แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1254

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๖


สำหรับจิตแยกได้โดยหลายประเภท แยกโดยประเภทโสภณะ และอโสภณะ ก็ได้ เช่น อกุศลจิตเป็นอโสภณจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิตเป็นอโสภณจิต ๑๘ ดวง เพราะเมื่อไม่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะซึ่งเป็นเหตุที่ดี จะเป็นโสภณะไม่ได้เพราะฉะนั้น อกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ จึงเป็นอโสภณจิต ๓๐

กามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวง เป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง เป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

สำหรับกามาวจรโสภณะ ๒๔ ดวง จำไม่ยาก คือ จำแนกเป็น ๓ ประเภท เป็นมหากุศล ๘ ดวง เป็นมหาวิบากซึ่งเป็นผลของมหากุศล ๘ ดวง และเป็นมหากิริยา ๘ ดวง

มหากิริยา คือ จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก มหากิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ พระโสดาบันบุคคลมีกุศลจิตและอกุศลจิต พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ก็มีกุศลจิตและอกุศลจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จิตฝ่ายดีของพระอรหันต์ซึ่งเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเป็นมหากิริยาจิต

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง ทุกท่านซึ่งยังไม่ใช่พระอรหันต์ มีไม่ครบ สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ครบ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ไม่ครบ เพราะอเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ เป็นวิบาก ๑๕ ดวง และเป็นกิริยา ๓ ดวง ฟังดูรู้สึกว่า เป็นเรื่องของตัวเลข แต่ความจริงเป็นเรื่องที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้รู้ว่า ๑๘ ดวงนั้นมีอะไรบ้าง ก็จะรู้ว่า คือขณะนี้นั่นเองที่กล่าวถึง

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง เป็นกิริยา ๓ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะเกิดได้เพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือ เป็นวิถีจิตแรก ที่เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก่อนจิตเห็นจะเกิดขึ้น ก่อนจิตได้ยินจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็คือขณะนี้ กำลังเห็น สติระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ หรืออาจจะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ก่อน จักขุวิญญาณจะเกิด ต้องมีจิตเกิดก่อน ๑ ขณะ ซึ่งจิตนั้นไม่ได้กระทำกิจเห็น แต่เป็นกิจที่เป็นทางให้วิถีจิตต่อไปเกิดขึ้น จิตนั้นจึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต โดยศัพท์ คือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวารหนึ่งทวารใดในทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร ๑ โสตทวาร ๑ ฆานทวาร ๑ ชิวหาทวาร ๑ กายทวาร ๑

สำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธรรมมาบ้างแล้ว หรือว่าได้ฟังเรื่องของการจำแนกจิตโดยประเภทต่างๆ มาแล้ว คงพอจะจำได้ เพราะในคราวก่อนได้จำแนกจิตโดยชาติ โดยภูมิ โดยเหตุ โดยอารมณ์ โดยทวาร โดยวัตถุ

จิตดวงเดียวเท่านั้น แต่ต้องรู้ชัดในสภาพที่เป็นอนัตตา โดยการรู้ว่า จิตนั้น เป็นจิตอะไร ชาติไหน อาศัยทวารใด มีอารมณ์ใด และอาศัยรูปใดเป็นวัตถุ คือ เป็น ที่เกิด

ถ. อนิจจังกับทุกขัง มีลักษณะต่างกันอย่างไร

สุ. คำว่า ไตรลักษณะ หมายความถึงลักษณะทั้ง ๓ ไม่ใช่เพียงลักษณะเดียว จึงใช้คำว่า ไตรลักษณะ

คำว่า อนิจจัง คือ สภาพที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป

คำว่า เป็นทุกข์ และคำว่า อนัตตา ไม่ได้แยกกันเลย เป็นลักษณะของ สภาพธรรมซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับ

ลักษณะที่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงนั่นแหละเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แยกลักษณะที่เป็นทุกข์ต่างหากจากสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมนั้นเองเป็นทุกข์ และสภาพธรรมที่เกิดดับจึงเป็นทุกข์นั่นแหละ เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถยับยั้ง สภาพธรรมที่เกิดไม่ให้ดับได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะทั้ง ๓ ไม่แยกจากกันเลย จึงชื่อว่าไตรลักษณะ

