แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1990

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔


ถ. ออกมาถามนี่ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะโลภะหรือเปล่า แต่คงใช่แน่ๆ เพราะที่มานั่งฟังธรรม ศึกษา และพยายามเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องการล่วงพ้นอบาย แต่ฟังดูแล้ว ถ้าข้อความเป็นเพียงแค่นี้ ไม่มีทางเลย กำลังเป็นห่วงอนาคตของตนเองเพราะติดในรสอาหารต่างๆ เพียงเท่านี้ก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่ก็ต้องประกอบอกุศลกรรมด้วย ฉะนั้น ต้องมาดูที่อกุศลกรรม อกุศลกรรมบถ ๑๐ ไล่ไป ไล่มา จะหาทางรอดจากอบายได้ไหม ทานอาหารทุกวัน อดใส่พริกน้ำปลาไม่ได้เลย อกุศลกรรมบถ ๑๐ กาย ๓ วาจา ๔ ใจ ๓ ไล่ไปไล่มา รู้สึกจะไม่พ้นอีกแล้ว ติดใจตรงโลภะ เติมน้ำปลาก็โลภะ สรุปแล้วหมดหวังสิ้นเชิง คงต้องไปเป็นสัตว์เดียรัจฉาน อย่างเบาะๆ ก็กินหญ้า อย่างหนักหน่อยก็กินคูถ แต่ดีหน่อยที่เราจะช่วยกันกินหลายๆ คนที่นั่งในห้องนี้ รวมทั้งพระคุณเจ้าด้วย อย่างนั้นหรือ ผมยังไม่แน่ใจ ขอให้ชัดๆ กว่านี้

สุ. ไม่ได้บอกว่า เติมน้ำปลาน้ำตาลแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน

ถ. ติดในรสอาหาร ติดรสน้ำปลา

สุ. และต้องกระทำอกุศลกรรม คงจะมีหลายบ้านซึ่งคนในบ้านขโมยอาหาร

ถ. ถ้าพูดชัดๆ อย่างนี้ ใช้ได้ ผมกำลังจะถามว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ อันไหน สมมติว่าขโมย ก็ใช่ อย่างนั้นก็หมดเรื่อง

สุ. เป็นผู้ติดในรส แล้วก็อดไม่ได้ที่จะถือเอาอาหารที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ มารับประทาน แสดงให้เห็นว่า เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมนั้นให้ผล ก็ต้องเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน นี่ก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาหาร ๔ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังติดข้องในอาหารทั้ง ๔ ก็ไม่พ้นจากการต้องเกิดในสังสารวัฏฏ์

มีจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง มาจากวัดบ้านโคกสำโรง หมู่ ๘ จังหวัดสุรินทร์ เขียนมาเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๔ เป็นคำถามเรื่องของการปฏิบัติ

ข้อ ๑. ในคืนวันหนึ่ง อาตมาได้เกิดเป็นไข้อย่างหนัก แต่อาตมาไม่หวั่นต่อเวทนาอันเกิดจากความเจ็บไข้นั้นแม้แต่นิดเลย เพราะอาตมาเจริญสติในขณะที่เป็นไข้ คือ ใช้สติพิจารณาเวทนาที่กำลังปรากฏอย่างชัดเจนในขณะนั้น คือ พิจารณาไปตามสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ตามลักษณะของเวทนานั้นๆ ที่ปรากฏ คือ ปฏิบัติตามที่อาจารย์สุจินต์ได้บรรยาย ท่านบอกว่า สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นในขณะใด ก็ให้ใช้สติพิจารณาตามสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ คือ จับเอาปัจจุบันธรรมเป็นเหตุ คือ อาตมาแยกความเจ็บปวดออกจากจิตใจ คือ ไม่ให้จิตใจเจ็บตามปวดตาม เป็นไข้ตาม ถึงจะเจ็บ จะปวด จะเป็นไข้ ก็เป็นแต่เวทนาหรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป หมดไป เป็นแต่ธาตุรู้ สังขารคือเจตสิกธรรมไม่เกิดขึ้นเลยในขณะนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

สุ. ขอพักไว้ตอนนี้ก่อน ขอให้พิจารณาที่ท่านใช้คำว่า อาตมาเจริญสติในขณะที่เป็นไข้ คือ ใช้สติพิจารณาเวทนาที่กำลังปรากฏอย่างชัดเจนในขณะนั้น

