แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1992

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔


ถ. ท่านใช้คำว่า ใช้สติ แสดงว่าท่านไม่เข้าใจเรื่องสติ คือ สติใช้ไม่ได้ อยู่ที่เราหลงลืมหรือไม่หลงลืม ไม่ทราบว่าสภาวธรรมที่พระคุณเจ้าท่านพูดถึงจะเป็นสภาวธรรมอะไร ท่านบอกว่านั่งเพ่ง ผมเข้าใจว่าท่านคงจะเพ่ง ซึ่งการนั่งเพ่งอย่างนั้น ความรู้สึกหายไปจริงๆ บางคนก็ความป่วยก็หายไปเลย แต่สภาวธรรมเขาเรียกว่าอย่างไร ผมสงสัย อย่างนั้นเรียกว่า สมาธิหรือเปล่า หรือเรียกว่าเป็นการเพ่ง หรือเรียกว่าเป็นอะไร

สุ. อธิบายแทนท่านไม่ได้ จะไปคาดคะเนอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว พระคุณเจ้าท่านเขียนมาอย่างไร ก็พิจารณาตอนที่คลาดเคลื่อน ที่ท่านกล่าวว่า ใช้สติ ไม่ถูกตอนหนึ่ง และจับอารมณ์ปัจจุบัน ก็ไม่ถูกอีกตอนหนึ่ง เพราะว่า ในขณะนั้นจะเป็นตัวตน

ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้าต่อ ซึ่งท่านเขียนมาว่า

สำหรับรูปธรรมนั้น คือ ธาตุ ๔ ที่เรียกว่ามหาภูตรูปนั้น ที่จริงแล้ว มันเหมือนกับท่อนไม้ หารู้สึกเจ็บปวดอะไรไม่เลย ที่รู้เจ็บ รู้ปวด เจ็บไข้ที่เห็นกันอยู่ ทุกทั่วตัวสรรพสัตว์นั้น ก็เป็นแต่สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมดไป หาใช่ตัวตนสัตว์บุคคลที่ไหนไม่เลย สิ่งที่รู้ว่าเจ็บปวดเป็นไข้และรู้สึกอะไรก็ตาม เป็นแต่เพียงเวทนาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมดไปตามสภาพของมัน เพราะเป็นแต่เพียงอนัตตาเท่านั้น ส่วนสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็นัยเดียวกัน ต่างกันแต่เกิดขึ้นคนละทางเท่านั้น ระยะความเป็นรูปธรรมนามธรรมนั้นอาตมารู้จักว่า เมื่อรูปธรรมเกิดขึ้น เช่น เวทนาที่เกิดขึ้นจากความเจ็บไข้ ขณะที่เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อนเป็นรูปธรรม เมื่อรู้สึกว่าปวดหัวตัวร้อนเพราะอะไรซึ่งเป็นไข้ รู้ว่าไข้ เพราะสิ่งนั้นๆ เรียกว่า นามธรรม เมื่อความเจ็บไข้เกิดขึ้นก็ดับไปเป็นรูปธรรม เมื่อรู้ว่าเป็นไข้ด้วยโรคนั้นโรคนี้ รู้แล้วก็ดับไป หมดไป เป็นนามธรรม พูดสั้นก็คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมดไปตามสภาพของมัน เป็นแต่อนัตตาทั้งนั้น

สุ. แสดงว่ายังสับสนระหว่างลักษณะของรูปกับนาม

เมื่ออาตมาได้พิจารณาเข้าถึงสภาวะเช่นนี้ในขณะที่เจ็บไข้ดังกล่าว เจ็บก็อยู่ส่วนเจ็บ เป็นไข้ก็อยู่ส่วนเป็นไข้ จิตใจของอาตมาก็เริ่มคลายจากความเวทนาที่กำลังเจ็บปวดด้วยความเป็นไข้หนักๆ คลายไปเรื่อย จนจิตใจของอาตมาได้รับความแช่มชื่นเบิกบานผิดธรรมดา

สุ. ตอนนี้ก็ต้องหลงลืมสติ

คือ ยิ้มต้อนรับความเจ็บปวด ยิ้มต้อนรับต่อความตาย ถึงตายไปก็ไม่หวั่น จิตมั่นปกติเหลือเกิน

