แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 833

ถ. เวลาที่เราทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้สมาธิมากๆ สติไม่เกิด จะทำอย่างไร

สุ. หมายความว่า ต้องการให้สติเกิดหรือ

ถ. ใช่

สุ. รู้เหตุหรือปัจจัยที่จะให้สติเกิดไหม

ถ. ไม่ทราบ

สุ. ถ้าไม่รู้ สติก็เกิดไม่ได้ เพราะสติเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องทราบ ต้องรู้ ต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิด ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานย่อมเกิดไม่ได้ และถึงแม้จะได้ยินได้ฟัง เข้าใจแล้ว แต่นานๆ ฟังครั้งหนึ่ง ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิดได้บ่อยๆ

หลายท่านคิดว่า ฟังพอแล้ว เข้าใจพอแล้ว รู้พอแล้ว แต่ความจริงการฟังอีกบ่อยๆ ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิดขึ้นได้ เช่น ในขณะนี้ กำลังเห็น สติเกิด ได้ไหม นี่คือผลของการฟังว่า ขณะที่กำลังเห็น เวลาที่สติเกิด คือ ไม่ลืมที่จะน้อมไป ที่จะรู้ที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏทางอื่น เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่จะต้องฟังและพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกในขณะที่กำลังฟังนั้นเอง

ไม่ว่าจะฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งมีลักษณะของสภาพธรรม จริงๆ กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏ เพียงแต่ว่าสติจะระลึกหรือไม่เกิดขึ้นระลึกเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การฟังจึงเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดระลึกขึ้น หมายความว่า เป็นปัจจัยให้สติเกิดได้

ถ. ถ้าเราเดินอยู่ และขาเหยียบถูกพื้น มีอาการรู้สึกว่าแข็ง ถ้าสติเกิด จะระลึกว่า เป็นรูป เป็นนาม ทีละอย่างหรือพร้อมกันทั้งสองอย่าง

สุ. พร้อมกันไม่ได้ เพราะว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรม และนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม และไม่ใช่เพียงการคิดขึ้นมาว่า แข็งเป็นรูปธรรม รู้แข็งเป็นนามธรรม นั่นยังเป็นการคิดนึกถึงคำ ถึงเรื่องของลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถจะห้ามได้

บางครั้ง บางท่านอาจจะระลึกขึ้นมาว่า แข็งเป็นรูป และอาจจะระลึกอย่างนี้หลายครั้ง แต่โดยอาศัยการฟังและความเข้าใจก็ย่อมรู้ว่า ในขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของแข็งจริงๆ ที่กำลังปรากฏ โดยน้อมไปที่จะสังเกตที่จะรู้จริงๆ ว่า ลักษณะที่แข็งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด โดยไม่ใช่ขั้นการคิด เวลาที่กำลังสังเกต สำเหนียก น้อมไปรู้ในอาการแข็งลักษณะแข็งที่ปรากฏ รู้ในอาการแข็งว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นย่อมรู้ว่า ไม่ได้สังเกตพิจารณาสภาพที่กำลังรู้แข็ง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะพร้อมกันไม่ได้เลย

ถ. ถ้าเป็นอย่างนั้น ที่ว่าคิดเอง กับมีสติเกิดขึ้น ต่างกันอย่างไร

สุ. ต่างกันที่ว่า แม้ไม่ได้คิดเป็นคำ ก็สามารถที่จะศึกษา สังเกต สำเหนียก น้อมไปรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ เวลานี้ไม่ได้คิดเป็นคำ มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ

ถ. สมมติว่า โดนพัดลมเย็น

สุ. ไม่ได้คิดว่า พัดลมเย็น ใช่ไหม แต่มีลักษณะเย็นที่กำลังปรากฏ ไม่ได้คิดว่าพัดลมเย็นในขณะที่ลักษณะเย็นปรากฏ แต่น้อมไปรู้ในอาการเย็นที่ปรากฏว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ต้องใช้คำว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งก็ได้ แต่รู้ในอาการเย็นนั้น

เมื่อมีอาการเย็นปรากฏ ก็หมายความว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้คำพูดว่า เย็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่เป็นการศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของรูปธรรมว่าต่างกับสภาพรู้ ซึ่งกำลังรู้อาการเย็นที่ปรากฏ จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มิฉะนั้นแล้วก็ยังมีสักกายทิฏฐิ การสำคัญในสภาพรู้บ้าง ในรูปธรรมบ้าง ในความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนาบ้าง ในสังขารขันธ์ต่างๆ บ้างที่กำลังนึกคิดว่า เป็นเรา

