษณะของนามและรูปนั้นไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง ผู้ที่จะมีความเบื่อหน่ายตั้งมั่นได้นั้น ผู้นั้นจะต้องมีลักษณะของนามและรูปปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะละคลายความที่เคยพอใจยึดถือได้ และลำดับนั้น จิตของท่านก็หลุดพ้นจากสรรพกิเลส และท่านก็กล่าวคำว่า ขอท่านจงดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรม อันดีเลิศ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของการปฏิบัติลำบากๆ ในที่ต่างๆ ท่าน ก็จะเห็นด้วยทันทีไม่มีข้อสงสัยเลย แต่เรื่องอินทรีย์จะสมบูรณ์ หรือจะมีปัญญาละคลายกิเลสในสภาพธรรมดาในชีวิตประจำวัน ท่านไม่เคยคิด แต่ก็มีในพระไตรปิฏกและก็เป็นตัวอย่างของพระสาวกในครั้งนั้นด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สัตตกนิบาต สุนทรสมุทรเถรคาถา คือที่จะกล่าวในที่นี้ ก็เพื่อแสดงให้ท่านเห็นชัดว่า ไม่ใช่ว่าท่านเห็นแล้วท่านไม่รู้อะไร แต่การเจริญสติของท่านนั้นรู้ชัดในสังขารใดๆ ไม่ว่าจะเป็นนาม ชนิดใด รูปชนิดใด ก็ไม่ทำให้ท่านหวั่นไหวคลอนแคลน ว่าจะต้องเป็นนามชนิดนั้นเท่านั้น เป็นรูปชนิดนั้นเท่านั้น ปัญญาจึงจะเจริญได้ ท่านสุนทรสมุทรเถระ ท่านได้กล่าวถึงสมัยที่ท่านจะหมดสิ้นกิเลสบรรลุความเป็นพระอรหันต์ไว้ว่า หญิงแพศยาผู้ประดับประดาร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่อันงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม เท้าย้อมด้วยสีแดง สวมรองเท้าทอง นางถอดรอง เท้า ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้างหน้า กล่าวเล้าโลมด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวานว่า ท่านเป็นบรรพชิตหนุ่ม ขอจงเชื่อฟังคำของดิฉัน ขอเชิญท่านจงสึกออกมาบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด ดิฉันจะมอบทรัพย์สมบัติอันให้เกิดความปลื้มใจแก่ท่าน ดิฉันขอให้สัตย์ปฏิญาณแก่ท่านว่า ดิฉันจะเป็นภรรยาปฏิบัติท่านเหมือนพราหมณ์บูชาไฟ ฉะนั้น เมื่อใดเราทั้งสองแก่เฒ่าจนถือไม้เท้า เมื่อนั้นเราทั้งสองจึงค่อยบวช เราทั้งสองถือเอาชัยในโลกทั้งสองก่อนเถิด เราเห็นหญิงแพศยาคนนั้น ผู้ตกแต่งร่างกายนุ่งห่มผ้าใหม่อันงามดี มาประคองอัญชลีพูดจาเล้าโลมเรา เหมือนกับบ่วงมัจจุราชอันธรรมชาติมาดักไว้ ลำดับนั้น โยนิโสมนสิการบังเกิดขึ้นแก่เรา เราได้เห็นโทษของสังขารแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย ลำดับนั้น จิตก็หลุดพ้นจากกิเลส ของท่านจงเห็นคุณวิเศษของธรรมอย่างนี้เถิด

เห็นก็เห็นได้ยินก็ได้ยินถ้อยคำทั้งหมด และก็รู้ความหมายด้วย แต่การเจริญสติปัฏฐานที่ท่านมี แล้วอาทีนวโทษปรากฏ ก็เหมือนกันกับที่ว่าทุกท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ก็จะต้องรู้การเกิดดับของสังขารใดๆ ไม่ใช่เว้นว่าจะต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ ฉะนั้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่ออินทรีย์ของผู้ใดพร้อมในขณะใด ก็สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพของสังขาร และปัญญาก็แทงตลอดในสภาพของธรรม แล้วก็หลุดพ้นจากกิเลสได้ เมื่อหลุดพ้นท่านก็กล่าวสรรเสริญคุณอันวิเศษของธรรม ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ชีวิตปกติธรรมดาของท่านจะเป็นการบิณฑบาต จะเป็นการเห็นอะไรก็ตาม คุณวิเศษของธรรมที่ท่านเจริญก็สามารถที่จะทำให้ท่านแทงตลอดในสภาพของธรรมนั้นได้ แต่เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้รู้ว่า ท่านพระสุนทรสมุทรเถระท่านบรรลุในสถานที่ใด ก็จะขอเล่าเรื่องของท่านพระสุนทรสมุทรเถระ

