แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1996

สนทนาธรรมที่โรงแรมอโศก เมืองโพปาล

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๓


สุ. ศึกษาธรรมให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ทิ้งเรื่องสติปัฏฐานไว้ก่อน เพราะว่าส่วนใหญ่เขาจะชักจูงคนด้วยคำว่า วิปัสสนา ไม่ว่าสำนักไหนก็จะบอกว่า ปฏิบัติวิปัสสนา เป็นสำนักวิปัสสนา เพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะว่าเอาจุดสุดยอดขึ้นมากล่าว คือ สติปัฏฐานบ้าง วิปัสสนาบ้าง ทำให้คนละเลยการที่จะศึกษาหรือ ฟังธรรมตามลำดับขั้นให้รู้ว่าปัญญาของเขาเองรู้อะไรบ้างหรือยังตั้งแต่ต้นจริงๆ เพราะว่ามุ่งไปแล้ว บอกให้ทำอย่างไรก็ทำ บอกให้นั่งก็นั่ง บอกให้เป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ บอกให้เห็นก็เห็น อะไรอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ปัญญาความเข้าใจของตัวเองเลย เป็นสิ่งที่ถูกชักจูงให้คิดว่าเข้าใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมที่บอกว่า ไม่เที่ยง ทั้งหมดเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน คนฟังนี่ฟังเหมือนรู้ เหมือนเข้าใจ ง่ายดีใช่ไหมถ้าจะบอกว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ต้องไปยึดมั่น สภาพธรรมทุกอย่างเกิดและดับไป ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แค่นี้จบ และก็ไปทำวิปัสสนา แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนแล้วเป็นอะไร ขณะไหน ต้องละเอียดมาก เพราะว่าทุกคนที่กำลังนั่งที่นี่ ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องรู้ว่าขณะจิตนี้คืออะไร กำลังเห็นเป็น ขณะจิตหนึ่ง กำลังได้ยินเป็นอีกขณะจิตหนึ่ง ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจสภาพที่เห็นจริงๆ เข้าใจสภาพที่ได้ยินจริงๆ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

ไม่ใช่ว่ายังไม่เข้าใจอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่รวมเสร็จว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงต้องละเอียดจนกระทั่งถึงว่า ในขณะนี้เองที่พร้อมจะให้พิสูจน์ ในขณะที่กำลังฟัง ไม่ใช่ว่าทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน เลยไม่รู้ว่าอะไรบ้าง

ถ. หมายความว่า พิจารณาเป็นทวารๆ ไป แม้แต่ขณะนี้

สุ. นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่หมายความว่า ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ เกิดและดับในขณะนี้

ถ. ในขณะนี้ ใช่ไหม

สุ. ต้องในขณะนี้ เพราะว่าปัญญารู้อะไร ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือปัญญา เวลานี้สภาพธรรมปรากฏแต่ไม่รู้ จึงไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าขณะนี้สภาพธรรมปรากฏและรู้ตามความเป็นจริง นั่นคือปัญญา ถ้ายังไม่รู้ ก็ระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ มีหน้าที่เท่านี้เอง

ถ. เพียงแต่ระลึกไป ส่วนปัญญาจะทำหน้าที่แยกเอง

สุ. ค่อยๆ รู้ขึ้น

ถ. เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติระลึกไปบ่อยๆ ก็เหมือนเพียงแค่ระลึก

สุ. และค่อยๆ รู้ขึ้น เอาค่อยๆ รู้ขึ้นไปทิ้งไว้ที่ไหน เหมือนจับด้ามมีด

ถ. เมื่อเราทราบอย่างนี้ แต่ละทวารก็ระลึกไป เปลี่ยนไปหลายๆ ทวาร

สุ. แล้วแต่สติ เพราะเป็นของจริงทั้งหมด เป็นสภาพธรรมทั้งหมด สติ จะระลึกที่ไหน เมื่อไร อย่างไร หรือจะไม่ระลึก ก็แล้วแต่สติทั้งสิ้น

ถ. เมื่อสติเกิดระลึกไปบ่อยๆ ดูเหมือนกับว่าไม่มีการพิจารณา ไม่มีการสำเหนียก …

สุ. ก็ต้องพิจารณา ถ้ารู้อย่างนั้นต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น มีทางเดียว คือ ค่อยๆ เพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น จะช้าจะเร็ว จะมากจะน้อย ก็เหมือนจับ ด้ามมีด

