แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 532

ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาตนเองว่า การบริโภคของท่านหลังจากที่ได้ฟังเรื่องของวิกาลโภชนาเวรมณีแล้ว ยังคงมีการติดในรสมากหรือน้อยลงบ้าง โดยการที่เมื่ออิ่มแล้วก็ไม่บริโภค ซึ่งอาจจะผิดกว่าแต่ก่อน ที่ถึงแม้ว่าอิ่มแล้วก็จริง แต่เมื่อมีอาหารรสประณีต ก็อดที่จะบริโภคไม่ได้

ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้น จะทราบได้จริงๆ ว่า ท่านยังคงมีการติดในรสมากหรือน้อย ซึ่งถ้าสติเกิด สตินั้นเองจะยับยั้งไม่ให้ท่านบริโภคต่อไปอีกด้วยการที่ติดในรส

นี่เป็นการพิจารณา สังเกต ทราบด้วยตัวของท่านเองว่า สติเกิดหรือไม่เกิด และสติขณะนั้นวิรัติการบริโภคที่เกินประมาณหรือไม่

ถ้าสติเกิดบ่อยๆ ก็จะอุปการะเกื้อกูลการบริโภคของท่าน ให้เป็นผู้ที่บริโภคพอประมาณ ไม่บริโภคโดยไม่จำเป็น และจะเกื้อกูลให้ท่านละคลายการเป็นผู้ที่ติดในรสด้วย เพราะถึงแม้ว่าท่านอาจจะยังไม่ได้รักษาอุโบสถศีล แต่การที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่บริโภค ก็ยังเป็นประโยชน์มาก ซึ่งจะทำให้เป็นการบริโภคที่พอประมาณจริงๆ

ส่วนการที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการเสแสร้งที่จะทำให้เป็นอาการที่ปรากฏภายนอกว่า เป็นผู้ที่บริโภคน้อย หรือว่าท่านกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ก็จะต้องบริโภคน้อย นั่นไม่ใช่ความจริง

ความจริง คือ ขณะนั้นสภาพธรรมใดกำลังมีปัจจัยใด ประเภทใด เกิดขึ้นปรากฏ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ในขณะนั้น จนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัดประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เรื่องของการบริโภค เป็นเรื่องชีวิตปกติประจำวัน เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่ท่านบริโภค ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริง

สำหรับในเรื่องการบริโภค พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้เป็นอันมากในพระไตรปิฎก ที่จะให้เห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ที่รู้ประมาณในโภชนะ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะละคลายการติดในรส และเพื่อความสบายของกาย ไม่ให้เกิดโรคมาก

ข้อความใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สารีปุตตเถรคาถา ข้อ ๓๙๖ ท่าน พระสารีบุตรได้ประกาศความประพฤติของท่าน เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งท่านกล่าวถึงการบริโภคอาหารว่า

ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔ - ๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควร เพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว

ควรจะเป็นชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น สำหรับการประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงศึกษา แต่ไม่น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ แม้ในการบริโภคอาหารที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ไม่ควรติดใจจนเกินไป

สำหรับผู้ที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะห้ามความพอใจในรสอาหารได้ไหม ไม่ได้เลย ถ้าเป็นอาหารที่มีรสประณีตที่ถูกปาก ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีพอใจขึ้น แต่ถ้าติดใจจนเกินไป จะทำให้บริโภคเกินประมาณ นอกจากนั้น สติก็อาจจะไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

พิสูจน์ได้ไหมว่า จริงหรือเปล่า ขณะที่รับประทานอาหารแต่ละครั้ง สติเกิดบ่อยหรือว่าไม่บ่อย สติเกิดบ้างหรือว่าไม่เกิดเลย แต่สติเกิดได้ เป็นสิ่งซึ่งจะต้องทราบว่า ในขณะนั้นรสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะปรากฏทางลิ้น ในขณะที่รสปรากฏ มีสภาพธรรมที่รู้รส รสนั้นจึงปรากฏได้ ขณะที่กำลังรู้รสนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ แต่เป็นสภาพธรรมที่กำลังลิ้มรสที่ปรากฏ สภาพที่ลิ้มรสนั้นไม่ใช่ตัวตน สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่ลิ้มรสได้ และสติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพของรสที่ปรากฏ

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔ - ๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควร เพื่ออยู่สบาย

