แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 781

ถ. การเจริญสติ การนั่งก็ไม่จำเป็นต้องมีท่าทางอย่างหนึ่งอย่างใด

สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทรงโอวาทภิกษุว่า ในตอนกลางวันควรที่จะจงกรม คือ เดินและนั่ง ซึ่งก็จะต้องรวมยืนไว้ด้วย เพราะว่าเป็นปกติ แต่บุคคลที่ไม่เข้าใจว่าภิกษุท่านอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ไม่รู้ว่าในขณะนั้นแล้วแต่อัธยาศัยว่าสติของพระภิกษุรูปใดจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะไม่ได้ศึกษาข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง บุคคลนั้นจึงคิดว่า จะต้องนั่งตามๆ กันไป

ถ. ไม่รู้ว่าขณะนั้นจะต้องใช้กัมมัฏฐานอย่างไรเป็นอารมณ์

สุ. มหาสติปัฏฐาน ๔ ไม่พ้นเลย

ถ. ท่านอาจจะนั่งอยู่ พักผ่อนอยู่ตามปกติ แต่ท่านก็เจริญสติ

สุ. ทุกขณะ พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทไม่ให้ภิกษุหลงลืมสติโดยนัยต่างๆ

ถ. ปัจจุบันนี้ ถ้าเห็นพระท่านนั่งอยู่เฉยๆ ก็คงเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ทำกิจสมณธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่ถ้าหากว่าท่านนั่งขัดสมาธิก็จะเข้าใจว่า ขณะนั้นท่านกำลังทำสมาธิ หรือท่านทำกัมมัฏฐาน แต่แท้ที่จริงแล้วการทำกัมมัฏฐานของท่าน ท่านอาจจะนั่งห้อยเท้าอยู่ใต้ร่มไม้ หรือบนกุฏิ หรือศาลา หรือนั่งบนเก้าอี้

สุ. ซึ่งจะตรงกับข้อความต่อไป ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทภิกษุ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เห็นอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น โดยที่ไม่เข้าใจในเหตุผลในข้อปฏิบัติ

สำหรับการจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ก็เป็นชีวิตประจำวันของทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ไม่ว่าขณะใดถ้าท่านระลึกขึ้นมาได้ ก็จะเป็นในขณะที่ท่านกำลังนั่ง หรือยืนก็แล้วแต่ ซึ่งสติสามารถที่จะเกิด ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจได้ เป็นชีวิตประจำวัน

และสำหรับตอนกลางคืน เป็นผู้ที่ตื่นมากดีกว่าเป็นผู้ที่นอนมากสำหรับพระภิกษุ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสถึง มัชฌิมยามแห่งราตรี เป็นผู้ที่สำเร็จการนอนดังราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจถึงความสำคัญในอันลุกขึ้น สำหรับปัจฉิมยามแห่งราตรี ก็เหมือนกับปฐมยามแห่งราตรี คือ จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี

คฤหัสถ์ประพฤติปฏิบัติตามได้ เคยเป็นผู้ที่ชอบนอน ซึ่งขณะที่หลับไม่สามารถที่จะอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าตื่นมาตอนดึกประมาณสักตีสอง เป็นโอกาสที่จะอบรมปัญญาได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ และถ้าจะหลับอีก ก็เป็นไปตามความเหน็ดเหนื่อยของร่างกาย แต่ว่าสำหรับพระภิกษุ เป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาทั้งในปฐมยามและในปัจฉิมยาม จะพักผ่อนก็เฉพาะในมัชฌิมยามเท่านั้น ซึ่งธรรมเป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมประพฤติปฏิบัติตามได้แม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ โดยไม่ใช่ฝืน หรือว่าโดยไม่บังคับ

ถ. ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติได้หรือเปล่า ที่พระผู้มีพระภาคให้โอวาทให้นอน วันละ ๔ ชั่วโมง ถ้าปฏิบัติไม่ได้ จะทำอย่างไร

สุ. อบรม ไม่ได้บังคับ พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาตามสติตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลนั้นยังเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก ก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมวินัยทั้งหมด ทรงพร่ำสอนไว้มากทีเดียว แม้ในพระสูตรนี้ คือ ในมหาอัสสปุรสูตร

