แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 574

ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๙๓/๑ ซอยรามบุตรี ถ.จักรพงศ์ กทม.

วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นับถือ

โดยปกติ ผมได้สวดคาถาชินบัญชรอยู่เป็นปกติ คือ ตอนเช้าและตอนค่ำ รู้สึกว่า ทำให้การเจริญสติปัฏฐานปลอดโปร่งดี ตอนหนึ่งของคาถามีว่า หทเย เม อนุรุทฺโธ สารีปุตฺโต จ ทกฺขิเณ โกณฺฑญฺโญ ปิฏฐิภาคสฺมึ โมคฺคลฺลาโน จ วามเก ... ก็ขอผ่านเรื่องคาถาชินบัญชรในเรื่องเสียงและถ้อยคำไป ใคร่ที่จะให้ธรรมมีขึ้นที่ใจ ขอให้ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายให้ละเอียดพอสมควรในอนุรุทธสังยุต รโหคตสูตร ที่ ๑ เนื่องจากในพระสูตรดังกล่าว มีศัพท์ต่างๆ ที่จำเป็นใช้ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่มาก จึงขอส่งคำถามมาเพื่อได้มีเวลาเตรียมตัวตอบอธิบาย พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ ๒๕๐๐ เล่ม ๓๐ ข้อ ๑๒๕๓ – ๑๒๖๒ หน้า ๔๖๙ – ๔๗๒ ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งล่วงหน้ามาด้วย

คำว่า พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ หมายถึงการเจริญสติ เช่นว่า ตากระทบรูป จักขุวิญญาณรู้สี ใจกระทบธรรมารมณ์ มโนวิญญาณก็รับรู้ แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นสีดี สีไม่ดี จนถึงนั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของของเรา อย่างนี้ใช่ไหมขอรับ

ในอนุรุทธเถรคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๔๑ ตอนหนึ่งพระอนุรุทธะกล่าวถึงความประพฤติพรหมจรรย์ของท่านว่า บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง มีดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกเช้าค่ำ ก็ไม่บรรลุความบริสุทธิ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้องนั้นได้ เพราะยังเป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นวิสัยแห่งมาร พระอนุรุทธะก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้นเสียแล้ว ยินดีในพระพุทธศาสนา ได้ล่วงโอฆะทั้งปวงแล้ว เพ่งฌานอยู่

กระผมก็ระลึกได้ถึงเรื่องสถานที่ปฏิบัติ ณ ที่ใดๆ ก็ได้ ที่ท่านอาจารย์ชอบกล่าว กระผมหมายถึงละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่า นักปฏิบัติต้องไม่เผลอไปเริงอกุศลกรรมล่วง ณ ที่นั้นๆ อย่างหนึ่ง และต้องปฏิบัติตนตามแนวทางของบัณฑิตอีกอย่างหนึ่ง ใช่ไหมขอรับ

ขอได้รับความนับถืออย่างสูง

สุ. ท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้ ท่านได้เขียนมาหลายครั้ง คำถามหรือข้อข้องใจของท่านก็ยังคงเกี่ยวกับเรื่องของสถานที่อยู่นั่นเอง สำหรับข้อที่ท่านกล่าวถึง ที่ว่า ขอให้ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายให้ละเอียดพอสมควรในอนุรุทธสังยุต รโหคตสูตรที่ ๑ เนื่องจากในพระสูตรดังกล่าว มีศัพท์ต่างๆ ที่จำเป็นใช้ในการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ อยู่มาก จึงขอส่งคำถามมาเพื่อได้มีเวลาเตรียมตัวตอบอธิบาย พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับ ๒๕๐๐ เล่ม ๓๐ ข้อ ๑๒๕๓ – ๑๒๖๒ หน้า ๔๖๙ – ๔๗๒ ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งล่วงหน้ามาด้วย

สำหรับรโหคตสูตรก็ได้เคยกล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจ้าของจดหมายรับฟังการบรรยายซึ่งออกอากาศทางวิทยุ ก็จะทราบว่า ได้เคยกล่าวถึงรโหคตสูตรแล้ว ที่ท่านข้องใจใน รโหคตสูตรที่ ๑ ซึ่งเป็นพระสูตรที่ยาวมาก ข้อความโดยสรุป คือ

ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ท่านเกิดความปริวิตกขึ้นในใจว่า สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า เบื่ออริยมรรคที่จะทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคที่จะทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

เมื่อท่านพระอนุรุทธะเกิดความปริวิตกขึ้นในใจอย่างนี้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านก็ทราบถึงความดำริ คือ ความคิดของท่านพระอนุรุทธะด้วยจิตของท่าน เพราะฉะนั้น ท่านก็มาหาท่านพระอนุรุทธะ และได้สนทนากันถึงเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องระลึกรู้เรื่องของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ด้วยความไม่หวั่นไหวทั้งในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั่นเอง

ข้อความนี้ จะได้ทราบว่า จุดประสงค์ของการ เจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยความไม่หวั่นไหว ขณะที่กระทบกับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

ใน รโหคตสูตรที่ ๒ ก็เป็นการกล่าวแสดงโดยย่อถึงจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานว่า เป็นการระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม นั่นเอง

และสำหรับข้อความที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า เบื่ออริยมรรคที่จะทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ถ้าท่านผู้ฟังไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในหนทางข้อปฏิบัติ คือ การที่จะศึกษา สังเกต สำเหนียก ด้วยสติที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใด ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าท่านคิดว่า ไม่เห็นได้ผลอะไรขึ้นมา เพราะบางท่านเข้าใจว่า ผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นอย่างอื่น ท่านไม่มีความมั่นคงในความเข้าใจว่า ผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏลักษณะหนึ่งลักษณะใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ นี่คือ ผลของการเจริญสติปัฏฐาน

แต่ถ้าท่านเข้าใจว่า ผลของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างอื่น ท่านก็จะเข้าใจว่า ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ไม่ใช่ผล ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้น ผิดแน่นอน ทำให้ไม่เกิดการศึกษา สังเกต สำเหนียก ที่จะให้เกิดปัญญาที่ประจักษ์แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเกิดดับตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ได้

ท่านที่เบื่อการเจริญสติปัฏฐาน คือ ท่านที่ไม่มั่นคงในเหตุผล ในความเข้าใจว่า ผลที่แท้จริง คือ การเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนเป็นความรู้ชัด รู้แจ้ง ประจักษ์จริงๆ ในสภาพที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกอย่างนี้ และปรารภสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านก็จะไม่เบื่อ เพราะท่านรู้ว่าสติเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ อยากที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าขณะใดที่สติเกิด สังเกต สำเหนียก ศึกษา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อเป็นความเข้าใจขึ้น เพื่อเป็นความรู้ชัดขึ้น เพื่อที่จะเกิดปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริง

ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ ไม่เบื่อ จะเบื่อได้อย่างไร สติเป็นอนัตตา ระลึก และศึกษาสังเกต เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีการที่จะเบื่ออะไร

แต่ท่านที่เข้าใจผิดในผลของการเจริญสติปัฏฐาน คิดว่าจะไปรู้อย่างอื่นได้โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ท่านจะเบื่อ เพราะเหตุว่าระลึกแล้วก็เหมือนเดิม ระลึกแล้วก็เหมือนเดิม คือ ถ้าระลึกลักษณะอ่อนก็อ่อน ท่านชินกับอ่อน แต่ไม่ชินกับความรู้ว่าอ่อนนั้นไม่ใช่ตัวตน อ่อนนี้ ขณะที่สติระลึกรู้ทางกายขณะใดลักษณะอ่อนปรากฏ ไม่พอ คิดว่ารู้แล้วไม่ได้ เพราะเหตุว่าอาจจะชิน ท่านชินกับลักษณะอ่อน แต่ไม่ได้ชินกับความรู้ความเข้าใจว่า เพียงอ่อน ในขณะนั้น หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในลักษณะอ่อนนั้นไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ทั่วทั้งกายที่กระทบแล้วปรากฏเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง เป็นปกติ เป็นชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นๆ หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ได้เลย และปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ จะทำให้สามารถที่จะแยกขาดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะออกจากกันได้ว่า เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ

ต่อเมื่อใดสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะที่แยกขาดออกจากกันของแต่ละนามแต่ละรูปได้แล้ว จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ โดยลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้จริงๆ

เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องค่อยๆ อบรมขึ้น เมื่อมีความมั่นคงว่า ผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ ความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนี่เอง ท่านก็ย่อมจะไม่เบื่อในการเจริญมรรคมีองค์ ๘

สำหรับท่านเจ้าของจดหมาย ขอให้ท่านรับฟังการบรรยายต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่ท่านจะได้เข้าใจชัดในผลของการเจริญสติปัฏฐาน

ข้อ ๒ ที่ท่านเขียนมาว่า คำว่า พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ หมายถึงการเจริญสติ เช่นว่า ตากระทบรูป จักขุวิญญาณรู้สี ใจกระทบธรรมารมณ์ มโนวิญญาณก็รับรู้ แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นสีดี สีไม่ดี จนถึงนั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของของเรา อย่างนี้ใช่ไหมขอรับ

คำตอบ คือ ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็ว ละเอียดมาก อย่าลืมว่านอกจากรวดเร็วแล้ว ก็ยังละเอียดมากด้วย เพราะฉะนั้น การที่รู้ว่าเป็นสี หรือเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นการรู้ทางใจต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่สติจะต้องระลึกรู้ จึงจะละการที่เคยเข้าใจว่า เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว แม้การรู้การเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมอื่น ที่ไม่ใช่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ

เพราะฉะนั้น ขอให้รับฟังคำบรรยายต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจขึ้นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ชัดทางตาและทางใจ ทางหูและทางใจ ทางจมูกและทางใจ ทางลิ้นและทางใจ ทางกายและทางใจ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ตามปกติ ตามความเป็นจริง

ข้อ ๓ ท่านเขียนมาว่า ในอนุรุทธเถรคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๔๑ ตอนหนึ่งพระอนุรุทธะกล่าวถึงความประพฤติพรหมจรรย์ของท่านว่า บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง มีดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกเช้าค่ำ ก็ไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้องนั้นได้ เพราะยังเป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นวิสัยแห่งมาร พระอนุรุทธะก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้นเสียแล้ว ยินดีในพระพุทธศาสนา ก้าวล่วงโอฆะทั้งปวงแล้ว เพ่งฌานอยู่ กระผมก็ระลึกได้ถึงเรื่องสถานที่ปฏิบัติ ณ ที่ใดๆ ก็ได้ ที่ท่านอาจารย์ชอบกล่าว กระผมหมายถึงละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่า นักปฏิบัติต้องไม่เผลอไปเริงอกุศลกรรมล่วง ณ ที่นั้นๆ อย่างหนึ่ง และต้องปฏิบัติตนตามแนวทางของบัณฑิตอีกอย่างหนึ่ง ใช่ไหมขอรับ

คำตอบ คือ การที่จะกล่าวถึงพระธรรม เพียงเฉพาะข้อความตอนหนึ่งตอนใดนั้น ไม่พอ เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา อนุรุทธเถรคาถา ข้อ ๓๙๓ โดยตลอด เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาสภาพของธรรมและชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน เพราะว่าบางท่านท่านใคร่เหลือเกินที่จะปฏิบัติอย่างท่านพระสาวกต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน โดยที่ท่านลืมชีวิตของท่านตามความเป็นจริงว่า จะบรรลุถึงคุณธรรมอย่างท่านพระสาวกเหล่านั้นได้หรือไม่

