แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1353

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๗


ถ. แต่บัญญัติมาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่างที่มารวมกันเป็นกลุ่มก้อน

สุ. จึงไม่ประจักษ์ความเกิดดับ เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดดับก็ยึดถือ สภาพที่ปรากฏนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ถ. บัญญัติไม่ใช่ของจริงหรือ

สุ. สัตวบัญญัติ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่สามารถจะปรากฏทางหู เวลากระทบสัมผัสทางกาย ทุกสิ่งแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน เหมือนกันหมด จึงเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา

ถ. บัญญัติมาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่าง อ่อนแข็ง เย็นร้อน สี เสียง มารวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่าคน มีสีอย่างนั้น มีสัณฐานอย่างนั้น มีเสียงอย่างนั้น ก็เป็นคนนั้น บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์

สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกเป็นแต่ละทวาร และทวารหนึ่งต้องดับจริงๆ อย่างทางตา รูปที่ปรากฏในขณะนี้มีอายุเพียง ๑๗ ขณะและดับ เพราะฉะนั้น ๑๗ ขณะนี่ยังไม่ทันเดิน หรือยืน หรือก้าว หรืออะไรทั้งนั้น ที่จะยกมือขึ้นนี่ก็เกิน ๑๗ ขณะแล้ว เพราะฉะนั้น ที่เห็นเป็นคนเดิน หรือว่าเห็นเป็นคนยกมือ แสดงให้เห็นว่า รูปดับ และเกิดสืบต่อทั้งทางจักขุทวารวิถี ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีเกิดมากมายจนกระทั่งปรากฏเป็นกำลังเดิน หรือกำลังยกมือ

ตามความเป็นจริง ๑๗ ขณะนี้เร็วมาก เพราะทางตา ๑๗ ขณะนี้ต้องดับก่อน ที่จะได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ที่ปรากฏเหมือนทั้งได้ยินด้วยและทั้งเห็นด้วย ในช่วงนี้ ระหว่างได้ยินกับเห็น รูป ๑๗ ขณะทางตาดับไปแล้ว และเสียงก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้น การยกมือที่เห็นเป็นคนยกมือ เห็นเป็นคนเดินแต่ละครั้ง นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับมากมาย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ก็ยึดถือโดยบัญญัติสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นคนบ้าง เป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง

แต่อย่าลืม แม้เมื่อเริ่มศึกษาปรมัตถธรรมว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่ มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ สิ่งที่ได้ศึกษาแล้วก็ต้องเป็นความจริงตั้งแต่ต้นไปจนตลอด และแล้วแต่ว่าสติปัญญา จะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในสิ่งซึ่งอาจจะชินหูและพูดตามได้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งซึ่งมีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้หรือเปล่า

รสมีจริง แข็งมีจริง บัญญัติรสและแข็งนั้นว่าองุ่น แต่สิ่งที่มีจริงคือรส เกิดขึ้นและดับไป ๑๗ ขณะ แข็งเกิดขึ้นและดับไป ๑๗ ขณะ จึงไม่มีองุ่น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่เพียงรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

ปรมัตถธรรมต้องเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องย้อนกลับไปให้ตรงกับแม้ตอนต้นที่ศึกษา แม้แต่คำว่า อนัตตา ก็ต้องเข้าถึงอรรถของ ปรมัตถธรรม ทั้งขั้นของการฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น อย่าลืม ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

ถ. ของจริงที่ท่านแยกเป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ บัญญัติจะเป็นสมมติสัจจะได้ไหม

สุ. แต่บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์

ถ. แต่เป็นของมีจริง เรียกว่า สมมติสัจจะ ได้ไหม

สุ. ได้ แต่ไม่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ อย่างองุ่น ชื่อเท่านั้น ชื่อองุ่นนั้นไม่มีรสอะไรทั้งสิ้น แต่รสที่มี บัญญัติรสนั้นว่าเป็นองุ่น

สำหรับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ นอกจากจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังพอใจในบัญญัติ ธรรมดาๆ ซึ่งเป็นไปในชีวิตประจำวัน ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะ ให้จิตตั้งมั่นจดจ้องที่ลมหายใจเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้ ในขณะนั้นเป็นการอบรมหรือการทำสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ต้องเป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ สัจจบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความพอใจที่จะทำสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่า ต้องทำอย่างนี้ก่อน และมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรมจะได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าไปทำมิจฉาสมาธิก่อน จะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

การที่สติจะเป็นสัมมาสติ เป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ได้ ก็เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตาที่กำลังเห็นจะได้รู้ว่า ขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ ดูกีฬา หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ จะอ่านหนังสือ จะดูภาพเขียน ก็จะรู้ว่า ขณะใดเป็นบัญญัติ ขณะใดเป็นปรมัตถ์ มิฉะนั้นแล้วอาจจะคิดว่า เรื่องในโทรทัศน์เป็นบัญญัติ แต่ว่าที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงเป็นบัญญัติทั้งนั้น แม้แต่ชื่อของทุกท่านก็เป็นนามบัญญัติ เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่สะสมมาของแต่ละบุคคลที่สมมติขึ้นว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้

เรื่องของมิจฉาสมาธิที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ต่างกับขณะที่เข้าใจว่า มิจฉาสมาธิเป็นทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น มิจฉาสมาธิ มี และไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ขณะใดที่ไม่ใช่ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเข้าใจว่าเป็นหนทางที่จะ ทำให้ชำนาญขึ้นในการที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าเข้าใจ อย่างนี้ ผิดทันที เพราะสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมโดยถูกต้อง ไม่ได้อาศัยการทำมิจฉาสมาธิก่อน

ถ. ในลักขณาทิจตุกะกล่าวว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ของวิปัสสนา

สุ. หมายถึงสมาธิอะไร

ถ. คงเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเป็นเหตุใกล้

สุ. ถูกต้อง

ในคราวก่อนเป็นเรื่องของบัญญัติอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มีอยู่เป็นประจำวัน ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ มีบัญญัติเป็นอารมณ์มากไหม ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่ ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก จะมีอารมณ์อื่นอีกได้ไหม นอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์

ในวันหนึ่งๆ ตลอดชาตินี้ ชาติก่อน ชาติหน้า ทุกภูมิ ทุกโลก จะมีอารมณ์อื่นนอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ไหม ลองคิดดู มีได้ไหมอารมณ์อื่น นอกจาก ๒ อารมณ์นี้

ตอบว่า ไม่ได้ เพราะอารมณ์มี ๖ เท่านั้น และในอารมณ์ ๖ นี้ นอกจากปรมัตถธรรมก็เป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้น ไม่มีอารมณ์อื่นอีก

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า ถ้าพูดถึงคนธรรมดา ชีวิตประจำวันของทุกคน เห็น จักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตมีปรมัตถอารมณ์เดียวกับจักขุทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไปวาระหนึ่ง ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

เอาสีออกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ไหม เพราะที่ใดก็ตามที่มีมหาภูตรูป ๔ ที่นั้นต้องมีสี คือ วัณณะ และมีกลิ่น รส โอชา รวมอยู่ด้วย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป ๘ รูปรวมอยู่ในกลุ่มหนึ่งๆ ของรูป เพราะฉะนั้น เมื่อไม่สามารถเอาสีออกจากมหาภูตรูปได้ สีจึงปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งซึ่งบัญญัติให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นคืออะไร

ทางตาที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีสีเลย เอาสีออกให้หมดจากมหาภูตรูป สามารถที่จะเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ได้ไหม ก็เห็นไม่ได้ แต่เมื่อมี สีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป จึงปรากฏให้เห็น ทำให้บัญญัติสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ความหมายโดยอาการใดๆ นั่นคือบัญญัติ ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม

ต้องมี การฟังพระธรรมต้องพิจารณาถึงเหตุผลประกอบไปเรื่อยๆ

อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง บัญญัติธรรมอย่างหนึ่ง ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ลืมไม่ได้เลย การที่กล่าวถึงเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องว่า ทางตาในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏเป็น สีสันวัณณะต่างๆ เพราะเอาสีออกจากมหาภูตรูปไม่ได้ จึงปรากฏให้เห็นสีของ มหาภูตรูป ทำให้เห็นเป็นบัญญัติต่างๆ ขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึก จะต้องแยกระลึกให้ถูกต้องว่า ทางตาที่กำลังปรากฏ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสันต่างๆ เท่านั้น ส่วนในขณะที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต

เมื่อได้ศึกษาอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกชีวิต ตามความเป็นจริง ต้องมีขณะที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง และมีขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง สืบต่อกัน เช่น ทางตาที่เห็น ไม่ได้เห็นแต่ปรมัตถอารมณ์ทาง จักขุทวารวิถี เมื่อจักขุทวารวิถีดับหมดแล้วถึงมโนทวารวิถี มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น มิฉะนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่รู้บัญญัติว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอาหาร เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นช้อน เป็นส้อม จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏ เป็นสีซึ่งติดอยู่กับมหาภูตรูป จะเอาสีนั้นออกจาก มหาภูตรูปไม่ได้ จึงปรากฏว่าบัญญัติเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีบัญญัติ เป็นอารมณ์ สัตว์ดิรัจฉานก็ต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์เหมือนกัน มีใครบ้างที่ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่มีเลย

นี่เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์อื่นๆ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน และปุถุชน ต่างก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง แต่ต่างกันอย่างไร หรือว่าไม่ต่างกันเลย ระหว่างพระอริยเจ้ากับปุถุชนซึ่งต่าง ก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง ต่างกันไหม

ต่างกันที่ปัญญา เพราะปุถุชนไม่เคยรู้เรื่องปรมัตถธรรมเลย จึงมีการยึดถือบัญญัตินั้นว่าเป็นสิ่งที่จริง แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เที่ยง และบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นแต่เพียงการหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ถ้าจิตเจตสิกไม่มี บัญญัติจะ มีได้ไหม ก็ไม่ได้

ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่มีนามธรรม ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก จะมีบัญญัติไหม ก็ไม่มี เพราะรูปไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ จิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น บัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ถ้าจิตเจตสิกไม่เกิด ก็ไม่มีการ รู้บัญญัติ ถ้ามีแต่รูปธรรมอย่างเดียวเท่านั้นจะไม่มีบัญญัติเลย แต่เพราะจิตเจตสิกเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวารแล้ว วาระต่อไปยังรู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น การที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล กับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลจึงต่างกัน เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยึดถือบัญญัติว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลรู้ว่า สภาพธรรมขณะใดเป็นปรมัตถธรรม และขณะใดเป็นบัญญัติอารมณ์

ขณะใดที่จิตรู้บัญญัติ ขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จะมีมิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร

ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ กับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ จะแยกกันได้อย่างไร

ขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มีความพอใจในอารมณ์ทุกอย่างได้ พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาและในบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา พอใจในเสียงที่ได้ยินทางหูและบัญญัติของเสียงที่ได้ยินทางหูด้วย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน เป็นปกติ ไม่ได้มีความเห็นใดๆ เกิดขึ้น

นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เกิดบ่อย เป็นประจำ ขณะนั้นไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖

พระอรหันต์มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ไม่มีโลภมูลจิต แม้ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็ไม่มี เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ถึงแม้จะรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็น ปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นบัญญัติธรรม แม้อย่างนั้นก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ยินดียินร้ายไปตามปรมัตถอารมณ์และบัญญัติอารมณ์

เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขณะที่ ยึดมั่นในบัญญัติต่างๆ มีความเห็นผิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ ในเมื่อบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ยึดถือว่าบัญญัตินั้นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น นั่นต้องเป็นความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิ

เมื่อสักกายทิฏฐิยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท จะเป็นปัจจัยทำให้มีความเห็นผิดต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี และยังมีความเห็นผิดอื่นๆ ต่อไปอีก เห็นว่ามีผู้สร้าง ต่างๆ เหล่านี้ นั่นเป็นเรื่องของความเห็นผิดต่างๆ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เปิด  142
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565