ถ้าท่านอบรม ทดลองดู ปฏิบัติดู จะเห็นว่าเป็นการอยู่สบายของกายจริงๆ

การเป็นผู้ที่ติดในรสอาหาร จะทำให้ท่านบริโภคเกินประมาณ เป็นการสะสมความพอใจในรสอาหารที่ประณีตยิ่งขึ้น และถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาณในการบริโภคด้วยการติดการพอใจในรสอาหารอย่างมาก ก็จะเป็นเหตุให้เกิดโรคได้หลายประการ

พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องที่จงกรมและเรือนไฟ ข้อ ๗๘ มีข้อความว่า

สมัยนั้น ทายกทายิกาในพระนครเวสาลี เริ่มจัดปรุงอาหารประณีตขึ้นตามลำดับ ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีตแล้ว มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ไปสู่เมืองเวสาลีด้วยกิจจำเป็นบางอย่าง ได้เห็นภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลายจักมีอาพาธน้อย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา จึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ฯ

ท่านผู้ฟังคงชินหูกับท่านชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งพวกเราเรียกท่านตามภาษาไทยว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านเป็นอุบาสกผู้เป็นพระอริยเจ้า รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าชีวิตของท่านก็เป็นชีวิตที่มีประโยชน์ทั้งโลกและธรรม เป็นชีวิตจริงของพระอริยเจ้า ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กรรมที่ท่านได้กระทำมาแล้ว สะสมมาแล้ว ก็ทำให้ท่านมีชีวิตดำเนินไปตามที่ท่านได้สะสมมา

ขอกล่าวถึงประวัติชีวิตของท่านชีวกโกมารภัจจ์ เพื่อที่ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ชีวิตของพระอริยเจ้าแต่ละท่านนั้น เป็นไปตามการสะสมมาอย่างวิจิตรทีเดียว มิฉะนั้นแล้ว ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านไม่ได้ดำเนินชีวิตของเพศอุบาสกตามปกติธรรมดา แต่ที่จริงแล้วพระอริยเจ้าที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาทุกท่าน ก็ได้ดำเนินชีวิตของท่านไปตามการสะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งโลกและธรรม ไม่ใช่ว่าเมื่อท่านเป็นพระอริยแล้ว ก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย

ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ท่านชีวกโกมารภัจจ์เป็นพระอริยเจ้า ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต จาก พระสูตรที่ไม่รวมเข้าในวรรค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์คฤหบดีผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสถึง ตปุสสคฤหบดี และข้อความต่อไป ข้อ ๓๙๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัลลิกคฤหบดี อนาถบิณฑิกสุทัตตคฤหบดี จิตตคฤหบดี ชาวมัจฉิกาสัณฑนคร หัตถกคฤหบดีชาวเมืองอาฬวี เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี อุคคตคฤหบดี สูรอัมพัฏฐคฤหบดี ชีวกโกมารภัจจ์ นกุลบิดาคฤหบดี ตวกัณณิกคฤหบดี ปูรณคฤหบดี อิสิทัตตคฤหบดี สันธานคฤหบดี วิชยคฤหบดี วัชชิยมหิตคฤหบดี เมณฑกคฤหบดี เวเสฏฐอุบาสก อริฏฐอุบาสก สาทัตตอุบาสก ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ปลงใจเชื่อในพระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งซึ่งอมตธรรมอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ๑ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ๑ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ๑ อริยศีล ๑ อริยญาณ ๑ อริยวิมุตติ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาหัตตอุบาสก (ซึ่งรวมถึงอุบาสกท่านอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วด้วย) ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ปลงใจเชื่อในพระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่

สำหรับประวัติของท่านชีวกโกมารภัจจ์ จะขอกล่าวถึงตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกตั้งแต่ต้น ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค จีวรขันธกะ เรื่องคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลในครั้งนี้กับในครั้งโน้นไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าย้อนหลังไปในสมัยโน้น เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระนครเวสาลีเป็นบุรีมั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี เป็นสตรีทรงโฉมสะคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนาง อัมพปาลี หญิงงามเมืองนั้น

นางอัมพปาลีนั้น ท่านได้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งประวัติชีวิตของท่านในการที่ได้สะสมกรรมกิเลสและปัญญาถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นถึงพระอรหันต์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องเป็นการสะสมอบรมปัญญา และขณะที่กิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท กิเลสนั้นๆ ก็สะสมมา ทำให้แต่ละชีวิตแตกต่างกันไปตามความโน้มเอียงของกิเลสที่ได้สะสมมาด้วย พร้อมกันนั้นปัญญาที่ได้สะสมมา เมื่อสมควรแก่เหตุแล้ว ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

