เวทนาขันธ์


    เวทนาขันธ์เป็นความรู้สึก คนไทยเราใช้บ่อย คือ “เวทนา” ออกเสียงว่า “เวด – ทะ – นา” แล้วเราก็แปลว่า สงสารเหลือเกิน คนนี้น่าเวทนามาก ก็น่าสงสารมาก แต่ในพระพุทธศาสนา เวทนาเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และมีกับทุกคนด้วย เพราะเหตุว่าหมายความถึงความรู้สึก ซึ่งมีความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรากล่าวโดยย่อ เป็นเวทนา ๓ แต่ถ้าเราแยกเป็นทางกายกับทางใจ จะเพิ่มโสมนัสเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุขใจ และโทมนัสเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ ไม่มีใครที่ไม่มีเวทนาทั้ง ๕ นี้ ทุกคนมี เวลาเด็กร้องไห้ มีเวทนาไหมคะ ต้องมี ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา และถ้าร่างกายปวดเจ็บด้วย สำหรับใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา

    เพราะฉะนั้นทุกข์กาย ก็คือความรู้สึกที่ร่างกายที่ปวดที่เจ็บ ที่เมื่อย คัน อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกายนี้ทั้งหมด ขณะนั้นเป็นความรู้สึกที่มีจริงๆ เป็นทุกขเวทนา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่พระอรหันต์ ถึงแม้ท่านจะปวด จะเจ็บสักเท่าไรก็ตาม ไม่มีโทมนัสเวทนา คือ ไม่มีทุกข์ใจเลย มีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นเวทนาก็แยกออก ถ้าใครมีสติเกิดเร็ว เวลาทุกขเวทนาเกิด เขาก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาหรือสติไม่เกิด พอทุกข์กายเกิดนิดหนึ่ง ความทุกข์ใจมากมายหลายเท่ากว่าทุกข์กาย เป็นห่วงไปถึงว่า อีก ๑๐ วันจะเป็นอย่างไร จะต้องผ่าตัดไหม จะต้องกินยา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกข์ใจนี่มากมาย

    ในพระไตรปิฎกอุปมาไว้ไพเราะมากว่า สำหรับทุกข์กาย ไม่มีใครหนีพ้นเลย ตราบใดที่มีกาย เมื่อมีตา ก็ต้องมีโรคตา ต้อ ไปผ่าตัด ไปรักษา มีหู ก็ต้องมีโรคหู ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเป็นทุกข์กายได้ทั้งหมด เหมือนถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๑ เวลาที่ทุกข์กายเกิด และเวลาที่ทุกข์กายเกิด แล้วก็เป็นห่วงกังวล วิตกทุกข์ร้อน เป็นทุกข์ใจ เพราะว่ากายเจ็บ แต่กายคิดไม่ได้ แต่ความคิดปรุงแต่งไปสารพัดอย่างที่จะเป็นความทุกข์

    เพราะฉะนั้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากทุกข์กาย แล้ว อุปมาเหมือนลูกศรดอกที่ ๒ ที่ยิงซ้ำที่แผลเก่า เพราะฉะนั้นความทุกข์จะเพิ่มมากขึ้นอีกสักเท่าไร

    เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรา เราแยกได้ ที่ทุกคนคิดว่า กำลังมีทุกข์ หรือมีปัญหา จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความคิด ทางทุกข์จริงๆ ที่ทุกคนหนีไม่พ้น เฉพาะทุกข์กายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าสมมติว่าร่างกายแข็งแรงดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ทุกข์ ให้ทราบว่า ทุกข์ที่เหลือทั้งหมดเป็นเรื่องของทุกข์ใจ เป็นเรื่องของความคิด เป็นความกังวล ความเดือดร้อนต่างๆ

    เพราะฉะนั้นเราเอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่อยากมีทุกข์อันนี้ เราก็สามารถจะมีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้นได้ แต่ก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับอีก แต่ให้ทราบว่า แม้แต่ความรู้สึกก็บังคับไม่ได้

    นี่คือความหมายของขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับสิ้นไป แต่เพราะเหตุว่าเรายึดถือสภาพธรรม ๕ อย่างนี้ว่าเป็นเรา เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา เรายึดถือความรู้สึก ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ ก็พลอยวุ่นวายเดือดร้อนกังวลว่าเป็นเราทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นก็เป็นขันธ์หนึ่ง ก็เป็นขันธ์ที่ ๒


    หมายเลข 7971
    9 ม.ค. 2567