แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1252

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๖


ถ. จัดเป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ด้วยหรือเปล่า

สุ. เป็นปัจจัตตัง ขณะนั้นสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม บางท่านก็ถามว่า ปรมัตถธรรมคืออะไร ปรมัตถธรรมอยู่ที่ไหน แต่ก็ทราบแล้วโดยสติระลึก สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏในขณะที่สติระลึก สภาพธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ และขณะนี้กำลังปรากฏ แต่เพราะไม่รู้จึงแสวงหาว่า ปรมัตถธรรมอยู่ที่ไหน ปรมัตถธรรมคืออะไร

เช่น ทางตาที่กำลังเห็นขณะนี้ ต้องเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ถ้าไม่เป็น ปรมัตถธรรมจะมีอะไรปรากฏ ก็ไม่มีอะไรปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นปรมัตถธรรม และเห็นคือ สภาพที่กำลังรู้ หรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็มีจริง ก็เป็นปรมัตถธรรม แต่ที่ หาปรมัตถธรรมว่า ปรมัตถธรรมอยู่ที่ไหน ปรมัตถธรรมคืออะไร เพราะว่าเข้าใจผิด คิดว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นสิ่งที่แข็ง เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็น วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในขณะนั้น จึงไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อว่าอะไรเลย สิ่งที่กำลังปรากฏก็มีจริง

ลักษณะจริงๆ ที่มี ที่ปรากฏ โดยที่ไม่ต้องเรียกอะไรเลย นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นของจริง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปรมัตถธรรม

ถ้าสติระลึก ขณะที่กำลังระลึกจริงๆ และกำลังศึกษา คือ เริ่มรู้ว่าทางตา ที่กำลังเห็น ไม่มีใครเลยสักคนในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะเป็นเพียงสิ่งที่ คนตาบอดไม่เห็นเท่านั้นเอง ซึ่งนั่นคือลักษณะแท้ๆ ของปรมัตถธรรม ยังไม่ต้องเรียกชื่ออะไรทั้งหมด แต่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกว่าจะละอัตตสัญญา ความเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ละนิจจสัญญา ความเห็นว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ

เรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องนาน ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว และ การฟังพระธรรม ก็เพื่อเป็นเครื่องประกอบให้สติระลึกได้ถูกต้อง และในขณะที่สติระลึก ปัญญาที่เกิดจากการฟังและการพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ จะเกื้อกูล ให้ขณะนั้นสามารถรู้ลักษณะแท้ๆ ของปรมัตถธรรม และถ้าเป็นผู้ที่อบรม เจริญสติปัฏฐานมั่นคงแล้ว ขณะใดที่สติระลึก จะไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากลักษณะของปรมัตถธรรมทั้งนั้น แข็งที่กำลังปรากฏจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นของจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนในแข็งนั้น เวลาที่เสียงปรากฏ สติระลึกก็รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียง สภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงเท่านั้นเอง นี่คือลักษณะของปรมัตถธรรม

เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีปรมัตถธรรมซึ่งกำลังเกิดดับอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติสามารถจะระลึกได้ทั่วจริงๆ การเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะค่อยๆ หมดไป เพราะว่า มีแต่สภาพของปรมัตถธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ต้องเป็นปกติ และต้องทั่วจริงๆ จึงจะหยั่งถึงอรรถที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

มิฉะนั้นเวลาอ่านเป็นอนัตตาจริง เวลาสนทนาธรรมก็เป็นอนัตตาจริง แต่ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก เป็นอนัตตาหรือยัง นี่เป็นเหตุที่จะให้สติระลึกได้ว่า แม้ในขณะนั้นๆ สติปัฏฐานต้องเกิด และรู้ในสภาพที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

ถ. ขอเล่าต่อว่า หลังจากที่สติเกิดและเกิดความยินดี ตอนที่ยินดีก็เป็น ตัวเป็นตนต่อไป ในขณะที่สติเกิดนั้น เรียกว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

