เวทนาเจตสิก กับ จิต


       “เวทนา หมายความถึง สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือว่าเป็นสุขทางกาย เป็นทุกข์ทางกาย หรือเป็นสภาพที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ สภาพที่เฉยๆ

    ซึ่งในวันหนึ่ง ๆ จะปราศจากเวทนาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับขณะใดที่มีจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะมีจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากสภาพธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกเฉยๆ หรือว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ หรือเสียใจ ในอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ แต่เวทนาเจตสิกที่เกิดนี้จะเกิดเพียงลักษณะเดียวในขณะหนึ่งๆ ซึ่งขณะใดที่มีความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อทุกขมสุข” ไม่สุข ไม่ทุกข์ นี้ ในขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีใจ หรือเสียใจ เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆดับไปแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกดีใจเกิดขึ้น ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเสียใจ หรือความรู้สึกเฉยๆ รวมอยู่ด้วยไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกดวงหนึ่ง เกิดกับจิตดวงหนึ่ง ทุกๆขณะที่จิตเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าเป็นเวทนาเจตสิกประเภทใด

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันของสัมปยุตธรรมว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ คือ เป็นประธานในการรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพที่รู้แจ้งในสีสันวรรณะต่างๆที่ปรากฏ ไม่ว่าสีจะต่างกันไปละเอียดสักเท่าไร จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของสีที่ปรากฏทางตาได้ ไม่ว่าเสียงจะสูง จะต่ำ จะเป็นที่น่ารื่นรมย์ หรือไม่สบายหู โสตวิญญาณ เป็นสภาพที่ได้ยินเสียง ก็เกิดขึ้นรู้แจ้งในอารมณ์นั้นได้ เช่นเดียวกับเวลาที่กลิ่นกระทบจมูก กลิ่นก็มีหลายกลิ่น แล้วจิตก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งกลิ่นลักษณะต่างๆ แต่จิตไม่สามารถจะรู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆในอารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ว่าสำหรับเวทนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้สึก เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิต เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกสภาพธรรมนั้นว่า เวทนาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นการที่จิตมีต่างกันไป เป็นโดยชาติ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นๆ ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับจิต จิตกับเจตสิกเกิดขึ้นเป็นกุศล ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศลทุกดวง หรือว่าเจตสิกซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้น เจตสิกและจิตที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นอกุศลเจตสิกจะไปเกิดกับกุศลจิตไม่ได้ หรือว่าวิบากจิตจะไปเกิดกับกิริยาเจตสิกก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อจิตต่างโดยชาติ เป็นกุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี กิริยาจิตก็มี

    เวทนาเจตสิกที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี


    หมายเลข 7283
    20 ส.ค. 2558