แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 837

สุ. สัตว์รักชีวิตไหม เมื่อไปเกิดเป็นสัตว์ ก็รักในชีวิตสัตว์นั้น เป็นช้างก็รักที่จะเป็นช้าง เป็นสุนัขก็รักที่จะเป็นสุนัข เป็นแมวก็รักที่จะเป็นแมว มีความยินดีพอใจ ในภพ ในภูมิ ในสังขาร ในบุคคล ในวัตถุซึ่งเป็นที่รักของสัตว์นั้นๆ ในภพภูมินั้นๆ

ผู้ฟัง อีกเมื่อไรจะได้กลับมาสู่สุคติภูมิ ชาตินี้ผมเจริญสติปัฏฐานได้แค่ นิดเดียว ถ้าไม่ได้เกิดในสุคติภูมิอีก ก็ไม่ได้เจริญ อีกนานเท่าไรจะได้กลับมา

สุ. ขอเป็นภพๆ ชาติๆ ไปว่า กลัวอะไร ในอบายไหน

ผู้ฟัง กลัวไปสู่อบายทั้ง ๔

สุ. ในนรกกลัวการทนทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ปัจจุบันชาติที่เป็นมนุษย์ก็กลัวความทุกข์ทรมาน ที่เป็นผลของอกุศลกรรมเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่พ้น เพราะฉะนั้น ในภูมินรก ก็เป็นความทรมานซึ่งรุนแรงกว่า ร้ายแรงกว่าในภพนี้

ผู้ฟัง ผมหนักใจว่า จะต้องไปแน่ๆ สักชาติหนึ่ง

สุ. มีทางเดียวเท่านั้นที่จะพ้นได้ คือ เจริญปัญญาจนกระทั่งเป็น พระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน มิฉะนั้นแล้ว การเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็เกือบจะเหมือนในอบายภูมิ เหมือนกันใช่ไหม มีความทุกข์ทรมานในภูมิที่เป็นมนุษย์ ฉันใด ในนรกก็มีความทุกข์ทรมาน มีความหิวกระหายในภูมิมนุษย์ ในเปรตภูมิก็มีความหิวกระหาย

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว เป็นโอกาสพิเศษที่ไม่ว่าจะหิวกระหาย หรือไม่ว่าจะเจ็บปวด ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นความเป็นโอกาสพิเศษของการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงควรที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน และกุศลทั้งหลายให้เพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง คิดถึงเรื่องนี้แล้ว พยายามจะสร้างสติปัฏฐาน สร้างปัญญา สร้างบุญให้มากที่สุด กลัวว่า ตายไปจะไปอบาย

สุ. หวังว่าท่านผู้ฟังจะไม่กลัวเฉยๆ แต่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ทั้งสติปัฏฐานด้วย

ข้อความต่อไป บุคคลที่กลัวตายประเภทที่ ๔ ซึ่งเป็นประเภทสุดท้าย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

ดูกร พราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

ถ้าท่านผู้ใดยังกลัวความตาย ก็เป็นบุคคลหนึ่งในบุคคล ๔ นี้ แต่สำหรับบุคคล ๔ ที่ไม่กลัวต่อความตายก็มี เป็นบุคคลที่ตรงกันข้ามกับบุคคล ๔ จำพวกตามที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่กลัวความตาย ท่านก็เป็นบุคคลหนึ่งในบุคคล ๔ ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคคลที่กลัวความตาย

เวลาที่มีความตายเกิดขึ้น คนที่ตายแล้ว ก็เกิดแล้ว เป็นบุคคลใหม่ ลืมเรื่องเก่าหมด ท่านยังจำเรื่องเก่าได้ไหม เป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มีกุศลกรรม อกุศลกรรมมากน้อยประการใด มีสุข มีทุกข์ เกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลใดอย่างไร มีทรัพย์สมบัติข้าวของมากมายมหาศาล หรือเล็กน้อยอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะระลึกได้ แต่ว่าทุกท่านหลังจากที่จุติแล้ว ก็จะปฏิสนธิตามกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งจะเป็นกรรมในชาติไหนก็ได้ เหมือนกับที่ท่านได้เกิดแล้วในชาตินี้ ก็ไม่ทราบว่า เป็นผลของกุศลกรรมใดในอดีตอนันตชาติที่ได้กระทำแล้ว

เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ตายแล้ว จะว่าไปแล้วก็หมดเรื่อง ไม่มีการที่จะต้องกลัว ไม่มีการที่จะต้องเศร้าโศก หรือว่าไม่มีการที่จะต้องเสียดาย หรือว่าเสียใจอะไร ความเสียดาย ความอาลัย ความทุกข์ ความกลัว ความเศร้าโศก เกิดก่อนที่จะตาย เพราะความห่วงใยในกาม เพราะความห่วงใยในกาย ในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ในวัตถุซึ่งเป็นที่รัก เพราะฉะนั้น คนที่ตายแล้ว ก็ปฏิสนธิใหม่ เป็นบุคคลใหม่ มีเรื่องใหม่ทันที แต่บุคคลที่อยู่ ยังไม่ลืมเรื่องนั้น ยังไม่ลืมความเกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นบุคคลใหม่ทันที จะไปเป็นบุตรธิดาใครก็ไม่มีใครทราบ เกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลใหม่ โดยที่ไม่สามารถจะกลับมาเกี่ยวข้องกับบุคคลเก่าในภพก่อนในชาติก่อนได้ แต่ว่าบุคคลซึ่งผู้ที่เป็นที่รักจากไป ย่อมเศร้าโศก เพราะว่ามีความอาลัยในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ในความเกี่ยวข้องซึ่งเคยผูกพันกันอยู่