ถ. ถ้าสติเกิดขึ้น ไม่ว่าสติจะระลึกเรื่องรูป หรือนามก็ตามแต่ ก็ระลึกไป เรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดว่า ตอนนี้ระลึกรูปแล้ว จะให้ระลึกนามขึ้นมาบ้าง

สุ. ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ และความคิดนี้วิจิตรจริงๆ บางทีบอกว่า อย่าคิด หรือว่าไม่ควรจะคิดอย่างนี้ ไม่ต้องคิดอย่างนั้น แต่ความคิดอย่างนั้นก็ยังเกิดขึ้น แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น จะต้องมีสติรู้ลักษณะสภาพที่คิดว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งรู้คำ ไม่ใช่รู้สี ไม่ใช่รู้เสียง

สภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริงที่เกิดขึ้นปรากฏในชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่รู้ชัด ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เลย ไม่สามารถที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ปัญญาจะต้องอบรมเจริญ จริงๆ จนรู้ทั่ว แทรกซึมที่จะรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า สภาพที่คิดก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

ถ. ที่ว่า ถูกพัดลมเย็น สติระลึกรู้ว่า อาการเย็นที่เกิดขึ้นตามร่างกายนี้ หมายความว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

สุ. รู้ในอาการที่เย็น ความจริงแล้วสภาพธรรมเกิดดับ แต่ว่าปัญญาที่ยังไม่ได้อบรมเจริญ ยังไม่สามารถประจักษ์ความเกิดดับได้ เพียงแต่หมดไปก็คิดว่า ขณะนั้นดับไป แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ในขณะที่กำลังเกิดและดับไปจริงๆ

อย่างเช่น เสียง หมดไป ก็เข้าใจว่าดับไป ใช่ไหม แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์ในลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นและดับไป หรือว่านามธรรมที่ได้ยินเสียงนั้นเกิดขึ้นและดับไป หรือสภาพที่กำลังคิดคำความหมายของเสียงนั้นเกิดขึ้นและดับไป

ถ. ถ้าสติระลึกรู้ทางตาแล้ว มีเสียงเกิดขึ้น ถ้าเราระลึกทางตาอย่างเดียว โดยที่ไม่มีสติระลึกรู้ว่าเสียงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไร นี่ก็ถูกต้องเหมือนกันหรือ

สุ. แล้วแต่สติ สติจะระลึกที่ทางตาหลายขณะ ก็เป็นเรื่องของสติ แต่ว่าสตินั้นก็ไม่เที่ยง จะต้องดับไป และก็มีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าระลึกทางเดียวอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าสำหรับบางท่าน ในตอนต้นอาจจะสังเกตเห็นว่า สติเกิดระลึกทางหนึ่งทางใดบ่อยๆ กว่าทางอื่น หรือว่าอาจจะเพิ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางเดียว อย่างเช่น ทางกาย ซึ่งบางท่านบอกว่า ง่ายกว่าทางอื่น เพราะว่ามีลักษณะที่อ่อนที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้น สติของท่านผู้นั้นก็มักจะเกิดขึ้นระลึกในลักษณะที่อ่อนที่แข็งที่ปรากฏที่กาย ในขั้นต้นอาจจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าท่านผู้นั้นก็ทราบว่า ยังมีการหลงลืมสติ ไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางอื่นต่อไป

ถ. รูปทางตา คือ วัตถุหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วเรามองเห็น นี่เป็นรูป ใช่ไหม แต่สภาพที่เราเห็นและเรารู้ว่า นี่คือกระดานดำ นี่คือพัดลม นี่เป็นนาม ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่นามเห็นแล้ว แต่เป็นนามที่คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

ถ. หรือว่าจะคิดถึงสีก็ได้

สุ. ถ้าไม่มีสีปรากฏ จะมีสัณฐานได้ไหม เพราะฉะนั้น จิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน

ถ. ทางใจ รูปกับนาม เป็นอย่างไร ยังแยกไม่ออก

สุ. เวลานี้ทางตาเห็นแล้ว ดับไปแล้วหรือยัง

ถ. ดับแล้ว

สุ. ดับแล้ว ทางใจเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า เวลาที่มีการเห็น ทางจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ หลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ และมโนทวารวิถีจิตนี้ดับไป ก็เป็นภวังค์ และมโนทวารวิถีจิตก็เกิดอีกจึงจะรู้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร แต่ด้วยความเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าทันทีที่เห็นก็รู้เลยว่าเห็นอะไร เหมือนกับว่าทันทีที่ได้ยินเสียงก็เข้าใจความหมายทันที

