แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 642

เพราะฉะนั้น สภาพหรืออรรถความหมายของปรมัตถธรรมที่เป็นปัญญา คือการรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ วันนี้ยังไม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไร วันหนึ่งจะเป็นได้ ถ้าระลึก ศึกษา สังเกต เนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัดขึ้น ละเอียดขึ้น และเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย ข้อสำคัญ คือ เป็นปกติ ตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ไม่มีการหวั่นไหว ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังเกต ศึกษา โดยระลึกรู้ในขณะนั้นแล้วก็หมดไป และก็มีการระลึกอีก ศึกษาอีก สังเกตอีก รู้อีกเรื่อยๆ โดยที่ไม่หวั่นไหวเลย

นี่เป็นการอาจหาญร่าเริง ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และไม่กลัวนิพพานด้วย ยังไม่ถึง จะอยากได้ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องทั้งยินดีและยินร้ายในนิพพานซึ่งยังไม่ปรากฏ แต่ว่าเพิ่มความรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. เป็นปัญหาของเพื่อนผู้ปฏิบัติด้วยกันบางคน คือ เขาพูดถึงเรื่องรูปลม เขาบอกว่า ขณะที่กระทบจมูก ก็รู้สึกว่าเป็นรูปลม มีความรู้สึกระลึกรู้ว่าเป็นรูปลม รูปไหว แต่ขณะที่เหยียดมือออกไป หรือก้าวขาออกไป คำว่าไหวนี้ รู้สึกว่ามองไม่เห็น ดิฉันก็บอกว่า ในพระไตรปิฎกก็มี อาจารย์ก็เคยพูดถึงสภาพไหว รูปของลมก็มีไหวตึง ขณะที่ก้าวไป เรามีความรู้สึกว่าตึงไหม ตึงนั่นคือรูปของลม เขาบอกว่า มองไม่เห็น จ

สุ. ไม่เห็นก็ไม่เห็น ไม่ต้องเห็น ถ้าไม่เห็น ถ้าไม่ปรากฏ เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะที่ก้าวเดิน ถ้าลักษณะสภาพไหวไม่ปรากฏให้รู้ แต่พยายามจะรู้ธาตุลมหรือสภาพไหว ก็หมายความว่าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ มัวแต่ไปพยายามหาสิ่งที่ไม่ปรากฏมารู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น พลาดโอกาสที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ปรากฏ

ไม่ใช่ให้ทุกท่านพยายามไปรู้รูปไหว หรือธาตุลม ถ้าไม่ปรากฏ ไม่ต้องสนใจเลย แต่เมื่อปรากฏแล้ว ก็ควรระลึกศึกษาเพื่อจะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับอ่อน ต่างกับแข็ง ต่างกับเย็น ต่างกับร้อน

อาการของรูปที่ปรากฏซึ่งต่างจากอ่อนแข็งเย็นร้อนที่จะปรากฏได้ คือ ลักษณะของธาตุลม ซึ่งจะปรากฏในอาการไหวก็ได้ หรือในอาการเคร่งตึงก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรู้ในขณะที่กำลังเดิน หรือว่าขณะที่กำลังเคลื่อนไหว แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ

ถ. ดิฉันก็พูดอย่างนี้ ดิฉันบอกว่า เวลาเรายกแขนขึ้น ก็รู้สึกตึงเป็นบางครั้งบางคราว สภาพตรงนั้น คือ สภาพของธาตุลม

สุ. เพราะว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสติระลึกได้ จึงศึกษา สังเกต รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ จะเห็นได้ว่ายากแล้ว แต่ยิ่งพยายามจะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ ก็ย่อมจะยิ่งยากขึ้น ถูกไหม ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏมีอยู่ตามปกติ ถ้าสติเริ่มระลึกและศึกษาก็จะทำให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ถ้าสงสัยและอยากไปรู้ในสภาพธรรมที่ไม่ปรากฏ นั่นจะยิ่งยากกว่า