สุ. ย้อนไปถึงขณะนั้น ยากเสียแล้ว เพราะว่าดับไปนานแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ขณะนี้สำคัญที่สุด ถ้าจะรู้สภาพธรรมใดๆ ได้ ต้องในขณะนี้ที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ ถ้าให้ย้อนไป แม้แต่ตัวบุคคลนั้นเองจำได้แน่ชัดหรือในสภาพที่เกิดเป็นไปในขณะนั้น เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก บางครั้งแยกไม่ได้เลยว่า นี่เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะที่เกิดในขณะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ เพราะฉะนั้น ของเก่าไม่ต้องสนใจ ของใหม่คือในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าจะรู้ความจริงต้องรู้ในขณะนี้ว่า ขณะนี้เป็นสัมมาสติหรือเปล่า ถ้าย้อนไปถึงถามถึงของเดิม เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเคยเจริญสติปัฏฐานมามากบ้างน้อยบ้างประการใด ก็ตามแต่ ต้องเป็นปัญญาในขณะนี้ ถ้าปัญญาในขณะนี้สามารถรู้ได้ ก็หมายความว่าค่อยๆ อบรมมาเรื่อยๆ จนถึงรู้ตามปกติในขณะนี้ได้

ถ. เวลานอนหลับฝันว่าเจริญสติ เป็นไปได้ไหม

สุ. เป็นไปได้ เพราะเวลาที่สติเกิด สติเกิดทางมโนทวาร และฝันก็ทาง มโนทวาร แต่จะไม่นาน และบางท่านอาจจะตื่นทันที บางท่านอาจจะฝันเรื่องอื่นติดต่อกันไปทันที เหมือนเดี๋ยวนี้ไหม

ถ. เหมือนเดี๋ยวนี้ในลักษณะไหน

สุ. เหมือนเดี๋ยวนี้ในลักษณะที่ว่า สติเกิดเล็กน้อยและหมดไป และก็หลงลืมสติ และสติอาจจะเกิดบ้างเพียงเล็กน้อย และก็หมดไป จนกว่าสติจะมั่นคง

ถ. เท่าที่เรียนถามอาจารย์มา เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องไหม

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานจริงๆ เพราะขณะนี้เป็นธรรม เพียงแต่สติจะระลึกหรือไม่ระลึก ถ้าสติไม่ระลึก ก็หลงลืมสติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นเรา เป็นความเห็นผิด เป็นการยึดถือว่ามีตัวตน แต่ขณะใดที่สติระลึก มีลักษณะของปรมัตถธรรม ในขณะนั้นก็เพิ่มความรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทุกขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของ ปรมัตถธรรม

ถ. ที่โยมอาจารย์ตอบหมายความว่า ในขณะที่รู้สึกตัวว่ากำลังฝัน โดยไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม อย่างนี้จะชื่อว่าในขณะนั้นมีสภาพของสัมปชัญญะคือปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือ ในขณะที่รู้สึกตัวว่าฝัน

สุ. ขณะนั้นต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังฝัน มีแต่สภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อเป็น วิถีจิตและเป็นภวังคจิตสลับกันอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานมีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึก ในขณะนั้นสติสามารถที่จะเกิดระลึกได้ แต่คงจะเป็นระยะที่สั้นเหมือนในขณะนี้ และก็มีความฝันอื่นเกิดต่อทันที มิฉะนั้นแล้วผู้นั้นก็จะไม่รู้ว่า ในขณะนั้นฝันว่ามีสติ

ถ. หมายความว่า มีสติระลึกรู้สึกตัวสลับกัน แต่ขณะที่มีสติระลึกรู้สึกตัวนั้นอยากจะทราบว่า ขณะนั้นมีปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือเปล่า