อย่างเช่น คำว่า ทันที พอฟังก็เข้าใจเลย แต่ว่าความจริงแล้ว จิตที่ได้ยินเสียงทางโสตทวารวิถีดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น จากนั้นมโนทวารวิถีจิตที่รับหรือรู้เสียงที่ดับไปทางโสตทวารวิถีจึงเกิดต่อและดับไป และก็เป็นภวังค์อีก และมโนทวารวิถีก็เกิดอีก นึกถึงความหมายของเสียงที่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่คิดว่า ได้ยินแล้วเข้าใจความหมายทันที ให้ทราบว่า มีจิตที่เกิดดับนับไม่ถ้วน คือ จิตที่เกิดรู้เสียงทางโสตทวารดับไปแล้ว มีภวังคจิตเกิดคั่น และมีมโนทวารวิถีจิตที่รู้เสียงที่ได้ยิน และก็เป็นภวังคจิต และมโนทวารวิถีจิตจึงได้เกิดขึ้นนึกถึงคำ เพราะมีเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นปัจจัยว่าเสียงสูงต่ำอย่างไร ก็ทำให้นึกถึงคำหรือความหมายนั้น

ที่ถามว่า ทางใจไม่ทราบว่ารูปเป็นอย่างไรนั้น ก็คือ ไม่ต่างอะไรกับทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพราะทางจักขุทวารวิถีจิตเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ ไม่เห็น และมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้สีที่ดับไปนั่นเอง มีช่วงคั่น คือ ภวังค์ ซึ่งไม่รู้อะไรเลย และก็มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อจากภวังค์ ซึ่งรู้สีที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ให้ทราบว่า ที่เหมือนกับจักขุทวารวิถีจิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยไม่ดับไปเลยนั้น แท้ที่จริงมีภวังคจิตคั่นมาก และมีมโนทวารวิถีจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกับทางปัญจทวารวิถี และยังมีจิตทางมโนทวารวิถีที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานและรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร ซึ่งในระหว่างนั้นดูเสมือนว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาและการเห็นทางตาไม่ดับเลย และมีมโนทวารวิถีเกิดคั่นสลับกับภวังคจิตด้วย

ถ. ที่อาจารย์พูดนี้ เป็นรูปที่ปรากฏทางใจ

สุ. ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ทางตาก็ปรากฏทางใจต่อไปเลย แต่ว่าก่อนที่จะปรากฏทางใจ มีภวังคจิตคั่น

ถ. แล้วนาม

สุ. นามเป็นสภาพที่กำลังเห็น ขณะเดียว ที่ทรงแสดงไว้ คือ จักขุวิญญาณ ทำกิจเห็น เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ไม่ได้ทำ ทัสสนกิจ ไม่ได้เห็น แต่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาและดับไป สันตีรณจิตเกิดขึ้นพิจารณาอย่างรวดเร็ว ทำกิจพิจารณานิดเดียวและก็ดับไป แต่ไม่ได้ทำทัสสนกิจ

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปรากฏเสมือนว่าเป็นจักขุวิญญาณที่เห็น เห็น เห็นอยู่ตลอดเวลา ในจักขุทวารวิถี ก็มีสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจักขุวิญญาณซึ่งดับไปแล้ว เวลานี้มีสันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะซึ่งดับไปแล้ว มีโวฏฐัพพนจิตซึ่งเกิดต่อจากสันตีรณจิตที่ดับไปแล้ว มีชวนจิต ๗ ขณะเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตซึ่งดับไปแล้ว ถ้าสติไม่เกิด หรือกุศลจิตใดๆ ไม่เกิด ก็เป็นอกุศลจิต เป็นโมหมูลจิต หรือว่าเป็น โลภมูลจิต หรือว่าเป็นโทสมูลจิตอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครสามารถจะทราบได้เลยว่า ในขณะที่กำลังเห็นนี้ อกุศลจิต ๗ ขณะซึ่งเป็นชวนะดับไปแล้วกี่ครั้ง เป็นโมหมูลจิต ๗ เท่าของการเห็นที่กำลังเห็นขณะหนึ่ง หรือว่าเป็นโลภมูลจิต ๗ เท่า เพราะเกิดขึ้น ๗ ขณะ ในเมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว

ผู้ที่จะอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะรู้ว่ามีอกุศล แต่จะทำอย่างไร ผู้ที่มีปัญญาที่รู้หนทางที่จะให้จิตสงบ สามารถที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดเฉียบแหลมพอที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดสงบปราศจากอกุศล ซึ่งยากที่จะรู้ในขณะนี้ ในขณะที่กำลังเห็น หลังจากจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตดับไปแล้ว ชวนจิต ๗ ขณะเป็นอกุศล รู้ได้ไหมว่าเป็นอกุศลประเภทใด

มีท่านผู้หนึ่งถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า หลังจากที่เห็นแล้วเป็นโลภมูลจิต

ขณะนี้ ทุกท่านไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหมกับการที่กำลังเห็น และไม่เดือดร้อนเลยกับรูปที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วไม่เดือดร้อน ก็หมายความว่า มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เห็นต่อไปอีกก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏอย่างนี้เรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไร ไม่เดือดร้อน มีความยินดีมีความพอใจใน การเห็นที่จะเห็นต่อไป เพราะไม่เห็นเป็นโทษ ไม่เห็นเป็นภัย และก็มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ปรากฏต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น จึงแสดงว่า มีความยินดีพอใจแล้ว

อย่าลืมว่า โลภมูลจิต หรือว่าโลภเจตสิก เป็นสภาพที่ยินดีพอใจ มีรากฐานที่มั่นคง ลึก มีปัจจัยที่จะให้เกิดอยู่เป็นประจำ วันนี้ท่านผู้ฟังคงจะคิดอะไรๆ หลายอย่าง ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็คิด ทราบไหมว่า จิตอะไรคิด เป็นโลภมูลจิตทั้งหมดที่คิด เวลาที่ไม่เป็นไปในกุศลธรรม ถ้าท่านคิดว่า เดี๋ยวจะไปบางลำภู แค่นี้ จิตอะไรคิด

โลภมูลจิตไม่ได้อยู่ในตำราว่า มี ๘ ดวง เป็นอกุศลจิตประกอบด้วยกี่เหตุ แต่ว่าในชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกครั้งที่คิด ซึ่งไม่ได้เป็นไปในกุศล ให้ทราบว่า ถ้าขณะนั้นไม่ใช่เป็นความขุ่นเคือง ไม่ได้คิดด้วยความขัดเคือง ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจคิด และยังไม่ทันจะคิดเป็นคำเลย เพียงแต่เห็นทางตา โลภมูลจิตเกิดดับไปแล้วนับไม่ถ้วน แต่ไม่ประจักษ์เลยว่า โลภมูลจิตเกิดดับไปเท่าไร เพราะไม่เป็นไรนี่ สิ่งที่ปรากฏก็ดี และเห็นที่เห็นสิ่งที่ปรากฏก็ดี เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดขึ้นยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา และในการเห็น

เมื่อมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว อะไรเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีพอใจต่อไปอีก ซึ่งไม่มีวันจะหมดไปได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ชัดใน อกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม รู้ชัดในเหตุเกิดของอกุศลธรรมว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ รู้ในลักษณะของอกุศลธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และรู้ชัดในเหตุที่จะให้เกิดอกุศลธรรมนั้น จึงสามารถที่จะดับเหตุที่จะให้เกิดอกุศลธรรมนั้นได้

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญความไม่รู้อะไร และก็หวังรอที่จะให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน หรือหวังรอที่จะให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา ปัญญา คือ ความรู้ รู้อะไร ก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ไม่ใช่ไปหวังสงบ เวลานี้ที่จิตเป็นอกุศล ทำอย่างไรจะสงบ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะไปสงบเสียก่อน ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

มีคำอุปมาว่า ลักษณะอาการของตัณหา ซึ่งเป็นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ขณะที่กำลังคิดอะไรก็ตาม อุปมาเหมือนกับความรักของพ่อ และความรู้สึก คือ เวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับความรักของแม่ แต่ว่าสำหรับตัณหาหรือความต้องการ ความพอใจในอารมณ์นั้นเหมือนกับความรักของพ่อ ซึ่งต้องการให้อะไรเกิดขึ้นเป็นไปตามที่หวังหรือตามที่รักลูก เมื่อมีความรัก ความต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็หวังและต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏที่จะให้เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ อยู่เรื่อยๆ

อย่างทางตาที่กำลังเห็น เมื่อมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว หวัง และต้องการอะไรจากรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่ใช่ความหวังและความต้องการ รูปารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจ

เปิด  172
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566