แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 576

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีความเห็นในเรื่องของการเจริญวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ปัญญาซึ่งเป็นสภาพลักษณะปรมัตถธรรมที่มีจริงนั้น สามารถที่จะเกิดขึ้นประจักษ์แจ้ง รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าเป็นการรู้อื่น ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่วิปัสสนา

สำหรับการจงกรม หรือเดินจงกรม อิริยาบถของคนเราตามปกติจะพ้นไปจากนั่ง นอน ยืน เดินไม่ได้ จะคลาน จะคู้ จะเหยียด นั่นก็ปลีกย่อยออกไป อิริยาบถใหญ่ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ในวันหนึ่งๆ แต่ละท่านก็คงจะสังเกตตัวของท่านได้ว่า ท่านมีอิริยาบถใดมาก บางอาชีพหรือเกือบจะทุกอาชีพทีเดียว นั่งมาก บางอาชีพอาจจะยืนมาก หรือบางท่านก็อาจจะเดินมาก ก็เป็นเรื่องของแต่ละท่านซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

เพราะฉะนั้น เมื่อทราบถึงชีวิตปกติตามความเป็นจริงว่า นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง จะไม่สงสัยเลยในเรื่องที่พระผู้มีพระภาคก็จะต้องทรงนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง และเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ เป็นการเสด็จจาริกไปสู่สถานที่ต่างๆ แต่ภายในพระวิหารเชตวัน จะให้พระองค์เพียงนั่ง หรือนอน หรือยืน โดยไม่เดิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ภายในพระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคก็ทรงเดินด้วย เป็นการจงกรม หมายความว่า ไม่ได้เสด็จจาริกไปสู่สถานที่อื่น ก็เป็นปกติ เพราะว่าบางคนนั่งมากก็จะรู้สึกอึดอัด นอนมากก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรจะเสมอกัน หรือนอนน้อยที่สุด ก็ไม่เป็นอะไรเลย ท่านที่ถือธุดงค์ ท่านไม่นอนเลย แม้หลับก็นั่ง ไม่นอน

แล้วแต่ว่าอิริยาบถใดเป็นอิริยาบถที่เหมาะ ที่ควรกว่าอิริยาบถอื่น นั่งควรกว่านอน เดินควรกว่านั่ง ในด้านของประโยชน์ เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคไม่ได้เสด็จจาริกไปสู่สถานที่อื่น พระองค์ก็ทรงมีอิริยาบถเดินด้วย ซึ่งเป็นการเดินไปมา ในขณะนั้นก็เรียกว่า จงกรม จงฺกม คือ การก้าวไปเป็นลำดับ ซึ่งหมายความถึงการเดิน แต่ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียด ก็เข้าใจผิดว่า เวลาจะเจริญวิปัสสนา ก็จะต้องลุกขึ้นมาเดินจงกรม นั่นไม่ถูก ไม่เป็นปกติ ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาสามารถเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งรู้ชัดได้ ไม่ว่าจะในขณะที่นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดินก็ตาม

ถ. ความปรารถนาที่เป็นไปในธรรมนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่จิตปรารถนาไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลใช่ไหม

สุ. สภาพของจิตละเอียดมาก และเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เช่น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ บางท่านเข้าใจว่า ในขณะที่เห็นนี้ได้ยินพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดสลับกับอกุศลจิตอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสติเท่านั้นที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

ถ. ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งปรารถนาพระโพธิญาณ หรือพระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าก็ตามที จะเป็นอกุศลได้ไหม

สุ. ถ้าเป็นความปรารถนาเพื่อที่จะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์จริงๆ นั่นเป็นกุศล แต่ถ้าปรารถนาเพราะเห็นว่า มีคนเคารพยกย่องมากมายเหลือเกิน อยากจะได้สักการะ ความเป็นใหญ่อย่างนั้นบ้าง ก็ไม่ใช่กุศล

