แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 645

สำหรับข้อความที่ว่า

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้นดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ

เป็นความจริงไหมในชีวิตประจำวัน ท่านเห็นใครเป็นผู้ตรง เป็นผู้ยุติธรรมจริงๆ สรรเสริญไหมในความยุติธรรม ในความเป็นผู้มีธรรมของบุคคลนั้น ไม่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นญาติ จะเป็นศัตรู ธรรมย่อมเป็นธรรม ความยุติธรรมก็เป็นความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในการปกครองประเทศ หรือแม้ในครอบครัว ก็ย่อมเป็นที่สรรเสริญ

เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ที่ไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเจริญดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ตรงกันข้ามถ้าผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมดังดวงจันทร์ในข้างแรม

ไม่ว่าในเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ตั้งแต่เรื่องในครอบครัว วงศ์ญาติ มิตรสหาย จนกระทั่งถึงการปกครองประเทศ ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ธรรมย่อมเป็นธรรมตามความเป็นจริง ผู้ใดจะได้ยศ ได้สรรเสริญ ก็ในธรรมที่เป็นกุศลธรรม แต่ผู้ใดจะเสื่อมจากยศหรือสรรเสริญ ก็เพราะอกุศลธรรม ไม่ใช่บุคคลอื่น ข้อสำคัญคือ ตัวท่านเอง แต่ละครั้งที่จะให้เป็นผู้ตรงต่อธรรมและเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น ก็ต้องพิจารณาด้วย แม้แต่ว่าขณะนั้นมีความลำเอียงเพราะโลภะบ้างไหม มีความลำเอียงเพราะโทสะบ้างไหม หรือเพราะโมหะ ความไม่รู้บ้างไหม หรือเพราะความกลัวบ้างไหม

ผู้ฟัง ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ยังไม่ได้เจริญสติ ก็เข้าข้างตัวเอง เดี๋ยวนี้ขณะที่เจริญสติแล้ว เห็นสภาพของความโกรธ ความลำเอียง ความอิจฉา ความต้องการ เห็นโลภะ โทสะ โมหะในตัวเองมากขึ้น เมื่อยังไม่ได้เจริญสตินั้น ไม่รู้ว่าตัวเองมีโลภะมากแค่ไหน คิดว่าตนเองเป็นคนดีมากแล้ว แต่เมื่อเจริญสติจึงจะเห็น แม้สภาพการที่ดุคนรับใช้ หรือว่าเด็กเล็กอะไรอย่างนี้ บางครั้งก็ค่อยยังชั่วขึ้น คือ ดุโดยความเมตตา มีความสงสารเด็ก ดุโดยหน้าที่ โดยความจำเป็น ซึ่งแต่ก่อนไม่ใช่อย่างนั้น ดุด้วยความเกลียดทีเดียว

สุ. นี่เป็นผลของการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ทำให้มีความไวขึ้น และเกื้อกูลต่อการที่จะพิจารณาเหตุการณ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ในบ้าน ในครอบครัว ก็มีการให้อยู่เป็นประจำ สมมติว่า ท่านมีผู้รับใช้หลายคน ถ้าท่านชอบบุคคลหนึ่งบุคคลใดมากกว่าบุคคลอื่น ลองพิจารณาการให้ว่า เป็นไปด้วยความเป็นธรรมตามเหตุตามผล หรือว่าเป็นไปด้วยความลำเอียงเพราะความรัก หรือว่าด้วยความพอใจ

แม้แต่ในระหว่างญาติมิตร บุตรธิดา เพื่อนฝูง บุคคลหนึ่งอาจจะหิวมาก แต่ไม่ค่อยเป็นที่รัก แต่บุคคลหนึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์ทีเดียว เหลือเฟือ แต่ว่าเป็นที่รัก ถ้าจะมีการให้ ลองพิจารณาการให้ของท่านว่า ถ้าให้บุคคลที่ได้รับแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เขามากทีเดียวเพราะเขาหิวมาก กับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีทุกอย่างเลอเลิศพร้อมพรั่งสมบูรณ์ทุกประการ แต่เพราะความรัก ท่านก็ยังอยากจะให้สิ่งดีๆ กับผู้ที่ท่านมีฉันทะ มีความพอใจ และก็ยังคงให้สิ่งที่ไม่ประณีต หรือสิ่งที่เลว หรือน้อยมากกับผู้ที่ท่านไม่พอใจ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่หิวมากหรือเปล่า