ถ. ขณะที่มีความสงสัยและไปพยายาม ปัจจุบันธรรม ก็คือ ความพยายามนั้นนั่นเอง ใช่ไหม

สุ. ใช่ ข้อสำคัญ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าความพยายามปรากฏ และสติระลึกทันที แทนที่จะไปพยายามรู้รูปไหว ก็จะรู้ลักษณะของความพยายามว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ และต่อไปอีก ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เป็นของจริงซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการระลึกที่จะรู้ ก็ต้องรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง

ถ. รูปเกิดจากกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นสภาพธรรมที่เราเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรจะรู้ได้ ใช่ไหม

สุ. ก่อนที่จะรู้ว่า รูปเกิดจากสมุฏฐานอะไร ต้องรู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง ไม่ปะปนกับทวารอื่น เช่น กำลังเห็นขณะนี้ รูปตามความเป็นจริงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือลักษณะจริงๆ ของรูปที่สามารถปรากฏทางตาได้ ซึ่งจะต้องศึกษาอยู่เรื่อยไม่มีวันจบสิ้น เพราะว่ามีการเห็นอยู่เรื่อย และขณะใดที่หลงลืมสติ ก็จะต้องเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที แต่ขณะที่มีสติก็ศึกษา คือ เริ่มที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เอาสัตว์ออกไป เอาบุคคลต่างๆ ออกไป เอาวัตถุสิ่งต่างๆ ออกไป เหลือแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ในขั้นต้น ศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่นามธรรม และรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เพื่อถ่ายถอนความเป็นตัวตนที่เคยรวมสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง

ถ. เป็นการวิจัยธรรมที่ได้ผ่านไปแล้วก็มี ขณะนั้นก็ระลึกรู้ว่า นี่คือสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง

สุ. เพราะฉะนั้น ก็มีปัญญาขั้นคิด ขั้นพิจารณา ซึ่งขณะนั้นก็มีสติที่เกิดพร้อมกับจิตที่คิดพิจารณาธรรม แต่ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และรู้ด้วยว่า เป็นสติกับปัญญาต่างขั้น สติปัญญาขั้นคิดเรื่องธรรมเป็นขั้นหนึ่ง พอหยุดคิดเรื่องธรรม ก็จะมีสติขั้นระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่คิดเมื่อครู่นี้ทันทีก็ได้

ถ. รูปบางรูปเกิดจากกรรม หรือจากจิต ดิฉันยังไม่เข้าใจ

สุ. ผู้ที่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลาที่รูปธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และก็มีนามธรรมที่กำลังรู้รูปนั้นปรากฏลักษณะของนามธรรม คือ ไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ต่อเนื่องโยงไว้กับรูป ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ตาม ในขณะนั้นลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยสภาพเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ เป็นสภาพรู้ในรูปที่กำลังปรากฏเท่านั้น ผู้นั้นจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมก่อน และไม่มีความสงสัยในลักษณะของรูปที่ปรากฏ ในลักษณะของนามที่กำลังรู้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีการเคลื่อนไหว สติรู้ในรูปที่ปรากฏที่ไหวพร้อมทั้งจิตในขณะนั้น ถ้าเป็นจิตคิดนึกถึงเรื่องที่สนุกสนาน ก็เกิดโสมนัส สติในขณะนั้นระลึกรู้สภาพของโสมนัสซึ่งเป็นลักษณะที่ดีใจที่พอใจในขณะนั้น รูปยิ้มมีไหม ไม่ต้องใช้บัญญัติคำว่ายิ้มเลย แต่ว่ามีการไหวของรูปในส่วนที่ยิ้มปรากฏ และสติในขณะนั้นรู้ในลักษณะของสภาพดีใจซึ่งเป็นโสมนัส รู้ในลักษณะอาการของรูปซึ่งไหวไป เพราะฉะนั้นในขณะนั้น เป็นการรู้รูปซึ่งเกิดเพราะจิตประเภทนั้น