เพราะฉะนั้น สภาพจิตของแต่ละคนก็ต่างกันไป แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องอาศัยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่จะกล่าวว่าเป็นกุศลเหมือนกันหมด เพราะเหตุว่าความปรารถนานี้ก็ยังต่างกันไป บางท่านปรารถนาจริงๆ ที่จะให้ปัญญาสามารถที่จะบรรลุถึงขั้นที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยการบรรลุถึงขั้นคุณธรรมที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง แต่บางท่านเห็นความยิ่งใหญ่ เห็นสักการะใหญ่ เห็นลาภใหญ่ ก็อาจจะมีความปรารถนาอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตเป็นเรื่องละเอียดมาก ต้องเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตเท่านั้นที่จะรู้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร

. เรื่องจงกรม ที่อาจารย์ว่าถูกแล้ว คือ คำว่า จงกรม ภาษาบาลี จงฺกม มีบางสำนักบอกว่า เจริญวิปัสสนาต้องเดินจงกรมท่านั้น ท่านี้ ซ้ายขวา ต้องเดินกันเป็นนิจสินเลย และจึงไปนั่งวิปัสสนา ความจริงคำว่า เดินจงกรม ต่างกับเดินธรรมดา คือ เดินอย่างผม เดินจากบ้านมาวัดมหาธาตุ ฯ จะกลับก็เย็น ส่วนเดินจงกรมนั้นเดินไปๆ มาๆ อีกนัยหนึ่ง การเดินจงกรมเป็นการออกกำลัง เราจะเห็นได้อย่างพระพุทธเจ้า ท่านสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว บางครั้งท่านก็เดินจงกรม ยกตัวอย่าง เมื่อทรมานชฎิล ท่านก็เดินไปเดินมา ไม่ใช่ว่าท่านจะเจริญวิปัสสนาให้สำเร็จมรรคผลอะไรอีก ในเมื่อท่านสำเร็จแล้ว อีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำยมกปาฏิหาริย์ ขึ้นไปบนยอดมะม่วงแล้ว ท่านก็เดินไปเดินมา นั่นก็เรียกว่า จงกรม

จงกรม คือ การเดินชนิดหนึ่ง เรียกว่า เดินไปเดินมา ต่างกับที่เดินไปแล้วไม่กลับ หรือกว่าจะกลับก็เป็นเวลานาน

บางสำนัก จะนั่งวิปัสสนาต้องเดินจงกรมเสียก่อน ท่านั้น ท่านี้ รู้สึกเป็นพิธี ต้องเอาเท้าลงก่อน ลงเดินต้องขยับอย่างนั้นอย่างนี้ มาจากไหนผมก็ไม่รู้หรอก แต่ที่พระผู้มีพระภาคท่านทำ หมายความว่า ท่านคอยใครต่อใคร ก็เดินจงกรม เช่น คอยรับพระยศกุลบุตร คอยรับอนาถบิณฑิกะ ทำยมกปาฏิหาริย์ เดินไปเดินมาบนยอดมะม่วง ก็มีเท่านี้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรสำหรับการเจริญวิปัสสนา

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาแสดงความคิดเห็น ความหมายของศัพท์ในภาษาบาลี ท่านผู้ฟังเขียนถามมาข้อหนึ่ง มีข้อความว่า

ขอเรียนถามว่า ขณะนั่งก็ดี นอนก็ดี กำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นถูกพื้นแล้วมีอาการเกร็ง ประดุจยืนยันว่า กำลังถูกอยู่ อาการนั้นเรียกอะไร เรียกสติเกิดหรือเปล่า

ไม่ทราบทำอะไรจึงไม่รู้ว่า สติเกิดหรือเปล่า เจริญวิปัสสนา หรือว่าเจริญสติ หรือว่าทำอะไรก็ไม่ทราบ จึงได้สงสัยว่า สติเกิดหรือเปล่า