ความคลาดเคลื่อนอยู่ตรงที่พระคุณเจ้าเข้าใจว่า ใช้สติ แต่เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนที่จะใช้สติ แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยขณะใดที่สติเกิด จึงจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่กำลังปรากฏในขณะนั้น คือ มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ โดยไม่ควรมีความคิดว่า มีเราที่จะใช้สติ เพราะว่าใช้สติไม่ได้เลย สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ขณะที่หลงลืมสติ ก็เป็นขณะที่หลงลืมสติแล้วตามเหตุตามปัจจัย และขณะที่สติเกิด ขณะนั้นก็เพราะ เหตุปัจจัย ไม่ใช่เพราะคนหนึ่งคนใดใช้สติ การอบรมเจริญปัญญาต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น คือ ไม่มีการใช้สติ แต่รู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด เพราะลักษณะของสติปรากฏให้รู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นสติ ที่ไม่ใช่ บุคคลหนึ่งบุคคลใด

และที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า สังขารคือเจตสิกธรรมไม่เกิดขึ้นเลยในขณะนั้น

ขณะนั้นที่กำลังรู้ลักษณะของความเจ็บปวด ซึ่งเป็นสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าสังขารคือเจตสิกธรรมไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะนั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ต้องให้สอดคล้องกันทั้งปริยัติและปฏิบัติ คือ ปริยัติจะทำให้เข้าใจได้ถูกต้องว่า ขณะนั้นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่สติกำลังระลึกรู้นั้น เป็นอะไร เช่น สภาพของความรู้สึก ไม่ใช่จิต ความรู้สึกไม่ใช่จิตเห็น ความรู้สึก ไม่ใช่จิตได้ยิน ความรู้สึกไม่ใช่จิตที่กำลังรู้สภาพที่แข็งหรืออ่อน หรือสภาพที่กำลังปวดเจ็บ

ขณะนั้นถ้าอาศัยการฟัง ก็จะรู้ได้ว่า จิตและเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน และขณะที่กำลังระลึกรู้ลักสภาพของเวทนา ความรู้สึก ความรู้สึกนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่เจตสิกไม่เกิดขึ้นเลย และถึงแม้จะมีเจตสิกหลายประเภทเกิดร่วมกับจิตในขณะหนึ่งๆ แต่ก็แล้วแต่ว่าลักษณะของเจตสิกใดจะเป็นอารมณ์ที่สติระลึก ซึ่งต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ในจิตดวงเดียวกัน จิตขณะหนึ่งเป็นอกุศลเกิดขึ้นและดับไป จิตขณะต่อไปเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของอกุศลจิต ซึ่งเกิดดับสลับกันจนกระทั่งลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้ศึกษาให้เริ่มรู้ ให้เข้าใจได้

ผู้ฟัง ผมขอเพิ่มเติม ไม่ได้สงสัย การที่พระคุณเจ้าได้ใช้สติพิจารณาเวทนา และเป็นเวลานานด้วย การพิจารณาติดต่อกันอย่างนี้ ผมคิดว่า เป็นการคิดนึก เรื่องเวทนามากกว่าที่จะเป็นสติระลึกรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

สุ. เรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้เฉพาะตัวของแต่ละท่าน และทุกท่านก็ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมาแต่ละท่านก็ไม่น้อย บางท่านก็เป็นปี เป็น ๑๐ ปี เป็น ๒๐ ปี ซึ่งท่านเองจะเป็นผู้ที่รู้ว่า สติของท่านเริ่มเกิดบ้างหรือยัง และความรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้นหรือยัง หรือยังรู้บ้าง ไม่รู้บ้างไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นของธรรมดา ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว และมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องลักษณะของสภาพธรรม กิจในขณะที่สติระลึกลักษณะสภาพธรรมก็คือ ปัญญาจะค่อยๆ เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึกตรงตามที่ได้ศึกษา

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านแม้แต่พระคุณเจ้ารูปนี้ ท่านจะมีการค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรง หรือยังไม่ตรงทีเดียวกับลักษณะสภาพธรรม ก็แล้วแต่ การฟัง การพิจารณาของท่าน และการใส่ใจมนสิการในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิด จนกว่าจะรู้

ถ. ผมยิ่งเรียนยิ่งงง ท่านบอกว่า สภาพความรู้สึกไม่ใช่จิตอย่างเช่น จิตเห็น จิตได้ยิน ความรู้สึกเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ขณะยืนนี่เป็นแข็ง เป็นจิตหรือเจตสิก ผมชักงง อยากรู้ว่าจิตคืออะไรแน่ อย่างร้อน ตรงไหนเป็นจิต ตรงไหนเป็นเจตสิก