นี่เป็นเรื่องของการให้ ซึ่งถ้าท่านพิจารณาและระลึกรู้ สติเกิดขึ้นก็จะทราบว่า ขณะใดเป็นไปด้วยโลภะ คือ ฉันทาคติหรือไม่ หรือเป็นไปตามเหตุตามผล ตามธรรมที่ควรจะเป็น

หรือว่าการที่จะแสดงความไม่พอใจ ถ้าเป็นคนซึ่งท่านชอบท่านรัก แม้จะทำสิ่งเดียวกับคนที่ท่านไม่รักไม่ชอบ แต่การแสดงความไม่พอใจของท่านกับคนที่ท่านไม่รักไม่ชอบ จะแรงกว่าการที่ท่านแสดงความไม่พอใจในการกระทำที่ไม่ถูกของคนที่ท่าน ท่านรักท่านชอบหรือไม่

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้นได้ว่า เป็นสภาพของอกุศลประเภทใด ขั้นใด หรือว่าอาจจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะต่อไป มีความเมตตาเสมอหน้ากันโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ซึ่งเป็นลักษณะของกุศลธรรมโดยแท้จริง เพราะว่าเมื่อเป็นกุศลธรรม เป็นเมตตาแล้ว ย่อมไม่มีการลำเอียงด้วยความรักหรือความชังใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้ายังเป็นการลำเอียงด้วยความรักหรือความชัง โดยไม่เป็นธรรม ขณะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้

ผู้ฟัง ขอสนับสนุนอาจารย์ที่กล่าวเมื่อครู่นี้ ผมจำบาลีได้ อคติ แปลว่า ทางที่ไม่ควรเดิน คติ แปลว่า ที่ไป อ แปลว่า ไม่ ทางที่ไม่ควรเดิน ผู้ใดประพฤติก็เหมือนกับพระจันทร์ข้างแรม ครึ่งๆ กลางๆ บางทีก็มืดไปเลย ส่วนผู้ที่ประพฤติธรรม ไม่มีฉันทะ ไม่มีโทสะ ไม่มีภยา ไม่มีโมหะ ประพฤติอยู่ในธรรมดีแล้ว เหมือนพระจันทร์พ้นจากกลีบเมฆ พระจันทร์ข้างศุกลปักษ์ ข้างขึ้นน่ะสว่างดี พวกตุลาการถือเป็นชีวิตจิตใจว่า จะปฏิบัติไม่ล่วงในอคติทั้ง ๔ นี้ นี่เป็นธรรมของผู้พิพากษาตุลาการควรจะต้องปฏิบัติ

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อคติ ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่ท่านคิด เพราะว่า ตราบใดที่ท่านเป็นผู้ไม่ตรง คือ เอียงๆ อยู่เรื่อยๆ จะตรงได้อย่างไรต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าแม้อกุศลธรรมเกิดขึ้นก็ไม่เห็น ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งกระทำการสะสมอกุศลธรรมคือความเอียงนั้นมากขึ้น ถ้ายังเป็นผู้ที่ยังเอียงอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่สติที่เกิดขึ้นจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีชื่อ ใครเคยชื่ออะไร เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของความโกรธซึ่งเป็นสภาพที่ร้อน ที่เผาไหม้ ที่ไม่แช่มชื่นเลย ในขณะนั้น สาธารณะกับทุกคนเวลาที่สภาพนั้นเกิดขึ้นกับบุคคลใด โดยไม่มีชื่อจำกัดเฉพาะ แต่ว่าเป็นลักษณะอาการของสภาพธรรมอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ถ้าจะบัญญัติคำ ก็ชื่อว่าความโกรธ แต่ว่าไม่มีชื่ออย่างที่เรียกกันว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ความโกรธเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ความโกรธของเรา หรือของใคร ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธจะไม่เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยแล้ว โกรธเกิดขึ้นปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะทำให้ปราศจากอคติ คือ การทำสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะฉันทะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือความกลัวภัยได้ เพราะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อเป็นอกุศล ปัญญาย่อมเห็นชัดในสภาพธรรมที่เป็นอกุศล และปัญญาที่เกิดขึ้น ย่อมทำกิจละอกุศลทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งเป็นอกุศล แม้ว่าเป็นบาปกรรม หรืออคติทั้งหลายที่ยังมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็จะทำให้ลดน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ คือ ไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖

นี่เป็นชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ซึ่งยังไม่ใช่บรรพชิต ยังมีกิเลสอยู่มากที่จะทำให้ยังคงเป็นเพศคฤหัสถ์อยู่ แต่แม้กระนั้น คฤหัสถ์ซึ่งมุ่งจะขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง ก็จะต้องอบรมปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ยังเป็นผู้ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่สามารถที่จะดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ดังเช่นพระอนาคามีและพระอรหันต์ แต่ท่านก็รู้ว่า สิ่งใดควรเจริญ สิ่งใดควรเว้น เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ที่เป็นวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบเพื่อที่ท่านจะได้ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ นี้ด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ

ท่านผู้ฟัง ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานทุกท่านพิจารณาได้ว่า เมื่อท่านเริ่มสนใจในการเจริญสติปัฏฐาน อัธยาศัยของท่านก็เริ่มที่จะคล้อยไปตามทางของพระอริยเจ้าทั้งหลายยิ่งขึ้น อย่างบุคคลซึ่งเคยเป็นผู้ที่ดื่มน้ำเมา เวลาที่เห็นโทษ และรู้ว่าเป็นสิ่งซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านงดเว้น แม้ว่าชีวิตของท่านยังจะต้องมีการเกี่ยวข้องกับการดื่มน้ำเมา แต่ท่านก็ยังเห็นว่าควรงดเว้น ส่วนที่จะเว้นได้เป็นสมุจเฉทเมื่อไรนั้น ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ต้องเริ่มจากการเห็นโทษเสียก่อน ถ้ายังคงไม่เห็นโทษ คิดว่า ไม่เป็นไร ท่านก็ยังคงเสพสุราต่อไป

แต่ถ้าเสพแล้วรู้ว่า การเสพสุรานั้นไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเช่นขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะและไม่เมา ก็จะทำให้ท่านเว้นการดื่มสุราได้ แต่ก็อาจจะยังคงเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราเมื่อจำเป็น ตามควรแก่หน้าที่กิจการงาน หรือในวงสังคมของท่าน แต่ว่าอัธยาศัยจริงๆ ของท่านเริ่มน้อมไปสู่การที่จะละเว้นการดื่มสุราเมรัยทุกประการซึ่งเป็นทางเสื่อม

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อัธยาศัยของท่านเริ่มที่จะคล้อยไปสู่อัธยาศัยของผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว

สำหรับการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเริ่มที่จะรู้ว่า ย่อมละคลายการที่จะเป็นผู้ที่แสวงหาการเที่ยวไปในที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะเคยมีอัธยาศัยอย่างนั้น แต่เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะทำให้อัธยาศัยของท่านน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้าซึ่งเว้นจากการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน อันเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง

แม้แต่การเที่ยวดูมหรสพ ซึ่งเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง ท่านก็จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ญาติมิตรสหายผู้ใดชักชวนไป ท่านก็ไปตามควรแก่เหตุการณ์ ตามปัจจัย แต่ว่าการที่จะเป็นผู้ขวนขวาย หรือพากเพียร หรือมุ่งที่จะไปเที่ยวดูมหรสพซึ่งเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ก็จะเริ่มละคลายเบาบางลง บางท่านอาจจะไม่เว้นการดูภาพยนตร์ ยังคงดูต่อไป แต่ว่าอย่างอื่นนอกเหนือจากภาพยนตร์ซึ่งเป็นมหรสพประการหนึ่ง แต่เป็นโทษมากกว่า เป็นอันตรายมากกว่า ท่านก็เริ่มละคลาย และมีอัธยาศัยที่น้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น