ที่อาตมากล่าวมานี้นั้น เป็นความจริงที่กำลังเป็นไข้หนัก อาตมาขอความคิดเห็นจากคุณโยมบ้าง หรือส่งไปทางอาจารย์สุจินต์ให้ท่านอ่าน ออกความคิดเห็นบ้าง ให้ท่านอาจารย์สุจินต์แสดงความคิดเห็นไปทางอากาศ เพราะอาตมารับฟังจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำ พร้อมได้อัดเทปไว้มากๆ

สุ. แสดงให้เห็นว่า พระคุณเจ้าระลึกลักษณะของเจ็บเป็นบางขณะ แต่ยังไม่ทั่วในชีวิตประจำวัน

ข้อ ๒ อาตมาเคยศึกษาสายเซนมากพอสมควร แต่พวกเซนถือนามธรรมเป็นส่วนมาก รูปธรรมเขาถือเป็นของตายตัวอยู่แล้ว สิ่งที่เขาศึกษา เขาศึกษา ฝ่ายนามธรรมเพราะเขาเห็นว่านอกจากรูปธรรมแล้ว นามธรรมเป็นเหตุแห่งสภาพธรรม ที่ปรากฏ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นเหตุมาจากนามธรรมที่ปรากฏ เขาถือการดับรูปธรรมขอเพียงขั้นศีล แต่การดับนามธรรมมันดับยาก เขาถือว่ามันละเอียด เพราะความละเอียดของจิตมันมากมาย จนกว่าจะดับมันหมดก็ใช้สติจนรู้รอบ อย่างชัดเจน ซึ่งจะถึงอรหันต์ได้ พูดอย่างนี้อาตมาว่าคงไม่ขัดกันมากเท่าไรนัก

สุ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะฟังอะไร ต้องพิจารณาในเหตุในผลโดยละเอียด และคิดให้ถูกต้องว่า พระธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ว่าพอใจที่จะไม่ขัดกัน

ระหว่างการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ผู้ร่วมเดินทางก็ได้สนทนาธรรมกันด้วย ขอคัดข้อความบางตอนมาออกอากาศ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาความคิดเห็นของผู้สนทนาธรรมกันด้วย

ถ. เมื่อพูดถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว หมายความว่าในส่วนที่ เกี่ยวกับกายนั้น ก็มีในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้ง ๕ ทางนี้ จัดอยู่ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานใช่หรือเปล่า

สุ. ไม่อยากจัด คือ เรื่องของสติปัฏฐาน ขอให้เป็นเรื่องของความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเราจะกล่าวถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนกับการพูดเรื่องชื่อ แต่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรที่เมืองกุรุ ก็เพื่อประมวล สภาพธรรมที่สติระลึกอยู่เป็นประจำเป็นปกติ ซึ่งก็มีผู้ยึดถือกายว่าเป็นเรา ยึดมั่น ในกายบ้าง ยึดมั่นอย่างมากในเวทนาบ้าง ในจิตบ้าง ในธรรมทั้งหลายบ้าง แต่ ตามความเป็นจริง คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราต้องกล่าวว่า อันนี้อยู่ในหมวดไหน อันนั้นอยู่ในหมวดไหน เพียงแต่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ และสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ปรากฏเพียงชาตินี้ชาติเดียว ถ้าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าเราเคยเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเฉพาะในชาตินี้ ชาติก่อนๆ ก็เห็นมาแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา

กุรุก็อยู่มานานก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จมาประทับและทรงแสดง พระธรรมที่นี่ และแม้พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว กุรุก็ยังอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น คนที่เห็น แม้ใน ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏให้คนแต่ละยุคสมัยคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

อย่างคนที่ไม่เคยฟังพระธรรมเลย รอบๆ ตัวเราก็คงจะมี เขาก็เห็นกุรุ และก็คงเหมือนชาวกุรุในอดีตจำนวนมากซึ่งก็ได้เห็นกุรุนี้ แต่เมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสเข้าใจพระธรรม การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ อะไรขึ้น และถ้าเพียงแต่จะกล่าวว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะนี้ กายก็มี เวทนาก็มี จิตก็มี ธรรมก็มี และเท่าที่ศึกษามาแล้วก็ทราบว่า เป็นธรรมทั้งหมด เท่านั้น แต่ความเข้าใจถูกอย่างจริงๆ ในลักษณะของธรรมที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น จะต้องพิสูจน์ โดยทดสอบความรู้ความเข้าใจของตัวเองจากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลัง ได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส และทางใจที่กำลังคิดนึกในขณะนี้เอง