ก่อนที่ท่านจะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี และท่านก็เห็นมหาชนไปสู่พระวิหารเชตวัน เพื่อจะฟังธรรมเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นท่านก็มีความสนใจ แล้วก็ได้ไปฟังธรรมที่พระวิหารเชตวันด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาเรื่องของทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามและอานิสงส์ของการที่จะออกจากกาม ท่านก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างมากทีเดียว ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านไปขออนุญาตมารดาบิดาของท่านก่อน ซึ่งท่านก็ต้องอ้อนวอนเป็นอันมากทีเดียว เช่นเดียวกับท่านพระรัฐปาล เพราะว่ามารดาบิดาของท่านนั้นไม่อยากให้ท่านอุปสมบท แต่ในที่สุดก็เห็นว่าท่านมีศรัทธาจริงๆ มารดาบิดาก็ได้อนุญาตให้ท่านอุปสมบท แต่เวลาที่มารดาบิดาเห็นสหายของท่านได้บริโภคทรัพย์สมบัติ ได้ใช้ทรัพย์สมบัติด้วยความสุขความสำราญต่างๆ มารดาบิดาของท่านก็เสียใจมากที่ลูกชายนั้นไม่สามารถที่จะได้บริโภคทรัพย์ ใช้ทรัพย์ในทางที่สนุกสำราญอย่างสหายของเขา

หญิงแพศยาคนหนึ่ง ไปหามารดาบิดาของท่านพระสุนทรสมุทรเถระ ก็เห็นว่ามารดาบิดาของท่านนั้นมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ก็ถามว่าเนื่องจากเหตุอะไร มารดาบิดาก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องของท่านพระสุนทรสมุทรว่า ไม่อยากให้ท่านบวชมีชีวิตอย่างบรรพชิตเลย หญิงแพศยาคนนั้นก็รับอาสาที่จะไปทำให้ท่านลาสิกขาบท แล้วก็ได้ถามมารดาบิดาของท่านว่า ถ้าทำสำเร็จจะให้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน มารดาบิดาก็บอกว่าจะให้ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ท่านพระสุนทรสมุทรเถระท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ท่านบวชที่เมืองสาวัตถี แต่ท่านมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเครื่องผูกพันพัวพันที่รู้ว่าไม่ต้องการให้ท่านเป็นบรรพชิต ฉะนั้น ท่านก็ไม่อยู่ที่พระนครสาวัตถีแต่ท่านไปอยู่พระนครราชคฤห์ เมื่อหญิงแพศยาคนนี้ทราบ ก็ได้เดินทางไปที่พระนครราชคฤห์ แล้วก็สังเกตุสังกาว่า ท่านพระเถระบิณฑบาต ณ ที่ใด ก็ได้ถวายอาหารบิณฑบาตท่านเป็นประจำ ๒ - ๓ วัน

เมื่อถวายอาหารบิณฑบาตเป็นประจำ ๒ - ๓ วันแล้ว ในวันต่อมาก็ได้ นิมนต์ให้ท่านนั่งฉันที่ระเบียงอีก ๒ - ๓ วัน และพร้อมกันนั้นก็ได้ว่าจ้างเด็กมาทำเสียงอึกทึกในขณะที่พระเถระท่านฉัน พอเวลาที่ท่านพระเถระนั่งฉันที่ระเบียงได้ ๒ - ๓ วัน เด็กพวกนั้นก็ได้ทำเสียงอึกทึก หญิงแพศยานั้นก็ได้นิมนต์ท่านเข้าไปนั่งฉันภัตตาหารในเรือน ๒ - ๓ วัน นี่ก็เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของปุถุชน เป็นเรื่องของจิตใจที่ยังเต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แม้คนในสมัยโน้นหรือว่าคนในสมัยนี้ก็ตาม ที่ยกตัวอย่างนี้ก็เพื่อให้ท่านเห็นว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ ที่ว่าการบรรลุมรรค ผลนั้น ก็ต้องบรรลุมรรคผลตามปกติของชีวิตธรรมดาที่ท่านได้เจริญสติท่านพระเถระก็ได้เข้าไปนั่งฉันภัตตาหารในเรือน ๒ - ๓ วัน หญิงแพศยาคนนั้นก็ได้ให้เด็กทำเสียงเอะอะเกรียวกราวอีก แล้วได้นิมนต์ท่านขึ้นไปในปราสาทข้างบนแล้วปิดประตู แล้วก็กล่าวคำเล้าโลมท่าน

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งไกลจากพระนครราชคฤห์ พระองค์ทรงเห็นเหตุนั้น แล้วทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏท่านพระอานนท์ก็ทูลถามว่า พระเจ้าข้า อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยแห่งการทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า ขณะนี้สงครามของภิกษุชื่อ สุนทรสมุทรกับสงครามของหญิงแพศยา กำลังเป็นไปอยู่ ณ บนพื้นปราสาท ๗ ชั้น ในกรุงราชคฤห์ ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลว่า สงครามครั้งนี้ใครเป็นผู้ชนะ พระผู้มี พระภาคก็ตรัสว่า ท่านพระสุนทรสมุทรเถระเป็นผู้ชนะ เพราะว่าท่านได้ฟังคำเล้าโลมของหญิงแพศยานั่นแล้วท่านก็เกิดความสลดใจ

นี่ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นเรื่องของการบรรลุมรรคผล ว่าการบรรลุของผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องกลัวหรือหวั่นเกรงว่า ถ้าไม่อยู่ในสถานที่นั้นและสถานที่นี้แล้วจะไม่บรรลุ สำหรับในเถรีคาถาที่จะยกมากล่าวถึงในที่นี้คือ สุภากัมมารธีตาเถรีคาถา (บาลีเป็น สุภากัมมารธิดา)


หมายเลข  5374
ปรับปรุง  15 พ.ค. 2565