บางท่านก็สงสัยว่า ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะไปไนต์คลับบ้างหรือเปล่า ถ้าจะไปก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ไป บังคับบัญชาไม่ได้ แต่สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามขั้นของปัญญาที่ท่านได้สะสมอบรมแล้ว ซึ่งถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะไม่หวั่นเกรงต่อสถานที่ หรือบุคคล หรือเหตุการณ์ใดๆ เลย เพราะว่าเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว สติเกิดขึ้นขณะใด ปัญญานั้นสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น ขณะที่นั่งฟังธรรม ถ้าสติเกิดขึ้น ปัญญาก็รู้ชัดในการได้ยิน ในเสียง ในการคิดถึงคำ

ซึ่งแต่ก่อนที่สติจะเกิดขึ้น และปัญญาก็ยังไม่คมกล้า ท่านมีความคิดว่า ท่านกำลังฟังใครกำลังพูด มีสัตว์ มีบุคคลที่กำลังพูด และมีตัวตนที่กำลังฟัง แต่เวลาที่สติเกิดขึ้นและการสะสมปัญญาเพิ่มขึ้น ระลึกรู้ทันทีถึงความต่างกันของสภาพรู้เสียง ซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะนี้เป็นธาตุรู้เสียง เสียงจึงได้ปรากฏ แต่เวลาระลึกรู้ถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ที่กำลังรู้เสียง ความเป็นตัวตนออกไปแล้วจากการได้ยิน เพราะรู้ว่าเป็นธาตุรู้เสียง ธาตุรู้เสียงไม่สามารถที่จะเห็น ไม่สามารถที่จะคิดนึก ขณะนี้กำลังรู้เสียง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง และเสียงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ้าเป็นการศึกษาโดยปริยัติก็รู้ว่า เสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ลักษณะของเสียงไม่ปรากฏทางตาอย่างสีสันวัณณะต่างๆ ไม่ปรากฏทางจมูกอย่างกลิ่นต่างๆ เพราะฉะนั้น เสียงไม่ใช่กลิ่น เสียงเป็นของจริงชนิดหนึ่งกำลังปรากฏ และก็ไม่ใช่มีแต่เสียงเท่านั้นที่ปรากฏ เพราะว่ามีการนึกถึงคำ หรือความหมายทีละคำๆ ขณะที่กำลังนึกถึงความหมาย ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ธาตุได้ยินเสียง ไม่ใช่สภาพรู้เสียง และก็ไม่ใช่เสียง แต่เป็นสภาพหรือธาตุรู้ที่รู้คำ ขณะนี้ ขะ - ณะ - นี้ เป็นธาตุรู้คำ ขะ - ณะ - นี้

เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ไม่ว่าท่านจะได้ยินเสียงใคร จะเป็นเสียงเพลงที่ไนต์คลับ หรือว่าจะเป็นเสียงคนคุยกัน หรือว่าเป็นเสียงอะไรก็ตามแต่ ถ้าสติเกิดระลึกรู้ถึงสภาพที่ตรึก คือ นึก คือ คิดถึงคำ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลยในขณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพคิด ธาตุคิด ธาตุรู้คำ ที่เกิดขึ้นคิดทีละคำๆ

ถ้าสติรู้ชัดในสภาพคิด เพราะว่าระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ได้ยินเสียงเลยก็ยังคิดได้ คิด ทีละคำๆ ก็เป็นลักษณะคิด เพราะฉะนั้น หลังจากที่ได้ยินเสียงแล้ว ก็คือคิดนั่นเอง เหมือนกัน ก็คิดถึงคำทีละคำๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ตัวท่านก็ไม่มี แม้แต่คนที่กำลังร้องเพลง หรือว่ากำลังพูดกำลังคุยก็ไม่มี เวลาที่สติเกิดขึ้น ปัญญาคมกล้า มีแต่เพียงผู้เดียวซึ่งได้แก่สภาพหรือธาตุที่กำลังรู้คำ ที่กำลังมีคำทีละคำเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นเท่านั้น

เปิด  263
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566