ในขณะนั้น ไม่ใช่การนึกว่า รูปมีกี่อย่าง รูปไหนเกิดเพราะกรรม รูปไหนเกิดเพราะจิต รูปไหนเกิดเพราะอุตุ รูปไหนเกิดเพราะอาหาร แต่ว่าสติกำลังระลึก ปัญญากำลังรู้ชัดในลักษณะของรูปและนามที่กำลังปรากฏ จึงทำให้รู้ถึงปัจจัยของรูปซึ่งเกิดขึ้น การไหว ซึ่งเมื่อครู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อจิตโสมนัสเกิดขึ้น การไหวที่เป็นอาการของรูปที่ยิ้มจึงเกิดขึ้นในขณะนั้น เห็นการเกิดขึ้นของอาการไหว และก็รู้สภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพของความยินดีโสมนัสในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นการรู้ว่า รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตนั้น

ถ. ขณะที่หนาว ตัวเราสั่น เป็นสภาพธรรม ระลึกได้โดยสภาพไม่ใช่ตัวตน

สุ. เป็นการตรึกนึกถึง เวลาที่สภาพนั้นปรากฏและก็คิดว่า รูปนี้เกิดเพราะอุตุ เพราะความหนาว

ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ในความเป็นปัจจัย ต้องประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมสติและปัญญา ซึ่งปราศจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทั้งสิ้นในขณะนั้น โดยความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ เพราะว่าเมื่อประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ก็รู้สภาพของนามธรรม รู้การเกิดขึ้นของรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะนามธรรมในขณะนั้น เป็นอย่างนั้นๆ

ถ. รูปที่เกิดจากอาหาร ขอให้อาจารย์กรุณายกตัวอย่าง

สุ. ธรรมดาจะไม่มีการรู้ละเอียดแตกย่อยถึงขนาดนั้นว่า ขณะนี้ที่กายมีรูปที่เกิดเพราะกรรม มีรูปที่เกิดเพราะจิต มีรูปที่เกิดเพราะอุตุ มีรูปที่เกิดเพราะอาหาร ตรงไหนส่วนไหน รูปที่เกิดจากกรรมก็มีอยู่ทั่วกาย รูปที่เกิดจากจิตก็ไม่ได้แตกขาดย่อยออกไปจากกันเป็นคนละรูปต่างหากแสนไกล แต่ว่ารวมกันอยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้น เป็นการยากที่ปัญญาจะรู้ทั่วถึงว่า กลุ่มรูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรม และในที่เดียวกันที่ปรากฏในลักษณะของรูปนั้น ก็มีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิต มีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ มีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร เพียงแต่ว่ารูปใดปรากฏสภาพที่เกิดเพราะจิตขณะนั้น ก็ปรากฏให้รู้ว่าเป็นรูปที่เกิดเพราะจิต ส่วนรูปอื่นที่ปรากฏ ถ้าเป็นรูปภายนอกที่กระทบ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุ แต่ในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรึก หรือพิจารณาด้วยความคิดไตร่ตรองว่าเป็นรูปที่เกิดเพราะอะไร แต่เห็นการเกิดขึ้นของรูปได้

ถ. ขณะที่เจริญสติ บางครั้งก็เป็นการเจริญสติโดยระลึกรู้ตามความเป็นจริง บางครั้งก็เป็นจิตที่ระลึกรู้ถึงปัจจัยหรือเหตุปัจจัย หรือถ้อยคำที่ได้อ่านมาจากหนังสือบ้าง ฟังจากอาจารย์บ้าง ซึ่งบางครั้งก็อดจะเอาไปวิจารณ์ไม่ได้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น

สุ. เป็นธรรมดา แต่ต้องมีปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ การรู้อย่างนี้ จะเป็นปัจจัยให้ระลึกและศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแทนที่จะตรึกหรือนึกคิดต่อไป เพราะทราบว่า จะนึกคิดต่อไปก็เป็นปัญญาขั้นตรึก หรือขั้นนึกคิดเท่านั้น

แต่ว่าขั้นที่สติเกิด ระลึก สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่ศึกษาว่าเป็นนามธรรมจริงๆ คือ เป็นสภาพรู้จริงๆ หรือเป็นสภาพของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้จริงๆ ขณะนี้จะมีน้อยกว่าขั้นที่คิดนึก ตรึกพิจารณา ขั้นศึกษาตามที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งสองอย่างนี้ควรจะทราบว่าต่างกัน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสติขั้นไหนจะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าอบรมการที่จะระลึกศึกษาสังเกตสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรืออาการรู้ในเรื่องที่กำลังคิดนึก หรือว่าเป็นธาตุรู้ อาการรู้รูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะทำให้รู้ว่า การศึกษาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ จะเกิดขึ้นเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยสลับกับการตรึกนึกคิดพิจารณา ขั้นเทียบเคียง หรือว่าขั้นความคิดนึก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