ถ. เรื่องอัตตสัญญา จำได้ว่าเคยฟังเทปการสนทนา จำคำถามของ ท่านอาจารย์ได้ว่าเป็นคำถามที่ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องอัตตสัญญา ท่านอาจารย์ถามว่า ฟันมีไหม จากคำถามของท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ได้คิดถึงฟัน ฟันก็ไม่มี ใช่ไหม หมายความว่าในขณะที่ไม่คิดถึงฟัน เราลืมฟัน ใช่ไหม แต่เวลาใดที่เราคิดถึงฟันขึ้นมา เช่น เดี๋ยวจะไปแปรงฟัน แสดงว่ามีฟันแล้ว คำถามของท่านอาจารย์เพื่อให้เข้าใจ อัตตสัญญาว่า ทรงจำไว้ว่าฟัน หรือมีฟัน

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราไม่พูดถึงฟัน พูดถึงร่างกาย คือ ถ้าเราคิดถึงกายนี้ ทั้งร่างเมื่อไร ก็เป็นอัตตสัญญาว่าเป็นตัวตน ก้อนนี้เป็นตัวเรา เป็นร่างกาย แต่ร่างกายนี้ไม่เหมือนกับฟัน เพราะว่าฟันอยู่ปาก ซึ่งเราจะลืมในขณะที่เราไม่คิดถึง นอกจากเวลาที่เรายิ้มกับกระจกคนเดียว ก็เห็นฟัน คิดถึงฟัน แต่ร่างกายนี้อยู่นอกปาก เราเห็นอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา

สุ. คุณกฤษณาเห็นตัวตลอดเวลาหรือ

ถ. ยกเว้นเวลาหลับตา

สุ. เวลานี้ เห็นตัวตลอดเวลาหรือ

ถ. เห็นว่าเป็นตัวเองทั้งร่าง

สุ. ดูตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตลอดเวลาหรือ

ถ. ศีรษะไม่เห็น

สุ. และจะกล่าวว่าเห็นตัวอยู่ตลอดเวลาได้ไหม

ถ. แม้ไม่เห็น แต่ก็รู้ว่ามีตัวเองอยู่

สุ. ก็เหมือนกับความทรงจำเรื่องฟัน

ถ. จะไม่เป็นอัตตสัญญาต่อเมื่อเราลืมตัว ลืมคิดถึงตัว ใช่ไหม ซึ่งขณะนั้นต้องเป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เพราะว่าในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ใช่อัตตสัญญาก็หมายความว่า ในขณะนั้นไม่คิดถึงตัวตน ใช่ไหม

สุ. ที่ว่าในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และไม่มีตัวตน เพราะอะไร

ถ. เพราะไม่คิดถึงตัว

สุ. เพราะอะไรอีก

ถ. เพราะมีสภาพธรรมปรากฏ

สุ. เพราะลักษณะของสภาพธรรมอย่างเดียวกำลังปรากฏ จะเป็นตัวเรา ได้อย่างไร อย่างสัมผัสแข็ง ทั้งตัวหรือเปล่า

ถ. ไม่ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น เพียงแข็งที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่เมื่อสติระลึกจริงๆ สามารถ รู้ความจริงชัดเจนว่า แข็งไม่ใช่สภาพรู้ที่กำลังรู้แข็ง และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ยังสามารถประจักษ์การเกิดดับของแข็งด้วย ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมด้วย ถ้าปัญญาสมบูรณ์ขึ้น เพราะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีเรา

แต่ความทรงจำว่ามีเรา คือ อัตตสัญญา

ถ้าสติปัฏฐานระลึกที่ลักษณะสภาพธรรมทีละอย่างจริงๆ จนกระทั่งรู้แน่นอนว่าไม่มีตัวเลย มีแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อนั้นจะมีปัญญาที่มั่นคงขึ้นว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นสัจจธรรม

ถ. ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะพูดได้ใช่ไหมว่า ขณะนั้นเราลืมตัว คือ เราไม่คิดถึงตัวเอง

