แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 950

ผัสสะเป็นเจตสิก เป็นสภาพกระทบอารมณ์ ถ้ารูปกับรูปกระทบกัน เช่น ต้นไม้ล้มลงบนพื้นดิน ต้นไม้กระทบกับพื้นดิน ขณะนั้นไม่ใช่ผัสสะ แต่ขณะที่เสียงกระทบโสตปสาท โสตปสาทเป็นรูป เสียงก็เป็นรูป จะไม่มีการได้ยินเกิดขึ้นเลย ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดพร้อมกับจิตและกระทบเสียงที่กระทบโสตปสาท โสตปสาทมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่ามีเสียงปรากฏ หรือว่ามีการได้ยินอยู่ตลอดเวลา เพราะย่อมแล้วแต่ปัจจัย คือ ผัสสเจตสิกจะเกิดขึ้นกระทบอารมณ์อะไร

ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต

ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูปๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้น รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิต

จักขุปสาทเป็นวัตถุ เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ เพราะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างเดียวตามลำพัง แต่ต้องมีปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น โดยสหชาตปัจจัย

ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

โดยอรรถว่า เป็นสหชาตปัจจัย

จะได้ยินคำว่า ปัจจัย อีกคำหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นสังขารธรรม ต้องมีการปรุงแต่งอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นได้เองตามลำพัง

โดยภาษาบาลี สห แปลว่า ร่วมกัน พร้อมกัน

ชาตะ แปลว่า เกิด

ปัจจัย คือ ธรรมที่อุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิด

เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นสหชาตปัจจัย หมายความว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้ว เกื้อหนุนอุปการะให้สภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกันในขณะนั้น ไม่ใช่ต่างขณะ แต่ต้องเป็นขณะที่เกิด คือ พร้อมกันในขณะที่เกิด

ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัย หมายความว่า เมื่อมีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสหชาตปัจจัยอุปการะเจตสิกอื่นๆ ให้เกิดพร้อมกันในขณะที่จิตเกิด เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหมดจึงเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่าเจตสิกแต่ละประเภทก็ทำกิจของตน เช่น ผัสสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์

ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์พร้อมกับจิตที่รู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ ไม่ใช่ว่าผัสสะกระทบอารมณ์หนึ่ง จิตไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง เพราะในขณะที่จิตเกิดขึ้น จิตเป็นปัจจัยอุปการะผัสสเจตสิกให้เกิดพร้อมกันและกระทบอารมณ์

ขณะที่ได้ยินเสียง ทำไมโสตวิญญาณจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง

ถ้าปราศจากผัสสเจตสิกที่เกิดพร้อมโสตวิญญาณจะไม่มีการได้ยินเสียง แต่ที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นรู้เสียง เพราะผัสสะเกิดพร้อมกับจิตกระทบเสียงที่จิตกำลังได้ยิน โดยสหชาตปัจจัย

และเมื่อปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ ปัจจัย ก็ไม่ใช่อื่นไกลจากปรมัตถธรรม คือ จิตนั่นเองเป็นปัจจัย เจตสิกนั่นเองเป็นปัจจัย รูปนั่นเองเป็นปัจจัย นิพพานนั่นเองเป็นปัจจัย

เพราะฉะนั้น ก็ทราบความหมายของปัจจัยว่า เป็นสภาพธรรมที่อุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยอะไร เช่น ถ้าเป็นสหชาตปัจจัย หมายความว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นเป็นปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ย่อมอุปการะเกื้อหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมกันพร้อมกันในขณะนั้น

. จิตกับวิญญาณ

สุ. ไม่ใช่จิตกับวิญญาณ จิตกับเจตสิก ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ผัสสเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ มีจักขุวิญญาณเป็นปัจจัย หรือว่าผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นได้ไหม ได้ หรือไม่ได้

การศึกษาปรมัตถธรรมต้องเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ ต้องเข้าใจชัดขึ้น ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น และเป็นเหตุเป็นผลยิ่งขึ้น