สำหรับความเห็นผิด เป็นสิ่งที่เกิดไม่ยากเลย เพราะถ้าปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ ตั้งแต่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จนกระทั่งถึงการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ที่แสดงถึงความเห็นผิดซึ่งมีอยู่ในใจด้วย

ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดมีประโยชน์ ที่จะให้ผู้ฟังได้ทราบถึงสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงชีวิตประจำวันซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ว่าชีวิตประจำวันทุกขณะนี้เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมแท้ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครจะมีกิเลสมาก มีกิเลสน้อย มีกุศลมาก มีกุศลน้อยอย่างไร ก็จะรู้ได้จากสภาพธรรมที่เป็นของจริงที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเทียบเคียงให้ท่านย้อนกลับมาพิจารณาด้วยสติถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันเพื่อที่จะได้รู้ว่า ชีวิตประจำวันแท้ๆ เป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครมีกิเลสมาก ใครมีกิเลสน้อย ใครมีกุศลมาก ใครมีกุศลน้อย

ข้อความใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกคฤหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน ฯ

นี่เป็นกุศลหรือเปล่า

การนอบน้อม การไหว้ ถ้าเป็นการไหว้ในสิ่งที่ถูก เป็นการนอบน้อม เพราะจิตในขณะนั้นเบา ผ่องใส ปราศจากกิเลส เป็นการแสดงความนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม ในขณะนั้นเป็นกุศล

แต่การไหว้ของแต่ละคนในชีวิตประจำวันพิจารณาได้ว่า ต้องการอะไรหรือเปล่า การนอบน้อม หรือการเคารพกราบไหว้บูชาแต่ละครั้งต้องการอะไรหรือเปล่า หรือว่าไหว้ครั้งหนึ่งขอมาก ขอจริงๆ บางท่านอธิษฐานขอให้ไม่มีโรค ถ้าท่านทำกุศล ผลของกุศลจะทำให้ท่านมีโรคได้ไหม ก็ไม่ได้ กุศลย่อมให้ผลเป็นสุข ใครจะเปลี่ยนแปลงผลของกุศลให้เป็นการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ให้ได้นินทา ให้ได้ทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ผลของกุศลย่อมนำมาซึ่งความสุข ลาภ ยศ สรรเสริญด้วย ความปราศจากโรคก็เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ต้องขอไหม หรือกลัวว่า ทำกุศลแล้วจะไม่ให้ผลอย่างนั้นๆ

แต่ถ้าท่านทำอกุศลกรรมมา จะเปลี่ยนว่าอย่าให้เป็นทุกข์เลย ขออย่าให้มีโรคเลย ขออย่าให้เสื่อมลาภเลย ขออย่าให้เสื่อมยศเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศล

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวังผลซึ่งต้องเกิดจากเหตุ ที่จะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ พ้นจากการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทาได้ ต้องกระทำกุศล หรือว่าละคลายอกุศลให้เบาบาง ซึ่งถ้าท่านทำกุศลแล้ว ต้องได้รับผลของกุศลแน่นอน ส่วนโทษทุกข์ภัย ต่างๆ ที่ท่านได้รับอยู่ แม้แต่ความมีโรค ก็ต้องเป็นผลของอกุศลที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น อย่ากระทำอีก เมื่อไม่ต้องการผลที่ไม่ดี ก็อย่ากระทำอกุศลกรรม เมื่อต้องการผลที่ดี ก็จงทำกุศลกรรม เพราะว่าผลต้องเป็นไปตามเหตุ

เพราะฉะนั้น เรื่องของการไหว้ การนอบน้อมที่เป็นกุศลก็มี หรือว่าเพราะความปรารถนาก็มี

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565