ถ. ถ้าอบรมไปเรื่อยๆ ก็อาจจะปฏิบัติได้ อย่างที่ผมพูดคราวที่แล้ว คือว่าการนอนนี้เป็นฝ่ายทำให้จิตง่วง หรือท่านใช้คำว่า โกสัชชะ เป็นฝ่ายโกสัชชะ อิริยาบถที่เดิน ยืน เป็นฝ่ายของความฟุ้งซ่าน จะทำไม่ให้นอน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคสอนให้เดิน ให้นั่ง ความง่วงก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าง่วงจริงๆ แล้วก็นอน ตื่นขึ้นมาพระผู้มีพระภาคก็สอนให้เดิน ให้นั่งอีกเหมือนกัน อิริยาบถจะทำให้ไม่ง่วง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้าอบรมไปเรื่อยๆ คงจะทำได้ ขณะใดที่จิตง่วงหรือจิตหดหู่ พระผู้มีพระภาคก็ทรงสอนว่า ควรจะยกจิตด้วยการเดิน ความง่วงก็จะไม่เกิดขึ้น

สุ. ท่านผู้ฟังยังติดใจเรื่องของการปรับอินทรีย์ และการเจริญสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ในโอกาสต่างๆ กัน แต่อย่าปนกันระหว่างสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แม้แต่สมถภาวนาก็ต้องละเอียด เช่น อิริยาบถดังกล่าว สำหรับแต่ละบุคคลต้องรู้ว่า บุคคลนั้นอิริยาบถใดเป็นสัปปายะ ซึ่งไม่ใช่สำหรับทุกคน

ถ. เรื่องปะปนนี่ ไม่ปะปนแน่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญวิปัสสนาภาวนาแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่เข้าใจ หรือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติเรื่องการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็อาจจะปะปนได้

สุ. ถ้าอย่างนั้น สำหรับการอบรมเจริญวิปัสสนา สัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ แยกกันหรือเปล่า หรือเกิดพร้อมกัน

ถ. เมื่อยังเจริญสติปัฏฐานอยู่ สัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ก็เกิดพร้อมกันไม่ได้

สุ. สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิดพร้อมกันหรือเปล่า

ถ. เกิดพร้อมกันได้

สุ. สติสัมโพชฌงค์ คือ สติเจตสิก อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาเจตสิก วิริยสัมโพชฌงค์ คือ วิริยเจตสิก ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ กายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก โดยนัยของวิปัสสนาภาวนา สัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ไม่แยกกันเลย แล้วแต่ว่าสัมโพชฌงค์ใดจะปรากฏในขณะนั้น ที่กล่าวว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์บ้าง หรือว่าเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์บ้าง เจริญวิริยสัมโพชฌงค์บ้าง ซึ่งต้องเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาทั้งสิ้น เช่น ในขณะใดที่วิริยะไม่ปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ผู้นั้นควรที่จะได้เพียรระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ โดยการที่ระลึกถึงความตาย ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร

ทุกท่านสติเกิดไม่บ่อยใช่ไหม ตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลส จะให้สติเกิดติดต่อกันอย่างพระอรหันต์ ก็เป็นไปไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ที่สะสมกิเลสมาทางใด หลงลืมสติในขณะใด มีสติในขณะใด เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดแล้วดับไป วิริยสัมโพชฌงค์ไม่ปรากฏ แต่ลักษณะของสติมี เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ขวนขวาย ไม่ทอดทิ้งธุระในการที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม เจริญสติ สติเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ในอารมณ์ต่างๆ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมปรากฏในขณะนั้น แต่ทั้ง ๗ สัมโพชฌงค์ไม่แยกกัน เพียงแต่โพชฌงค์ใดจะปรากฏ

ผู้ฟัง สมมติว่า กำลังเจริญสติอย่างนี้จะรู้สึกว่า มีความเพียรเกิดขึ้นในจิตอย่างมาก แต่พอสติระลึกรู้ลักษณะของความเพียรนั้น คือ ความเพียรที่จะเจริญสติ ซึ่งลักษณะนั้นก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ที่มีสติระลึกรู้