สุ. มีสภาพที่รู้ลักษณะที่ร้อนไหม ในขณะที่ร้อนปรากฏ

ถ. ร้อนปรากฏ ก็รู้ว่าร้อน

สุ. มีสภาพที่กำลังรู้ร้อนที่ปรากฏ

ถ. รู้สภาพร้อนที่ปรากฏ

สุ. มีสภาพธรรมที่กำลังรู้ร้อนที่ปรากฏ

ถ. สภาพที่รู้ว่าร้อน เป็นจิต แต่เจตสิกอยู่ตรงไหน เพราะท่านบอกว่า รู้สึกไม่ใช่จิต

สุ. รู้สึกสบาย

ถ. สภาพความรู้สึกไม่ใช่จิต

สุ. รู้สึกสบายกาย หรือไม่สบายกาย เป็นสุข หรือเป็นทุกข์

ถ. เข้าใจแล้ว คำว่า ความรู้สึก ท่านหมายถึงเวทนา ขอบคุณ

สุ. ต้องรู้ขันธ์ทั้ง ๕ จริงๆ

พระ สักครู่โยมอาจารย์กล่าวว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่อบรม สติปัฏฐานเกิด บางครั้งก็คิดว่าใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสนทนากับเพื่อนคนหนึ่ง เรื่องการระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ ในขณะที่มีการสนทนาว่า ลักษณะของรูปารมณ์คือขณะที่เห็นได้ทางตา บุคคลนั้นก็กล่าวว่า ขณะที่คุยกันอยู่ ก็สนใจในเนื้อเรื่อง แต่มีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีอีกสิ่งหนึ่งคือสีหรือสิ่งที่ปรากฏ ทั่วๆ ไปที่ยังไม่ได้สนใจก็มี เขามีความสงสัยว่า ใช่รูปารมณ์หรือเปล่า รูปารมณ์เป็นอย่างไร เขาถามแบบนี้ ก็แนะนำกันในกลุ่มสนทนาว่า บางครั้งการเจริญสติปัฏฐานอาจจะเกิดความลังเลสงสัยว่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า บางครั้งก็มีความสงสัยว่า ทำอย่างไรขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน

สุ. เรื่องทำอย่างไร ต้องตัดออก ไม่ใช่เรื่องทำทั้งหมด ถ้าเรื่องทำแล้วผิด แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจขึ้น เพิ่มความเข้าใจขึ้น คือ สนทนาให้เข้าใจชัดขึ้นว่า รูปารมณ์นั้นคืออะไร เพราะว่าเป็นภาษาบาลี ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ขณะนี้ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแน่นอน และสิ่งที่ปรากฏทางตานี้ ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น ถ้าขณะนั้นกำลังได้ยินเสียง ขณะนั้นไม่ใช่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้รู้ แต่ต้องเป็นเสียงที่ปรากฏให้รู้

เพราะฉะนั้น ถ้าใช้ภาษาบาลีก็ยังเป็นคำถามอย่างที่ว่า ใช่รูปารมณ์หรือไม่ใช่ รูปารมณ์ และจะรู้รูปารมณ์ได้อย่างไร บางคนก็บอกว่า ไม่เคยเห็นรูปารมณ์เลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาตั้งแต่เกิดที่ลืมตาขึ้นมาแล้ว แม้หลับตาหรืออยู่ในที่มืด เมื่อมีจักขุปสาท และมีสิ่งที่กระทบตา ขณะนั้นก็ยังมีเห็น เพียงแต่สีที่ปรากฏนั้นไม่ชัดเจนเป็นหลายๆ สีเหมือนอย่างเวลาที่มีแสงสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัณณะในมหาภูตรูปปรากฏ

จะใช้คำว่า รูปารมณ์ หรือวัณณะ วัณโณ ก็ตามแต่ ก็หมายความถึง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏทางตาว่าเป็นแต่เพียงธรรมอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่าเคยชินต่อการยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรแล้วจะระลึกที่รูปารมณ์ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องฟังเรื่องของรูปารมณ์อีก ฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาอีก จนกระทั่งมีความเข้าใจ ซึมซาบจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา แท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดถึงเรื่องจะทำอย่างไร