ถ้าจะเข้าใจความหมายของสหชาตปัจจัย ซึ่งหมายความว่า สภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ก็ได้แก่จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน โดยที่ธรรมหนึ่งเป็นปัจจัย และธรรมอื่นเกิดขึ้นเพราะธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของปัจจัย จะมีสภาพธรรมที่เกี่ยวข้องกัน คือ สภาพธรรมหนึ่งเป็นปัจจัย เป็นเหตุ อีกสภาพธรรมหนึ่งเป็นผล ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปัจจยุปปันนะ แต่ภาษาไทยโดยมากไม่ใช้ ป แต่จะใช้ บ เพราะฉะนั้น ภาษาไทยใช้คำว่า ปัจจยุปบัน หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นผล หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย

ถ้าปัจจุบัน หมายความถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่โดยปัฏฐานซึ่งเป็นเหตุและผล จะเป็นปัจจัยและปัจจยุปบัน ซึ่งภาษาบาลีเป็น ปัจจยุปปันนะ

อุปปันนะ แปลว่าธรรมที่เกิดขึ้น

ความหมายของปัจจยุปบัน คือ ธรรมเหล่าใดเกิดขึ้นเพราะธรรมใดเป็นปัจจัย ธรรมเหล่านั้นเป็นปัจจยุปบันของธรรมที่เป็นปัจจัยนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัจจัย ต้องมีปัจจยุปบัน การศึกษาธรรม ถ้ารู้ว่าธรรมใดเป็นปัจจัย จะต้องรู้ด้วยว่า ธรรมใดเป็นปัจจยุปบัน คือ เป็นผลที่เกิดเพราะธรรมที่เป็นปัจจัยนั้น

นี่คือการศึกษาที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจละเอียดขึ้นว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยและดับไป

สำหรับจิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นสหชาตปัจจัย เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วยเป็นปัจจยุปบัน หรือผัสสเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นปัจจัย จิตและเจตสิกอื่นซึ่งเกิดร่วมกันเป็นปัจจยุปบัน เพราะจิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ เจตสิกจะเกิดขึ้นโดยปราศจากจิตไม่ได้ และทั้งจิตและเจตสิกจะเกิดโดยไม่เกิดพร้อมกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ต่างก็เกิดและอุปการะกันในขณะนั้น ต่างก็เป็นปัจจัยและปัจจยุปบันซึ่งกันและกัน

อนัตตา ใช่ไหม เกิดแล้ว มีปัจจัยและปัจจยุปบัน และก็ดับไป

เพราะฉะนั้น จึงเป็นมนายตนะ เพราะเป็นบ่อเกิด เป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุม สิ่งที่ปรากฏก็เป็นอายตนะ คือ ปรากฏเวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ รู้เสียงนั้น ส่วนเสียงอื่นไม่เป็นสัททายตนะ แต่เป็นสัททะ

ภาษาบาลี เสียง คือ สัททรูป เป็นรูปที่ปรากฏทางหู เพราะฉะนั้น เสียงทั่วๆ ไปที่ไม่ประชุม ไม่มีผัสสะกระทบ เสียงนั้นเป็นสัททรูป แต่เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ประชุมแล้ว เพราะผัสสะกระทบ มีมนะคือใจ เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น เสียงจึงปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าอาศัยประชุม และปรากฏได้โดยเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยิน เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

อย่าลืมความหมายของสหชาตปัจจัย ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะคิดและพิจารณาต่อๆ ไปเองได้ เวลาที่ศึกษาเรื่องของจิต เจตสิก และรูปก็รู้ว่า ธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย และธรรมใดเป็นปัจจยุปบันของสหชาตปัจจัย