ถ้าชาตินี้เราตาย และชาติหน้าเราเกิด และเราเห็นกุรุนี้อีก อาจจะเป็น คนอินเดีย หรือชาวต่างชาติที่มาที่นี่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราได้สะสมความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ไว้มากพอไหมที่ถ้าชาติหน้าเราจะได้เห็นสถานที่นี้อีก และเราจะมีความเข้าใจใน สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่า การฟังพระธรรมและการอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมเจริญความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงโดยชื่อ แต่ต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังจนกระทั่งสามารถรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่เพียงปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่เคยปรากฏมาเนิ่นนานแล้วในแสนโกฏิกัปป์ และก็ยังปรากฏทางตาต่อไป ไม่ว่า จะเห็นที่ไหน ภพไหน ภูมิไหนในแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า ตราบใดที่ยังมีการเกิดอีก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

การศึกษาพระไตรปิฎก การฟังพระธรรม การสนทนาธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยลักษณะจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสภาพธรรมไม่เปลี่ยน สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาที่นี่ ที่เมืองไทย ที่โรงแรม หรือแม้แต่ในเครื่องบินก็ตาม ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อไรปัญญาสามารถ รู้จริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏ ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาและสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าสามารถพิจารณาและเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือการสะสมความรู้ที่จะละความไม่รู้ ละความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนถึงวันหนึ่ง กาลหนึ่ง ซึ่งปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่จะ แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ นี่เป็นจุดประสงค์ของการฟังแล้ว ฟังอีก ไม่ว่าจะฟังทางวิทยุ หรือสนทนาธรรมกัน

ถ. ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า เธอต้องพิจารณาเห็นกายในกาย คำว่า พิจารณา คงจะเข้าใจ คือ สังเกต สำเหนียก เห็นกายในกาย เห็น คงไม่ใช่เห็นกายด้วยตาของเรา และ กายในกาย กายคำแรกน่าจะเป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่ปรากฏทางกาย ปรากฏที่ไหน ก็ปรากฏที่ร่างกายเรา ส่วนกายคำหลังคงจะเป็นกายของเราจริงๆ ไม่ทราบว่าจะเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า

สุ. ขณะนั้นเป็นการคิดนึกเรื่องกายทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ทุกคนมีกาย และ การที่จะรู้ว่ากายไม่ใช่ตัวตน ก็คือสติระลึกที่กายหรือยัง สติระลึกที่กายหรือเปล่า และขณะที่สติระลึก รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายหรือเปล่า ทั้งหมดประมวลมาอยู่ที่ขณะนี้สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย หรือเปล่า ถ้าสติยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็เป็นเรื่องนึกคิดเรื่องกายานุปัสสนา การพิจารณารู้กายในกายต่างๆ แต่ขณะนี้พิสูจน์ได้ ความเข้าใจธรรมที่ได้ศึกษามาทั้งหมด สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่กาย หรือเปล่า

ถ. สรุปว่า พิจารณาเห็นกายในกาย ก็คือในขณะนี้ ท่านนั่งอยู่ตรงนี้ มีอะไรปรากฏที่กายพิจารณาหรือยัง พิจารณาเสียเดี๋ยวนี้เลย เป็นโอกาสดีที่สติท่าน จะเกิดขึ้น โดยการที่อาจารย์เตือนให้ท่านเจริญสติเดี๋ยวนี้

นีน่า ต้องรู้นามธรรมและรูปธรรมที่มีลักษณะที่ต่างกัน ได้ยินเสมอ มีประโยชน์มาก อาจารย์ช่วยให้เรารู้ ต้องรู้โดยไม่คิดก่อน คิดได้ว่า ความแข็งเป็นรูปธรรม ความรู้แข็งเป็นนามธรรม แต่โดยรูปร่างและลักษณะเป็นนามหรือเป็นรูป

สุ. พระธรรมช่วยอยู่แล้ว โดยการกล่าวถึงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของผู้ฟังที่จะพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเอง และสติระลึกในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ

ผู้ฟัง เมื่อก่อนนี้ผมไปหลงพิจารณาเห็นกายในกาย แม้แต่คำว่า กาย คำเดียว ที่มาจากคำว่า กาโย แปลว่า เป็นที่ประชุม ประชุมอะไร ก็เป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้มีความเข้าใจเป็นขั้นๆ อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว เราค่อยๆ เข้าใจเป็นขั้นๆ ขั้นแรก เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของเจตสิก เป็นเรื่องของรูป เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ต่อมาเมื่อได้ยินคำว่า สภาพ สภาวธรรม ขณะนี้บอกว่า แข็ง ความจริงถ้าใช้คำว่า สภาพแข็ง ผมเข้าใจว่าเป็นลักษณะปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่จะเข้าใจในขั้นของการฟัง การพิจารณา แต่เป็นขั้นการอบรม เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเรื่อง มหาสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็กล่าวได้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ จิตเป็นสภาพรู้ แล้วแต่ว่าจะมีสติระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางไหน ผมเริ่มต้นอบรมอย่างนี้

สุ. ไม่ทราบจะมีใครเพิ่มเติมหรือเปล่า แต่ทั้งหมดก็รวมอยู่ที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าเราเกิดมา เราเห็น โดยที่เราไม่เคยพิจารณาหรือ คิดเลยว่า ที่เห็นในขณะนี้เป็นอะไรแน่ แต่พระผู้มีพระภาคทรงคิดเรื่องสัจจธรรมก่อน ที่จะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะว่าเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีโลภ มีโกรธ มีหลง มีสภาพธรรมมากมาย แต่สภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แต่การที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ต้องอบรมเจริญปัญญามากถึง ๔ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่มีปัญญาเป็นอัธยาศัย

เพราะฉะนั้น สำหรับเรา จะต้องฟังพระธรรมเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่คำที่เรากล่าวว่า นามธรรม รูปธรรม ก็ไม่ได้พ้นไปจากกำลังเห็นขณะนี้

การฟังพระธรรม ก็คือฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้เข้าใจว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ขั้นฟัง และขั้นพิจารณา และถึงขั้นที่ในขณะนี้เอง ขณะที่เริ่มเข้าใจ ขณะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ มิฉะนั้นแล้วเราก็จะคิดเรื่องอื่นขณะที่กำลังฟัง มีเสียงทำให้คิดเรื่องอื่น แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะจะสามารถระลึกตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งอาจจะเป็นเสียง หรือเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียงก็ได้

ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม ไม่ได้ฟังเรื่องอื่น นอกจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่ทำให้สติอีกขั้นหนึ่งเกิด คือ ขั้นที่ขณะที่กำลังเห็นตามธรรมดาอย่างนี้ เริ่มรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง นี่คือทางตา ต้องฟังไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าสติจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตรงกับที่ ได้ศึกษา

ทางหูก็เช่นเดียวกัน มีเสียงกำลังปรากฏขณะนี้ สติสามารถระลึกและรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และสภาพที่รู้เสียงก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เท่านี้เอง โดยที่ต้องละความต้องการที่จะบรรลุผล ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าบางคนเพียง เริ่มฟังธรรม อยากได้ผลแล้ว เพียงเริ่มฟังยังไม่ทันไรเลย สติปัฏฐานก็ยังไม่ได้เกิดมากมาย แค่เริ่มฟังก็อยากเป็นพระโสดาบันบ้าง อยากจะถึงนามรูปปริจเฉทญาณบ้างแสดงให้เห็นว่า โลภะมีกำลังพอที่จะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง แม้เพียงขั้นฟังโลภะก็ยังทำให้อยากจะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ หรืออยากจะเป็นพระโสดาบัน

ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจลักษณะของโลภะ เพื่อโลภะจะได้ไม่เกิดขึ้น และชักพาไปสู่การกระทำต่างๆ ที่จะทำให้คิดว่า สามารถทำให้ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้

ต้องเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เรื่องอยาก ขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทำอย่างไรปัญญาจะเจริญขึ้น ก็ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งมีการระลึกรู้ขณะที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้างไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดว่า เมื่อไรจะถึง ช้าเหลือเกิน อยากถึงเร็วๆ ถ้าคิดอย่างนั้นเมื่อไร ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่มี โลภะเข้ามาแทรก มากั้น ทำให้บางคนอาจจะเขวไป

เปิด  171
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566