เมื่อเกิดแล้วดับจึงเป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าลักษณะนี้เกิดดับ ลักษณะอื่นเป็นทุกข์ และอีกสภาพธรรมหนึ่งเป็นอนัตตา แต่สภาพธรรมที่เกิดนั้นเองดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

ถ. คำว่าอนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คำว่าทุกขัง แปลว่า ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ลักษณะก็เหมือนกัน ทำอย่างไรจะเข้าใจได้ชัดเจน อาจารย์ช่วยอธิบายให้ละเอียด

สุ. ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้น ควรจะเป็นลักษณะที่พึงเห็นหรือควรเห็นว่า เป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้เศร้าโศก แต่หมายความว่าไม่ควรเป็นที่เพลิดเพลินยินดี คือ ตรงกันข้ามกับลักษณะที่น่าเพลิดเพลินยินดี

เพราะฉะนั้น อรรถหรือความหมายอีกอย่างหนึ่งของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ คือตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เป็นสุข เพราะสภาพธรรมใดเป็นสุข ก็เป็นที่ยินดีพอใจ แต่ทำอย่างไรจะคลายความเพลิดเพลินยินดีพอใจได้ ถ้ายังคงเห็นว่าลักษณะนั้น น่าพอใจ ถ้ายังคงเป็นลักษณะที่น่าพอใจอยู่ ก็จะติด และจะเพลินอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่าลักษณะนั้นไม่น่าพอใจเลย ไม่ควรจะเป็นที่ติดที่ยินดี เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับสุข นี่คือความหมายของคำว่าทุกข์ ซึ่งไม่ใช่ให้เจ็บปวด ไม่ใช่ ให้ทรมาน หรือไม่ใช่ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่ให้เห็นว่า ไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติดหรือว่า ควรยินดี ควรเพลิดเพลินอีกต่อไป

ทั้งๆ ที่สภาพธรรมในขณะนี้ ทุกคนก็เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป จริงๆ เช่น เสียง เป็นต้น ปรากฏนิดเดียว ชั่วขณะหนึ่ง และก็หมดไป แต่ทำไมไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ คือ ยังไม่ยอมเห็นว่าเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าที่จะติด หรือ ไม่น่าที่จะเพลิดเพลินต้องการ

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เป็นทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ เป็นสภาพที่ เห็นยาก ไม่ใช่ว่าจะเห็นง่าย เพราะจะต้องประจักษ์ถึงความเกิดขึ้นและดับไป จึงสามารถเห็นว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นทุกข์ ไม่ควรยินดีเพลิดเพลินทั้งนั้น ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังคงพอใจอยู่แน่นอน เพราะว่าสภาพธรรมใดดับไปแล้ว สภาพธรรมอื่นก็เกิดขึ้นสืบต่อทันที ทำให้ไม่ประจักษ์ในการดับไปของสภาพธรรมก่อน เนื่องจากสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นสืบต่อทันที

ดูไม่น่าประหวั่นพรั่นพรึงเลย ใช่ไหม เพราะว่าไม่ประจักษ์การขาดตอนของการดับไปและการเกิดขึ้นของสภาพธรรมแต่ละขณะ

ถ. ไม่อยู่ในสภาพเดิม ก็แปลว่าไม่เที่ยง ก็น่าจะเหมือนกัน

สุ. พอไหม ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแต่ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ จึงต้องทรงแสดงว่า ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นควรเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าลักษณะจริงๆ เป็น อย่างนั้น คือ เป็นสภาพที่ไม่ควรยินดี คำว่าทุกข์ที่นี่หมายความว่าเป็นสภาพที่ไม่ควรยินดี ตรงกันข้ามกับสุข

ถ้าบอกว่าไม่เที่ยง ก็ไม่มีการสลด ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง แต่เพราะไม่ประจักษ์ว่าลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเองเป็นทุกข์ จึงต้องทรงแสดงลักษณะทั้ง ๓ ของสภาพธรรมที่เกิด ว่าสภาพธรรมที่เกิดและดับนั้นเป็นทุกข์ด้วย ไม่ใช่เพียงไม่เที่ยงเฉยๆ แต่ไม่ควรเป็น ที่ยินดี ไม่ควรเป็นที่เพลิดเพลินหรือพอใจ จะต้องประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับจริงๆ จึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร คือ เป็นทุกข์โดยที่ว่า ไม่น่ายินดีพอใจในสภาพที่เพียงเกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นเอง