พระ ในขณะสนทนาก็มีการสอบถามถึงลักษณะความแตกต่าง ผู้สนทนา ก็พูดลักษณะที่ต่างจากทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายว่า สิ่งนั้นปรากฏได้เพียง ทางตา และพูดถึงว่าขณะยังไม่ได้คิดนึกสนใจในรูปร่างว่าเป็นอะไร เขาคิดว่าน่าจะเป็นรูปารมณ์ อาตมาฟังแล้วเกิดคำถามว่าจะใช่ไหม แทนที่จะเปรียบเทียบกับการศึกษาของตัวเองว่ารูปารมณ์เป็นอย่างไร … สุ. น่าคิดว่า ถ้าไม่ใช่รูปารมณ์แล้วเป็นอะไร

พระ ก็ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่น เพราะขณะนั้นปรากฏได้ทางตาเท่านั้น

สุ. เพียงแต่ไม่คุ้นกับการที่จะรู้ว่า สภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ากำลังปรากฏอยู่ และเมื่อไหร่จะรู้จริงๆ อย่างนี้ เพราะว่าปรากฏตลอดเวลา ทุกวันด้วย เพียงแต่ปัญญาไม่รู้ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาโดยการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตานั่นเองให้เข้าใจขึ้น แต่จะบอกว่าไม่เห็นรูปารมณ์ไม่ได้ จะบอกว่า ใช่รูปารมณ์หรือเปล่าก็ไม่ได้ รู้ว่าเป็นรูปารมณ์ แต่ปัญญาไม่สามารถละการที่เคยยึดถือรูปารมณ์ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สภาพที่ปรากฏทางตาต้องเป็น รูปารมณ์แน่นอน จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

พระ และก็เกิดคำถามว่า จะเป็นโลภะหรือเปล่าในขณะนั้น ในขณะที่ สติปัฏฐานรู้รูปารมณ์ กับโลภะรู้รูปารมณ์ต่างกันอย่างไร ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำ

สุ. เห็นตลอดเวลา แต่ไม่ได้ระลึกที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่ชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ขณะใดที่มีการระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ในขณะนั้นก็ค่อยๆ รู้ความจริงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นชั่วขณะที่กำลังเห็น และไม่มีอะไรอีกแล้ว คนก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ขณะที่เห็นก็ชั่วขณะหนึ่ง มีสภาพที่ปรากฏทางตาให้คิด เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เมื่อสภาพธรรมนี้ไม่ปรากฏทางตา ก็เหลือแต่เพียงความคิดที่เป็นอัตตสัญญา จำไว้ว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน เหมือนกับที่กำลังยืนอยู่ มีแข็งปรากฏ แต่ไม่เคยระลึกตรงแข็งที่กำลังปรากฏ แต่มีอัตตสัญญาจำไว้ว่า กำลังยืนอยู่ ทั้งๆ ที่ยืนไม่มีปรากฏเลย ฉันใด เวลาที่สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ไม่เห็น ก็ยังมีอัตตสัญญาที่ยึดมั่นจำไว้ว่า เห็นเป็นคน เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องรู้ความจริงของขันธ์ทั้ง ๕ แม้สัญญาขันธ์ที่จำ ก็ต้องรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพจำเท่านั้น ไม่ว่าจะคิดอย่างหนึ่ง อย่างใดขณะหนึ่งขณะใดก็รู้ว่าขณะนั้นจำ เป็นความจำที่กำลังมีเรื่องนั้น ถ้าไม่จำ ก็ไม่สามารถคิดถึงเรื่องนั้นได้ และไม่ใช่เพียงจำเรื่องนั้น ยังปรุงแต่งด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้างมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่คิดซึ่งวิจิตรต่างๆ ด้วยสังขารขันธ์ ก็จะรู้ได้ว่า เป็นความคิดด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ เป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ในขณะที่คิด และถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็สามารถพิจารณารู้ลักษณะของขันธ์ทั้ง ๕ ได้ ค่อยๆ รู้ไปทีละขันธ์จนกว่าจะครบ แต่ถ้าไม่รู้ หรือรู้ไม่ครบ ก็ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

พระ แสดงว่า โลภะไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีความรู้เช่นนั้น แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด สามารถ รู้ได้ว่า มีเพียงธรรมที่ปรากฏ ไม่มีความคิดนึกถึงสัตว์บุคคล หรือจำว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะนั้น

สุ. เจ้าค่ะ ในขณะนี้ ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นถ้าไม่ใช่ โทสมูลจิตก็เป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิตแน่นอน และความรู้สึกโดยมากทุกท่าน ก็เป็นปกติ คือ เฉยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นเฉยๆ ก็ไม่ใช่โทสมูลจิต ขณะนั้น ต้องเป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต ถ้าไม่เห็นโลภะเลย แสดงว่าไม่ใช่ปัญญาแน่นอน

เปิด  159
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565