สุ. อย่างบางท่าน ชีวิตของคฤหัสถ์มีเรื่องเพลิดเพลินมากตามความเป็นจริง บางท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ทิ้งชีวิตความเพลิดเพลินของคฤหัสถ์ และสติจะเกิดในวันหนึ่งๆ ทางตา หรือทางหู ก็แล้วแต่สติ ถ้าอย่างนั้นลักษณะของวิริยสัมโพชฌงค์ก็ไม่ปรากฏ

แต่บางท่านรู้ว่า ไม่ควรที่จะปล่อยชีวิตให้เพลิดเพลินไปมากอย่างนั้น ก็ศึกษาธรรม สนทนาธรรม กระทำกิจใดๆ ก็ได้ที่เกี่ยวกับธรรม ที่เป็นการเจริญกุศล เป็นการเจริญปัญญา นอกจากศึกษาธรรม แสดงธรรม ก็ยังสนทนาธรรม ยังทำกิจอื่นเพื่อธรรม นั่นเป็นผู้ที่วิริยะปรากฏ เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ซึ่งอาหารของวิริยะนั้นคือ การระลึกถึงสังเวคที่จะทำให้เกิดความสลดและไม่ประมาทในชีวิต ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะการที่จะหมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ ในภพนี้ ย่อมเหลือน้อยลงทุกที หลังจากจุติแล้วก็ไม่มีใครทราบว่า ต่อไปจะมีโอกาสอบรมเจริญสติปัฏฐานเหมือนในภพนี้ ชาตินี้หรือเปล่า แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้เกิดในที่ใด ซึ่งการระลึกอย่างนี้ เป็นเหตุทำให้เกิดวิริยะ การขวนขวายขึ้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของวิริยสัมโพชฌงค์ ก็ปรากฏได้ ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า ปรากฏโดยไม่มีสติ ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติเกิด และวิริยะก็เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น สัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ เกิดร่วมกัน

ท่านผู้ฟังกำลังเจริญอินทรีย์โดยการฟังให้เข้าใจ ให้เป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเมื่อมีการฟัง ก็จะมีการขวนขวายในการที่จะไม่ปล่อยให้เพลิดเพลินไปในชีวิตตามที่เคยเป็น

ถ. บางครั้งคำพูดบางคำก็สะกิดความรู้สึก อย่างเช่น หนังสือปรมัตถธรรมสังเขปที่ท่านอาจารย์เขียน ข้อความที่บอกว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ใต้ต้นสาละ หมดโอกาสที่สัตว์โลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป คำว่าหมดโอกาสนี่ สะดุดความรู้สึกจริงๆ อ่านถึงตรงแล้ว ดิฉันประทับใจว่า ถ้าหากดิฉันทิ้งโอกาสเดี๋ยวนี้ ดิฉันก็ไม่ทราบว่า การตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร

สุ. ถ้าท่านไม่ได้เป็นผู้ที่พิจารณาธรรม ท่านก็ไปขวนขวายหาอาหารของโพฌชงค์ โดยที่ไม่รู้ว่า เวลาที่มีข้อความจากพระธรรมตอนหนึ่งตอนใดซึ่งเกื้อกูลให้มีการเจริญสติ ในขณะนั้นก็เป็นอาหารของโพชฌงค์แล้ว

ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีเรื่องของโพชฌงค์มาก วิสุทธิมรรคก็เก็บข้อความจากพระไตรปิฎกตอนนี้ไปแสดงตอนที่เจริญสัมโพชฌงค์ต่างๆ แต่ถ้าท่านศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎกจะได้เห็นว่า ในเรื่องของโพชฌงค์นั้น เป็นเรื่องของการที่จะเจริญกุศลโดยนัยต่างๆ เช่น ในขณะใดที่ปีติไม่เกิด ชักจะท้อถอย หรือว่าควรที่จะทำจิตให้ร่าเริง ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ให้ทำโดยนัยอื่น หรือโดยวิธีอื่น แต่คือการเจริญกุศลด้วยการฟังธรรม พิจารณาธรรม หรือประกอบการกุศลต่างๆ ซึ่งในพระไตรปิฎกจะให้คำสั้นๆ ว่า อารมณ์ใดที่เป็นที่ตั้งของปีติ ก็ให้มนสิการพิจารณาในอารมณ์นั้นบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งก็เป็นการอบรมเจริญกุศลตามอุปนิสัยซึ่งแต่ละท่านสะสมมา เป็น ทานุปนิสัย สะสมมาในเรื่องการที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ส่วนบางท่านก็เป็นสีลุปนิสัย คือ สะสมมาในการที่จะวิรัติกายทุจริต วจีทุจริต จะไม่มีคำพูดที่เบียดเบียนคนอื่นให้เศร้าหมองหรือให้เดือดร้อนเลย ท่านไม่สามารถที่จะใช้คำแรงๆ ที่จะทำให้กระทบกระเทือนใจบุคคลอื่น

