แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 537

คามิกะ อย่างอาจารย์ว่าก็จะแจ้งดี แต่ว่าผมเรียนแปลมา เคยยะ เป็นทำนองคล้ายๆ เพลง ส่วนชาดก คือ ชาตกะ แปลว่า แสดงถึงจารีตประเพณีที่พระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว

สุ. คือ ในอดีตชาติ จารีตประเพณีที่ได้ทรงประพฤติมาแล้ว

สำหรับเรื่องของความหิว หรือความทุกข์ต่างๆ ของผู้ที่จะต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเพราะไม่รู้ความจริง จึงทำให้เป็นผู้ที่กระวนกระวายด้วยไฟ คือ ราคะ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

ข้อความตอนหนึ่งใน คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ ข้อ ๒๕ มีว่า

ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี

จริงไหม ท่านเห็นความกระวนกระวายที่ไม่จบสิ้นไหม เมื่อไรจะจบสักที ลองคิดดู วันนี้อยากได้อะไร พรุ่งนี้จะหมดความอยากได้ไหม ก็ยังมีความอยากได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกี่ภพ กี่ชาติก็ตาม

และไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่ได้ปรารถนาให้เวทนาขันธ์อย่างนี้เกิดเลย แต่เวทนาขันธ์อย่างนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยและก็ดับไป ไม่ปรารถนาที่จะให้สุขเวทนาดับไปเลย แต่สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยก็ดับไป เพราะฉะนั้น ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี

สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี

เพียงชั่วครู่นิดเดียว ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นความต่างกันได้จริงๆ ว่า ขณะที่เต็มไปด้วยกิเลสนี้หนัก ไม่สงบเลย แต่ขณะใดที่กิเลสนั้นปราศไป พ้นไป ขณะนั้นก็เป็นความสงบชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะดับกิเลสได้ทั้งหมด สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี

ข้อความต่อไป

ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง

เคยหิวไหม ถ้าหิวมากๆ ก็เป็นโรคอย่างยิ่ง

สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

คามิกะ คำว่า โรค แปลว่า เสียดแทง หิวก็เสียดแทงท้อง โรค แปลตามศัพท์ว่า การเสียดแทง

สุ. ข้อความต่อไปมีว่า

บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เท่าไรก็ไม่พอ นั่นชื่อว่า ไม่พออยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเท่าไรก็พอ คือ แล้วแต่เท่าที่มีอยู่นั่นก็พอแล้ว ทรัพย์จึงมีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง

ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง

ถึงแม้ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง แต่ไม่คุ้นเคยกันเลย กับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติ แต่คุ้นเคยกันมาก โดยความหมายจริงๆ แล้ว ญาติทั้งหลายที่จะชื่อว่า ญาติ เพราะมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง

นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บุคคลผู้ปีติในธรรม เมื่อดื่มรส ดื่มรสอันเกิดแต่วิเวกและรสแห่งความสงบแล้ว ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป การเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นความดี การอยู่ร่วมกับพระอริยเจ้าเหล่านั้น เป็นสุขทุกเมื่อ

บุคคลพึงเป็นผู้มีความสุขเป็นนิตย์ได้ เพราะการไม่เห็นคนพาลทั้งหลาย ด้วยว่าบุคคลผู้สมคบกับคนพาลเที่ยวไป ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู

ส่วนนักปราชญ์มีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งญาติ เพราะเหตุนั้นแล บุคคลพึงคบบุคคลนั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญา เป็นพหูสูต มีปกตินำธุระไป มีวัตร เป็นพระอริยะ เป็นสัปบุรุษ ผู้มีปัญญาดีเช่นนั้น เหมือนพระจันทร์ครอบครองแห่งนักษัตร ฉะนั้น ฯ

เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์และโทษ แม้ของการคบหาสมาคม เพราะถ้าท่านได้คบหาผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านย่อมมีปัญญาเจริญขึ้น แต่ถ้าท่าน สมคบกับคนพาลเที่ยวไป ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนานการอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู

เพราะฉะนั้น ที่จะทราบว่าธรรมใดเป็นประโยชน์ ก็เปรียบเสมือนกับบัณฑิต และธรรมที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ นั่นก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้ท่านเกิดความเห็นผิด ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ฉะนั้น ก็ย่อมจะเศร้าโศกตลอดไปเรื่อยๆ

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ตามที่ศึกษามา ฟังแล้วก็เห็นด้วย แต่ในชีวิตประจำวัน เวลาราคะเกิดขึ้น สมมติว่า ได้สิ่งของที่พอใจ ก็เกิดเกิดโสมนัส ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์หรือร้อนอะไรเลย แต่ถ้าเป็นไฟจริงๆ เจอเข้าก็ร้อน ทุกข์แบบนี้เห็นชัด แต่เวลาที่ราคะเกิดขึ้น ที่จะรู้สึกร้อน ก็ไม่รู้สึกเลย กลับเกิดความพอใจ เกิดสุขเวทนา เพราะฉะนั้น ความร้อนในราคะ ในชีวิตประจำวันนี้มองไม่เห็นเลย

