แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1352

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๗


ถ. อาจารย์บอกว่า บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ชนิดหนึ่ง ใช่ไหม

สุ. เป็นธัมมารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ

ถ. ธัมมารมณ์ จะเป็นปรมัตถอารมณ์ ...

สุ. ธัมมารมณ์มี ๖ เป็นปรมัตถธรรม ๕ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ๑

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ และวันหนึ่งๆ บัญญัติจะมากสักเท่าไร ปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมทั้งหมดไม่ให้รู้ตามความเป็นจริงเลยว่า ทางตาที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

ถ้าเมื่อไรปัญญาเจริญขึ้นอย่างนี้ ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมได้ และจะรู้ความต่างกันของปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ นี่เป็นทางตา

เวลาที่ฝันเป็นอารมณ์อะไร ทุกคนฝันแน่นอน เพราะผู้ที่ไม่ฝัน คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องเข้าใจลักษณะของอารมณ์ทั้ง ๖ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้น้อมระลึกให้ถูกจนกว่าปัญญาจะสามารถรู้ชัดได้จริงๆ ว่า ปรมัตถอารมณ์ไม่ใช่บัญญัติอารมณ์ อย่าปนกัน เพราะถ้าปนกันจะไม่สามารถละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

เป็นชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริง ทุกคนฝัน ฝันเห็นอะไร เวลาที่ตื่นขึ้นก็บอกว่า ฝันเห็นญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น เพราะฉะนั้น ฝันเห็นบัญญัติ ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลย เหมือนเห็น แต่ตามความเป็นจริง ถามว่าเห็นอะไร เห็นคน เห็นญาติผู้ใหญ่ เห็นมิตรสหาย เห็นสัตว์ต่างๆ เห็นบุคคลต่างๆ นั่นคือ ฝันเห็นบัญญัติ เพราะในขณะนั้นจักขุวิญญาณไม่ได้เกิด กำลังหลับ แต่มโนทวารวิถีจิตเกิด เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นให้ทราบว่า แม้ฝันก็เห็นบัญญัติ

ทุกท่านอ่านหนังสือพิมพ์ มีเรื่องราวต่างๆ มีรูปภาพด้วย บัญญัติทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เกือบจะไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย เพราะไม่ว่าจะเห็นทางตา ขณะใด จากหนังสือที่อ่าน หรือไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน จะฝันอย่างไร ก็บัญญัติทั้งนั้น นี่เรื่องของทางตา

ในฝัน ถ้าฝันถึงญาติผู้ใหญ่ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว บางครั้งไม่ได้พูดอะไรเลย เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่จำเป็นต้องเป็นนามบัญญัติ หรือสัททบัญญัติ เป็นสิ่งที่ปรากฏและบัญญัติว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยที่ในขณะนั้นมีความคิดว่าเป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงเป็นบัญญัติ เพราะไม่ใช่เป็นแต่เพียงสภาพปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับทางหู ตั้งแต่เกิดก็ได้ยินเสียงบ่อยๆ เป็นปกติ โดยที่ยังไม่รู้คำ ไม่มีภาษาหนึ่งภาษาใดเลยตอนที่เป็นเด็ก แต่ว่าสัญญา ความจำในเสียง สามารถที่จะบัญญัติเสียงที่จำไว้ให้มีความหมายต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นเด็กเล็กๆ และก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หกล้มเจ็บ เป็นไข้ โกรธเคือง ชอบ พอใจ ร้องไห้อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้คำที่จะอธิบาย ที่จะพูด หรือที่จะบอก

มีท่านผู้ใดจำตอนที่เกิดได้บ้างไหม ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็เห็น ได้ยิน แต่เมื่อยังไม่มีคำที่จะอธิบาย หรือยังไม่สามารถที่จะรู้ความหมาย ความทรงจำในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ผ่านไป แต่เมื่อโตขึ้นแล้ว มีคำมีภาษาที่ใช้ให้รู้ความหมายต่างๆ นอกจากจะจำสิ่งที่เห็นทางตาแล้ว ยังจำเรื่องที่ได้ยินทางหูเพิ่มเติมไปอีก ประกอบกัน ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตาและเสียงที่ได้ยินทางหู ให้เป็นทั้งรูปและเรื่องที่ประกอบกัน

ถ้าอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใด ยังไม่พอใช่ไหม ต้องทำเป็นหนังให้เห็น และมีเสียงด้วย หรือในโทรทัศน์ก็ตาม จะเห็นได้ว่า ในขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ มีบัญญัติอะไรบ้าง ทางตา ใครกำลังเล่นละคร เรื่องอะไร ชื่ออะไร ดูเสมือนว่าเป็นคนจริงๆ แต่ความจริงเป็นบัญญัติทั้งหมดจากสิ่งที่ปรากฏและจำได้ว่า นี่คือบุคคลนั้นในเรื่องนั้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันล้อมรอบไปด้วยบัญญัติ ซึ่งปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมจนกระทั่งไม่สามารถแยกรู้ได้จริงๆ ว่า ทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร

ด้วยเหตุนี้การศึกษาเรื่องของจิต กิจของจิต หรือวิถีจิตทางทวารต่างๆ จะช่วยให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นในขั้นของการฟัง เพื่อเกื้อกูลเป็นสังขารขันธ์ให้สติน้อมไประลึกลักษณะของปรมัตถธรรมโดยไม่ที่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะซึ่งเป็นการปรากฏของบัญญัติ

ถ. บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม

สุ. ไม่ได้

ถ. ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

สุ. ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดและกระทบกับชิวหาปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวาร เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต และรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ

เพราะฉะนั้น สติระลึกที่ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมจึงจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ จึงยังมีความเห็นว่า เห็นคนอยู่ตลอดเวลา ทางตา ซึ่งความจริงไม่ใช่คน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏแต่ถ้าสติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม จะเอาคนออกไปได้ เอาวัตถุสิ่งต่างๆ ออกไปได้จากเพียงสีสันวัณณะ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

ถ้าเจริญสติปัฏฐาน จะมีความรู้สึกว่าอยู่คนเดียว คือ ไม่มีใครเลยนอกจากสภาพธรรมที่เป็นเพียงรูปารมณ์ปรากฏกับจักขุวิญญาณ เป็นอย่างนั้นบ้างไหม

ถ. ไม่เป็น

สุ. ไม่เป็น และต้องรู้ด้วยว่าที่ไม่เป็นเพราะอะไร เพราะจักขุทวารวิถีกับ มโนทวารวิถีเกิดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะ กิ่งไม้ เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารก็ปรากฏต่อทางมโนทวารทันทีหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ไม่รู้ว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ

ถ. อาจารย์กล่าวว่า บัญญัติรู้ได้ทางมโนทวาร ถ้าจะเจริญสติปัฏฐาน ทางมโนทวาร ฟังแล้วคล้ายกับว่าจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

สุ. ถ้าอย่างนั้นเริ่มในขณะนี้เลย กำลังได้ยินเสียง มีบัญญัติไหม เสียงเป็นปรมัตถธรรม ความหมายที่รู้เมื่อเสียงปรากฏเป็นบัญญัติ การที่จะรู้ความหมายของเสียงที่ปรากฏ ต้องรู้ทางมโนทวาร

จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกเป็นคำ สติจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้คำว่า คำ เป็นเสียงที่บัญญัติให้รู้ว่าหมายความว่าอะไร

ถ. สติรู้สภาพที่คิดนึกได้ แต่รู้บัญญัติไม่ได้

สุ. แน่นอน ถูกต้อง แค่ทางตา ทางหู บัญญัติก็ปิดบังไว้ตลอด และยังทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ถ. แสดงว่าสภาพที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะข้ามทางมโนทวารไม่ได้เลย คือ ทางตา สภาพเห็นปรากฏ มีภวังคจิตเกิดคั่น และต่อทางมโนทวาร

สุ. ทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกับที่ทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทาง ปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน

ถ. อย่างทางตา ขณะที่เห็นเป็นปากกา แสดงว่า คำว่าปากกาเป็นทางมโนทวารแล้ว

สุ. ยังไม่ได้พูดว่า ปากกา ก็มีบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่ได้หมายความแต่เฉพาะสัททบัญญัติหรือนามบัญญัติ ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นคำ เพียงแต่สิ่งที่ปรากฏนี่

ถ. เข้าใจแล้ว เห็นแล้วจำได้ก็เป็นบัญญัติแล้ว ใช่ไหม

สุ. รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยประการใดๆ นั่นคือบัญญัติ

ถ. หมายความว่า ทุกทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องต่อด้วยมโนทวารวิถีทุกครั้ง ใช่ไหม

สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ปรากฏ คือ รูปารมณ์ จะปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวารและทางมโนทวาร เสียงก็ปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทางโสตทวารและทางมโนทวาร ทางกายก็เหมือนกัน ทวารทั้ง ๕ เมื่อปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด แล้วภวังค์คั่น และก็ต้องปรากฏต่อทางมโนทวาร