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าเจริญโดยการไม่รู้ หรือว่าเมื่อไม่รู้อะไรก็เจริญได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติแล้ว อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ปัญญาที่จะเกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ขั้นของการฟังแล้วเข้าใจ ถ้าไม่ฟังมาก่อน ก็ยากเหลือเกินที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดถึงขั้นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือก่อนที่สติจะเกิดได้ จะต้องมีการฟัง และพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นสติเสียก่อนว่า สติคืออย่างไร มีสติกี่ขั้น สติขณะใดเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบ เป็นไปในขั้นของสติปัฏฐาน ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ผิดปกติ

นี่ผิดปกติหรือเปล่าที่ว่า ขณะนั่งก็ดี นอนก็ดี กำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึงก้นถูกพื้นแล้วมีอาการเกร็ง ประดุจยืนยันว่า กำลังถูกอยู่ นี่ผิดปกติ หรือว่า ตามปกติ อาการเกร็งนี่ เดี๋ยวนี้เกร็งหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ไม่เกร็ง เป็นธรรมชาติ เป็นปกติ อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยไม่เกร็ง จึงจะเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าผิดปกติเมื่อไร และคิดว่ารู้ความจริงแล้ว ขณะเป็นปกติจะไม่สามารถรู้ความจริงได้

เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นปัญญาที่จะรู้ความจริงนั้น คือ รู้ความจริงตามปกติ อย่าลืมคำว่า ตามปกติ ในขณะนี้ปกติอย่างไร สิ่งที่ยาก คือ ปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้งแทงตลอดรู้ชัดในความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏตามปกติเดี๋ยวนี้ ไม่ผิดปกติเลย นั่นจึงจะเป็นปัญญาจริงๆ

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นปกติ ไม่มีการเกร็ง ไม่มีการผิดปกติ ถ้าเกิดเกร็ง เกิดผิดปกติขึ้น ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเสียแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดสงสัยว่า ขณะนั้นเป็นสติหรือเปล่า นี่ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาจะต้องเริ่มขึ้นจากการรู้ว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ต้องสามารถที่จะรู้ความต่างกันของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติเสียก่อน แม้ว่าสติจะเกิดไม่มาก ไม่บ่อยครั้ง ก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าเป็นความเห็นถูกในลักษณะของสติ จึงสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ นี่สำคัญที่สุด

แม้จะคิดว่า เกร็งเสียนาน รู้เสียมาก แต่ผิดปกติทั้งหมด เสียเวลามากที่สุด ขณะนั้นไม่ได้เกิดปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นสติหรือเปล่า เพราะว่ากำลังผิดปกติจึงไม่รู้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ ความเข้าใจต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น อย่ารีบร้อนที่จะไปให้มีสติมากๆ และก็ผิดๆ เพราะว่าผิดปกติ เกร็งๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็นความเข้าใจผิด เมื่อสะสมความเข้าใจผิดมากขึ้นๆ ก็ชินกับการปฏิบัติผิด ชินกับการที่จะเข้าใจผิดอย่างนั้น ยากต่อการที่จะไถ่ถอนให้เห็นว่า นั่นไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ปัญญาจริงๆ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติจริงๆ

มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่สนใจฝักใฝ่ในการเจริญวิปัสสนา และท่านก็ไปสู่สำนักที่สงบแห่งหนึ่ง ห่างไกลจากพระนคร และก็ปฏิบัติอยู่เป็นเวลานานพอสมควร เมื่อกลับมามีชีวิตประจำวัน เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สภาพธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง ตามเหตุตามปัจจัยตามปกติ ท่านก็เกิดความไม่สงบ เกิดความไม่พอใจ เพราะว่าช่างไม่เหมือนกับขณะที่ท่านอยู่ในสถานที่ซึ่งสงบ เป็นสำนักปฏิบัติที่ห่างไกลจากกรุงเทพ ฯ แต่ท่านเคยสะสมอบรมความเห็นถูกมาที่จะเกิดเฉลียวใจรู้ได้ว่า การปฏิบัติอย่างนั้นผิดเสียแล้ว เพราะว่าไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นสงบ สติระลึกรู้พร้อมกับความสงบ ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ถ้าปัญญาเกิดเมื่อไร สงบเมื่อนั้น แต่ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ จะปรากฏความไม่สงบ เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติที่สามารถจะทำให้สงบได้จริงๆ คือ ข้อปฏิบัติที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญารู้ว่าลักษณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นจะไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ที่ปรากฏตามเหตุตามปัจจัยตามความเป็นจริง