พระนครกรุงเทพ ในภพหนึ่งชาติหนึ่งก็เป็นอย่างนี้ และครั้งหนึ่งในพระนคร เวสาลี ในภพหนึ่งชาติหนึ่งก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจิตของแต่ละท่านมีการสะสมโน้มเอียงมาที่จะคิดอย่างไร ระลึกอย่างไร อย่างชาติสุดท้ายของอัมพปาลี ท่านเกิดเป็นหญิงแพศยา แต่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ตามการสะสมมา

ในภพหนึ่งชาติหนึ่งท่านอัมพปาลีเดินตามหลังพระเถรีซึ่งถ่มน้ำลาย ขอให้ทุกท่านที่นี่ระลึกถึงว่า ท่านผู้ใดจะคิดอย่างไรแล้วแต่การสะสม แต่อัมพปาลีในครั้งโน้น ท่านกล่าวติพระเถรีรูปนั้นว่า หญิงแพศยาที่ไหนกระทำอย่างนี้

ถ้าไม่มีการสะสมโน้มเอียงมาที่จะใช้คำว่า หญิงแพศยา หรือนึกถึงหญิงแพศยา ท่านคงจะไม่มีกรรมกิเลสที่สะสมมาที่จะทำให้ชาติสุดท้ายของท่านเป็นหญิงแพศยา เพราะฉะนั้น แต่ละขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าจะดูความวิจิตรของจิตของแต่ละคนจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์อย่างเดียวกัน คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกคนก็คิดอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ความโน้มเอียง ซึ่งก็เป็นความวิจิตรอย่างยิ่งของการสะสม ทั้งกรรม กิเลส และปัญญา แต่ละภพ แต่ละชาติ จนกว่าจะถึงชาติสุดท้าย

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้น พวกคนมีทรัพย์คณะหนึ่ง ชาวพระนครราชคฤห์ ได้เดินทางไป พระนครเวสาลีด้วยกรณียะบางอย่าง และได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่ง กว้างขวาง ... และมีนางอัมพปาลีหญิงงาม เมืองผู้ทรงโฉมสะคราญตา น่าเสน่หา

ครั้นพวกเขาเสร็จกรณียะนั้นในพระนครเวสาลีแล้ว กลับมาพระนครราชคฤห์ตามเดิม เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ครั้นแล้วได้กราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบเรื่องของพระนครเวสาลี แล้วก็ได้กราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า

ขอเดชะ ฯ แม้ชาวเราจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นบ้างก็จะเป็นการดี

พระราชารับสั่งว่า

พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเสาะหากุมารีผู้มีลักษณะงามเช่นนั้น ที่ควรจะคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง

ท่านจะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระอริยเจ้า ท่านก็ปนเปไปกับชีวิตของชาวโลก ในครั้งนั้นผู้ที่เป็นพระอริยะมีมากมาย และเกิดในกาลสมัยที่ชีวิตประจำวันของชาวโลกก็ยังคงเป็นชาวโลก แต่ชีวิตของผู้ที่ได้สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็อบรมจนกระทั่งปัญญาได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ในขณะที่ชาวโลกทั้งหลายก็ยังคงดำเนินชีวิตไปตามลักษณะของชาวโลก

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดี เป็นสตรีทรงโฉมสะคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ชาวพระนคร ราชคฤห์ ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดีได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์ ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ จึงนางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด ถ้ากระไร เราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้ ต่อมานางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า

นายประตูจ๋า โปรดอย่าให้ชายใดๆ เข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอกให้เขาทราบว่าเป็นไข้นะ

คนเฝ้าประตูนั้นรับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างนั้น หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า แม่สาวใช้ จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ

ทาสีนั้นรับคำนางว่า ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ ดังนี้ แล้ววางทารกนั้นลงบนกระด้งเก่าๆ นำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ

นี่คือกรรมที่ท่านชีวกโกมารภัจจ์ได้กระทำไว้ และท่านก็ได้สะสมบุญมาที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่ชีวิตของท่าน แม้แต่กำเนิดของท่าน ก็จะต้องเป็นไปตามกรรมที่ท่านได้สะสมมาด้วย

เปิด  245
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566