สำหรับผู้ที่จะไม่เศร้าโศก เมื่อบุคคลซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยพลัดพรากไปด้วยความตาย ก็จะมีแต่ผู้ที่เป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หรือว่าเป็นพระเสขบุคคล ขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดความโศกเศร้า ความเสียใจ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค จุนทสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ

ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ดูกร อาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์

สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่ แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว

แม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่เพราะความสนิทสนม ความเคารพ ความคุ้นเคยในท่านพระสารีบุตรเป็นอย่างมาก เมื่อท่านได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานเสียแล้ว กิเลสซึ่งท่านยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีอยู่พอที่จะทำให้ท่านเกิดความโศกเศร้า ธรรมไม่แจ่มแจ้งในขณะนั้น กายของท่านก็งอมระงมไปด้วยความทุกข์ที่ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็เปรียบเทียบกับตัวของท่านเอง พระโสดาบันบุคคลยังเป็นอย่างนี้ ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดความทุกข์ ความโศก และขณะที่ความทุกข์ ความโศกเศร้าเกิดขึ้น ธรรมย่อมไม่แจ่มแจ้ง สติและปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นตามความเป็นจริง

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แม้กิเลสมี ก็ไม่รู้ตัว เป็นปกติ เป็นประจำวัน ยังไม่เห็นความเป็นนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่เห็นความเกิดดับของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะมีความยึด จะมีความหลงมากกว่าท่านพระอานนท์สักแค่ไหน

เพราะฉะนั้น มรณสติจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่แม้สติจะเกิดชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ให้ทราบว่า ขณะที่สติเกิดเท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญได้ ถึงสติจะเกิดน้อย หรือชั่วขณะสั้นๆ ก็เป็นขณะที่ปัญญาจะเจริญ เพราะขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นปัญญาย่อมเจริญไม่ได้ ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาท เตือนท่านพระอานนท์

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร อานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรมิได้พาศีลขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

ดูกร อานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร อานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล

ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ

ในพระสูตรนี้ เป็นเรื่องของความตาย คือ การปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งนำความทุกข์ ความโศกเศร้ามาสู่ท่านพระอานนท์ แต่พระผู้มีพระภาคทรงนำไปสู่การมีธรรมเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของมรณสติ ไม่ใช่เพื่อที่จะให้จิตสงบโดยที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสรู้ และไม่ได้ทรงแสดงหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มีผู้ใดสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีตนเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะนั้น จุดประสงค์ก็ไม่ควรจะเป็นความสงบ และควรที่จะรู้ด้วยว่า เวลาที่จิตสงบแล้ว มีความยินดี มีความพอใจในความสงบนั้น หรือว่ามีปัญญาที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่สงบนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และไม่หวังสิ่งใด นอกจากอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ด้วยเหตุนี้ มรณานุสสติสำหรับผู้ที่มั่นคงในการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ไม่ได้มีความต้องการ หรือว่าไม่ได้มีความพอใจในความสงบที่เกิดขึ้น เพราะระลึกถึงความตายด้วยความแยบคาย ไม่ได้ต้องการเพียงที่จะสงบ หรือว่าจะให้สงบขึ้น แต่รู้ว่า แม้ขณะที่สงบนั้น ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับท่านพระอานนท์ เรื่องการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานแก่ท่านพระอานนท์

ท่านผู้ฟังอยากจะสงบขึ้นอีกหรือเปล่า พอรู้ว่าเป็นสมถภาวนา และจะสงบได้อย่างไร แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์

ในชีวิตประจำวัน กุศลมีหลายขั้น แล้วแต่ว่ากุศลขั้นไหนจะเกิดขึ้น บางครั้งเป็นโอกาสของทานกุศล บางครั้งเป็นโอกาสของศีล บางครั้งก็มีการระลึกถึงความตายเกิดขึ้นในเมื่อมีปัจจัยที่จะให้ระลึกถึง จะเป็นความตายที่ท่านได้ยินได้ฟังจากบุคคลที่ท่านรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ถ้าเป็นการมนสิการอย่างแยบคาย ขณะนั้นก็เป็นความสงบ เป็นกุศลจิต แต่อย่าลืม สติปัฏฐานควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้จิตที่สงบในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่าให้เกิดความต้องการที่จะให้สงบขึ้นอีก เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ขณะนั้นสติปัฏฐานจะไม่เกิด

ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องความสงบ ตามที่ผมศึกษาในพระไตรปิฎก รู้สึกว่า ไม่น่าปรารถนาเลย ในชาดก ฤาษีกว่าจะได้ฌานอภิญญาไม่ใช่ง่าย แสนที่จะยาก แต่พอมาเจอนารียั่วยวนครั้งเดียวเท่านั้น เหาะอยู่กลางอากาศ ตกลงมาในน้ำเลย ทำแทบตาย แค่นี้หมดแล้ว จึงไม่น่าปรารถนา

สุ. ถ้าไม่ใช่ในกาลสมัยที่ยังมีพระธรรม คำสอนของพระผู้มีพระภาคในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นโอกาสของการอบรมเจริญกุศลขั้นอื่น แต่เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะ โลภะย่อมจะมีโอกาสเกิดอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมเป็นผู้ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสมบัติต่างๆ

เปิด  180
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565