สุ. เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องปัจจัตตัง แล้วแต่ว่าคนนั้นเขาจะรู้หรือเปล่า คนอื่นไม่สามารถที่จะบอกได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน ทุกคนต้องตอบเหมือนกันหมด คือ ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ถ้าตอบว่าชัด ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ดีๆ ท่านผู้นี้ก็จะตอบว่า เวลาระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เกิดความรู้ชัดขึ้น แต่ต้องมาจากเหตุที่สมควรว่า ที่ผู้นั้นจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัด ระลึกอย่างไร ศึกษาอย่างไร และปัญญาขั้นไหนเกิดแล้ว ถ้ายังไม่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นความเข้าใจของบุคคลนั้นว่า ค่อยๆ ชัดขึ้นในความรู้สึกของเขาเอง ซึ่งในตอนต้นๆ สติจะเริ่มระลึก แต่จะชัดไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น กว่าจะชัด หมายความว่าไม่ใช่เพียงแต่ระลึก แต่อาศัยวิริยะอย่างยิ่ง โลกียสัมมัปปธานเกิด และน้อมพิจารณาจากการที่ได้รับฟังและพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจว่า ธาตุรู้กำลังรู้ อาการรู้ ไม่ใช่ลักษณะแข็ง

เมื่อมีความเพียรที่จะน้อมไปพิจารณาบ่อยๆ บุคคลนั้นก็สามารถที่จะรู้เหตุว่า ที่รู้ชัดขึ้นเพราะเมื่อสติระลึกมีการน้อมไปที่จะรู้บ่อยขึ้น แต่ตราบใดที่นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด แต่ผู้นั้นกล่าวว่า มีความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัด ย่อมหมายความว่าความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และสำหรับบุคคลที่กล่าวนั้นก็มีความรู้สึกว่าค่อยๆ ชัดขึ้น แต่จะชัดจริงๆ ไม่ได้ นอกจากจะเป็นวิปัสสนาญาณ และถึงแม้เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้นคือนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็ไม่ใช่ว่ารู้ตลอดทั่วไปหมดถึงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา และยังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

ผู้ที่จะดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ ไม่เกิดอีกเลย คือ ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล โดยโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตดับ เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากเกิดเป็นโสตาปัตติผลจิต จากนั้นก็เป็นภวังค์ และมีการพิจารณาสภาพของมรรคจิต ผลจิต กิเลสที่ได้ดับแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ต่อจากนั้นก็เป็นสภาพของการเห็น การได้ยิน การคิดนึก ตามเหตุตามปัจจัยตามปกติ

แต่ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วก็รู้ในความเป็นพระโสดาบันว่า ยังไม่ใช่ พระสกทาคามี ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการที่ตรงต่อตัวเองตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่ขั้นที่สติเกิดหรือเปล่า มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่ว่าทุกขณะเป็นสภาพธรรมทั้งนั้น แม้แต่การคิดนึกถึงเรื่องของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หรือนามธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเกิดคั่นกับสติ ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จนทั่วจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ถ. ในขณะที่สติเริ่มระลึกรู้ และขณะที่สติกำลังระลึกรู้อยู่แต่อาจจะยังไม่ชัด ในขณะนั้นชื่อว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์แล้วหรือยัง

สุ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์มีหลายขั้น ขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ ไม่มีเรา จิตเกิดดับสืบต่อกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ขณะที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่จักขุวิญญาณ เพราะจักขุวิญญาณเห็น ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ โสตวิญญาณมี กำลังได้ยินเสียง และดับไปทันที ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินแล้ว ขณะที่กำลังฟังและพิจารณาถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นมหากุศลจิต มีสติ ขั้นฟัง ขั้นพิจารณาสิ่งที่กำลังฟังเกิดร่วมด้วย และเมื่อมีความเข้าใจ ในขณะนั้น ต้องเป็นปัญญา เพราะสภาพธรรมอื่นไม่สามารถจะเข้าใจ

ผัสสะเข้าใจอะไรไม่ได้ เวทนาเข้าใจอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเข้าใจนั้นเอง เป็นปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นฟัง และเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ในขณะที่ระลึกถึงสภาพธรรมด้วยความเข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นพิจารณา เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็เป็นผู้ตรงว่า ขั้นฟังก็เข้าใจแล้ว ขั้นพิจารณาก็เข้าใจแล้ว แต่เวลาที่สติกำลังระลึกที่อ่อนหรือแข็ง หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีความเข้าใจขั้นไหน