ถ้าได้ทราบถึงชีวิตตามความเป็นจริงของพระสาวก พร้อมทั้งคุณธรรมที่สูงมากของท่านเหล่านั้น และท่านก็พิจารณาตัวของท่านว่า ท่านจะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงคุณธรรมเช่นท่านเหล่านั้นได้หรือเปล่า ท่านจะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงคุณธรรมของท่านพระอนุรุทธะได้ไหม ให้ถึงคุณธรรมของท่านพระสารีบุตรได้ไหม ให้ถึงคุณธรรมของท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ไหม ให้บรรลุถึงคุณธรรมของท่านพระมหากัสสปะได้ไหม นี่ตามความเป็นจริง หรือท่านเพียงแต่จะบรรลุคุณธรรมได้ถึงขั้นของพระอริยะซึ่งเป็นคฤหัสถ์ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง หรือว่ามหาอุบาสิกาวิสาขาบ้าง ซึ่งคุณธรรมของอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น ไม่ถึงคุณธรรมของท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะเลย และตัวท่านจะบรรลุคุณธรรมถึงขั้นไหน

เพราะฉะนั้น การที่ท่านจะประพฤติปฏิบัติตามบุคคลที่เป็นพระสาวกในครั้งก่อน ท่านควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะประพฤติคุณธรรมอย่างนั้นได้จริงๆ ถ้าท่านสามารถจะเป็นอย่างเช่นท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็ประพฤติตามท่านพระอนุรุทธะได้ ตามความเป็นจริง ถ้าท่านไม่สามารถบรรลุคุณธรรมถึงท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็ไม่สามารถที่จะประพฤติอย่างท่านพระอนุรุทธะได้

ท่านที่เป็นคฤหัสถ์ การที่ชีวิตของท่านตามความเป็นจริงเป็นคฤหัสถ์ ก็แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยอันแท้จริงของท่านว่า อุปนิสัยอันแท้จริงของท่านเป็นอย่างไร จะบรรลุคุณธรรมได้ถึงขั้นไหน ซึ่งก็คงจะถึงขั้นพระอริยสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ถ้าท่านสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยสาวกได้

เพราะฉะนั้น ท่านไม่เคยที่จะยกตัวอย่างชีวิตและการปฏิบัติธรรมของอริยสาวกที่เป็นคฤหัสถ์มากล่าวหรือมาอ้าง เวลาที่ท่านคิดว่าท่านจะเจริญวิปัสสนา ท่านก็ยกตัวอย่างชีวิตของท่านพระสารีบุตรบ้าง ท่านพระมหาโมคคัลลานะบ้าง ท่านพระมหากัสสปะบ้าง ท่านพระอนุรุทธะบ้าง ไม่ทราบว่า ท่านมีความมุ่งหมายที่จะบรรลุคุณธรรมถึงขั้นของพระสาวกเพศภิกษุ หรือเพศฆราวาส

ขอกล่าวถึงข้อความใน อนุรุทธเถรคาถา เพื่อท่านเจ้าของจดหมายจะได้พิจารณาถึงสภาพชีวิตตามความเป็นจริงของท่านพระอนุรุทธะ ซึ่งมีข้อความว่า

ข้อ ๓๙๓

พระอนุรุทธะละพระชนกชนนี พระประยูรญาติ ละเบญจกามคุณได้แล้ว เพ่งฌานอยู่

นี่คือท่านพระอนุรุทธะ

และชีวิตของคฤหัสถ์ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สะสมมาตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

ข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง มีดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า ก็ไม่บรรลุความบริสุทธิ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้องนั้นได้ เพราะยังเป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นวิสัยแห่งมาร พระอนุรุทธะก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้นเสียแล้ว ยินดีในพระพุทธศาสนา ก้าวล่วงโอฆะทั้งปวงแล้ว เพ่งฌานอยู่

อย่าลืมว่า แต่ละชีวิตก็ต่างกันไป ชีวิตของท่านพระอนุรุทธะท่านเพียบพร้อมพรั่งพร้อมแวดล้อมด้วยการบำเรอต่างๆ เช่นเดียวกับชีวิตของพระผู้มีพระภาค แต่ถึงกระนั้น การที่ท่านสะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะละชีวิตของคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต และเพ่งฌานอยู่ ก็ทำให้ท่านละชีวิตของการที่พรั่งพร้อมเพียบพร้อมแวดล้อมบำเรอด้วยเบญจกามคุณได้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น แต่ละท่าน คิดถึงชีวิตของท่านตามความเป็นจริง

เปิด  219
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566