ท่านที่พอใจในความสงบในบางสถานที่ ท่านจะติด และคิดว่าท่านมีความสงบมาก แต่ความสงบเหล่านั้นไม่เป็นผลเลยกับชีวิตปกติประจำวันของท่าน เพราะชีวิตปกติประจำวันมีการรับกระทบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เมื่อท่านไม่เคยอบเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีความสงบ จิตใจย่อมหวั่นไหวไป แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้

ถ. จดหมายเมื่อครู่นี้ที่อาจารย์นำมาอ่าน คือ ผมคิดว่าคนทั่วโลกเวลานี้นิยมกันแบบนี้ เห็นว่าผู้ใดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็อยากได้ดี เลยปฏิบัติตาม เช่น ทุกวันนี้มีหนังสือต่างๆ ที่เป็นประวัติของมหาบุรุษ เช่น นโปเลียน เป็นต้น ที่ท่านเก่งกล้าสามารถอะไรต่างๆ เขียนออกมาขายดิบขายดี อ่านแล้ว ผู้อ่านก็อยากจะปฏิบัติตาม แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ ส่วนมากเห็นใครปฏิบัติแล้วได้ดี มักคิดจะปฏิบัติตาม

สุ. ได้ดี ได้อะไร

ถ. เช่น นโปเลียน เขาได้เป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจอย่างนี้ ถ้าฝ่ายทางธรรม ดีของธรรมก็อีกอย่างหนึ่ง

สุ. เป็นอย่างไร

ถ. ได้ปัญญา ได้คุณธรรมต่างๆ ถือว่าได้ดีเหมือนกัน

สุ. รู้ได้อย่างไรว่า เขาได้ดี

ถ. เช่น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็เป็นพระอัครสาวก ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ อย่างนี้ก็เป็นคุณธรรมความดีของท่าน อย่างนี้พระผู้มีพระภาคก็ตีตรารับรอง

สุ. นอกจากท่านพระอนุรุทธะ พระสาวกอื่นๆ ที่เป็นคฤหัสถ์ ทำไมไม่เอาอย่าง ในเมื่อชีวิตจริงของท่านเป็นคฤหัสถ์ ก็ควรเอาอย่างพระอริยเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์ หรือว่าท่านจะเอาอย่างพระอริยเจ้าที่ทรงคุณธรรมสูง ซึ่งท่านไม่มีโอกาสที่จะบรรลุถึงคุณธรรมของท่านเหล่านั้นเลย

ถ. ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป เพราะว่าคุณธรรมของคฤหัสถ์ เช่น พระโสดาบัน ก็ยังไม่ใช่คุณธรรมที่สูงสุด

สุ. แต่ชีวิตของบุคคลนั้นจริงๆ เป็นคฤหัสถ์อยู่ ทำไมไม่เจริญอบรมที่จะให้ถึงคุณธรรมของพระอริยเจ้าในเพศของคฤหัสถ์ ถ้าท่านผู้นั้นเป็นพระภิกษุแล้ว การที่จะสะสมบารมีให้บรรลุคุณธรรมถึงท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็จะต้องสะสมคุณธรรมอีกมากทีเดียว เป็นอัธยาศัยจริงๆ ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ท่านต้องการอะไร ต้องการจะเป็นเช่นท่านพระอนุรุทธะ ก็เป็นไปได้ในวันหนึ่ง แสนไกล

ถ. ความต้องการอาจจะพูดยาก เพราะเหตุว่าไหนๆ ต้องการแล้ว ก็ต้องให้สูงสุดเลย

เปิด  211
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565