จะให้แสดงแต่ลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่ให้แสดงว่าลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ด้วยอย่างนั้นหรือ ไม่จำเป็นต้องแสดงหรือ ซึ่งความจริงแล้วจำเป็นมาก เพราะที่จะรู้ว่าไม่เที่ยง ต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย

การเจริญสติปัฏฐาน หรือการที่จะอบรมเจริญสัมมัปปธานหรือโพธิปักขิยธรรม ไม่พ้นไปจากการรู้สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องของจิตเจตสิกและ รูปที่กำลังเกิดดับ แต่เพราะไม่รู้ความละเอียดของจิต และไม่รู้ว่าจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นนั้นต้องอาศัยปัจจัย คือ เจตสิก เป็นสังขารธรรมปรุงแต่งประเภทใดบ้าง ทำให้ไม่มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะกล่าวถึงเรื่องของจิต ที่เกิดดับเป็นปกติในชีวิตของแต่ละคนในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะในกามภูมิ คือ มนุษย์ ก็เป็นภูมิหนึ่งในกามภูมิ ๑๑ เป็นภูมิที่ยังเกี่ยวข้องและมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยากแก่การที่จะพ้นไปได้ ซึ่งการพ้นไป จะพ้นไปได้ชั่วคราวโดยนัยของสมถภาวนาอย่างหนึ่ง และพ้นไปโดยการดับกิเลสสนิท เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย อีกประการหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบถึงจิตที่เป็นกามาวจรจิต ซึ่งแท้ที่จริงก็ไม่ใช่ใครสักคนเดียว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดและดับอยู่ตลอดตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงจุติ ในสภาพนี้ ในลักษณะนี้ ในภพนี้ ในชาตินี้ และจะต้องถึงความสิ้นสุดของความเป็นบุคคลนี้ในวันหนึ่งเมื่อจุติจิตเกิด เป็นของที่แน่นอนที่สุด

เมื่อกรรมหนึ่งกรรมใดเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ซึ่งคงจะไม่พ้นจากกามภูมิ คือ ไม่พ้นจากเกิดในมนุษยภูมิ หรือว่าในสวรรค์ ๖ ชั้น หรือในอบายภูมิภูมิหนึ่งภูมิใดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งจะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการ ลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่อไปอีก แต่เปลี่ยนสภาพจากบุคคลนี้ เรื่องของชาตินี้ทั้งหมด เป็นบุคคลอื่นในชาติต่อไป

สำหรับจิตที่วนเวียนรู้อารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมด มี ๕๔ ชื่อว่ากามาวจรจิต ๕๔ แบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ อเหตุกจิต ๑๘ คือ อกุศลวิบากจิต ๗ กุศลวิบากจิต ๘ กิริยาจิต ๓ และกามาวจรโสภณจิต ๒๔ คือ มหากุศลจิต ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘

ทั้งๆ ที่กามาวจรจิตมีจำนวนไม่มาก คือ มีเพียง ๕๔ แต่ทุกคนมีไม่ครบ ทั้ง ๕๔ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า มีจิตประเภทไหนบ้าง และไม่มีจิตประเภทไหนบ้าง

อกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

สำหรับโลภมูลจิต ๘ นั้น โดยนัยของเวทนา เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ โดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ เกิดร่วมกับทิฏฐิคือ ความเห็นผิดต่างๆ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดต่างๆ ๔ และโดยนัยของอสังขารและสสังขาร เป็นอสังขาริก ๔ เป็นสสังขาริก ๔ นี่ป็นประเภทของโลภมูลจิตซึ่งจำแนกออกไปในโลภมูลจิต ๘

ซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า มีครบทั้ง ๘ หรือเปล่า ตามปกติในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่เจ้าความคิด ก็คงจะไม่ได้คิดเรื่องของความเห็นต่างๆ ว่า โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ จะมี โลภมูลจิตเพียง ๔ ประเภทที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดเป็นส่วนมาก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดในวันหนึ่งๆ จะมีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ความรู้สึกดีใจ บ่อยๆ หรือว่าโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาบ่อยๆ

ถ้าทุกคนตรงต่อตามความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า อารมณ์ซึ่งปรากฏให้เห็น ทางตาบ้าง ได้ยินทางหูบ้าง เป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขามากกว่าโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา พิสูจน์ดูโดยนึกย้อนหลัง วันนี้ก็ได้ ตั้งแต่เช้ามีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาบ้างไหม ถ้าไม่มี ก็ไม่พ้นจาก โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นประจำ

เปิด  161
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566