สุ. ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นช่วงระยะที่ไม่นาน สั้นมากทีเดียว คือ ชั่วขณะที่สติกำลังเกิดระลึก ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นในที่นั้น ในลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ แต่ความเป็นเรา ไม่ได้ดับหมด

นีน่า ดิฉันรู้สึกชอบพูดบ่อยๆ เรื่องสีสันวัณณะ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ยัง ไม่ชัด จึงสนทนาธรรมเรื่องนี้บ่อยๆ อีกอย่างหนึ่งเพราะเราเข้าใจว่า มีความทุกข์โดยเราติดในทุกอย่างและมีความทุกข์มากๆ แต่ยังไม่เข้าใจถูกต้องเรื่องโทษของกิเลส

สุ. ใครเห็นโทษของกิเลส หรืออะไรเห็นโทษของกิเลส ก็ต้องปัญญา คำตอบอยู่ที่ว่า ต้องเจริญปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้นย่อมเห็นโทษของกิเลส แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด จะบอกว่าเห็นโทษของกิเลสก็ยาก

ถ. บุคคลซึ่งไม่เห็นโทษของกิเลส ศึกษาธรรมได้ไหม

สุ. แน่นอน ศึกษาเพราะต้องการจะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอะไร อย่างที่เราพูดถึงในตอนต้น ทุกคนที่ฟัง จะกล่าวว่าเห็นโทษของกิเลสจริงๆ หรือยัง เห็นโทษของกิเลสมากหรือยัง หรือยังไม่เห็นโทษของกิเลสเลย ก็ฟังพระธรรม เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ

ถ. สมมติเขาศึกษาเฉพาะพระอภิธรรม ธรรมที่ละเอียด และไม่สนใจ เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ได้รับความทุกข์ รับเอาแต่สิ่งที่เป็นความสุข ถ้าทราบว่า เป็นความทุกข์ เขาก็ไม่ศึกษา ไม่สนใจเพื่อละคลายทุกข์ เพื่อขัดเกลากิเลสให้หมด เป็นสมุจเฉท แต่นี่คือจุดประสงค์ในพระพุทธศาสนา ใช่ไหม

สุ. พุทธบริษัทฟังพระธรรมเพราะรู้ว่า ผู้มีปัญญาตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงให้คนที่ไม่รู้ฟัง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ฟังพระธรรมต้องรู้ว่า ก่อนฟังเป็นคนที่ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไร เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้รู้

ถ. บุคคลบางคนศึกษาธรรม เข้าใจธรรม เท่าที่สนทนาเขาก็เข้าใจดีมาก ผมก็รู้สึกว่าได้ประโยชน์ ได้ความรู้ต่างๆ แต่ถ้าจะให้เขาปฏิบัติ เอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ เขาไม่เอา

สุ. จะให้เขาเอาธรรมมาปฏิบัติ เขาไม่เอาก็ถูกแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องจะ เอาธรรมมาปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องที่เมื่อฟังแล้ว ธรรมทั้งหลายกระทำกิจของธรรมนั้นๆ เช่น สติเกิดขึ้นกระทำกิจของสติ ปัญญาเกิดขึ้นกระทำกิจของปัญญา แต่ถ้าบุคคลนั้นศึกษาพระธรรมโดยผิดจุดประสงค์ อาจจะเพื่อความสำคัญตน หรือเพื่ออย่างอื่น เพื่อชื่อเสียง เพื่อลาภยศ หรือแม้เพียงเพื่อสักการะ ก็หมายความว่า ธรรมที่ได้ฟังไม่ได้ไปชำระจิตใจของเขา เพราะว่าเขาตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วก็ยิ่งมีความสำคัญตนขึ้น ถ้าฟังแล้วเข้าใจธรรมจริงๆ คนนั้นจะลดอกุศลลงเอง เพราะว่าปัญญาเกิด

แต่ที่ฟังเข้าใจเรื่อง ไม่ได้เข้าใจธรรม เข้าใจเรื่องจิต เข้าใจเรื่องเจตสิก แต่เข้าใจธรรมหรือเปล่า เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เข้าใจจิตใจของตนเอง หรือเปล่าว่า ขณะไหนอกุศลเกิดแล้ว เมื่อไม่เข้าใจธรรม แต่เข้าใจเรื่องของธรรม ผลก็คือไม่ได้ขัดเกลา