สุ. ไม่เห็น เพราะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของความพอใจนั้นว่า มีสิ้นสุดไหม แน่ใจหรือว่า จะหมดสิ้นความพอใจเพียงขณะที่ได้รับสิ่งที่พอใจนั้นแล้ว เพราะว่าเมื่อได้รับสิ่งที่พอใจแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ความพอใจนั้นหมดสิ้นไป ยังปรารถนาสิ่งอื่นต่อไป ไม่มีวันจบ มีแต่ความปรารถนาอยู่เรื่อยๆ เห็นโทษหรือยัง หรือว่ายัง

สบาย เพราะพอใจ แต่ว่าความพอใจนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ได้หมดอยู่เพียงแค่นั้น แต่เป็นปัจจัยที่จะให้พอใจในสิ่งอื่นต่อไปอีก เพราะว่าขณะที่กำลังพอใจนั้น ก็สะสมความพอใจนั้นไว้ เป็นพืชเชื้อที่จะให้เกิดความพอใจในสิ่งอื่นต่อไปอีกเรื่อยๆ ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันหมดสิ้นความพอใจได้ ถ้าตราบใดยังคงมีความพอใจอยู่ ก็ยังจะต้องพอใจไปเรื่อยๆ

พอที่จะเห็นโทษแม้ลางๆ ไหม ถึงแม้ว่าจะไม่ชัดเจน แต่ก็จะเห็นได้ว่า ความพอใจนี้ไม่มีวันจบ ยังจะเป็นพืชเชื้อให้เกิดความพอใจในสิ่งอื่นต่อไปอีกเรื่อยๆ คิดหรือว่า พอใจในชาตินี้แล้วจะจบสิ้นเพียงชาตินี้ เมื่อเกิดมาอีก จะไม่มีความพอใจอีก เป็นไปได้ไหม มีแต่ว่า จะพอใจสิ่งอื่นต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ

ต้องเห็นตามความเป็นจริง จึงจะอบรมเจริญปัญญาที่จะละคลายกิเลส ดับกิเลสได้ ถ้าขณะนั้น สติไม่เกิด ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็ไม่เห็นโทษแล้ว เพราะเหตุว่า ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป มีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิด มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อปรากฏแล้ว ความพอใจชั่วครู่นั้นก็ไม่เที่ยง เล็กน้อยเหลือเกิน เกิดขึ้นปรากฏและก็หมดไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงจึงจะเห็นโทษ ตั้งแต่การหลงยึดถือความพอใจนั้นเป็นตัวตน

เรื่องของการดับกิเลสเป็นเรื่องของปัญญา ที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงอาการปรากฏภายนอก แล้วก็จะมีสันนิษฐานกันไปว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ หรือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะเหตุว่าเรื่องของการรู้สภาพธรรม ไม่ใช่เป็นอาการที่ปรากฏภายนอก

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อุทัยสูตรที่ ๒ ซึ่งในครั้งนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ยังมีบุคคลที่เข้าใจผิดคิดว่า พระองค์เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ข้อความในอุทัยสูตรที่ ๒ มีว่า

สาวัตถีนิทาน ฯ

ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์ ฯ

ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคจนเต็ม ฯ

แม้ครั้งที่ ๒ ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์ ฯ

ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคจนเต็ม ฯ

แม้ครั้งที่ ๓ เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์

ลำดับนั้นอุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคจนเต็ม แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระสมณโคดมนี้ ติดในรส (ติดใจในอาหาร) จึงเสด็จมาบ่อยๆ ฯ

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเป็นคาถาว่า

กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้ ฯ

ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่า เป็นข้อความธรรมดา แต่นี่เป็นพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุทัยพราหมณ์ ทรงชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญกุศลบ่อยๆ แม้แต่การที่พระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารบิณฑบาตจากอุทัยพราหมณ์ ครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ จนเป็นเหตุให้อุทัยพราหมณ์เข้าใจผิดคิดว่า พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ที่ติดใจในรสอาหาร แต่ความจริงไม่ใช่

เพราะฉะนั้น การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดอาจจะเอื้อเฟื้อ อย่างเช่น พระภิกษุท่านอาจจะรับบิณฑบาตจากบ้านหรือตระกูลหนึ่งตระกูลใด ก็เพราะว่า ทานบดีให้ บ่อยๆ แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ เป็นเรื่องที่ทรงอนุเคราะห์ ทรงเกื้อกูลให้เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลบ่อยๆ แม้แต่การที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ

นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่า ไม่ใช่คนอื่น ตัวท่านเองดิ้นรนและลำบากบ่อยๆ

คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ

ท่านยังจะต้องเกิดอีก ตายอีก บ่อยเท่าไรไม่ทราบ

บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ

ทุกวันต้องมีใช่ไหม ตามวัด ไม่ว่าญาติใคร มิตรสหายใคร ก็จะต้องนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ

ส่วนผู้มีปัญญา ถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้

ก็ต้องสะสมอบรมไปในการเจริญกุศลทุกประการ ในเรื่องของทาน ในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุทัยพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนที่มีจักษุจักมองเห็นรูปได้

ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ท่านผู้ฟัง ฟังดูแล้วรู้สึกคล้ายๆ กับว่า เป็นแบบฉบับของการที่จะสรรเสริญ พระรัตนตรัยของอุบาสกผู้เห็นประโยชน์ของธรรม คือ ทุกท่านก็กล่าวอย่างนี้ และ ทุกสูตรเหมือนกันทีเดียว

เปิด  175
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566