ถ. สมมติว่าเราลิ้มรสเปรี้ยว ขณะที่เปรี้ยวก็เป็นบัญญัติแล้ว ถูกไหม

สุ. อะไรเปรี้ยว

ถ. สมมติว่าทานส้มเปรี้ยว

สุ. ใช่ ส้มเปรี้ยวเป็นบัญญัติ

ถ. แต่ที่ถูกต้อง คำว่า ส้มเปรี้ยว ต้องมาทางมโนทวาร ไม่ใช่ตอนลิ้มรส

สุ. ใช่ นั่นเป็นสัททบัญญัติ แต่ถ้าเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างนี้ ก็เป็นสัตวบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ยังไม่พอ ยังชื่อนั้นชื่อนี้อีก ก็มีบัญญัติหลายอย่าง

สำหรับทางหู ถ้าไม่มีคำ ไม่มีความหมาย เรื่องราวต่างๆ คงจะไม่มากมายอย่างนี้ แต่เพราะเสียงทุกเสียงปรากฏแก่จิต เมื่อปรากฏทางมโนทวารก็ทำให้สัญญา ความจำสามารถที่จะรู้ความหมายของเสียงต่างๆ เป็นชื่อต่างๆ เป็นคำต่างๆ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทสอธิวจนทุกะ ข้อ ๑๓๑๓ และ ข้อ ๘๔๑ มีข้อความว่า

อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน

ทุกอย่างในห้องนี้มีชื่อ ใช่ไหม มีดินสอ เป็นชื่อไหม ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน

คือ การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อของธรรมนั้นๆ อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าอธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ

ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ

ถ้าไม่มีสภาพธรรม ชื่อก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรม จะไม่มีชื่อมีไหม เพราะข้อความในอรรถกถามีว่า ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ

ถ้าเข้าไปในป่า มีต้นไม้หลายอย่าง ก็จะถามว่า นี่ต้นอะไร บางคนรู้จักชื่อก็บอกว่า ต้นกระถิน ต้นมะม่วง ต้นตะเคียน แม้ต้นไม้ไม่มีชื่อก็ยังบอกว่า ต้นไม่มีชื่อ ต้นนี้ไม่รู้จักชื่อ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมีชื่อที่จะให้รู้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีธรรมใดๆ ที่จะ ไม่เป็นเหตุของชื่อ

ข้อความต่อไปมีว่า

ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมที่ไม่เป็นเหตุของชื่อหามีไม่ ธรรมเอกย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหมดก็ประมวลเข้าในธรรมเอก

ประมวลอย่างไร อธิบายว่า นามบัญญัตินี้ชื่อว่าเป็นธรรมเอก ธรรมเอกนั้นย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้ง ๔ ภูมิทั้งสิ้น ทั้งสัตว์ ทั้งสังขาร ชื่อว่าพ้นไปจากนาม หามีไม่

ถ้าไม่มีชื่อ ไม่ทราบจะเข้าใจกันได้อย่างไร จะใช้ จะเรียก จะขาน จะเอามาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าไม่ชื่อช้อน ไม่ชื่อส้อม ไม่ชื่อสบู่ ไม่ชื่อขัน ไม่ชื่อขวด

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ

เป็นขันธบัญญัติ ๕ เป็นอายตนบัญญัติ ๑๒ เป็นธาตุบัญญัติ ๑๘ เป็น สัจจบัญญัติ ๔ เป็นอินทริยบัญญัติ ๒๒ เป็นบุคคลบัญญัติหลายจำพวก

แสดงให้เห็นว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากชื่อ นามบัญญัติต่างๆ

เรื่องของโลภมูลจิต ซึ่งเกิดเป็นประจำทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ว่าเป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ต้องรู้ด้วยว่า อารมณ์ของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ใช่พอใจเฉพาะแต่ในปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังพอใจไปจนกระทั่งถึงชื่อต่างๆ เรื่องต่างๆ บัญญัติต่างๆ ทั้งนิมิตและ อนุพยัญชนะด้วย

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ตอบกันได้แล้วว่ามีอะไรเป็นอารมณ์ ก็มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ จนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง

ถ. ไม่ว่าภาพองุ่น หรือองุ่น เวลาเราไปแตะต้อง อ่อนแข็งก็เป็นปรมัตถ์ รสขององุ่นก็เป็นปรมัตถ์ ปรมัตถ์หลายๆ อย่างรวมกันก็เป็นองุ่นจริงๆ ที่เราบัญญัติ เพราะฉะนั้น บัญญัติก็เป็นของจริง

สุ. รูป รส เกิดและดับไป เพราะมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะ รูปสีที่เห็นว่าเป็นองุ่นก็เกิดขึ้นและดับไปเพียงแค่ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น มีองุ่นได้ไหม

ถ. มีในความจำ

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นองุ่น แต่ความจริงสิ่งนั้นคือรส ที่เกิดและดับ สิ่งนั้นคือแข็งที่เกิดแล้วดับ

เปิด  165
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565