เพราะฉะนั้น อารมณ์ใดก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของปีติ พระผู้มีพระภาคตรัสให้พิจารณาในอารมณ์นั้นเนืองๆ เป็นการเจริญปีติสัมโพชฌงค์

สำหรับโพชฌงค์อื่นๆ โดยนัยที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องของการกุศล เมื่อมนสิการพิจารณาในอารมณ์นั้น เกิดอุเบกขาไม่หวั่นไหวในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แล้วแต่อัธยาศัย แม้แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเกิดปีติ ซึ่งต้องเป็นกุศล ไม่ใช่โลภะ ขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญปีติสัมโพชฌงค์

สำหรับธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาที่เป็นสัมโพชฌงค์นั้น ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมตรงทีเดียว เห็นอกุศลเป็นอกุศล เห็นกุศลเป็นกุศล เห็นว่าธรรมใดมีโทษ ธรรมใดไม่มีโทษ เห็นว่าธรรมใดควรเสพ ธรรมใดไม่ควรเสพ เห็นว่าธรรมใดเป็นธรรมที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และธรรมใดไม่เป็นธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ขณะนั้นที่มนสิการในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เป็นการอบรมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสัมโพชฌงค์ทั้งหมด เป็นกุศลที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดที่จะรู้ว่า จิตไม่ประกอบด้วยปีติ ขาดความปีติ เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญกุศลที่จะทำให้เกิดปีติ ซึ่งขณะนั้นก็จะเป็นปัจจัย หรือเป็นอาหารของปีติสัมโพชฌงค์

ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกมีถ้อยคำที่ไพเราะของพระเถระบางองค์ พออ่านๆ ไปก็รู้สึกซาบซึ้ง

สุ. ในขณะนั้นท่านก็พิจารณาโดยแยบคายได้ว่า ธรรมใดเป็นที่ตั้งของปีติสัมโพชฌงค์ของท่าน ท่านก็อ่านบ่อยๆ ได้ความปีติบ่อยๆ เป็นอาหารของปีติสัมโพชฌงค์

ผู้ฟัง บางทีไม่ต้องใช้ข้อความที่ยาว ที่จะต้องเป็นความไพเราะมากมายนัก อย่างพระเถระบางรูปบอกว่า พระพุทธองค์ตรัสกับท่านว่า ขณะอย่าได้ล่วงท่านไปเลย ดิฉันก็เกิดปีติที่เข้าใจความหมายว่า เป็นขณะจิตนั้นเอง ที่ท่านบอกว่าอย่าให้ล่วงไป คือ ให้หมั่นมีสตินั่นเอง

สุ. สำหรับสัมโพชฌงค์ทั้งหลายในพระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนว่า หมายถึงธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ปราศจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพียงแต่ปลาบปลื้มปีติเฉยๆ ไม่ใช่สัมโพชฌงค์

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะละเอียดขึ้น ไม่ว่าลักษณะสภาพธรรมขณะนั้นเกิดขึ้นอย่างไร เป็นอย่างไร ปัญญาสามารถที่จะรู้ในความไม่ใช่สัตว์ บุคคลของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น พร้อมกับเป็นผู้ที่อบรมเจริญองค์ธรรมที่จะให้ตรัสรู้ คือ สัมโพชฌงค์ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น แต่ว่าจะต้องประกอบด้วยโพธิปักขิยธรรม คือ องค์ธรรมที่จะทำให้บรรลุการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. ถ้ามีความรู้สึกปีติในถ้อยคำในพระธรรม สติระลึกรู้สภาพอย่างนั้น ถูกต้องไหม

สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นโพชฌงค์ทันที ปัญญาจะต้องอบรมเจริญขึ้นเป็นลำดับ จนกว่าจะถึงการเกือบหรือใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมจึงจะเป็นโพชฌงค์

เปิด  177
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566