ถ้าเข้าใจก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม เมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิด จะให้ปัญญาไปทำอกุศล ปัญญาก็ทำอกุศลไม่ได้ แต่ปัญญามีกำลังขั้นไหน

เพราะฉะนั้น คนที่ฟังบางท่านก็ยังคงมีความสำคัญตน มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความยกตน มีความข่มผู้อื่น เพราะว่าปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจธรรม ยังไม่พอที่จะชำระการสะสม

การสะสมนี่ สะสมมามากมายหนาแน่นทางฝ่ายอกุศล เหมือนกับดินที่ปลูกพืชมีหลายระดับ ดินดีก็มี ดินปานกลางก็มี ดินเลวก็มี และยังมีก้อนหินด้วย มีกรวด ปนทรายเยอะเลย ก็แข็งเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าธรรมไปตกอยู่กับพวกกรวด ปนทราย และจะให้เป็นพืชงอกงามขึ้นมาก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นที่จะ ทำให้ดินประเภทนั้นมีคุณภาพดีขึ้น จึงจะได้ผล

เพราะฉะนั้น แต่ละคนยังไม่รู้ใจของตัวเอง ต่อเมื่อได้เข้าใจธรรม ต้องใช้คำว่า เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่องของธรรม เมื่อนั้นจึงจะสามารถเจริญธรรมขึ้นได้

ถ. เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว จะเกิดปัญญา ใช่ไหม

สุ. ปัญญาคือเข้าใจ ความเข้าใจนั่นเองคือปัญญาขั้นหนึ่ง

ถ. เมื่อมีปัญญาแล้ว จะแสดงฤทธิ์เดชของตนเองขึ้นมาให้เกิดอาการลดละต่างๆ ใช่ไหม

สุ. ปัญญามีกิจหน้าที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามระดับขั้นของปัญญา ดิฉันติดใจคำว่า ฤทธิ์เดช ฤทธิ์เดชของปัญญาเป็นอย่างไร

ถ. ฤทธิ์เดชของปัญญา คือ เมื่อมีปัญญาจากการศึกษาธรรมแล้ว เข้าใจแล้ว ตัวเข้าใจนี่เป็นปัญญา ตัวปัญญานี้เองจะเป็นเครื่องทำให้เราลดละสิ่งต่างๆ ได้ และการไปลดละนี่แหละแสดงอำนาจ แสดงฤทธิ์เดชของพระพุทธศาสนา

สุ. คือ ลักษณะและกำลังของปัญญา

ถ. ฟังอาจารย์มาหลายปี แต่ฟังทางวิทยุเป็นส่วนใหญ่ จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ฟังเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดว่า คืออะไร เป็นอย่างไร ฟังตั้งหลายปีก็ไม่เข้าใจ

สุ. การที่จะเข้าใจพระธรรมที่จริงแล้วไม่ยาก ถ้าเราสามารถรู้ว่า คำใด ก็ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงแล้ว คำนั้นเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง คือ ไม่เปลี่ยน ถ้าบอกว่าจิตคืออะไร จิตเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่เปลี่ยนเป็นลักษณะอื่น

จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ใช่คนตาย ความต่างกันของคนหลับกับคนตายก็คือคนตายจิตไม่เกิด จิตขณะสุดท้ายคือจุติจิตทำกิจเคลื่อน ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ขณะนี้จุติจิตของพวกเรายังไม่เกิด ทำให้เรายังเป็นบุคคลนี้อยู่ มีหน้าตาอย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้ มีเรื่องราวอย่างนี้ แต่ถ้าในขณะนี้จุติจิตของใครเกิดและดับไป จะไม่เหลือสภาพความเป็นบุคคลนี้อีกเลย

เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ขณะนั้นต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นจุติจิต ปฏิสนธิจิต จักขุวิญญาณ กุศลจิต อกุศลจิต เมื่อขึ้นชื่อว่าจิต ทุกประเภทเป็นสภาพรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัย สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เราจะต้องค่อยๆ พิจารณาตั้งแต่ต้นให้ถูกต้อง คือ จิตทุกประเภทเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แม้ขณะที่นอนหลับสนิทก็มีจิตซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป การเกิดดับของจิตเร็วแสนเร็ว เร็วจนกระทั่งขณะนี้ดูเสมือนว่าทั้งเห็นและได้ยิน แยกไม่ออกเลยว่า ขณะไหนเป็นขณะไหน ใช่ไหม เพราะว่าขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ทางตาก็เห็น เพราะฉะนั้น ขณะไหนเป็นจักขุวิญญาณ ขณะไหนเป็นโสตวิญญาณ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาที่รู้จริงๆ ไม่เกิด แยกไม่ได้ ก็รู้โดยชื่ออีกเหมือนกัน ซึ่งนั่นคือเรื่องธรรม ไม่ใช่เข้าใจลักษณะของธรรม

ต้องเข้าใจว่า จิตทุกประเภทเป็นสภาพรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดและดับไป เร็วมาก เร็วจนเราคิดไม่ถึงว่าจะเร็วขนาดไหน นี่เป็นสัจจะ เป็นสัจจธรรม เป็นความจริงว่า จิตทุกประเภทอาศัยเหตุปัจจัยเกิดและดับเร็วมาก เปลี่ยนไม่ได้อีกเหมือนกัน

ขณะที่นอนหลับสนิท มีจิตไหม นี่คือสิ่งที่เราจะคิดและเราจะตอบ เพราะว่าเป็นปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ คำจำกัดความหรือลักษณะของสภาพธรรมนั้นทรงแสดงไว้แล้วว่าเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท มีจิตไหม เปลี่ยนไม่ได้ มีหรือไม่มี

มี และจิตที่กำลังหลับสนิทเกิดดับหรือเปล่า เปลี่ยนไม่ได้อีกเหมือนกัน ธรรมเปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องมองหน้าคนอื่น ไม่ต้องปรึกษา ไม่ต้องอาศัยสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น เริ่มเป็นปัญญาของเราเอง นี่คือประโยชน์

ประโยชน์คือปัญญาของเราเอง เราคิดเอง เราพิจารณาเองถึงความถูกต้องว่า เมื่อได้ทราบแล้วว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ต้องมีการเกิดขึ้นจึงรู้ ถ้าไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้ ที่รู้นี่คือเกิดขึ้นแล้วจึงรู้ และเมื่อเกิดแล้วดับทันที เร็วมาก ไม่เปลี่ยนเลย คำนี้ ตลอดทั้ง ๓ ปิฎก หรือกี่จักรวาลก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าขณะที่ กำลังนอนหลับสนิทมีปัจจัยให้จิตเกิด มีจิตก็ต้องหมายความว่า จิตต้องเกิดจึงมี ถ้าคนอื่นจะมาบอกเราว่า กำลังหลับไม่มีจิตหรอก เราจะเชื่อไหม

เรามีหลักอยู่แล้วว่า คนตายกับคนเป็นต่างกันที่คนตายไม่มีจิต แต่คนเป็นมีจิต จะรู้อะไร ไม่รู้อะไร ยังไม่ต้องพูดถึง เอาหลักที่เป็นพื้นฐานก่อนว่า คนเป็นต้องมีจิต และที่มีจิตหมายความว่า จิตต้องเกิดใช่ไหมจึงมี ถ้าไม่เกิดจะเรียกว่ามีจิตได้ไหม ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีจิต เพราะฉะนั้น ที่ว่ามีจิต ก็คือจิตต้องเกิด และจิตเกิดต้องมี เหตุปัจจัยด้วย ไม่ใช่ไม่มีเหตุปัจจัยเลย ใครจะรู้หรือไม่รู้ถึงเหตุปัจจัย ก็ต้องมี เหตุปัจจัยให้จิตเกิด

ตอนนี้เรายังไม่พูดเรื่องเหตุปัจจัย ยังไม่พูดเรื่องอะไรทั้งหมด แต่ให้รู้ว่า จิตจะเกิดได้ต้องมีเหตุปัจจัย โดยเหตุโดยผลเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดโดยเหตุปัจจัย ชั่วขณะเดียวที่เกิดทำกิจรู้และดับทันที เร็วที่สุด นี่เป็นหลักที่ไม่เปลี่ยน

เปิด  225
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565