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เกิดขึ้นพร้อมกันหรือเปล่า

มหาภูตรูป ๔ ไม่แยกจากกันเลย จะมีแต่ธาตุดินโดยที่ไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ หรือจะมีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ไม่มีธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ หรือจะมีแต่ ธาตุไฟ ไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมไม่ได้ มหาภูตรูปทั้ง ๔ เกิดขึ้นพร้อมกัน และดับพร้อมกัน

เพราะฉะนั้น ปฐวีธาตุเป็นสหชาตปัจจัยหรือเปล่า

ถ้าเข้าใจความหมายแล้ว เป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผล แต่จะต้องละเอียดขึ้น คือ เมื่อพูดถึงรูป รูปก็เกิด เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมใดก็ตามที่มีจริงและเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น และปัจจัยหนึ่ง คือ สหชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการที่ยังสภาพธรรมอื่นให้เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ธาตุดินเป็นสหชาตปัจจัยของธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ฉันใด ธาตุไฟก็เป็นสหชาตปัจจัยของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ฉันนั้น แต่ละธาตุก็เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัย เกิดขึ้นพร้อมกัน

และถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า เวลาที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดขึ้นแล้ว เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เพราะว่าปรากฏทั่วไป มีรูปใดบ้างที่จะขาด ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ชื่อว่ารูป ที่จะปราศจากธาตุทั้ง ๔ เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเมื่อมี ธาตุทั้ง ๔ เกิดขึ้นแล้ว ยังมีรูปอื่นอาศัยธาตุทั้ง ๔ เกิดขึ้น เป็นอุปาทายรูป ซึ่งเป็นวิการ หรือว่าเป็นอาการ หรือว่าเป็นรูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น แล้วแต่ประเภทของรูปนั้นๆ

รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่เป็นประธานมี ๔ คือ มหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป ๒๔ ซึ่งเป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปบ้าง เป็นลักษณะของมหาภูตรูปบ้าง เป็นอาการวิการของมหาภูตรูปบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่มหาภูตรูปเกิดจะมีรูปอีก ๔ รูป เกิดร่วมกับกลุ่มของมหาภูตรูปนั้น คือ อุปาทายรูป ๔ ได้แก่ สีสันวัณณะต่างๆ คือ วัณโณ กลิ่นต่างๆ คันธะหรือคันโธ รสะ คือ รสต่างๆ และอาหารรูปอีก ๑ รูป คือ รูปที่ทำให้เกิดรูปอื่นขึ้น ได้แก่ โอชาหรือโอชารูป

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีรูปเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเพราะกรรม หรือจิต หรืออุตุ หรืออาหารก็ตาม จะปราศจากมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอีก ๔ ไม่ได้

แต่ว่าบางกลุ่ม หรือบางกลาปนั้นมีมากกว่า ๘ รูป แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดไม่น้อยกว่า ๘ รูป เพราะฉะนั้น ที่ใดก็ตามที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่นั้นต้องมีสี กลิ่น รส โอชา ไม่ว่าจะเป็นรูปภายใน หรือรูปภายนอก

ไม้ มีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีสีสันวัณณะของไม้ มีกลิ่นของไม้ มีรสของไม้ และมีโอชา คือ รูปซึ่งเป็นอาหารที่ทำให้รูปอื่นเกิด เพราะฉะนั้น ปลวกก็กินไม้ และร่างกายก็ดำรงอยู่ได้ ในผักก็มีอาหารรูป

เพราะฉะนั้น ในรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมหาภูตรูปใดก็ตามที่เกิดขึ้น จะปราศจากสี กลิ่น รส โอชา ไม่ได้เลย

มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยของอุปาทายรูป ๔ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน

ถ้าเข้าใจความหมายของปัจจัย จะศึกษาต่อไปเองได้ ซึ่งในการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนา จะกล่าวถึงธรรมส่วนต่างๆ เพื่อเกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐานเท่าที่จะเป็นประโยชน์ แต่ว่าส่วนละเอียดปลีกย่อย ท่านผู้ฟังศึกษาเอง เพราะมีตำรับตำราพอที่ว่า เมื่อท่านเข้าใจเป็นเบื้องต้นแล้ว ท่านก็จะศึกษาและพิจารณาข้อความต่อๆ ไปด้วยตนเองได้ แม้แต่ในคัมภีร์ปัฏฐานซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ ของ พระอภิธรรม หรือว่าโดยอภิธัมมัตถสังคหะเป็นปริจเฉทที่ ๘ ก็สามารถจะเข้าใจความหมายเบื้องต้นตั้งแต่ในตอนต้นทีเดียวได้ เพราะจะเห็นได้ว่า จิตเป็นสังขารธรรม ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และ ในปัจจัยหนึ่งเวลาที่จิตเกิด คือ สหชาตปัจจัย มีธรรมอื่นคือเจตสิกเกิดร่วมด้วย

แต่ถ้าโดยละเอียด ต้องเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผล มหาภูตรูป ๔ เป็น สหชาตปัจจัยแก่อุปาทายรูป ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชา แต่อุปาทายรูป ๔ ไม่ได้เป็นสหชาตปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔

ธาตุดินเป็นสหชาตปัจจัยแก่ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และอุปาทายรูป ธาตุลมก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และอุปาทายรูป

มหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน และเป็นปัจจัยแก่ อุปาทายรูป แต่อุปาทายรูปไม่ได้เป็นสหชาตปัจจัยของมหาภูตรูป ๔

เพราะฉะนั้น ข้อความใน อัฏฐสาลินี ที่ว่า

มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ จริงดังนั้น ธรรมมีผัสสะ เป็นต้น ย่อมเกิดในมนะนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องสหชาตปัจจัย ก็เข้าใจความหมายนี้

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะโดยเป็นอารมณ์ ซึ่งต่อไปจะทราบว่า เป็นอารัมมณปัจจัย เมื่อจิตทุกดวงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อารมณ์ก็เป็นปัจจัยที่อุปการะให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นในขณะนั้น ถ้าจิตไม่เกิดผัสสเจตสิกก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าจิตเป็นปัจจัยแก่ผัสสะโดยสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น แยกกันไม่ได้ จะให้เกิดต่างขณะกันก็ไม่ได้

. จิตกับผัสสะเกิดขึ้นพร้อมกันใช่ไหม และขณะที่เกิดนั้นผัสสะกำลังกระทบ จิตจึงรู้อารมณ์

สุ. พร้อมกัน

. กระทบปั๊บ รู้เลย

สุ. ทันที โดยสหชาตปัจจัย ถ้าผัสสะกระทบเสียงและดับไปก่อน จิตจะเกิดขึ้นได้อย่างไรที่จะรู้เสียงที่ผัสสะกระทบ เพราะผัสสะกระทบเสียงแล้วดับไป เพราะฉะนั้น จิตย่อมเกิดขึ้นได้ยินเสียงไม่ได้ แต่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงพร้อมผัสสะที่กระทบเสียง และทั้งจิตและเจตสิกคือผัสสะก็ดับ ต่างคนต่างทำกิจ แต่ว่ากระทำกิจพร้อมกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นเพราะว่ามีปัจจัย คือสิ่งที่ทำให้ธรรมนั้นเกิดขึ้น

ปัจจัยทั้งหมดมี ๒๔ ปัจจัย โดยประเภทของปัจจัยใหญ่ๆ ปัจจัยหนึ่ง คือ สหชาตปัจจัย คือ การเป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน

สำหรับความหมายของสหชาตปัจจัย คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยอุปการะเกื้อกูลอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นจะมีนามธรรม คือ เจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และเจตสิกที่เกิดขึ้นก็เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นร่วมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

จะเห็นได้ว่า สภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้น แม้จะมองไม่เห็นเหมือนรูปธรรม แต่มีกำลัง มีพลัง เป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

เปิด  189
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566