กำลังเป็นความเข้าใจในลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณ คือ สภาพธรรมปรากฏแก่ปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว โดยสภาพที่เป็นอนัตตา ทั้งลักษณะของปัญญาที่กำลังประจักษ์ในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีญาณสัมปยุตต์หลายขั้นสำหรับ มหากุศลจิต

จะเห็นได้ว่า จิตช่างมากมาย และวิจิตร คือ ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทางตา ต่างกันโดยอารมณ์ที่ปรากฏ มีสิ่งมากมายที่ปรากฏให้ทางตาเห็น และทางใจก็คิดต่อไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าวันหนึ่งวันใดจะสามารถรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ จากการที่เห็นและคิดถึงสิ่งที่เห็น ได้ยินและคิดถึงสิ่งที่ได้ยิน จนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องศึกษาเรื่องของจิต โดยเฉพาะเรื่องของกามาวจรจิต

ถ. สัมมาสติ ในขณะที่เริ่มระลึกรู้ใหม่ๆ ก็ดี หรือว่ามีสติระลึกรู้แต่ไม่ชัด เรากล่าวได้ไหมว่า ลักษณะระลึกเช่นนี้เป็นสัมมาสติ หรือว่ายังไม่ใช่

สุ. สัมมาสติต้องเป็นสัมมามรรค คือ ทางปฏิบัติที่ถูก ไม่ใช่ทางปฏิบัติ ที่ผิด ถ้าขณะนั้นเป็นสภาพที่ระลึกในลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้รู้ชัด ในขณะนั้นต้องเป็นสัมมาสติ

ตามธรรมดาของทุกคน ถ้าถามว่า แข็งไหม ก็ตอบได้ว่า แข็ง ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดอาจจะบอกว่า คนนั้นมีสติ แต่เปล่าเลย ใครก็ตอบได้ว่า สิ่งที่กระทบสัมผัสนั้นแข็งหรืออ่อน ไม่จำเป็นต้องมีสัมมาสติ แต่ที่จะเป็นสัมมาสติ คือ จะต้องมีการระลึกรู้ในลักษณะที่ปรากฏเพื่อที่จะศึกษา เพื่อรู้ชัดในลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง

เวลาที่ถูกถามว่า อ่อนหรือแข็ง ตอบว่าแข็งเฉยๆ ก็มี แต่เวลาที่ไม่มีใครถาม แต่สติกำลังระลึกที่แข็ง ทำไมจึงระลึกที่แข็ง ก็เพราะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแข็งที่เคยเป็นจมูก เคยเป็นแขน เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่ขณะใดที่สัมมาสติระลึก ในขณะนั้นแม้ไม่มีใครถามว่าอ่อนหรือแข็ง แต่ทำไมสติจึงระลึกที่นั่น ก็เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องประจักษ์ชัดว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นั่นก็เป็นสัมมาสติ

ไม่ใช่ว่าเมื่อสติระลึกแล้ว รู้ชัดทันที ไม่มีใครสามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ แต่ผู้ที่จะรู้ชัดได้แต่ละท่าน ต้องไม่ขาดการอบรม การน้อมไป จนกว่าจะรู้

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ ต้องเป็นสัมมาสติ เพราะเหตุว่าระลึก ก็เวลาที่มีคนถามเฉยๆ ว่า อ่อนหรือแข็ง ตอบได้ว่าอ่อนหรือแข็ง แต่ไม่ใช่การระลึกเพื่อที่จะศึกษา เพื่อที่จะประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

นี่เป็นความจริงที่ทุกท่านสามารถที่จะตอบได้ จะชัดทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งโลกียมรรคและโลกุตตรมรรค

โลกุตตรมรรค หมายความถึงขณะที่โสตาปัตติมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรจิตเกิดขึ้น จึงเป็นโลกุตตรมรรคเพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก่อนที่โลกุตตรจิตจะเกิด ก่อนที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด จะต้องมีสัมมาสติซึ่งเป็นการระลึกถูก มีสัมมาทิฏฐิ และมีมรรคองค์อื่นเกิดร่วมด้วย เพื่อที่จะได้รู้ขึ้นๆ ในลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  173
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566